[Review] แสงกระสือ: สิ่งที่น่ากลัวกว่ากระสือ [Spoil!]



By มาร์ตี้ แม็คฟราย

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของหนัง

‘เออ หนังเรื่องนี้ดีจริง’
.
เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นทันทีที่ไฟในโรงเปิดขึ้นมา ความน่าประหลาดใจได้เดินตามความรู้สึกแรกมาอีกครั้ง เมื่อทบทวนอีกครั้งและพบว่านี่คือหนังสัญชาติไทย ที่ผู้คนพากันส่ายหน้าไม่ต้อนรับ (ยกเว้นภาพยนตร์จากค่ายหนังย่านอโศก)
.

ว่ากันที่ตัวหนัง สิ่งแรกที่ต้องกล่าวถึง มันหนีไม่พ้นแนวคิดและวิสัยทัศน์ในการดัดแปลง ตีความ และหาแง่มุมใหม่ ๆ สำหรับผีไทยที่สุดแสนจะซ้ำซากอย่างผีกระสือ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวคิดสำหรับผีตนนี้ ให้ไม่ใช่เป็นผีสางชาวบ้านอีกต่อไป หากแต่เป็นอมนุษย์ อสูรกาย ที่สามารถติดต่อและสืบทอดพันธุ์กรรมได้ ไม่ต่างกับแวมไพร์ที่สามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์ผ่านการกัดมนุษย์ นั่นหมายถึงว่าผู้ที่เป็น ก็อาจไม่ได้อยากเป็น หรือแม้แต่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไป!
.

ส่งผลให้เราไม่อาจเรียกหนังที่มี ‘กระสือ’ เป็นตัวละครนำเรื่องนี้ ว่าเป็นหนังผีอีกต่อไป
.

นอกจากนั้น ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของกระสือให้หลุดพ้นจากกรอบเดิม โดยสร้างเหตุและผล ในการกระทำในยามค่ำคืน เพราะพอบริบทกระสือในหนังได้เปลี่ยนแปลงไป วิธีการเดิมที่เป็นไฟล์ทบังคับในต้องพยายามให้คนกลัวในฉากผีก็อันตรธานหายไปด้วย
.

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว กระสือ ในหนังเรื่องนี้จึงสามารถเดินด้วยลำแข้งของตนเองอย่างเป็นเอกเทศ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจหนังกระสือไทยเรื่องก่อน ๆ อีกต่อไป สิ่งนี้จึงทำให้เกิดการตีความใหม่ เปลี่ยนอารมณ์ของหนังกระสือเดิม ๆ  ให้กลายเป็นหนังดราม่า โรแมนติก ได้อย่างน่าชื่นชม
.

งานโปรดักชั่นดีไซน์ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งควรค่าแก่การถูกหยิบมาพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นฉากสุขศาลา สถานพยาบาลประจำหมู่บ้าน ที่มีส่วนช่วยในการสื่อสารภาษาหนัง รวมถึงซีจีที่หลายคนชื่นชมในฉากต่าง ๆ ที่ยกระดับหนังไทยออกไปอีกขั้น ทั้งหมดที่กล่าวมาสรุปได้ว่างานนี้ไม่ใช่งานที่สุกเอาเผากิน หากแต่ได้มันผ่านกระบวนการคิดและสร้างจากทีมงานมาอย่างโชกโชนในระดับกระอักเลือด
.

ความฉลาดอีกอย่างในหนัง คือการกำหนดช่วงเวลาของเรื่องราวในหนังที่ยังดูจับต้องได้ อีกทั้งยังเสริมวิธีการคิดและการกระทำของตัวละคร ตัวหนังไม่ได้ระบุเวลาอย่างชัดเจน แต่คนดูสามารถตีความช่วงเวลาได้จากคำพูดของตัวละคร เช่นการเรียกเมืองหลวงว่า พระนคร หรือการเอ่ยถึงสถานการณ์สงครามในพระนครที่มีคนตายเพราะมีระเบิดลง คงคิดต่อเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยฝ่ายสัมพันธมิตรเดินทางมาทิ้งระเบิดที่ไทย สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะอย่างประเทศญี่ปุ่น
.

แม้เป็นช่วงเวลาที่ลำบากยากเย็น แต่สำหรับสามตัวละครหลักของหนังได้แก่ สาย น้อย และ เจิด มองแผ่นดินเมืองหลวงในยามที่สงครามสงบลงแล้ว เป็นสถานที่ที่น่าใฝ่หา เป็นความฝัน ตลอดจนเป็น ‘ชีวิตใหม่’ เพื่อหลีกหนีชีวิตบ้านนอกคอกนา ซึ่งไม่ต่างกับความคิดส่วนใหญ่ของผู้คนต่างจังหวัดที่หลั่งไหลเข้าเมืองหลวงกันในสมัยนั้น
.

