พ่อผัวแม่ผัว-พ่อตาแม่ยาย-ญาติโกโหติกา

พ่อผัวแม่ผัว-พ่อตาแม่ยาย-ญาติโกโหติกา

โดย ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ
คณะแพทย์ศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ในชีวิตแต่งงานเกือบทุกคู่ในประเทศไทย จะต้องมีญาติทั้งสองฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย ส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เพราะด้วยวัฒนธรรมของไทยที่มีระบบครอบครัวแบบขยายคือจะมีญาติอยู่กันใกล้ชิดหลายรุ่น ญาติทั้งสองฝ่ายจึงมักเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคู่สมรส เช่น คู่รักควรจะแต่งงานวิธีไหน จะจัดพิธีอย่างไรบ้าง จะอยู่ที่ไหน บางครั้งเกิดความขัดแย้งตั้งแต่ยังไม่แต่งงานกัน เช่น ต่างฝ่ายต่างต้องการให้คู่สามีภรรยามาอยู่ในครอบครัวของฝ่ายตนหรือมาอยู่ใกล้กับครอบครัวของฝ่ายตน บางครั้งฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องให้จัดพิธีแต่งงานที่ใหญ่โต เชิญแขกมากๆ เพื่อประกาศให้คนรู้ เพื่อให้ได้หน้าตาในสังคม ซึ่งทำให้อีกฝ่ายต้องลำบากในการจัดหาเงินทองมาใช้จ่ายในการจัดงาน ทั้งๆ ที่อาจไม่เห็นด้วยกับพิธีกรรมที่มีมากจนเกินไป และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากโดยไม่จำเป็น และมีแนวคิดว่าเงินทองที่เสียไปในการจัดงานน่าจะได้เก็บไว้ใช้สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวน่าจะดีกว่า อีกทั้งคิดแตกต่างไปอีกว่าเรื่องแต่งงานน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวพอสมควร ถึงแม้ว่าจะมีความวุ่นวายเรื่องการแต่งงาน แต่ถ้าหลังจากนั้นคู่สมรสมีอิสระในการตัดสินใจ สามารถมีชีวิตเป็นครอบครัวใหม่ โดยครอบครัวเดิมของทั้งสองฝ่ายไม่พยายามเข้ามามีส่วนตัดสินใจด้วย ยกเว้นเมื่อได้รับการร้องขอหรือเมื่อลูกมาขอปรึกษาหารือเท่านั้นก็จะเป็นการดี คือครอบครัวเดิมน่าจะมีบทบาทเป็นผู้ช่วยเหลือเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายในการบริหารครอบครัวใหม่ เพราะจะก่อให้เกิดความไม่พอใจกับสะใภ้ หรือเขยได้ง่ายๆ และได้มาก ๆด้วย

อันที่จริงการที่คู่สามีภรรยาจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกิดปัญหาหรือไม่ ก็ขึ้นกับคู่สามีภรรยาเองว่ามีแนวคิดเรื่องญาติอย่างไร ถ้าทั้งคู่ตกลงกันได้และมีแนวความคิดคล้ายกัน และถ้ามีความรักกันมั่นคงญาติจะแทรกไม่ลงอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ทั้งคู่สามารถป้องกันญาติไม่ให้เข้ามาบงการชีวิตครอบครัวใหม่อย่างนุ่มนวลแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น เพราะคิดอีกด้านหนึ่งคือด้านพ่อแม่ของแต่ละฝ่ายจะมีภูมิหลังและวิธีคิดต่างๆ กันไปเกี่ยวกับชีวิตของลูกที่มีครอบครัวเป็นของตัวเองแล้ว เช่น พ่อแม่สมัยใหม่มักยอมรับได้ว่าลูกต้องมีชีวิตเป็นของตัวเองหลังออกเรือนไปแล้ว พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปวุ่นวายหรือแทรกแซงในชีวิตของเขาทั้งสองคน แต่พ่อแม่จะคอยเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรทางจิตใจให้กับลูกๆ แต่พ่อแม่บางคนไม่มีแนวคิดเช่นนี้แต่กลับคิดว่าลูกทั้งคนเลี้ยงมากว่าจะโตแสนเหนื่อยยาก จึงไม่ควรที่เขยหรือสะใภ้จะเอาลูกไปครอบครองแต่ผู้เดียวแบบชุบมือเปิบ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ยามแก่เฒ่ายิ่งคาดหวังให้ลูกมาดูแลใกล้ชิด กลัวลูกจะไม่เลี้ยงดู อยากจะฝากผีฝากไข้กับลูก ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องไม่ถูกต้องที่หวังให้ลูกดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า เพราะเป็นหน้าที่ของลูกที่ดีทุกคนอยู่แล้ว แต่การที่ลูกจะตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่กับการที่ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ตลอดไป หรือต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการทุกอย่างนั้นเป็นคนละเรื่องกัน คือลูกยังสามารถกตัญญูรู้คุณพ่อแม่และดูแลพ่อแม่ได้ โดยไม่ให้ความคิดรุ่นพ่อแม่เข้ามาแทรกแซงในชีวิตคู่ของตนได้

