[CR] รีวิว Honda Accord G9

รีวิวนี้เป็นรีวิวจากการใช้งานจริงมาเป็นปีที่ 6 ครับ  หลังจากที่ซื้อ Honda Accord G9 2.0 ปี 2013 มาด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการคือ
1. ดีไซน์สวย ทั้งรูปทรงรถ ด้านหน้าและด้านหลัง
2. ออฟชั่นเยอะเมื่อเทียบกับรุ่นหรือยี่ห้ออื่นในระดับราคาเดียวกัน เช่น cruise control, ระบบช่วยออกตัวในทางชัน หรือ Hill Assist Contr                       ol (HAC), ระบบกันลื่น หรือ Vehicle Stability Control (VSA) ม่านหลังไฟฟ้า กุญแจรีโมต Immobilizer เบาะปรับไฟฟ้า แอร์แบบ dual zone
3. ราคาน่าสนใจเพราะราคาต่ำกว่าคู่แข่งในเซ็กเมนต์เดียวกัน หรือด้วยออฟชั่นที่ให้มาทำให้รู้สึกว่าคุ้มค่ากว่า

หลังจากได้รถมาใช้แล้วรู้สึกประทับใจและคิดว่าตัดสินใจไม่ผิด นอกจากเหตุผลตอนที่เลือกซื้อข้างต้น (ถึงแม้ตอนแรกมีลังเลยระหว่าง Civic และ CRV ) เพราะขับได้นิ่มนวล เครื่องยนต์ตอบสนองดี ทรงตัวได้ดี ระบบเบรคไว้ใจได้ ห้องโดยสารกว้าง และประหยัดน้ำมัน (ใช้ E85 ได้) ถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ 2.0 แต่ก็ถือว่าสมรรถภาพใช้ได้ดี ถ้าอยากได้กำลังก็เติมน้ำมัน E20 แต่ถ้าอยากขับชิลๆไม่เร่งรีบมากก็ E85 ซึ่งจากการเปรียบเทียบเรื่องการประหยัดค่าน้ำมัน E85 จะประหยัดกว่าประมาณ 5% 

ตั้งแต่ใช้งานมาก็นำรถเข้าศูนย์ตามระยะตลอด ศูนย์ฮอนด้าที่นำรถเข้าไปใช้บริการประจำถือว่าให้บริการได้ดี ใช้รถไปไม่กี่เดือนเริ่มมีปัญหาที่ต้องเอารถเข้าไปเช็คที่ศูนย์นอกรอบซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นปัญหาเล็กน้อยในระดับที่คิดว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ก็ซ่อมกันไป บางอาการอาจใช้เวลาหาสาเหตุนานกว่าปกติซึ่งทางศูนย์จะมีการประสานงานงานกับทางส่วนเทคนิคของฮอนด้าส่วนกลางเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ให้ความสำคัญกับปัญหาของลูกค้าได้ดี

เมื่อเข้าปีที่ 3 เลขไมล์ใกล้ถึง 100,000 กม. เริ่มรู้สึกได้ว่าเครื่องยนต์สั่นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะตอนเข้าเกียร์ D แล้วเหยียบเบรคไว้ เวลาคอมพ์แอร์ทำงาน ตอนเช็คระยะก็แจ้งศูนย์ ช่างแจ้งว่ายังเป็นไม่มากขอให้รอให้อาการชัดเจนกว่านี้หน่อย หลังจากนำมาขับแล้ว อาการสั่นก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเช็คระยะในรอบถัดไป ทางศูนย์สรุปว่ายางรองแท่นเครื่องเสื่อม เสนอราคาการเปลี่ยนยกชุดอยู่ที่ 12,000 บาท (รถคันเก่าขับ 450,000 กม. เปลี่ยนยางแท่นเครื่องไปครั้งเดียว) และยางรองแท่นเครื่องไม่ได้อยู่ในประกัน Ultimate Care แต่ได้รับความกรุณาให้ข้อเสนอส่วนลดมา ตอนแรกยังไม่ตัดสินใจเปลี่ยนเพราะคิดอยู่ในใจว่าเราต้องจ่ายอีก 12,000 บาท ทุกๆ 100,000 กม.เหรอ เลยตัดสินใจทนใช้ก่อน จุดที่ทำให้ทนไม่ได้และยอมไปเปลี่ยนไม่ได้มาจากตัวการหมดความอดทนจากเครื่องสั่น แต่มีน้องที่ทำงานขึ้นรถมาด้วยแล้วถามว่า ทำไมรถพี่ราคาเป็นล้านแต่สั่นอย่างกับรถเมล์ ได้ยินแบบนี้โทรไปนัดศูนย์เปลี่ยนเลยครับ

