Review บินไปกัวลาลัมเปอร์​กับสายการบินไทย เที่ยวบิน TG417

ออกเดินทาง​มุ่งหน้าสู่ประเทศ​เพื่อนบ้าน​ ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์​ ประเทศ​มาเลเซีย

รายละเอียด​การเดินทาง
วันที่ 25 มิถุนายน​ 2019
สายการบิน​ไทย​ เที่ยว​บินที่ TG417
กรุงเทพ​(สุวรรณภูมิ)-กัวลาลัมเปอร์​ (เซปัง)
กำหนดออก 16:40น. ถึงปลายทาง​ 19:50น. ตามเวลาท้องถิ่น​



เปิดภาพแรกด้วยเครื่องเช็คอินอัตโนมัติ

วันนี้เราจะเดินทางไปกับสายการบินไทย ซึ่งมีต้นทางที่สถานีสุวรรณภูมิ​ โดยทุกการเริ่มต้นเดินทางด้วยเครื่อง​บิน ทุกคนต้องเช็คอินใช่ไหมครั

สำหรับการบินไทยแล้ว เขาก็จะมีเค้าเตอร์​เช็คอินมากมายหลายโซน ทั้งวีไอพี บิสคลาส อีโค่ในประเทศ​ ต่างประเทศ สำหรับผมในวันนี้เดินทางไปในชั้นประหยัด (ตรงไหนว้า)​ เค้าเตอร์​เช็คอิน​สำหรับ​เที่ยวบิน​ต่างประเทศ​จะอยู่แถวที่ H และ J

แต่ถ้าใครสะดวกเช็คอินทางอินเตอร์​เน็ต​มาก่อน ก็สามารถมารับบัตรโดยสาร​ (Boarding Pass) หรือจะมาเช็คอินเลือกที่นั่งด้วยตนเองกับเจ้าเครื่อง Kiosk สีฟ้าๆ นี้ก็ได้เช่นกัน

และระบบเช็คอินทุกช่องทางจะปิดรับก่อนเวลาเครื่องออก 60 นาทีครับ



เช็คอิน

สำหรับผมเองแล้วเลือกที่จะเช็คอินเลือกที่นั่งทางอินเตอร์​เน็ต​มาก่อน เมื่อมาถึงแล้วก็สามารถตรงมาเพื่อโหลดสัมภาระได้ที่ช่องสำหรับผู้เช็คอิน​ทางอินเทอร์เน็ต​ได้เลย

สำหรับน้ำหนัก​สัมภาระในแต่ละชั้นโดยสารแต่ละเส้นทางก็จะแตกต่างกันไป ในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์​นี้ถ้าตั๋วโปรโมชั่น​ก็จะโหลดได้ 20 กก. ตั๋วชั้นประหยัดทั่วไปก็ 30 กก. ชั้นธุรกิจ 40 กก.

ซึ่งถ้าใครเป็นสมาชิก​รอยัล​ออ​คิด​พลัส ตั้งแต่ระดับบัตรเงินบัตรทองก็จะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นไปตามฐานันดร​ของแต่ละบัตร



บอร์ด​ดิ้งพาส

ในขั้นตอนเช็คอินบางครั้งเจ้าหน้าที่​อาจจะ​มี​การ​สอบถามเกี่ยวกับตั๋วเครื่องบินเที่ยวกลับ กรณีที่เราไม่ได้กลับด้วยสารการบินเดียวกัน

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะให้เจ้าบัตรโดยสาร​หรือบอร์ด​ดิ้งพาสนี้มา หน้าที่ของเราก็คือต้องดูรายละเอียดด้วยว่า บัตรเป็นชื่อเรา เที่ยวบิน​ที่เราไป หรือไม่ ย้ำ!!! ว่า ต้องดูทุกครั้ง เพราะประสบการณ์​ผมเคยเจอว่า ไปได้บอร์ด​ดิ้งพาส​ของคนอื่นที่ชื่อคล้ายๆ กันมาแทน หมุนตัวกลับไปเปลี่ยนเกือบไม่ทัน ไม่งั้นอาจจะได้ไปเที่ยวที่อื่นแทน เตือนแล้วนะ!!!

