เปรียบเทียบ "ค่ายหนังไทย" กับ "พรรคการเมืองไทย" ฉบับ 2562

พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019 ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้แทน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะปรากฏขึ้นอย่างเร็วก็ภายในเดือนหน้า 

ระหว่างที่ยังหาจุดลงตัวไม่เสร็จ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ถึงแม้จะประสบภาวะความยากลำบาก เนื่องจากการได้รับความเอาใจใส่จากภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอ แต่สำหรับสีสันของหนังไทยในระยะนี้ เห็นจะหนีไม่พ้น "ค่ายหนัง" หรือผู้สร้างหนังของเมืองไทยที่ต่างขยันขันแข็งสร้างความบันเทิงออกมาให้ได้ดูกัน ผลสำเร็จย่อมแตกต่างกันไปตามความไว้วางใจของผู้ชม

แล้วถ้าจะให้ค่ายหนังมาเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองในบ้านเรา...สิ่งที่เราสามารถประเมินจนพอมองออกจนลงตัวก็คือ คุณลักษณะหรือสภาพที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการดำเนินธุรกิจ นโยบาย แนวทางการนำเสนอ หรือแม้กระทั่งระดับความนิยม 

โอกาสนี้เราได้สนุกกันแล้วล่ะ...ที่จะมาวัดกันว่า เมื่อเทียบระหว่างค่ายหนังกับพรรคการเมืองระดับหัวแถวแล้ว แต่ละคู่มีจุดคล้ายคลึงตรงไหนบ้าง...?

เริ่มจาก "จีดีเอช"  บริษัทสร้างหนังรายใหญ่ในเครือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แม้จะตั้งตัวมาได้เพียง 3 ปี แต่เป็นที่เข้าใจกันทั่วว่านี่เป็นค่ายหนังที่สืบทอดจากจีทีเอช เพราะคนทำงานในจีดีเอชโดยส่วนใหญ่ก็มาจากกลุ่มเดิมนั่นเอง การันตีจากผลงานที่ผ่านมาซึ่งมักทำรายได้ชนิดทิ้งห่างค่ายอื่นอย่างไม่เห็นฝุ่น และมีการโปรโมทที่แข็งแกร่งเอามาก ๆ เมื่อเทียบคุณลักษณะของพรรคการเมืองแล้ว คุณว่าค่ายหนังแห่งนี้เทียบกับพรรคใดล่ะ...(โปรดดูคำตอบด้านล่าง)

"สหมงคลฟิล์ม" บริษัทสร้างหนังที่เก่าแก่และอยู่ยงคงกระพันที่สุดเท่าที่มีการบันทึก โดยมีอายุ 50 ปีเข้าไปแล้ว ผลิตและจำหน่ายหนังทั้งไทย-เทศไว้มากมายนับไม่ถ้วน แถมยังเป็นแหล่งรวมของผู้กำกับและนักแสดงระดับคุณภาพไม่ว่าจะมาเพียงชั่วคราวหรือตลอดชีพ มีผลงานออกมาหลากหลายแนว แต่หลัง ๆ ไปเน้นเรื่องผีสาง ซึ่งอาจทำให้คะแนนความนิยมลดลงกว่าแต่ก่อน ก็ต้องคอยดูว่า "กระสือสยาม" จะสามารถลบล้างอาถรรพ์ได้สำเร็จเพียงใด...

"เอ็ม พิคเจอร์ส" บริษัทสร้างหนังรายใหญ่ที่มีบริษัทลูกและค่ายหนังรายย่อยไว้ในครอบครองมากที่สุด ซึ่งพักหลังมานี้ก็มีดาราและผู้กำกับเข้ามาร่วมงานกับที่นี่อย่างละลานตา ไม่ว่าจะเป็น วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง, ก้องเกียรติ โขมศิริ, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, เอกชัย ศรีวิชัย, เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา รวมถึงค่ายดังแห่งจอแก้วอย่าง เวิร์คพอยท์, แมทชิ่ง, กลุ่มทรู ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นค่ายหนังที่เน้นปริมาณแต่ไม่ทิ้งคุณภาพ จะเห็นได้จากผลงานหลายเรื่องที่ผ่านมา...

"ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น" ค่ายหนังวัย 45 ที่เคยยิ่งใหญ่ในยุคต้น ๆ มีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่องและทันต่อความต้องการของผู้ชม แม้ว่าจะไม่มี เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร และ เจริญ เอี่ยมพึ่งพร แล้ว แต่ผู้บริหารรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ ก็พาไฟว์สตาร์ฝ่ากระแสธาราได้พอสมควร ถึงแม้จะมีหนังออกมาเป็นจำนวนน้อยต่อปี แต่สำหรับ "พี่นาค" คือความหวังใหม่ที่สามารถทลายทุกข้อจำกัดที่เคยมี ไม่แน่ว่าค่ายนี้อาจกลับมาผงาดวงการหนังไทยให้เป็นเช่นยุคก่อน ๆ ก็เป็นได้นะ... 

ปิดท้ายด้วยผู้ที่เคยเติบโตอยู่ในแวดวงนี้มาตั้งแต่หนุ่ม ๆ แล้วมาตั้งต้นใหม่อยู่ 2-3 หน คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก วิสูตร พูลวรลักษณ์ กับค่ายน้องใหม่แต่ทุนหนาอย่าง "ที โมเมนต์"  จากก้าวแรกที่ผิดพลาด และกระแสที่ดูเงียบ แต่เขาก็ไม่ย่อท้อที่จะมุ่งสร้างสิ่งใหม่ ๆ และทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับวงการหนังไทย นับว่าเป็นค่ายหนังที่น่าจับตามองอีกค่ายเมื่อพิจารณาจากคุณภาพที่ออกมาซึ่งก็ดูไม่เลวไปกว่าใคร เราขอเป็นกำลังใจให้กับพี่ชายคนนี้แล้วกัน...

แล้วอย่าลืม รักเมืองไทย เลือกดูหนังไทย ไม่ต้องห่วงภาครัฐแล้วกันนะ...สวัสดี.

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่