ปีที่ 5 ไมล์เกือบ 200,000 กม. เริ่มมีเสียงดังวู้ๆเวลาขับและรถตื้อๆ สรุปต้องเปลี่ยนลูกปืนล้อหน้า (รถค้นเก่าไม่เคยเปลี่ยน) อีก 4,500 บาท
ปีที่ 6 (ปีปัจจุบัน 2019) มอเตอร์เซ็นทรับล็อคประตูทยอยเสียทีละตัวจนครบทั้ง 4 บาน มาพร้อมเพรียงกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดนอีกตัวละ 3,500 บาท 
ล่าสุด ไฟที่หน้าปัดขึ้น 2 ดวง คือไฟระบบกันลื่น (VSA) และระบบออกตัวบนทางชัน (HAC) ศูนย์แจ้งว่าโมดูล ABS เสีย ต้องเปลี่ยน เสนอราคาน่ารักๆ 47,000 บาท ได้ยินแล้วอยากจะร้องดังๆ "เห้ย" มันคืออะไรทำไมถึงเกือบห้าหมื่น และโมดูล ABS คืออะไรทำไมมันถึงไปเกียวกับระบบ VSA และ HAC พักตกใจไว้ก่อนศึกษาจนเข้าใจว่า โมดูลหรือปั๊ม ABS ทำหน้าที่ควบคุมหลายอย่างตั้งแต่ ระบบเบรค ABS, VSA และ HAC เป็นศูนย์กลางการควบคุมทั้งหมดของระบบเหล่านี้ หากมีปัญหาตัวใดตัวหนึ่งและมีไฟโชว์ ระบบนั้นๆจะไม่ทำงานหรืออาจไม่ทำงานทั้งหมด วิธีการแก้ไขโดยศูนย์คือเปลี่ยนอย่างเดียวตามราคาข้างต้น

ถึงจุด นี้คิดเอ๊ะ (เห้ย) เราโชคร้ายขนาดนี้เลยหรือ เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมในโซเชียลดูโดยพิมพ์คำว่า โมดูลหรือปั๊ม ABS ดู เลยค้นพบว่ามีผู้ที่มีปัญหาแบบเดียวกัน เพียงแต่ไฟที่โชว์อาจแตกต่างกันระหว่าง 2-4 ดวง การพูดคุยเรื่องปัญหานี้มีทั้งใน face book กลุ่ม Honda Accord G9 และกลุ่มปิดชื่อ Accord's ABS ลองเข้ากลุ่มไป สมาชิกมีทั้งหมดประมาณ 230 คน ได้ข้อมูลว่ามีคนที่มีปัญหาแบบเดียวกันประมาณเกือบ 30 คัน ระยะที่เกิดปัญหามีตั้งแต่ยังไม่ถึง 1 แสนกม. ขึ้นไป บางคันยังขับได้ไม่ถึงปีก็ไฟขึ้นแล้ว ในจำนวน 30 คัน ไม่รวมกับผู้ใช้รถที่ยอมเสียเงินเกือบ 5 หมื่นไปแล้ว อีกจำนวนหนึ่งยอมเสียงไปให้อู่นอกที่มีความสามารถในการซ่อมโดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 6,500 บาท นอกจากนี้ สมาชิกในกลุ่มก็ได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องคุณภาพของ Accord G9 กัน เป็นที่น่าตกใจว่าหลายๆคนก็มีปัญหาเหมือนกับที่ผมเจอข้างต้นเหมือนกัน ผมโชคดีที่ไม่เจอปัญหาเรื่องไฟ Day Timetime Running Light ซึ่งตกประมาณ 66,000 บาท แต่ในท้ายที่สุดฮอนด้ายอมขยายเวลารับประกันจุดนี้ไปเป็น 7 ปี ปัญหานี้ก็จบไปเพราะรถคนที่อายุนานที่สุดก็น่าจะ 6 ปีเท่าของผม

