ไฮสปีดเชื่อมสนามบินแล่นฉิวสู่เมืองการบินตะวันออก

เรียกว่าหายห่วงไปแล้ว กับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่(ค่อนข้าง)ชัวร์แล้วว่า กลุ่มซีพีและพันธมิตรได้รับงานไปทำแน่นอน ส่วนที่เหลือของการเจรจา ก็เป็นเรื่องปลีกย่อยที่สองฝ่ายต้องไปขัดเกลาถ้อยคำร่วมกัน เพื่อนำส่งคณะกรรมการอีอีซีและครม.พิจารณา ก่อนลงนามในสัญญา ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้

สำหรับโครงการต่อไปของอีอีซี ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกเอกชนเข้าประมูล ก็คือโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ซึ่งมี 3 กลุ่มที่เข้าร่วมชิงชัย คือ กลุ่มซีพีกับพันธมิตร และ กลุ่มบีทีเอสกับพันธมิตร ซึ่งสองกลุ่มนี้เจอกันมาในยกแรกแล้ว กับการประมูลโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่มซีพีเพิ่งคว้าชัยไปหมาด ๆ ส่วนในการประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานี้ สองฝ่ายก็มาเจอกันอีก และต้องมารอลุ้นกันต่อว่า กลุ่มซีพีจะได้ไปอีกหนึ่งโครงการ หรือกลุ่มบีทีเอสจะช่วงชิงมาได้บ้าง นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มที่เข้ามาร่วมประมูลด้วย คือ กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เทียม ที่มีไทยแอร์เอเชียร่วมด้วย กลุ่มหลังนี่ ยังไม่มีสื่อไหนสนใจเข้าไปเจาะข้อมูลมาให้พวกเรารับรู้กัน


แต่ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ถือว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญมากในด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนพื้นฐานที่จำเป็นต้องมี เพื่อสนับสนุนให้โครงการอื่น ๆ ในอีอีซีเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น ทั้งสองโครงการนี้จึงจำเป็นต้องพัฒนาให้ควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพราะเมื่อโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่ง ก็จะดึงดูดการสัญจรได้มาก นั่นก็หมายถึงความเจริญในด้านอื่น ๆ จะตามมาอีกมากด้วย

สำหรับสองโครงการนี้มีความสัมพันธ์และช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันได้มาก เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภามีศักยภาพมากพอที่จะช่วยรองรับปริมาณผู้โดยสารที่หนาแน่นของสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งหากมีรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวเชื่อมต่อในการเดินทาง จะเป็นตัวดึงดูดการท่องเที่ยว และประหยัดเวลาได้มาก เพราะการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงระหว่างสนามบินอู่ตะเภากับกรุงเทพฯ จะใช้เวลาเพียง 45 นาที (ใช้เวลาใกล้เคียงกับการเดินทางจากสนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว) ซึ่งน้อยกว่าการขับรถยนต์ ที่ต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง


นอกจากนี้ ในอนาคต พื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีจะมีความเจริญขึ้นมาก เพราะจะมีเมืองใหม่ เขตท่องเที่ยว เขตอุตสาหกรรม เขตเทคโลยีสมัยใหม่ เขตโรงพยาบาล ฯลฯ ดังนั้นจึงจะมีผู้คนสัญจรไปมาวันละหลายแสนคน จึงต้องมีทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลายนอกเหนือจากทางถนน ซึ่งไม่ว่าจะขยายอย่างไรก็จะคับคั่งแออัดอย่างมาก

ที่สำคัญ หากโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาสำเร็จจนกระทั่งเป็นเมืองการบินตะวันออก หรือเมืองการบินระดับภูมิภาคแล้ว ก็จะยิ่งเป็นจุดดึงดูดการเดินทางอย่างมาก การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และเมืองการบินตะวันออก จึงเรียกได้ว่า เป็นความหวังของการพัฒนาเมือง และเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนอีอีซีและเศรษฐกิจไทย ที่คนส่วนใหญ่รอคอย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
------------------------------------------

ขอบคุณเจ้าของรูปและคลิป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่