ไขปริศนา ‘ฝนราชการ’

วันอังคาร ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562, 17.15 น.


‘ตึกแน่น ต้นไม้หาย อากาศร้อน’เพจ‘สกว.’เผยที่มา‘ฝนราชการ’



28 พ.ค. 2562 เฟซบุ๊คแฟนเพจ “วารีวิทยา - Waree Witthaya” ซึ่งเป็นเพจของทีมงานศึกษาเรื่องทรัพยากรน้ำ ในสังกัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เผยแพร่บทความ “เลิกงานปุ๊บ ฝนราชการมาปั๊บ ทำไมนะ ทำไม ?” อธิบายปรากฏการณ์ฝนตกในเขตเมืองที่ฟ้ามักจะเริ่มครึ้มก่อนสายฝนจะเทลงมาในช่วงเย็นซึ่งตรงกับเวลาที่ผู้คนเลิกงานและกำลังเดินทางกลับบ้านพอดี ดังนี้


“เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมพอบ่ายสาม บ่ายสี่โมง เอาแล้วฟ้าตั้งเค้า มืดครึ้มมาตลอดเลย แถมส่วนใหญ่ไม่รอด ฝนตกโครมลงมาเล่นเอากลับบ้านลำบาก รถติด น้ำขังรอระบาย ที่สำคัญตกกันจริงตกกันจังในเมืองกรุงเนี่ย ... รู้ไหม ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?”

..การที่ชุมชนเมืองประกอบด้วยอาคารบ้านเรือนและตึกสูง ทำให้มีวัสดุที่คอยดูดซับความร้อนโดยตรงจากแสงอาทิตย์เรามากมาย รวมไปถึงความร้อนที่เกิดขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงหรือไอร้อนที่มาจากรถยนต์ อีกทั้งบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นก็จะเกิดความร้อนที่ปล่อยออกจากเครื่องปรับอากาศของอาคาร รวมไปถึงแหล่งก่อความร้อนอื่นๆในเมืองเช่นความร้อนจากภายในโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นที่แขวนลอยและมลภาวะที่อยู่ในอากาศในรูปแบบต่างๆก็เป็นตัวดูดซับความร้อนไว้มากขึ้น”

“เมื่อต้นไม้ที่เคยทำหน้าที่ดูดซับรังสีของดวงอาทิตย์แล้วเปลี่ยนไปเป็นพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์แสงมีจำนวนน้อยลง จึงทำให้พลังงานส่องลงมาถึงตัวอาคารโดยตรง ความร้อนในเมืองจึงถูกดูดซับไว้และเป็นสาเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นจนเกิดเป็น ‘ปรากฏการณ์เกาะความร้อน Urban heat Island’ ปกคลุมไปทั่วตัวเมือง หรือบางคนให้นิยามเป็น ‘โดมความร้อน’ เป็นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่เกิดจากมนุษย์ คือการที่อากาศใกล้พื้นดินในเขตชุมชนเมืองที่มีตึกรามบ้านช่องอยู่เป็นจำนวนมาก มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณที่เป็นป่าไม้ที่อยู่ถัดออกไปรอบๆ”


“ผลกระทบจากปรากฏการณ์เกาะความร้อนที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ‘ฝนราชการ’ เป็นฝนที่มักตกในช่วงเวลาเลิกงาน เหตุเพราะการที่เมืองสะสมความร้อนไว้ตลอดวัน ทำให้ความร้อนเหล่านี้ดึงความชื้นขึ้นไปสะสมบนท้องฟ้าจำนวนมาก จนกลายเป็นกลุ่มเมฆและตกลงมาเป็นฝนในช่วงเย็นถึงค่ำ ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานราชการ จึงมักเรียกกันติดปากว่าฝนราชการ”

“แนวทางในการแก้ไข ‘ปรากฏการณ์เกาะความร้อน Urban heat Island’ ประการหนึ่ง คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ในเขตเมือง บริเวณดาดฟ้าของตึก เพราะเมืองที่เต็มไปด้วยต้นไม้จะช่วยกักเก็บน้ำ และการระเหยของความชื้นจะช่วยพาความร้อนออกไปจากตัวเมืองได้อย่างรวดเร็ว”

แนวหน้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่