[Review+วิเคราะห์] Annihilation: เนื้อร้ายในความอจินไตย [Spoil!]


By มาร์ตี้ แม็คฟราย

‘ความเสียดาย’ ตามมาทันทีหลังจากดูหนังจบ ‘เสียดายที่ไม่ได้ดูเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์’

ทั้งที่ในตอนแรกเรื่องนี้ก็ยังมีโปรแกรมเข้าฉายในไทย เนื่องจากนักแสดง ผู้กำกับและหน้าหนังก็ดึงดูดคนไม่น้อย แต่ท่ามกลางสงครามการตลาดของ Netflix ที่ตอนนี้มีพยายามทุกสิ่งเพื่ออัดคอนเทนต์ลงมาในสตรีมมิ่งของตนเองให้ได้ ทำให้ Annihilation กลายเป็นอีกหนึ่งหนังที่ลง Netflix เหมือนกับที่ The Cloverfield Paradox (2018) ได้กลายเป็นของ Netflix ในท้ายสุด ต่างตรงที่ Annihilation ยังได้ฉายโรงที่อเมริกาอยู่

แต่เมื่อได้ดูจึงถึงบางอ้อ และเข้าใจว่าทำไมในประเทศเราจึงลง Netflix เพราะด้วยเนื้อหาและการเล่าเรื่องของหนังที่เรียกได้ว่าเสี่ยงต่อสภาวะเจ๊งเหลือเกินหากนำมาฉายจริง ๆ เพราะนี่ไม่ใช่หนังที่สามารถดูเพื่อความบันเทิงโดยสิ้นเชิง เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของความรู้สึก สุข เศร้า เหงา ซึ้ง อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ส่วนใหญ่ที่ดูหนังเพื่อความบันเทิงทั่วไป แต่ภาพอันสวยงามจับใจที่ได้เห็น หรือประเด็นอันน่าขบคิดที่ได้รับจากหนัง หากรับชมบนพื้นผ้าขาวผ่านเครื่องฉายก็คงได้อรรถรสเต็มอิ่มกว่าจอทีวี LED 40 นิ้วที่คอนโดมากกว่าเยอะ

ว่ากันที่ตัวหนัง จริง ๆ หลายคนบอกว่านี่เป็นหนังที่ต้องปีนกระไดดู เพราะหนังเชื่องช้า ดูยาก และเต็มไปด้วยคำถามที่ไม่มีคำตอบให้ทั้งสิ้น แต่สำหรับผู้เขียนคิดว่าหนังเรื่องนี้จำเป็นต้องใช้กระไดปีนดูขนาดนั้น แต่ต้องพึ่งพาสมาธิและการวิเคราะห์ตีความ เพราะหนังไม่ได้เล่าเรื่องที่เข้าใจยาก ไม่ได้สับสนงุนงงในแง่การดำเนินเรื่องแต่อย่างใด แต่ยากสำหรับการตีความว่าหนังต้องการจะสื่อสารประเด็นใดผ่านสถานการณ์อันเป็นความอจินไตยในหนังต่างหาก

คล้ายกับกรณีของ 2001: A Space Odyssey (1968) หนังไซไฟชั้นครูของ สแตนลีย์ คูบริก ที่การเล่าเรื่องคล้ายหนังสั้น 3 เรื่องในหนังก็ไม่ได้เข้าใจยาก แต่ด้วยความเชื่องช้าในการดำเนินเรื่องและปรัชญาผ่านสิ่งที่อธิบายไม่ได้ (แผ่นหินสีดำ) ต่างหากที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนดู

ซึ่งสำหรับ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ผู้กำกับที่เคยยื่นประเด็นปรัชญาจักรกลสุดล้ำ พร้อมกับ Production Design และ Art Direction สุดสวยจนอ้าปากค้างมาแล้วใน Ex Machina (2014) กับผลงานใหม่อย่าง Annihilation การ์แลนด์ก็ยังเป็นคนเดิม แถมยังหนักข้อกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทั้งในส่วนของ Production Design และ Art Direction ที่ต้องยกย่องในวิสัยทัศน์ของการ์แลนด์จริง ๆ ที่ทำออกมาได้ทั้งสวยงามอย่างยิ่ง แต่พร้อมกันนั้นก็มาพร้อมความน่าหวาดระแวงและไม่น่าไว้ใจที่อบอวลอย่างรุนแรง และทุกอย่างก็สามารถสื่อสารและก่อให้เกิดการตีความได้เหมือนกับที่เราเคยรู้สึกใน Ex Machina (นี่จึงเป็นสิ่งที่เสียดายที่สุดเพราะไม่ได้ดูในโรงภาพยนตร์)