ข้อมูลในบัตรโดยสาร​ก็จะบอกถึงเที่ยวบินของเรา ประตู​ทางออกหมายเลขใด เลขที่นั่งและเวลาขึ้นเครื่องซึ่งนั่นเป็นเวลาที่เราควรต้องไปถึงประตูทางออกแล้ว

ความสุขเล็ก​ๆ ของผมจะอยู่ตรงข้อความ  SEQ. คือลำกับการเช็คอิน ซึ่งถ้าได้เลข SEQ.001 นี้จะเป็นอะไรที่ปลื้มมาก สำหรับเที่ยวบินนี้ผมได้ลำดับที่ 015 ซึ่งแพ้ผู้โดยสารต่อเครื่องจากที่อื่น



แลกเงิน

การไปต่างประเทศ​ เงินบาทของประเทศไทย​จะใช้ได้ก็แค่ที่ลาวแล้วก็แถวๆ ปอยเปต​ แค่นั้น ดังนั้นเราต้องไปแลกเงินครับ ไปมาเล​ย์ก็ต้องใช้เงินสกุลริงกิต​ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนฤดูกาลนี้อาจจะ​เป็นที่ถูกอกถูกใจ​แก่นักท่องเที่ยว​ยิ่งลัก ค่าเงินมาเลย์​ตกอยู่ที่  7.45 บาทต่อ 1 ริงกิต​เท่านั้น

การแลกเงินถ้าในสนามบิน​ตามเค้าเตอร์​ธนาคารเรทอาจจะแพงมาก แต่ถ้าคนที่เดินทางบ่อยๆ เขาจะรู้กัน จุดแลกเงินที่เรทงามๆ ในสนามบินสุวรรณภูมิ​ให้กดลิฟท์​ลงไปชั้น B เลยครับ เดินไปข้างๆ สถานีรถไฟ​ฟ้าแอร์พอร์ต​ลิ้ง มีให้เลือกหลากสีเลยครับ เรทก็ไล่ๆ กัน แต่ยังไงก็ถูกกว่าแลกข้างบนแน่นอน

การแลกเงินไปต่างประเทศ​ควรแลกไปให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะต้องใช้ เหลือกลับมาแลกกลับอาจจะน้ำตาตกได้นะครับ เพราะช่วงนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทุกวัน



ช่องทางผู้โดยสาร​ขาออก​ระหว่างประเทศ​

เมื่อเคลียร์​ตัวเองเสร็จ​แล้ว ก็เตรียมตัว​ไปขึ้นเครื่อง สำหรับ​ผู้โดยสารระหว่าง​ประเทศ​ก็ต้องเข้ากระบวนการต่างๆ ของสนามบินซึ่งค่าใช้จ่าย​การผ่านกระบวนการ​เหล่านี้รวมอยู่ในภาษีสนามบิน 700 บาทที่พวกเราเต็มใจ​จ่ายโดยไม่มีอิดออดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จากเค้าเตอร์​เช็คอิน​การบินไทยแถว H, J เดินเข้ามาสุดด้านใน หลังรูปปั้นยักษ์​ใหญ่​ก็จะเจอบันไดเลื่อนพร้อมป้ายผู้โดยสาร​ขาออกระหว่างประเทศ​ จุดนี้จะมีเจ้าหน้าที่สนามบินตรวจสอบขั้นต้น ให้เราเตรียมบอร์ดดิ้ง​พาส และหนังสือเดินทาง (บัตรประชาชน​กับใบขับขี่​ใช้แทนไม่ได้นะเจ๊)



จุดตรวจค้น

หลังจากขึ้นบันไดเลื่อน​มา ก็จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจบัตร​โดยสาร​กับหนังสือเดินทางอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็จะคอยต้อนให้เราเข้าไปต่อคิวเพื่อตรวจค้น

และนี่คือจำนวน​ผู้โดยสาร​ที่รอเข้าตรวจ​ค้น เห็นจำนวนคนแล้วเอ่อ...แปดสิบเปอร์เซ็น​เป็นประชาชนจากแผ่นดินใหญ่ นึกถึงเจ็ดร้อยบาทที่จ่ายไปอีกครั้ง ตรงนี้ผมใช้เวลาราว 15 นาทีกว่าๆ จึงจะผ่านได้

