..." เศรษฐกิจโลกขาลง ประชานิยม และรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง "...
ที่มา :
https://mgronline.com/daily/detail/9620000023343
( ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 8 มี.ค. 2562 04:51 โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ )
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ใส่ข้อความ" เศรษฐกิจโลกขาลง ประชานิยม และรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง "
( เผยแพร่: 8 มี.ค. 2562 04:51 โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ )
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
มีนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกจำนวนมากได้แก่ Ben Bernanke, Alan Greenspan, Paul Krugman ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์วิชาการและนักปฏิบัติชื่อดัง เช่นเคยเป็นผู้บริหารของ Federal reserve ได้ออกมาเตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะอยู่ในขาลงในราวไตรมาส 4 ของปีนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมาจากวิกฤตหุ้นกู้ซึ่งน่าจะลุกลามไปทั่วโลกได้ง่าย
จีนเองก็เริ่มมีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
คำถามคือประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจส่วนใหญ่พึ่งพิงการส่งออกและการท่องเที่ยวจะอยู่ได้อย่างไรหากเศรษฐกิจโลกอยู่ในขาลงอย่างเต็มที่ ใครจะมีเงินมาซื้อของเรา และใครจะมีเงินมาท่องเที่ยวในบ้านเราได้บ้าง เราจะอยู่ได้อย่างไร
นักเศรษฐศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงเช่นศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์แห่งคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เริ่มเขียนบทความเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นบทความที่ว่าด้วยวิกฤตทางการเงินทั้ง 9 ของอังกฤษ (Nine crisis)
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้พิจารณาและเห็นดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจตัวหนึ่งคือยอดจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax: SBT) ซึ่งกรมสรรพากรจัดเก็บได้จากการถือครองอสังหาริมทรัพย์ไม่ครบเวลาที่กำหนดแล้วขายออกไปก่อน จึงต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ แท้จริงแล้วเป็นดัชนีวัดการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่งซึ่งเมื่อจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มักจะแตกก่อนเพื่อนเสมอ ในปัจจุบันค่อนข้างน่ากลัวที่พบว่าเรามีอุปทานของคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯและปริมณฑลล้นเกินกว่าความต้องการเป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์มักจะแตกก่อนเพื่อน เมื่อพิจารณาภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นก็พบว่าเคยสูงสุดในปี 2540 และตกลงมาอย่างหนักจนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งและในปี 2550 ยอดภาษีดังกล่าวก็สูงสุดและตกลงมาหลังจากปี 2550 และเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในขณะนี้ยอดภาษีธุรกิจเฉพาะพุ่งขึ้นมาสูงสุดในปี 2560 และอยู่นิ่งๆเป็นที่ราบสูงบนยอดเขาอันหนาวเหน็บหรือไม่? และกำลังเตรียมตัวลงหรือไม่อันเป็นไปตาม ทฤษฎีวัฏจักรธุรกิจหรือ Business Cycle theory ซึ่งคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาทุกคน ย่อมทราบดีว่าเศรษฐกิจย่อมมีขาขึ้นขาเติบโตขาลงและขาฟุบอันเป็นอนิจลักษณะที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เกิดมา ตั้งอยู่ และดับไปวนเวียนอยู่เช่นนั้น
ในสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า inverted yield Curve ของหุ้นกู้โดยที่อัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนของหุ้นกู้ระยะสั้นมีค่าสูงกว่าดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติและมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้
อันที่จริงไม่มีใครทราบแน่ชัดหรอกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง แต่การตั้งมั่นอยู่บนความไม่ประมาทก็เป็นสิ่งซึ่งทุกคนและทุกชาติทุกประเทศควรจะต้องปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาแทบทุกรัฐบาลของไทย ไม่ว่าจะรัฐบาลพรรคใดก็ตาม จะพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทยก็มีส่วนอย่างมากในการก่อหนี้สาธารณะซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5% มาเป็น 41% ภายในเวลา 20 ปีที่ผ่านมานี้
ถึงแม้ว่าหลายคนจะบอกว่าเศรษฐกิจไทยมีรากฐานที่แข็งแกร่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International reserve) เป็นจำนวนมากก็ตาม แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ของไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่าทุกรัฐบาลต่างก่อหนี้โดยใช้นโยบายงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง
กล่าวคือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ก็ตาม หรือจะประชานิยมหรือไม่ก็ตาม ต่างก็ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินมากกว่าที่รัฐบาลแต่ละรัฐบาลจะเก็บได้ในแต่ละยุคสมัยนั้นๆ หรือคงจะต้องถามว่าเป็นการใช้เงินเกินตัวมากกว่าเงินที่รัฐบาลจัดหาได้จากการเก็บภาษีอากรจากกรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะกรมสรรพสามิต กรมศุลกากรหรือกรมสรรพากรก็ตามหรือไม่
เมื่อมีเงินไม่เพียงพอที่รัฐบาลจะใช้จ่ายก็ต้องอาศัยการกู้หนี้ยืมสินไม่ว่าจะเป็นการกู้หนี้ยืมสินจากเอกชนในประเทศหรือการกู้หนี้ ต่างประเทศก็ตามก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องกังวลและควรจะต้องรักษาวินัยทางการคลังไว้ดังเช่นศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เน้นย้ำมาโดยเสมอ
นโยบายประชานิยม (Populist policy) เป็นนโยบายที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก มีอยู่ในหลายรูปแบบเช่น การจัดสวัสดิการสังคม การให้เงินช่วยเหลือคนยากจน ตลอดจนนโยบายรับจำนำข้าวของไทยซึ่งสร้างหนี้สาธารณะให้กับประเทศไทยหลายแสนล้าน ต่างก็เป็นมรดกบาปหรือการทำบุญช่วยเหลือประชาชน?
