ปรึกษาการลาออกก่อนกำหนดของสัญญาจ้างงาน

ปรึกษาการลาออกก่อนกำหนดของสัญญาจ้างงาน
เนื่องจากว่าต้องการเปลี่ยนงานแต่ติดสัญญาการจ้างงานดังนี้
1. ในสัญญาแจ้งว่าต้องแจ้งล่วงหน้าก่อน 60 วัน แต่ต้องการแจ้งล่วงหน้าแค่ 30วัน (มีความผิดไหม สามารถทำได้หรือไม่)
2. ในสัญญาระบุว่า หากออกจากงานก่อน กำหนดสัญญา (2 ปี) จะต้องจ่ายค่าชดใช้ 10 เท่า (เหลืออีกไม่กี่เดือนจะครบสัญญา แต่มีความจำเป็นต้องออก สามารถไกล่เกลี่ยจ่ายแค่ส่วนที่ต้องทำงานต่อได้หรือไม่ ถ้านายจ้างไม่ยอมแล้วฟ้องจะต้องจ่ายเต็มจำนวนหรือไม่)

ขอบคุณล่วงหน้าครับ

คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 5
สัญญานี้จะมีส่วนที่ขัดกันเอง

1. การทำสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาแน่นอนนั้น จะต้องมีสาระสำคัญหลักที่นอกเหนือไปจากเรื่องการทำงาน คือระยะเวลาการทำงาน ระยะเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาแน่นอนนั้น ต้องกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดที่ชัดเจน หากมี Clause ให้ยุติสัญญากันได้ก่อน เช่น กำหนดให้มีระยะเวลาทดลองงาน นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้าง หรือลูกจ้างสามารถลาออกได้ก่อนสิ้นสุดสัญญา Clause ประเภทนี้จะทำให้เนื้อหาสัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาทันที (เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้มุ่งเน้นระยะเวลาการทำงานกันแล้ว)

2. ดังนั้น หากเบื้องต้น สัญญาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ก็มาพิจารณาสิทธิเรื่องการลาออก ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแก่นายจ้างเมื่อใดก็ได้ตามสิทธิอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ อาจจะต้องขยายความในเนื้อหาสัญญาดูว่า มีติดเรื่องใดที่เป็นค่าปรับในสัญญาหรือไม่ เช่นไปติดเรื่องทุนการฝึกอบรม หรือทุนอื่นๆที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการจ้างงาน และหลุดตรงนั้นไปแล้วหรือไม่ อย่างไร

3. หากไม่ได้มีสาระสำคัญเรื่องที่นายจ้างลงทุนแก่ลูกจ้าง และเห็นแล้วว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น พอจะอนุมานได้ว่าลูกจ้างมีสิทธิลาออก แต่ขอพิจารณาย่อยไปใน 2 เรื่อง

     3.1 ต้องแจ้งลาออกล่วงหน้า 60 วันหรือไม่?
           หากตกลงกันไว้เดิมที่ 60 วัน ก็ต้องยึด 60 วัน (ทั้งสองฝ่าย ทั้งนายจ้างบอกเลิกจ้างและลูกจ้างบอกลาออก) ดังนั้น ต้องบอกว่านายจ้างสามารถยึดหลัก 60 วันนั้นได้เพราะไม่ขัดต่อมาตรา 17 พรบ.คุ้มครองฯ
     3.2 การลาออกนั้น ต้องเสียค่าปรับ 10 เท่าหรือไม่?
          หากคำตอบในข้อที่ 2 คือไม่ได้มีสัญญาที่นายจ้างลงทุนอะไร จะเห็นได้ว่า สัญญาฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนั้น นายจ้างจะกำหนดระยะเวลาที่ลูกจ้างผิดสัญญาไม่ได้ (เนื่องจากไม่ได้สนใจสาระสำคัญเรื่องระยะเวลาแต่ต้น) รวมทั้งอาจเป็นข้อกำหนดอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 14/1 ที่ความเห็น 4 กรุณาอธิบายแล้ว แต่ทั้งนี้หากสาระสำคัญของสัญญาบังคับใช้ได้ (ผมไม่เห็นเนื้อหาสัญญาชัดเจน ขอตอบไว้เผื่อ)  ส่วนของค่าปรับ 10 เท่า เป็นส่วนของเบี้ยปรับซึ่งหากนายจ้างจะฟ้อง ศาลจะใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าปรับตามความเหมาะสมครับ ดังนั้นหากท้ายที่สุดนายจ้างฟ้องและมีมูล ศาลท่านพิจารณาค่าเสียหายส่วนนี้เอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่