ส่วนในประเด็นปรัชญาที่หลายคนคิดไม่ตกนั้น โดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าหนังตั้งใจจะพูดถึงประเด็นของ เนื้อร้าย ก็คือ โรคมะเร็ง เพราะหนังมีการกล่าวย้ำในประเด็นนี้บ่อยครั้ง เอาตั้งแต่ฉากสอนหนังสือฉากแรกของ ลีน่า (นาตาลี พอร์ตแมน) ก็กำลังพูดถึงเซลล์มะเร็งในชั้นเรียน ตัวละคร ดร.เวนเทรส ที่ก็เปิดเผยในภายหลังว่าเป็นมะเร็ง รวมถึงบทสนทนาหลายครั้งที่พูดถึงการ ‘ทำลายตัวเอง’ ของมนุษย์ โดยสัญชาตญาณที่มีมาตั้งแต่เซลล์ในร่างกาย สืบทอดจนเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ที่มักจะทำลายตนเอง เช่นการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และหลายอย่างที่บ่อนทำลายร่างกายลงไปอย่างช้า ๆ และแน่นอน มันก่อให้เกิดวิวัฒนาการของเนื้อร้ายในร่างกายที่รอวันเติบโต และกลายเป็นมะเร็งในท้ายสุด

ส่วนความวิปริตและการกระทำอันบ้าคลั่งของเหล่ามนุษย์เราเห็น น่าจะสะท้อนสภาวะของคนที่รู้ว่าเชื้อร้ายได้เข้าสูงร่างกายและมันกำลังวิวัฒนาการ การกระทำอันเสียสติทั้งหลายในหนัง ไม่ว่าจะเป็นการโทษคนอื่น จับตัวละครอื่นมามัด การระเบิดตัวเอง (ฆ่าตัวตาย) ก็ล้วนเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ในโลกแห่งความจริงที่มีทั้งการโทษโชคชะตา โทษคนอื่น คิดสั้นยอมแพ้และจบชีวิตตนเอง ทั้งที่บ่อเกิดของโรคร้าย ก็มาจากการ ‘ทำลายตัวเอง’ มาตั้งแต่แรก

แม้ภายนอกหนังที่เล่าประเด็นในกรอบของความลึกลับ ผสมไซไฟ แต่ในความอจินไตยนั้นมันเล่าความมนุษย์โดยพื้นฐานอย่างชัดเจนที่สุด ‘การทำลายล้าง’ ของมนุษย์เกิดขึ้นโดยสัญชาตญาณไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ไม่ในทางร่างกาย (โรคมะเร็ง) ก็ทางศีลธรรม (การเผลอไปหลับนอนกับเพื่อนร่วมงานที่มีครอบครัวอยู่แล้วของลีน่า) ซึ่งฉากอันชวนเหวอที่ท้าทายสมองในช่วงท้ายที่มี ‘ตัวเรา’ เกิดขึ้นอีกคน ก็อาจหมายถึงความวนเวียน เวียน ว่าย ตาย เกิด ของมนุษย์ที่ไม่ว่าคนกี่รุ่นตายไป สัญชาตญาณการทำลายล้างนี้จะไม่มีวันหายไป ดั่งที่เราเห็นว่าลีน่าก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเอง (คนใหม่) เป็นใคร แต่ไม่ว่าลีน่าจะเป็นใคร สิ่งที่ยังเหมือนเดิม ก็คือ Annihilation ของมนุษย์ทุกคน

นอกจากนั้นสัญลักษณ์ที่ส่อให้คิดเข้าประเด็นนี้ คือพื้นที่ในม่านรุ้ง อันเป็นบ่อเกิดเรื่องราวทั้งหมด โลกในนั้นล้วนให้คิดตีความถึงประเด็นของโรคมะเร็งไม่น้อย สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการกลายพันธุ์ของทุกสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ต้นไม้ ทุกอย่างที่สร้างจากธรรมชาติไม่ว่าจะผนัง บ้าน ต่างเกิดการกลายพันธุ์ทั้งสิ้น ดั่งเช่นฉากหมีอันน่าสยดสยองที่การกลายพันธุ์เปลี่ยนให้กลายเป็นการสัตว์ร้ายที่พร้อมคร่าชีวิตทุกคน ต่างอะไรกับมนุษย์อันเปราะบางที่สามารถคลุ้มคลั่งได้ จากการทำลายตนเอง

ทั้งหมดคือความอจินไตย ที่ผู้กำกับจงใจใส่เข้ามาเพื่อก่อให้เกิดการตีความไปต่าง ๆ นา ๆ ตามแต่ที่หลายคนมองเห็น ซึ่งไม่มีใครถูกผิดแต่อย่างใด หากจะคิดอีกแบบ และหนังเรื่องนี้ก็อาจไม่เหมาะกับทุกคน เพราะหลายคนก็อาจจะเกลียดความอจินไตยอันเหลือทนของผู้กำกับไปเลยก็ได้

แต่โดยส่วนตัว ผู้เขียนรู้สึกสนุกกับการตีความ ‘อจินไตย’ ของอเล็กซ์ การ์แลนด์ ในคราวนี้ไม่น้อย

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่