[CR] เที่ยวสุโขทัย ดีต่อใจ ได้ประโยชน์ชุมชน

สุโขทัยเมืองมรดกโลก อาณาจักรแรกของไทย แหล่งอารยธรรมที่ซ่อนเสน่ห์อันงดงามไว้เบื้องหลัง ที่สำคัญสถานที่แห่งนี้.....เป็นบ้านเกิดของผมเอง 
ทริปท่องเที่ยวที่จะมาเล่าให้ฟังนี้ เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า จะทำอย่างไร ที่ผมจะช่วยพัฒนาบ้านเกิดในด้านต่างๆ การท่องเที่ยว ศิลปะวัฒนธรรม การเดินทาง หรืออะไรเล็กๆ น้อยใกล้ตัวอย่างการช่วยเก็บขยะในละแวกบ้าน

ด้วยคำปรึกษาจากหลายๆ คนในสุโขทัย จึงเกิดโปรเจคที่ผมอยากทำฟอนท์ให้กับเมืองสุโขทัย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านตัวอักษร ผมจึงเดินทางไปขอคำปรึกษา จากอาจารย์ไพโรจน์ ธีระประภา นักออกแบบตัวอักษรผู้คร่ำหวอดในวงการ ฟอนท์ของอาจารย์โรจน์ ปรากฎในภาพยนตร์ไทยหลายๆ เรื่อง ทั้ง อินทรีย์แดง, หมานคร , ฟ้าทะลายโจร และฟอนท์ที่หลายๆ คนเคยใช้อย่างฟอนท์ ศิลปากร
พี่โรจน์นอกจากจะเป็นนักออกแบบตัวอักษรรุ่นใหญ่แล้ว หัวใจของพี่โรจน์ ก็ใหญ่ไม่แพ้ผลงานที่เคยทำ นอกจากเราคุยกันเรื่องการออกแบบตัวอักษร ที่จะถ่ายทอดอารยธรรมสุโขทัยออกมาแล้ว พี่โรจน์ยังเล่าให้ผมฟังถึงโปรเจค "ร้อยแรงบันดาลไทย" ที่เคยทำในหลายๆ จังหวัด เป็นโปรเจคที่กลุ่ม "เซียมไลท์" จะชวนคนในจังหวัดและนักออกแบบ เดินเที่ยวชมเมือง แล้วถ่ายรูปรายละเอียดที่เห็นในเมือง แปลงออกมาเป็นคลิปอาร์ต ไว้เป็นโอเพ่นดาตาให้คนไทยได้ใช้กัน และเพื่อเก็บลวดราย วิถีชีวิต ไว้บอกเล่า ถ่ายทอดผ่านภาพไปในรุ่นสู่รุ่น แบบที่เรียกว่า ความทรงจำเหล่านี้ จะไม่สูญหายไปพร้อมการเวลา

จนมาถึงเรื่องที่เป็นใจความหลักของวันนี้ ทริปสำรวจ เพื่อโปรเจค แรงบันดาลไทย สุโขทัย /// ทริปนี้ผู้ร่วมทริปของเราประกอบไปด้วย อาจารย์โรจน์ อาจารย์เพ้ง ที่มาจากกรุงเทพ ส่วนคนพื้นที่สุโขทัยเรา ก็มี ผม รัตน์ น้องลูกเต๋า น้องต้อง น้องกิ๊ก พี่ตูน และชาวต่างชาติที่เป็นอาสาสมัครอีกสองคน เอสเตบัน อาสาสมัครชาวเบลเยี่ยม และ นอร์ร่า อาสาสมัครชาวจีน

เราเริ่มต้นทริปตั้งแต่หกโมงเช้า ด้วยการสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ตักบาตรตอนเช้าที่สะพานบุญ ใกล้ตลาดเช้า แหล่งเริ่มต้นวันใหม่ของผู้คนสุโขทัย
เดินเข้าไปในชุมชน ได้เจอโดยบังเอิญ กับพี่ไพร ชาวบ้านในชุมชนที่อาสาพาเราไปชมหมู่บ้าน

เราเริ่มเดินเข้าไปในชุมชน โชคดีที่เราได้เจอกับ พี่ไพร ชาวบ้านในชุมชนที่ออกมาทำความสะอาดหน้าบ้าน พี่ไพรใจดี พาเราเดินเข้าไปตามบ้านแต่ละหลังในชุมชน จนได้เจอกับกิจกรรมในชุมชนที่เราคิดว่า สามารถแกะลายออกมาเป็นคลิปอาร์ตไว้ใช้ได้ด้วย