ผู้นำกลุ่มไลน์จึงรวบรวมรายชื่อสมาชิกที่มีปัญหาและเตรียมตัวที่จะไปร้องเรียนปัญหานี้ที่ฮอนด้าส่วนกลางโดยมีการนัดหมายไปรวมตัวกันที่ศูนย์ฮอนด้าในวันที่ 24 มิ.ย. 62 ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคเนื่องจากอะไหล่ที่ไม่มีคุณภาพหรือคุณภาพต่ำของฮอนด้าเนื่องจากทุกคนในกลุ่มมีความเห็นสอดคล้องกันว่าอะไหล่ชิ้นนี้ไม่ได้คุณภาพและค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสูงมากโดยไม่มีทางเลือกในการซ่อมโดยศูนย์บริการของฮอนด้า

เมื่อใกล้วันนัดหมาย เรื่องนัดกันรวมตัวรับทราบถึงฮอนด้าส่วนกลางจึงได้ขอนัดตัวแทนกลุ่มไปพูดคุยปัญหานี้ในวันที่ 21 มิ.ย. ก่อนหน้าวันนัดรวมกลุ่ม 3 วัน โดยสถานที่นัดหมายคือ ศูนย์ฮอนด้าพระราม 3 เนื่องจากเป็นศูนย์ที่ตัวแทนกลุ่มใช้บริการอยู่ประจำ หลังการพูดคุยในวันนั้นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเน้นเรื่องปั๊ม ABS เป็นประเด็นหลักและยางรองแท่นเครื่องเป็นประเด็นรองเพราะสมาชิกกลุ่มหลายคนก็มีปัญหาเรื่องยางรองแท่นเครื่องเสื่อมเป็นจำนวนไม่แพ้กัน เพียงแต่มูลค่าไม่สูงเท่าการเปลี่ยนปั๊ม ABS  ฮอนด้าติดต่อมาทางตัวแทนกลุ่มในวันที่ 24 มิ.ย. และแจ้งรายละเอียดแนวทางแก้ปัญหาโดยไม่มีเอกสารเป็นทางการ ดังนี้

(ข้อ 1-9 ด้านล่างถูกคัดลอกมาจากข้อความในกลุ่มไลน์ทั้งหมดโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ)

1. รถทุกคันต้องทำการเช็คประวัติการเข้ารับบริการก่อน เพื่อตรวจสอบว่ามีการดูแลและเข้ารับบริการอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ อาจจะมีคำถามตามมาว่าพอครบ 100,000 กิโลเมตร บางท่านเริ่มไม่เอารถเข้าศูนย์บ้าง ทำเองบ้าง เปลี่ยนข้างนอกบ้าง Honda เองก็ไม่ปิดโอกาสนะครับ ยินดีดูแลด้วยเหมือนกันแต่ยังไงต้องเช็คประวัติทั้งหมดและ Honda จะพิจารณาให้ครับ

2. เช็คสภาพรถ เพื่อให้มั่นใจว่าความเสียหายดังกล่าวไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุจริงแต่เป็นปัญหาที่อะไหล่เอง