ขั้นการตรวจค้นก่อนอื่นเราก็ต้องแยกพวก Laptop Powerbank โทรศัพท์​ และก็พวกของเหลวออกจากกระเป๋ามาใส่ถาดแยกต่างหาก

ปลดทุกอย่างที่เป็นโลหะที่ติดตัวมา เช่นนาฬิกา​ เครื่องประดับ​ เข็มขัด เศษเหรียญ​แยกใส่ถาดเช่นกัน ยกเว้นฟันปลอมไม่ต้อง ถอดเสื้อ ถอดรองเท้าใส่ถาดเรียงๆ กันคนนึงก็สองสามถาด ส่งเข้าเครื่องแสกนแล้วเราก็เดินผ่านเครื่องแสกนร้อยล้านที่ไม่ได้ใช้งานมาเข้าช่องแสกนเล็กๆ ข้างๆมารอรับของอีกฝั่งหนึ่ง

ประสบการณ์​อันปวดกบาล​ของจุดตรวจค้นนี้ครั้งหนึ่งผมเคยจะแยก Powerbank​ ออกจากกระเป๋า อีเจ้าหน้าที่​ก็บอกว่าให้ใส่ไว้ข้างในกระเป๋า พอผ่านเครื่องแสกนไปอีกฝั่ง อีเจ้าหน้าที่​ฝั่งนั้นบอกขอดู ช่วยนำออกจากกระเป๋าด้วยค่ะ ตอนนั้น​ได้แต่ชมในใจว่า "อียิ้ม..ย ไม่คุยกันมาก่อนเหรอ"



ตรวจหนังสือเดินทาง

หลังจากผ่านจุดตรวจค้น​อันแสนทรหด​มาแล้ว เดินตามทางต่อมาก็จะเจอบันได​เลื่อน​ลงไปเค้าเตอร์​ตรวจหนังสือเดินทาง

บันไดเลื่อน​ด้านซ้าย ผมไม่รู้​ว่ามันใช้ได้หรือเปล่ามากี่ครั้งกี่ปีก็ไม่เคยเห็นเปิดใช้

พอลงบันไดเลื่อน​ไปแล้ว ทีนี้ก็เริ่มแยกระหว่างคนที่ถือหนังสือเดินทางไทย จีน สิงคโปร์​ กับประเทศ​อื่นๆ ล่ะ

คนที่ถือหนังสือเดินทางไทย สิงคโปร์​สามารถมุ่งตรงไปที่เครื่องอัตโนมัติ​ได้เลย แต่เครื่องของไทยกับสิงคโปร์​แยกกันนะ ไทยเลี้ยวซ้าย สิงโปเลี้ยวขวา ประเทศ​อื่นๆ เชิญ​เค้าเตอร์​ค่ะ

การตรวจหนังสือ​เดินทาง​อัตโนมัติ​เริ่มต้นเราจะต้องสอดหนังสือเดินทางคว่ำหน้าที่มีชื่อเราเข้าไปในเครื่อง สักพักระบบจะบอกให้เราเอาหนังสือเดินทาง​ออกและกดหมายเลขเที่ยวบิน ซึ่งเราต้องกดให้ครบทั้งตัวหนังสือ​และตัวเลข เช่น TG417 อะไรแบบนี้ แต่ถ้ามีบอร์ด​ดิ้งพาสอยู่ในมือจะใช้การแสกนโค้ดเลยก็ง่ายเช่นกัน ตรงนี้มือใหม่​ไม่ต้องกังวลนะ จุดนี้เขามีเจ้าหน้าที่​คอยชั่วยเหลือ

หลังจาก​กดหมายเลขเที่ยวบินแล้วประตูแรกจะเปิดออก ให้เราไปยืนตรงที่มีตำแหน่งรอยเท้า ถอดแว่น ส่งสายตาจิกไปยังกล้อง ยิ้มมุมปากเล็กน้อยประหนึ่งคิดว่าประเทศไทย​จ๋าหนูลาก่อน วางนิ้วชี้มือขวาตรงกระจกสำหรันแสกนนิ้ว เสร็จ​แล้วระบบจะขึ้นข้อความ  "ขอให้เดินทาง​โดยสวัสดิภาพ" พร้อมเปิดประตูอีกด้านให้เราก้าวออกไปสวยๆ เป็นว่าเราออกนอกประเทศ​เรียบร้อย​แล้ว