ยายทอง
ยายทองกำลังเล่าให้เราฟัง ถึงวิธีทำงานไม้ ที่แกทำกับมือ เป็นรูปนกและปลา ยายทองอายุ 74 ปีแล้ว แต่ยังคล่องแคล่ว และทำงานฝีมือแบบนี้ได้อยู่
นกไม้สักแกะทำมือ ราคาตัวละ 20 บาท สำหรับผมแล้ว การที่ยายต้องทำงานฝีมือแบบนี้ ราคาอาจดูไม่คุ้มกับฝีมือที่เคลือบอยู่ในเนื้องาน แต่ยายทองบอกว่า งานทั้งหมด เป็นงานรับผลิต จึงได้ราคาที่ต่ำ ในส่วนนี้งานต่อไปของผมคือ ต้องถามชาวบ้านจริงๆ ว่า อยากทำงาน OEM ต่อไป หรือ ต้องการลุกขึ้นมาทำแบรนด์ของตัวเองเพื่อให้ภูมิปัญญาเหล่านี้ มีค่า มีราคา ตอบแทนคุ้มค่าความยากลำบากและฝีมือที่สั่งสมจากประสบการณ์ทั้งชีวิต

งานแกะไม้
คุณอาท่านนี้ เป็นช่างไม้ฟันนกคุ้ม ที่เขี่ยวชาญมาก ขนาดที่ว่า ดูด้วยตาเปล่าได้ว่า ไม้ชิ้นไหน สามารถขึ้นรูปเป็นนกคุ้มได้ จากนั้นก็ใช้มีดอีโต้ ฟันฉับๆ ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ตามแบบในจิตภาพในหัวได้เลย
 
ก็จะได้ผลงานออกมาเป็น "นกคุ้มสุโขทัย" ที่ ผนวกกับการใช้ "ข้าวตอกพระร่วง" ใส่เข้าไป ในส่วนของดวงตานก เชื่อกันว่าสามารถเป็นเครื่องราง ป้องกันพยันตรายต่างๆ ในบ้าน ในส่วนนี้เราก็จะได้ คลิปอาร์ต "นกคุ้มสุโขทัย" ไว้ใช้ได้อีกหนึ่งลาย

 
ขนมโบราณ "ข้าว-งา"
จากนั้นพี่ไพร ชี้ให้เราดูบ้านที่ทำ "ขนม-งา" ขนมโบราณของสุโขทัย ที่ทำมาจากข้าวเหนียวคลุกกับงาดำ บางสำนักก็ใส่ไส้เข้าไปด้วยน้ำตาลและมะพร้าวขูด บางสำนักก็ทานแบบไม่มีไส้

ในตอนนั้นผมมีข้าวเหนียวไก่ย่างติดมือไปด้วย ก็เลยขอให้ลุงกับป้า ทำขนม-งา ให้เราชิมกันสดๆ ได้ลองตำข้าวเหนียว ที่รู้สึกได้ว่า เหมือนในหนังที่ชาวญี่ปุ่น ช่วยกันทำโมจิกันเลยทีเดียว ที่ล้ำไปกว่านั้น ที่หมู่บ้านนี้ เขาปลูกงากันเองแบบอินทรีย์อีกด้วย ทำให้ในตอนนั้น เราได้ทานขนม-งาที่หอมอร่อย สดๆ กันเลย

 
ตามลายโบราณสถาน
ช่วงบ่ายเราเข้าไปสำรวจในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เริ่มจากวัดพระพายหลวง วัดที่ดูเผินๆ เป็นวัดขอม เพราะมีพระปรางค์สามยอดเด่นเป็นสง่าอยู่ ตั้งแต่เด็กๆ ตามที่ในหนังสือได้เขียนไว้ ผมก็เข้าใจมาตลอดว่าเป็นเช่นนั้น อาจเพราะไม่ได้ เดินดูอย่างละเอียดแบบที่มาเที่ยวช้าๆ อย่างในวันนี้ ผมเข้าใจว่า วัดนี้น่าจะเกิดจากขอมยึดดินแดนไทย แล้วสร้างปราสาทขอม ทับรอยเอาไว้

แต่พออาจารย์โรจน์ กับอาจารย์เพ้งชวนคุย ชี้ให้เราดูรูปแบบศิลปะ ลายต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนปูนปั้น ตัวมกรคายนาค ทั้งยังมีคนที่ดูคล้าย ฤาษี ออกมาจากปากมกร หรือลายพระกาฬบนพระพุทธรูป ที่เคยเห็นในปกหนังสือ ปฏิจจสมุปบาท เราต่างมาขบคิดกันว่า วัดนี้อาจจะเป็นสมัยที่สุโขทัย ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอม เหมือนที่ยุคสมัยนี้ เราแต่งบ้านเป็นสไตล์สแกนดิเนเวีย ก็เป็นได้

