ไขปริศนา "ปางพระนาคปรก" จิตแห่งพุทธปัญญา มาปรกคุ้มครองพระพุทธเจ้า

ไขปริศนา "ปางพระนาคปรก" จิตแห่งพุทธปัญญา มาปรกคุ้มครองพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นมุจจลินท์ หรือต้นควงไม้จิก เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นมหาโพธิ์ ห่างไป ๑.๗ กิโลเมตร

ในพุทธประวัติกล่าวว่า ครั้งนั้นได้เกิดพายุฝนตกลงมาตลอดทั้ง ๗ วัน ๗ คืน พญานาคนามว่า “มุจจลินท์” จึงขึ้นจากบาดาลมาขนดล้อมรอบพระวรกายพระพุทธเจ้า ถึง ๗ รอบ  และแผ่พังพานใหญ่เพื่อปกป้องพระองค์จากพายุฝนและสัตว์ร้าย

ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต แล้วพระพุทธเจ้าทรงเปล่งคำอุทานว่า

"ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมได้สดับแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นจริงอย่างไร, ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก, ความนำอัสมิมานะ คือถือว่าตัวตนให้หมดได้ เป็นสุขอย่างยิ่ง."

พระพุทธเจ้าพิจารณาความสงัด แม้กระทั่งว่าฝนตก ก็ถือว่ามีความสงัดอยู่ เพราะฝนตกจะมาเกี่ยวข้องหรือครอบงำจิตใจของพระพุทธเจ้าให้ละความเพียรไม่ได้ ความสงัดไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียง แต่เสียงนั้นเข้าไปเกี่ยวจิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้ นี่แหละ "ความสงัด"

ยกตัวอย่างเช่น เราไปอยู่ท่ามกลางผับ เสียงเพลงดังมากเลย แต่จิตของเราสงัดได้ ข้างนอกเกี่ยวเราไม่ได้ นี่แหละความสงัด ถ้าเราแปลความสงัดผิด เราก็หลงทาง ต้องไปแสวงหาที่อยู่ป่าช้า หรือที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องฝึกสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกี่ยวใจเรา เมื่อสิ่งแวดล้อมเกี่ยวใจเราไม่ได้ ฉะนั้น เราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ก็เกิดความสงัด

จนกระทั่งเมื่ออากาศปลอดโปร่งดีแล้ว พญานาคมุจจลินท์จึงคลายขนดนาคออก แล้วจำแลงตนแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาถวายอัญชลีกราบพระพุทธเจ้า

ในเหตุการณ์เช่นนี้ คำว่าพญานาคมุจจลินท์มานั่งปรกพระพุทธเจ้าตลอดทั้ง ๗ วัน เป็นปริศนาธรรมก็คือ จิตของพระพุทธเจ้ามาปรกพระพุทธเจ้า เพราะจิตของพระพุทธเจ้าเห็นว่าสิ่งนี้ดี จิตของพระพุทธเจ้าจึงทำดีต่อไป

ซึ่งขณะนั้นฝนตกตลอดเลย และจิตของพระพุทธเจ้ารู้ว่าฝนนี้ดี ตกมาแล้วเราชื่นช่ำ ฝนตกก็เหมือนไม่ตก

ฉะนั้น จิตของพระพุทธเจ้ามีเป็นปรกขึ้นมา ฉะนั้น พระพุทธเจ้านั่งเสวยสุขอยู่ตรงนั้น แม้ฝนจะตกตลอด ๗ วันก็ยังไม่เป็นไร นี่แหละ จิตของพระพุทธเจ้ามาปรกคุ้มครองพระพุทธเจ้า

จิตของพระพุทธเจ้าย่อมสูงกว่าสิ่งต่างๆ ย่อมเข้าใจกว่า แต่พระพุทธเจ้าย่อมเอื้อโอกาสให้ได้แสดงกรรมเพื่อเจริญธรรม

จิตของพระพุทธเจ้า ก็คือ "ปัญญาญาณ" แห่งพุทธองค์มาปรกพระพุทธเจ้า แต่รูปที่แสดงให้คนเห็นนั้น พระพุทธเจ้าเอื้อให้เป็นลักษณะรูปของพญานาค