ส่วนรูปพื้นที่ด้านล่างไม่สามารถ​ถ่ายได้นะครับ



ปฏิมากรรม​กวนเกษียรสมุทร

ผ่านจุดตรวจหนังสือ​เดินทาง​ถ้าเป็นทางออก 2 ก็จะเจอปฏิมากรรม​พระนารายณ์​กวนเกษียรสมุทร ถ้าใครมาครั้งแรกๆ ก็อาจจะ​ตื่นตาตื่นใจแอ๊บแบ๊วถ่ายรูปเก็บไว้สักหน่อย เพราะขากลับเข้ามาเราจะไม่ผ่านจุดนี้ ส่วนคนที่มาบ่อยๆ ก็แค่หยุดยืนไหว้สักการะ​หรือไม่ก็อาจจะเดินผ่านเลยไป




แต่ก็มีขั้นแอดวานซ์​กว่า ตามความเชื่อในแบบไทยๆ มีการนำเครื่องเซ่น น้ำเปล่าหรือพวงมาลัยดอกไม้มาถวายซึ่งนั้นก็ปกติ แต่ที่ผมแปลกใจว่า ใครเป็นคนคิดคนแรกว่าพระอินทร์จะเสวยนมเปรี้ยวบีทาเก้น?? เช่นเดียวกับน้ำแดงถวายรูปปั้นยักษ์​ใหญ่ที่อยู่ด้านนอก



ละลาย​ทรัพย์

หลุดเขต ตม. มาได้ ท่านจะพบกับถนนคนเดินที่เปิด 24 ชั่วโมง​ ที่นี่คือ ดินแดนปลอดอากร หรือ Duty Free ที่มีขายตั้งแต่สินค้าแบรนด์เนม​ เครื่องใช้ไฟฟ้า สุรา ยาสูบ ขนมคบเคี้ยว ข้าวเหนียว​มะม่วง​ โอย... เยอะ ข้อแม้อย่างเดียวของที่นี่คือซื้อแล้วต้องนำออกไปใช้นอกประเทศ แต่ดูๆแล้วหลายๆ อย่างก็แอบแพงอยู่นะ

พวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล​และบุหรี่ ก่อนจะซื้อต้องสำรวจด้วยนะว่า ประเทศ​ปลายทางที่เราไป มีข้อจำกัดให้นำเข้าได้ไม่เกินเท่าไหร่ ไม่งั้นอาจจะมีซื้อไปทิ้งกับบ้างล่ะ

ขากลับก็เช่นกัน ประเทศไทยสามารถนำเข้าโดยไม่ต้องชำระอากร สุราได้ไม่เกินคนละ 1 ลิตร บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน ถ้าเกินนั้นก็ต้องเลือกว่าจะเสี่ยงเข้าช่องเขียว หรือยอมชำระอากรในช่องแดง

ร้านอาหาร​ในโซนนี้ ถ้าจะกินอย่างน้อยต้องมีแบงก์​ห้าร้อยอัพ แทบต้องขายตัวมาซื้อข้าวกิน มันเป็นโซนที่กรมการค้าหรือพาณิชย์​มาตรวจกลับไม่พบว่ามีอะไรที่แพงเกินไป จริงจริ๊ง..งนะ (เสียงสูง)​

ถ้าใครหิวข้าวและพอมีเวลาเหลือ เช็คอินเสร็จ​ก่อนเข้าจุดตรวจค้น ก็แวะกินที่ศูนย์​อาหารเมจิคชั้น 1 ด้านทิศตะวันตก​จะดีกว่าประหยัด​กว่า

ส่วนน้ำเปล่า ในนี้เขานิยมน้ำแร่ออร่า อีเวียง ขวดนึงก็ราวๆ ห้าสิบบาท แต่ถ้าต้องการน้ำธรรมดาราคาถูก ร้านขายยา Boots มีขายนะ 7 บาทเท่านั้น แต่ก็ต้องใช้หนังสือ​เดินทางกับบอร์ดดิ้งพาสในการซื้อด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่