==ความรู้ทางการแพทย์ เกี่ยวกับกัญชา==

เรื่องของกัญชา
ประวัติศาสตร์ของการใช้กัญชาเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่19 ในอังกฤษและอเมริกาเพื่อรักษาอาการปวดและอาการคลื่นไส้
ปี 1851 กัญชาได้รับบรรจุอยู่ในตำรายาของอเมริกา แต่ต่อมาในปี 1942 ได้ถูกถอดถอนออกไป
ปี 1970 เป็นยุคฮิปปีที่คนหนุ่มสาวอเมริกาหันมาใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลายอย่างกว้างขวาง
ปี 1990 ทางการแพทย์มีการค้นพบ Canabinoid system(ระบบสารสกัดกัญชา)ในสมอง และเป็นที่มาของการสนใจนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์
ปี 2010 มี 11 รัฐในอเมริกามีการออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ แต่ไม่รับรองการใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน(recreational use)
ปี 2014 มี 23 รัฐออกกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในทางการแพทย์ และมี 5 รัฐอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อความเพลิดเพลิน ได้แก่รัฐ Alaska, Colorado,Oregon,Washington และ
District of Columbia.

ในกัญชานั้นมีสารเคมีมากกว่า 104 ชนิด(สารเคมีเหล่านี้เรียกรวมกันว่าสาร Cannabinoids แต่ที่สำคัญที่สุดมีอยู่ 2 ชนิดคือ THC กับ CBD
สาร 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์แตกต่างกันชัดเจน กล่าวคือ THC ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท(Psychoactive) ทำให้เมาเคลิ้ม ประสาทหลอน และเกิดโรคจิต(Psychosis) ในขณะที่สาร CBD มีฤทธิ์ทำให้สงบ ลดอาการวุ่นวาย และต้านฤทธิ์เมาประสาทหลอน
ดังนั้นในการนำกัญชามาใช้นั้นจะต้องทราบจุดประสงค์ที่แน่นอน และควรทราบปริมาณที่แน่นอนของสารทั้งสองชนิดในสารสกัดกัญชานั้น
ควรทราบว่าสารทั้งสองชนิดนี้นอกจากจะมีอยู่ในกัญชาแล้ว ยังสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ด้วย การสังเคราะห์ขึ้นมาสามารถทราบปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างแม่นยำแน่นอน
ส่วนในใบกัญชานั้น แต่ละสายพันธ์ให้ปริมาณของ THC กับ CBD แตกต่างกันไป มีการศึกษากัญชาในภาคเหนือของประเทศไทย พบว่ามีปริมาณสารทั้งสองอย่างแตกต่างกันมากแม้จะอยู่ในแหล่งเดียวกัน

และ อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่าการใช้กัญชานั้นมี วัตถุประสงค์ 2 ประการคือใช้ในทางการแพทย์ หรือว่าใช้เพื่อความเพลิดเพลิน กัญชาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เพื่อความเพลิดเพลินนั้น ในต่างประเทศมักจะกำหนดให้มีปริมาณของสาร THC ต่ำมากๆและแม้กระนั้นก็ยังมีการควบคุมการใช้อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณ สถานที่ที่จะใช้

สารทั้งสองชนิดที่มีอยู่ในกัญชานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร้อน ดังนั้นจึงต้องนำมาสูบให้เข้าทางลมหายใจ หรือหากมีการสังเคราะห์เป็นของเหลวแบบเข้มข้นก็นำมาหยดไต้ลิ้นซึ่งจะมีการดูดซึมได้เร็วพอๆกับการสูบ แต่การกินเข้าไปจะไม่ได้ผลเพราะจะถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารเกือบหมด

สำหรับการ ใช้ในทางการแพทย์นั้นมีการรับรองการใช้(ในต่างประเทศ)ดังต่อไปนี้
1.รักษาภาวะเกร็งในโรคทางระบบประสาท Multiple Sclerosis
2.รักษาโรคลมชัก(Epilepsy)ชนิดรุนแรงบางชนิด
3.รักษาโรค Parkinson(บางอาการ)
4.รักษาโรค Alzheimer(ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม)
5.แก้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด(ที่ให้ยาชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล)
6.แก้ปวดจากมะเร็ง ปวดปลายประสาท ปวดเรื่อรัง
7.ใช้รักษามะเร็งสมอง มะเร็งต่อมลูกหมาก(ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม)
8.ใช้เพิ่มน้ำหนักในผู้ป่วยโรคเอดส์(ช่วยให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น)
9.ใช้รักษาต้อหิน(ยังไม่ยืนยันผล)
10.ใช้รักษาโรค Post traumatic stress syndrome
11.ใช้รักษาโรควิตกกังวล
แต่ข้อบ่งชี้ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังต้องการการศึกษายืนยันอีกมาก และในแต่ละโรคนี้บางโรคเป็นผลของ THC บางโรคเป็นผลของ CBD จึงไม่สามารถนำกัญชามาใช้อย่างสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ทราบสัดส่วนและปริมาณของสารทั้งสองชนิดอย่างชัดเจน