3. เจ้าของรถที่จะแจ้งดำเนินการนี้ในเบื้องต้นขอให้เป็นเจ้าของมือแรก ความหมายคือไม่ใช่รถที่ซื้อต่อมาครับ (อันนี้ในเบื้องต้นนะครับ แต่ Honda ยังเปิดช่องในการดูแลและเจรจาได้ ไม่ได้ปิดโอกาส)

4. ระยะวิ่งไม่เกิน 140,000 กิโลเมตร (Honda ขอมาตามระยะนี้ก่อนแต่หากเกิน เขาจะพิจารณาเป็นรายๆไปครับ)

5. สำหรับคนที่เข้าศูนย์และทำการจ่ายเพื่อเปลี่ยนอะไหล่ตัวนี้ไปแล้วนั้น Honda Thailand ขอรายละเอียดและยินดีที่จะช่วยดูแลครับกรณีเสียซ้ำอีก

6. ส่วนคนที่เอา ABS ไปซ่อมข้างนอกเองและมีการแกะแก้ไขไปแล้วนั้น อันนี้ Honda เขาสงวนสิทธิเพราะขาดจากประกันเนื่องจากมีการแก้ไขดัดแปลงแล้ว แต่เราก็ช่วยเจรจาให้เพื่อขอส่วนลดที่มากกว่าศูนย์เคยเสนอให้แน่นอน

7. ข้อเสนอตอนนี้คือ Honda ขอรวบรวมรายชื่อ ทะเบียนรถ เบอร์โทรศัพท์ ไมล์ เลขเฟรม จังหวัดหรือศูนย์ที่เราเข้าประจำ ปัญหาตัวรถที่เจอ มาให้ทาง Honda แล้วทางบริษัทจะทำเรื่องพิจารณาครับ ทั้งนี้รายชื่อทั้งหมดรบกวนช่วยกัน update และตอบกลับภายในวันจันทร์ไม่เกินเที่ยงวันนะครับ

8. ข้อแม้ที่ Honda ขอคือรบกวนไม่เผยแพร่ออกไปนอกกลุ่มนะครับ เขายืนยันว่ารับทราบปัญหาและกำลังพิจารณาให้เพราะมันต้องมีหลายๆเรื่องของเขาที่ต้องจัดการ

9. ส่วนเรื่องข้อเท็จจริงของปัญหานั้นมีตัวแทนทีมเทคนิคของ Honda มาร่วมด้วยเขาสอบถามทุกท่านถึงปัญหาที่เจอซึ่งของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้าง เขาได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลและมีการส่งทดสอบกับ Lab ของ Maker ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าต้นเหตุของปัญหาคือจุดไหน แต่จากที่สรุปด้านบน Honda ยินดีดูแลนะครับแต่ก็ต้องเอารถเข้าไปให้เขาดูก่อน และให้ศูนย์ติดต่อทีมเทคนิคจากบริษัทมาร่วมตรวจอีกที

ขณะนี้ศูนย์ฮอนด้าที่สมาชิกแต่ละคนใช้บริการอยู่ ทยอยติดต่อให้นำรถเข้าไปเปลี่ยนปั๊ม ABS โดยมีข้อเสนอที่แตกต่างกันตามข้างต้น ส่วนที่อยู่ในข่ายที่ได้รับการเปลี่ยนฟรีคือเลขไมล์ไม่เกิน 140,000 กม.และนำรถเข้ามาเช็คระยะสม่ำเสมอ ก็ดีใจและยอมรับการแก้ไขแต่โดยดี สมาชิกในกรณีอื่นก็ทยอยนำรถเข้าศูนย์ไปเปลี่ยน ส่วนสมาชิกที่อยู่ในเกณฑ์อื่นมีได้รับข้อเสนอส่วนลดค่าอะไหล่ 30-40% รวมกรณีของผมเองซึ่งสมาชิกในข่ายนี้ยังมีความลังเลและกำลังพยายามต่อรองให้ได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น บางส่วนก็ได้รับข้อเสนอใหม่เป็น 60% ส่วนที่เหลือก็ยังลุ้นกันอยู่ว่าจะได้รับข้อเสนออะไร กลุ่มที่มีความกังวลมากที่สุดคือกลุ่มที่ซื้อรถมือ 2 มาและไม่รู้ว่าเจ้าของเดิมนำรถเข้าไปตรวจเช็คที่ศูนย์เป็นประจำหรือเปล่า ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป

ประเด็นหลักของปัญหานี้ที่มีการพูดคุยกันคือ การที่อะไหล่ไม่ได้คุณภาพแต่ฮอนด้าใช้วิธีตั้งกติกาต่างๆเพื่อกรองให้มีการชดเชยให้กับผู้ใช้รถฮอนด้าให้น้อยที่สุด แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ประเด็นที่ว่าปั๊ม ABS มีปัญหาเรื่องคุณภาพโดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระยะทางวิ่ง อายุการใช้งานหรือแม้แต้การบำรุงรักษาหรือไม่ และผลักภาระในจุดนี้ให้ผู้บริโภคเท่าที่จะทำได้

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปว่าสมาชิกในกลุ่มแต่ละคนจะได้รับการดูแลจากฮอนด้าที่ไม่เท่ากันอย่างไรบ้าง รถที่ยังไม่มีปัญหานี้ที่หากเกิดปัญหาในอนาคตจะได้รับการดูแลอย่างไร แบบเดียวกันหรือเปล่าเพราะผู้ใช้รถที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มและไม่ได้ติดตามข่าวสารจะไม่มีทางทราบว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้นและมีสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลอย่างไร และที่สำคัญหากฮอนด้าไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องคุณภาพของอะไหล่ ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับรุ่น G10 ที่กำลังโปรโมตอยู่หรือไม่

สรุปประเด็นเรื่อง Accord G9 มีทั้งข้อดีและข้อเสียให้พิจรณา ดังนี้

ข้อดี
1. ดีไซน์สวย
2. ออฟชั่นเยอะเมื่อเทียบกับรุ่นหรือยี่ห้ออื่นในระดับราคาเดียวกัน
3. ราคาน่าสนใจเพราะราคาต่ำกว่าคู่แข่งในเซ็กเมนต์เดียวกัน

(เพิ่มเติมจากประสบการณ์ใช้)
4. สมรรถภาพดีปลอดภัย
5. ศูนย์บริการดี

ข้อเสีย
1. อะไหล่คุณภาพต่ำและเสียเร็วกว่าที่ควรจะเป็น
1.1 ยางแท่นเครื่อง 12,000 บาท ทุก 1 แสนโล
1.2 ลูกปืนล้อหน้า 4,500 บาท (หากโชคไม่ดี)
1.3 มอเตอร์เซ็นทรัลล็อค 3,500 x 4 = 14,000 ทุก 2 แสนโล (ประมาณการ)
1.4 เดย์ไลท์ รันนิ่ง 66,000 บาท (หากโชคไม่ดี)
1.5 โมดูล ABS 47,000 บาท (ทุก 1-2 แสนโล)
2. ฮอนด้าไม่จริงใจกับการแก้ปัญหาที่เกิดจากคุณภาพของอะไหล่ที่มีคุณภาพต่ำ
3. ความคุ้มค่าต่ำเนื่องจากค่าบำรุงรักษาสูง

ปล. ประเด็นที่กล่าวถึงเป็นประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพเท่านั้น โดยไม่รวมถึงการซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่จากความเสื่อมสภาพที่เป็นเรื่องปกติ

สรุปความคิดของผม ณ ตอนนี้ คือจัดการเปลี่ยนปั๊ม ABS เท่าที่ฮอนด้าจะกรุณา ไม่อยากรอนานเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความปลอดภัยเนื่องจากกำลังอยู่ในหน้าฝน หลังจากเรื่องจบแล้วน่าจะใช้อีกสักระยะและคงขาย เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นและไม่คิดว่าจะกลับมาใช้ฮอนด้าอีก
 
ชื่อสินค้า:   Honda Accord
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่