หรือจะพูดง่ายๆ ว่า แม้แต่สัตว์ยังรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ ตนต้องมาทำหน้าที่นั้น ความหมายปริศนาธรรมเป็นเช่นนั้น

สิ่งที่มาปรกพระพุทธเจ้าก็คือ "บารมี อภิปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า"

พระพุทธเจ้าจึงไม่มีจิตที่จะเบื่อหน่าย คลายจากการเสวยวิมุตติสุข ณ ตรงนั้น เพราะพระพุทธเจ้ากำลังเสวยวิมุตติสุขกับสิ่งที่ตนเองตรัสรู้ธรรมนั้น ดื่มด่ำกับธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น การดื่มด่ำก็เปรียบเสมือนกับฝน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่สำเนียกตรงนี้พระพุทธเจ้าก็ต้องลุกจากที่นั่งสมาธิ ณ ตรงนั้น ก็ต้องวุ่นวายใจ แม้ว่าฝนตกพระพุทธเจ้าก็ยังมีปิติสุข ณ ตรงนั้น

เหมือนกับบางท่าน ฝนรั่ว ก็นั่งนอนดูเม็ดฝนที่ตกจากหลังคาได้ จิตใจไม่กระวนกระวาย

ความหมาย "ปรก"

คำว่า "ปรก" นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า

"ปรก ๑ (๑) [ปฺรก] น. ซุ้มเล็ก ๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส.

(๒) [ปฺรก] ก. ปก, ปิด, คลุม, เช่น พระนาคปรก ผมปรกหน้า.

ปรก ๒ [ปฺรก] น. เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก เช่น ในพิธีพุทธาภิเษก ว่า คณะปรก."

และสำนักงานราชบัณฑิตยสภา บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น. ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

"ปก-ปรก"

ปก แปลว่า ปิดหรือคลุมทั้งหมด หรือ แผ่ออกคลุมเบื้องบน เช่นในคำกล่าวว่า เสือพีเพราะป่าปก. หรือในคำปริศนามีว่า อะไรเอ่ยต้นเท่าครกใบปกดิน ซึ่งคำเฉลยคือ กอตะไคร้.

ส่วนคำว่า ปรก แปลว่า คลุมอยู่ข้างบน เช่น พระนาคปรก คือพระพุทธรูปปางที่ประทับบนขนดหางพญานาค และมีพญานาคแผ่พังพานคลุมอยู่ข้างบนเพื่อปกป้องภยันตรายถวายพระพุทธเจ้า. คนที่ไว้ผมยาวลงมาปิดหน้าผากก็มักจะเรียกว่า ไว้ผมปรกหน้า.

ปก กับ ปรก มีความหมายว่าคลุมอยู่ข้างบน. แต่ ปก ใช้กับการปิดหรือคลุมทั้งหมด. ส่วน ปรก ใช้กับการคลุมเพียงบางส่วนเท่านั้น"

นฤมล บุญแต่ง (๓ เมษายน ๒๕๕๖) ในสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ยังอธิบายอีกว่า "ปก ปรก และปลก" กล่าวคือ

หลายคนอาจเคยสะกดคำบางคำไม่ถูกต้อง ทั้งที่ตนเองคิดว่าไม่ยาก วันนี้จึงขอเสนอคำกลุ่มหนึ่งที่หลายคนเห็นว่าไม่ยากแต่มักสะกดผิด คือกลุ่มคำว่า ปก ปรก และปลก