นำมาถึงความสัมพันธ์ที่กลายเป็นรักสามเศร้าของสามตัวละคร แม้จะเป็นความรักแบบเมโลดราม่าที่ไม่ได้แปลกใหม่ แต่ด้วยการแสดงของทั้งสามนักแสดงที่สอบผ่านฉลุย และการเขียนบทที่วางลำดับของเรื่องราวไปจนถึงจุดพลิกผันบางอย่างของตัวละครอันเป็นการเสียสละเพื่อความรัก ก็ทำให้คนดูรู้สึกได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งทั้งหมดมาจากการปูพื้นฐานตัวละคร ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนเหตุผลในการกระทำ ที่ทั้งสามคนไม่มีใครผิด พวกเขาแค่ทำเพื่อคนที่เขารักก็เท่านั้นเอง
.

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือการแสดงของ เอ็ม สุรศักดิ์ วงษ์ไทย ที่ห่างหายจากจอภาพยนตร์ไปนาน แถมกลับมาคราวนี้ เขาก็ยังเป็นคนบ้าคนเดิม ไม่ต่างกับคนที่เล่นเป็นโจรปล้นรถสุดบ้าคลั่ง ในหนังขึ้นหิ้งอย่าง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว (1995) ทำให้การได้เห็นเขาในเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง ยังเป็นการได้เห็นการแสดงระดับยอดเยี่ยมที่หายไปนาน
.

แต่ตัวหนังก็ยังมีจุดด้อยอยู่บ้าง ตรงที่ช่วงไคลแมกซ์กับฉากแอ็คชั่นที่ภาพลักษณ์ของอสูรอีกตนดูแปลกประหลาด จากการแต่งหน้าที่ไม่เนียนเท่าไหร่ แถมฉากแอ็คชั่นก็โหนโจนทะยาน จนเปิดเผยเห็นความไม่เนียนของซีจีไปบ้าง
.

สุดท้ายหนังยังมีประเด็นที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ คือประเด็นเรื่อง ความกลัว ความกลัวในความไม่เหมือนเรา อะไรที่ผิดแผกจากมนุษย์และดูเหมือนว่าจะทำร้ายเราได้ เมื่อเรากลัว เราจะอ่อนไหว และตกเป็นทาสต้องการปลุกปั่นของผู้มีพลังเหนือกว่าทันที ในช่วงเวลาแห่งความกลัว มนุษย์ส่วนใหญ่จะถูกชักจูงง่ายเสียยิ่งว่าจูงสุนัขข้ามถนน ชักจูงให้กลัว ชักจูงให้เกลียด ชักจูงให้ทำลาย ทั้งที่สิ่งนั้นอาจยังไม่เคยทำร้ายเราเลยสักครั้งเดียว เป็นประเด็นที่ไม่ใช่อยู่แค่ในหนัง และสามารถเหมารวมไปจนถึงการเมือง
.

เหตุการณ์ในหนัง ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ ชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็นยุคล่าแม่มด ผู้หญิงหลายคนถูกจับเผาทั้งเป็น เพียงเพราะชาวบ้านสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่าง ด้วยกระแสสังคมที่พร้อมจะทำลายด้วยความโหดร้ายทารุณแบบไม่มีเหตุผลทันที
.

จนถึงทุกวันนี้ ตำนานในยุคล่าแม่มด ก็ยังเป็นเพียงตำนานหนึ่ง ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้จริง ๆ ทิ้งเอาไว้เพียงวีรกรรมการรวมตัวกันเป็นศาลเตี้ยพิพากษาชีวิตคนด้วยความโหดร้ายทารุณ เพียงเพราะ ‘ความกลัว’
.

หากมองในหนัง มันเป็นเรื่องราวที่น่าเวทนา สงสารเหลือเกิน กับทั้ง สาย น้อย และเจิด ที่ความฝันและความดีงามทั้งหมดที่สร้างมา (ที่เล่าผ่านฉากจบของหนัง) รวมถึงชีวิตของพวกเขา พังทลายลงในช่วงเวลาไม่กี่วัน เพียงเพราะความไม่รู้ ความกลัว และความอ่อนไหวที่สามารถลงมือทำลายทันทีของชาวบ้าน
.

แต่หากมองในเรื่องจริง จะพบมันว่าน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะสิ่งที่เกิดในหนัง ก็ล้วนแต่เป็นสัญชาตญาณมนุษย์ ที่ล้วนแต่มีความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น น่ากลัวกว่านั้น คือแม้แต่ตัวเราเอง ก็อาจเป็นแบบนั้นเหมือนกัน  

8/10
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่