การนำสารสกัดกัญชามาใช้นั้นมีหลายรูปแบบทั้งสูด ทั้งหยดไต้ลิ้น และปัจจุบันมีชนิดกินโดยผสมในขนมต่างๆเช่นในคุ๊กกี้ บราวนี เค๊ก Oeo Keef Kat ทำเป็นเนยกัญชา ขี้ผึ้งกัญชา น้ำมันกัญชา

อย่างไรก็ตามการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีก็หาไม่ จากการศึกษาพบว่ามีผลเสียดังต่อไปนี้
1.เพิ่มการเกิดโรคทางจิต 3.9 เท่า
2.พบการฆ่าตัวตายเพิ่มชึ้น 2.5 เท่า
3.ทำให้ติดกัญชา 10%(ต้องเพิ่มปริมาณการใช้ชึ้นเรื่อยๆ)(อยู่ในวัยเรียน 17%)
4.ทำให้สมองฝ่อ
5.มีปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ และความจำ
6.สัมพันธ์กับการเกิดภาวะถุงลมโป่งพอง
7.สัมพันธ์กับภาวะเส้นเลือดสมองตีบ
8.สัมพันธ์กับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
9.สัมพันธ์กับมะเร็งอัณฑะ
10.เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด
11.พบอุบัติการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชาสูงขึ้น

ผลอย่างเฉียบพลันของกัญชานั้น อาจทำให้อารมณ์ครื้นเครงขึ้นแต่จะตามด้วยอาการง่วงซึม
หากใช้ปริมาณมากจะทำให้ความจำลดลง และเพิ่มความวิตกกังวล ประสาทหลอนทางตา
หวาดระแวง(paranoid) และเกิด panic attack
หากใช้ในคนตั้งครรภ์ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการพัฒนาการของเด็กในครรภ์ ทำให้การสร้างน้ำนมแม่ลดลง และสารกัญชาจะเข้าไปในน้ำนมด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ในคนท้องและให้นมบุตร
การใช้ในเด็กจะนำไปสู่การติดสารเสพติดชนิดอื่นมากขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
- [ ] ดูเหมือนว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีการใช้สารจากกัญชามากที่สุดในโลกโดยพบว่ามีการใช้ในทางการแพทย์ 30 รัฐ ใช้เพื่อการผ่อนคลาย 9 รัฐ แต่รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกายังถือเป็นสารต้องห้าม แต่ในรัฐที่อนุญาตให้ใช้นั้นก็มีระบุไว้ชัดเจนว่าจะต้องมีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.5-5% แล้วแต่รัฐ และมีปริมาณสาร CBD มากกว่า 5% ขึ้นไป
- [ ] ส่วนในประเทศอื่นๆพบแตกต่างกันดังนี้
- [ ] ประเทศCanada สามารถใช้ทางการแพทย์ได้ไม่ผิดกฎหมายหากมีข้อบ่งชี้ชัดเจน
- [ ] ประเทศ Australia และ England ถือว่าการเสพกัญชาผิดกฎหมาย ส่วนการใช้ทางการแพทย์ต้องผลิตโดยบริษัทที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น แพทย์ที่จะใช้ก็ต้องขึ้นทะเบียน
- [ ] ผู้ป่วยที่ใช้ก็ต้องลงทะเบียน ติดตามได้ ผู้ปลูกก็ต้องขึ้นทะเบียน
- [ ] ในประทศ Netherland นั้นคล้ายๆ Australia แต่เพิ่มสามารถปลูกใช้ในครัวเรือนได้ไม่เกิน5 ต้น และสามารถสูบกัญชาได้ในสถานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
- [ ] ประเทศที่ถือว่ากัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายทุกกรณีได้แก่ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์
จากข้อมูลที่ประมวลมานี้ พอจะสรุปว่าการจะปล่อยให้มีการใช้กัญชาโดยเสรีน่าจะส่งผลเสียโดยรวมมากกว่าผลดีอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะไม่มีใครทราบได้เลยว่ากัญชาที่ใช้อยู่มีปริมาณสาร THA และสาร CBD อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ และแม้หากจะควบคุมการใช้ให้ถูกกฎหมายก็ยังเสี่ยงต่อการใช้เกินขนาดได้โดยง่าย และราคาที่เหมาะสมจะเป็นเท่าใด
(นี้เป็นความเห็นของผู้รวบรวมเองครับ)

รวบรวมมาจากการประชุมราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 26 เมษายน 2562 ผู้นำเสนอคือ
รศ.พญ.สุดา วรรณประสาท มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ผศ.นพ.วรพันธ์ เกรียงสุนทร ศิริราชพยาบาล
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ โรงพยาบาลรามาธิบดี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่