พ่อแม่บางคนจะใช้จุดอ่อน เรื่องความกตัญญูมาบีบบังคับลูก โดยทำให้ลูกรู้สึกผิดว่าไม่กตัญญู ถ้าลูกไม่ยอมทำตามที่พ่อแม่ต้องการทุกเรื่อง คนที่เป็นลูกคือสามีภรรยาต้องตั้งสติให้ดีในเรื่องนี้ จึงจะสามารถปกป้องชีวิตคู่ให้มีความสุขได้ พูดง่ายๆ คือต้องรู้วิธีที่แยบยลที่จะขัดใจพ่อแม่โดยไม่ให้พ่อแม่รู้สึกเสียใจมากมาย เรื่องแบบนี้ยิ่งจำเป็นมากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าบังเอิญคู่ของเราที่เป็นเขยหรือสะใภ้ที่เรารักและเราเลือก เป็นคู่ชีวิตนั้นไม่ถูกใจพ่อแม่ของเรา ตั้งแต่แรกเริ่มจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามที เราที่เป็นคนกลางจะยิ่งลำบากใจมาก ยังต้องหาวิธีการต่างๆ ที่จะไม่ให้เกิดศึกระหว่างพ่อตาแม่ยายกับลูกเขย หรือพ่อแม่สามีกับลูกสะใภ้ และถ้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีกคนที่เป็นเด็กกว่ามีอาวุโสน้อยกว่าคือเขยหรือสะใภ้ควรจะเป็นฝ่ายอ่อนเข้าหาผู้ใหญ่คือพ่อแม่ ถ้าใช้หลักจิตวิทยาดีๆ พ่อแม่ก็มักจะยอมรับในตัวเขยหรือสะใภ้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีหลานช่วยด้วยยิ่งง่ายขึ้น

แต่ถึงอย่างไรคงมีกรณียกเว้นบ้างที่พ่อแม่บางคนจงเกลียดจงชังเขยหรือสะใภ้อย่างรุนแรง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นการยากที่จะประสานได้ ในกรณีเช่นนี้คงต้องยอมรับไปตามสภาพ คงต้องต่างคนต่างอยู่หรืออยู่กันห่างๆ ไป แต่ที่พบส่วนใหญ่จะกลายเป็นว่าเขยหรือสะใภ้ไม่รู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่ ไม่รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตนมักแข็งกร้าวแบบคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง ถ้าตัวเองคิดว่าถูกต้องก็จะไม่ยอมอ่อนข้อเป็นอันขาด เข้าทำนอง “ยอมหัก แต่ไม่ยอมงอ” นั่นเอง ที่เป็นปัญหากันมาก

ตัวอย่าง สามีเชื่อฟังแม่ตัวเองทุกอย่าง
พ่อสามีตามใจแม่สามีทุกอย่างเวลาอยู่ในบ้าน ให้แม่สามีตัดสินใจทุกเรื่อง แม่สามีว่าอย่างไรพ่อสามีไม่เคยขัด เชื่อฟังแม่สามีทุกเรื่อง สามีก็เช่นเดียวกัน แม่สามีสั่งได้ทุกเรื่องเหมือนที่สั่งพ่อสามีได้ สามีหลังแต่งงาน ก็ตามใจภรรยาทุกอย่างเหมือนกัน (หมอ-กับ-หมอ) อยู่กันได้เพียง 1 ปี แม่สามีไม่ชอบลูกสะใภ้ว่าใช้เงินเปลือง อ้อนสามีมากเกินไป ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะสามีรายงานแม่สามีทุกเรื่อง เช่น ภรรยาโดนนายดุก็โทรไปหาสามีที่ทำงาน สามีก็ไปเล่าให้แม่สามีฟัง ภรรยาซื้อรองเท้า 2 คู่ ก็เล่าให้แม่สามีฟัง แล้ววันหนึ่งแม่สามีสั่งสามีให้หย่าทันที สามีก็หย่าทันที ซึ่งภรรยาตกใจมาก ปรับตัวไม่ทัน เพราะเมื่อวานแม่สามียังพูดด้วยดีๆ ยังรักตนมาก วันรุ่งขึ้นสามีต้องการหย่า ไม่พูด ไม่ปรับความเข้าใจ ไม่ให้โอกาสเปลี่ยนแปลงตนเอง ภรรยาไปหาก็ผลักจนล้ม ภรรยาจึงมีอาการซึมเศร้า อยากตาย เบื่อหน่าย ผ่ายผอม ร้องไห้ นอนไม่หลับ ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ภรรยาได้รับการช่วยเหลือจากจิตแพทย์พักใหญ่จึงดีขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาญาติของสามีหรือภรรยาเข้ามาบริหารจัดการชีวิตสมรส จนทำให้ชีวิตคู่ต้องล่มสลาย ต้องเลิกกัน ต้องหย่ากันเข้าทำนอง “รักแท้แพ้โคตรวงศ์” เลยทีเดียว

https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=899
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่