ขอเริ่มที่คำว่า ปก ก่อน คำว่า ปก นี้ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ อธิบายว่า หมายถึง แผ่ออกคลุมเบื้องบน อย่างคำว่า ปกดิน เราก็ต้องใช้ ปก ที่สะกดว่า ป ปลา-ก ไก่ อย่างใบไม้หรือต้นไม้ที่มีใบปกดิน ก็ใช้ ปก คำนี้ แล้ว ปก ยังมีความหมายอีกความหมายหนึ่งว่า กระดาษหรือผ้าหรือหนังเป็นต้นที่หุ้มอยู่ภายนอกสมุดหรือหนังสือที่บางคนเรียกว่า ใบปก และ ปก ยังหมายถึง แผ่นผ้าที่ติดกับคอเสื้อพับตลบลงมาหรือแบะออกทั้ง ๒ ข้าง ก็ได้ ในภาษาไทยยังมีคำหลายคำที่มีคำว่า ปก นำหน้า เช่น ปกกระพอง จะหมายถึง เครื่องปกส่วนที่นูนเป็นปุ่ม ๒ ข้างหัวช้าง ปกเกศ หมายถึง ปกเกล้า หรือ คุ้มครอง ปกครอง หมายถึง ดูแล ก็ได้ คุ้มครอง ก็ได้ ระวังรักษา ก็ได้ และยังหมายถึง บริหาร ก็ได้อีกด้วย ส่วนคำว่า ปกปักรักษา หมายถึง ดูแลรักษา

ส่วนคำว่า ปรก ที่สะกดเช่นนี้ มีความหมาย ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ซุ้มเล็ก ๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส (อ่าน ปะริวาด) และยังมีความหมายที่ ๒ ที่เป็นคำกริยา หมายถึง ปก ก็ได้ หมายถึง ปิด ก็ได้ แล้วก็หมายถึง คลุม ก็ได้ เราใช้ ปรก ที่สะกดอย่างนี้ในคำหลายคำ เช่น พระนาคปรก ผมปรกหน้า แต่ถ้าได้ยินคำว่า คณะปรก คำ ปรก จะเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก เช่น ในพิธีพุทธาภิเษก

สุดท้ายคือคำว่า ปลก ที่สะกดว่า ป ปลา-ล ลิง-ก ไก่ คำนี้ไม่ได้อ่านว่า ปฺลก แต่อ่านว่า ปะหฺลก มีความหมายว่า อาการที่ยกมือไหว้ถี่ผงก ๆ และเราใช้แก่กริยาไหว้ คือ ไหว้ปลก ๆ แต่ถ้าเป็นคำว่า กะปลกกะเปลี้ย ที่หมายถึง อ่อนเพลีย หรือไม่แข็งแรง จะอ่านว่า กะปฺลกกะเปฺลี้ย.

อ.เปลื้อง ณ นคร อธิบายคำว่า "ปรก" แปลว่า น. ซุ้มเล็กๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส, เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสกว่า คณะปรก. ก. ปก, ปิด, คลุม, เช่น พระนาคปรก.

พจนานุกรมแปล ไทย-อังกฤษ NECTEC's Lexitron Dictionary กล่าวว่า "ปรก" [v.] cover [syn.] ปก,ปิด,คลุม ตัวอย่างประโยคนักร้องชายชื่อดังไว้ผมยาวปรกไหล่"

สรุปแล้ว "ปรก" ก็คือ

ความหมายทางรูป ก็คือ ยกตัวอย่าง มีคนไปนั่งแล้วมีแสงรัศมีเปล่งออกมารอบกาย หรือตรงศีรษะ ที่มาปรกหรือคลุมเรา หรือปกป้องคุ้มครองเรา

ความหมายทางนาม ก็คือ ปัญญาญาณ ณ ตอนนั้นเกิดขึ้นมาให้เราได้มีความคิดที่จะแก้ไขเรื่องต่างๆ ไม่เกิดความประมาท ไม่เกิดสิ่งที่เป็นสิ่งที่จะมาทำร้ายเราได้ แสดงว่าเรามิดชิด รอบครอบ ครอบคลุม สิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความประมาท นี่แหละเรียกว่า ปรก

คำว่า "ปรก" นี้ ในความหมายก็ตรงกับธรรมิกเถรคาถามาใน พระไตรปิฎก อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา จตุกกนิบาต รุกขธรรมชาดก ว่า

"ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี" แปลว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ฉะนั้น ประโยชน์หรืออานิสงส์จึงเกิดขึ้นแก่ผู้ประพฤติวัตรปฏิบัติคือ

"ผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมย่อมปรกปักรักษาผู้ปฏิบัติธรรม"

คำว่า "ปัก" ในที่นี้ หมายถึง ยึดมั่นถือมั่นที่จะดูแลรักษา

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่