เราไปดูกันต่อที่วัดพระพายหลวง และวัดศรีชุม เป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปวัดพระพายหลวงแบบจริงจัง ในรอบชีวิต สามสิบปี สิ่งที่เราสังเกตุได้จากวัดพระพายหลวงเมืองเราเดินช้าลง และมองให้ลึกขึ้นตามคำบอกเล่าของอาจารย์ทั้งสอง ก็คือ วิธีการสร้างพระแบบโบราณ เรามองไปที่ส่วนเท้าของพระพุทธรูป ได้เห็นว่า ส่วนเท้า ถูกก่อด้วยอิฐ เป็นรูปเท้า แล้วจึงทับด้วยปูนปั้น การสังเกตุนี้ทำให้เราสันนิษฐานได้ว่า การสร้างพระในสมัยโบราณนั้น เขาใช้วิธีก่อโบก ไม่ได้ปั้นเป็นรูปขึ้นมาโดยตรง ในส่วนนี้เรายังได้เก็บลายปูนปั้นและรูปเจดีย์ ไปทำเป็นคลิปอาร์ตได้อีกด้วย

เช้าวันต่อมา เราไปเที่ยวกันต่อ ที่บ้านทุ่งหลวง ที่เรารู้มาว่า ที่นี่ มีวัดโบราณและวิถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวสุโขทัยซ่อนตัวอยู่
วันที่เราเข้าไปในชุมชน โชคดีที่เป็นงานบุญ ชาวบ้านต่างมาร่วมงานบุญกันด้วยศรัทธา บ้างถือบาตร หิ้วของ บ้างแบกหาบใส่กับข้าว บ้างเดิน บ้างถีบจักรยาน มาอย่างอุ่นหนาฝาครั่ง ลูกเด็กเล็กแดงต่างมีความสุขที่ได้มาเล่นที่ลานวัด และเสพย์ศิลปะสวยๆ บนศาลา!

 
ศาลาวัด วัดลาย ทุ่งหลวง ที่มีงานแกะลายไม้ที่สวยงาม ส่วนด้านหลัง เป็นป่าช้าที่มีดงตาลอุดมสมบูรณ์แอบซ่อนอยู่
ใต้หลังคา ถูกเขียนรายนามผู้บริจาคไว้อย่างน่าภาคภูมิ

โครงสร้างเก่าที่ทางวัดยังคงรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ดู

ต้นไทรใหญ่ยักษ์ ที่ปกคลุมให้ความล่มเย็นแก่ชุมชน

อาจารย์ไพโรจน์ กำลังบันทึกภาพ "รูปที่มีทุกบ้าน" บนบ้านไม้ในชุมชนทุ่งหลวง ที่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ แม้ว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างเทคโนโลยีจานแดง แต่บ้านไม้แบบภาคเหนือที่ตีฝาบ้านด้วยการวางไม้แนวขวาง ยังมีให้เราได้เห็นในชุมชนนี้

 
บ้านไม้ที่หมู่บ้านนี้ยังมีฟังชั่นการใช้งานแบบเต็มรูปแบบ ตัวบ้านยังคงรักษาระเบียงไม้แบบดั้งเดิม บันไดบ้านยังใช้การได้ ใต้ถุงยังใช้ผูกเปลเป็นที่หลบร้อนได้อย่างดี เสียดายมีรถจอดบังที่เราหาเจ้าของรถไม่เจอ

ทริปสำรวจนี้ จบลงที่บ้านทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาศ ซึ่งจะถูกพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวแบบรูปแบบหนึ่ง ในฐานะเจ้าของบ้าน คนสุโขทัยเอง การเที่ยวทริปนี้ นอกจากได้ความสนุกแล้ว ยังทำให้ผมได้รู้จักบ้านตัวเองดีขึ้น 

ขนาดที่ว่าเป็นบ้านของตัวเอง ยังสนุกสนานเพลิดเพลิน ผมเลยอดไม่ได้ที่จะนำมาบอกเล่า และเชิญชวนให้ทุกๆ คนที่ได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวนี้ มาเที่ยวที่บ้านผม จังหวัดสุโขทัย เที่ยวแบบที่ว่า เที่ยวมากกว่าเมืองโบราณ

เที่ยวแบบช้าๆ ค่อยๆ เดิน เหนื่อยก็พัก ค่อยๆ ดูรายละเอียด เปิดใจตัวเองที่จะเริ่มพูดคุยกับชาวบ้าน ที่บางครั้งอาจนำพาเราไปสู่เรื่องราวน่าสนใจที่ซ่อนเร้นอยู่ เที่ยวแบบที่ว่า ไม่คิดว่าตัวเองเป็นเพียงนักท่องเที่ยว เที่ยวแบบที่เราก็ได้ ชุมชนที่เราไปเที่ยวก็ได้ประโยชน์

เที่ยวไปตามอารยธรรมแห่งความสุข... มาเที่ยว "สุโขทัย" กันครับ ^________^
ชื่อสินค้า:   เที่ยวไปออกแบบชุมชนสุโขทัย
คะแนน:     

CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้

  • - จ่ายเงินซื้อเอง หรือได้รับจากคนรู้จักที่ไม่ใช่เจ้าของสินค้า เช่น เพื่อนซื้อให้
  • - ไม่ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์ใดๆ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่