นิยามของการคลังซึ่งเป็นการนำเงินที่ไม่ใช่เงินของตัวเองไปช่วยเหลือคนอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้หาเงินเหล่านั้นหรือกล่าวง่าย ๆ สั้น ๆ ว่านำเงินภาษีของคนกลุ่มหนึ่งไปช่วยเหลือหรือให้เปล่ากับคนอีกกลุ่มหนึ่งโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเข้ามามีอำนาจทางการเมือง
การก่อหนี้สาธารณะหากเป็นไปเพื่อการลงทุนและวางแผนอนาคตระยะยาวสำหรับประเทศ เช่นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน เป็นการพัฒนาศักยภาพของประเทศก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่า นอกจากนี้การลงทุนเพื่อการพัฒนาคนและการเสริมสร้างสุขภาพของคนตลอดจนการทำให้ประชาชนในสังคมลดความเหลื่อมล้ำลงก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้นถ้าเรามีเงินเพียงพอ
อย่างไรก็ตามการใช้เงินเกินตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เงินเกินตัวเพื่อทำประชานิยมทำให้ประชาชนได้รับความพอใจและเลือกตนเองเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่งและผิดต่อพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของประเทศ
นโยบายของแทบทุกพรรคการเมืองต่างใช้วิธีการประชานิยมในชื่อต่างๆ เช่น ประชารัฐ มาเกทับกัน ทุกพรรคต่างเสนอนโยบายประชานิยม เมื่อมีพรรคใดพรรคหนึ่งนำข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่ทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ จะมีอีกพรรคหนึ่งนำข้อเสนอนโยบายสาธารณะที่ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากยิ่งกว่าทับลงไปอีก
หนทางแห่งความหายนะคือการทำตามใจทุกคน ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวแสดงธรรมไว้ว่า ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ ของประชาชน โดยประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วหมด
ทุกพรรคการเมืองในขณะนี้ต่างมีนโยบายประชานิยมกันทั้งนั้น แต่ไม่มีใครที่พูดถึงว่าจะหาเงินมาได้อย่างไรเพื่อทำให้นโยบายเหล่านั้นได้เป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น โครงการมารดาประชารัฐถ้วนหน้าที่จะให้เงินสมทบช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรแก่คนที่มีลูกไปจนถึง 6 ปีก็จำไม่ได้แล้วของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งและอีกพรรคหนึ่งก็เสนอทำกันขึ้นมาเช่นกัน
หากคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัยแล้วจะใช้เงินประมาณ หนึ่งแสนสองหมื่นล้านต่อปีในปีที่ 6 เป็นต้นไปซึ่งเป็นการสร้างภาระผูกพันซึ่งในทางการบัญชีเรียกว่า contingent liability ให้กับรัฐบาลต่อ ๆ ไปและประเทศชาติในอนาคต
จริงอยู่การใช้นโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนซึ่งโดยส่วนตัวผมก็เห็นด้วยถ้าประเทศไทยมีเงินถุงเงินถังเพียงพอที่จะแจกจ่ายประชาชน แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องระวังและรักษาวินัยการคลังไม่ให้เราต้องเดือดร้อนหากเราตกอยู่ในสถานการณ์เศรษฐกิจขาลงและไม่มีรายได้เพียงพอก็ไม่ควรจะใช้จ่ายเงินเกินตัว แต่ในอีกด้านก็จะกลายเป็นปัญหานักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด ประชานิยมจะทำให้ประชาชนเสพติด และไม่เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเอง ยืนบนลำแข้งของตัวเองไม่ได้ใช่หรือไม่
คำถามคือถ้าหากรัฐบาลซึ่งมาจากพรรคการเมืองเหล่านี้นำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างเต็มรูปแบบดังที่โฆษณาหาเสียงในช่วงนี้แล้ว ประเทศไทยจะนำเงินมาจากไหน จะหาเงินมาได้อย่างไร นโยบายของหลายพรรคเน้นการลดภาษีต่างๆ ลง เช่น การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง 10% การปลอดภาษีสำหรับธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ธุรกรรมเป็นเวลา 2 ปี เหล่านี้เป็นต้น น่าจะเป็นนโยบายที่กระทบกระเทือนต่อรายได้ขาเข้าของภาครัฐอย่างรุนแรงแล้วยังจะต้องมาทำประชานิยมแจกจ่ายเงินและใช้เงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้และผู้ยากจนอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมดแม้หลายคนก็อาจจะไม่จนจริงก็ได้ เป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหรือไม่
แม้ว่าในปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติของประเทศไทยจะอยู่เพียงแค่ 42 เปอร์เซ็นต์แต่การเพิ่มขึ้นจาก 5% มาเป็น 42% ภายในเวลาประมาณ 20 ปีนั้นก็เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วเหลือเกินและอาจจะแตะเพดานซึ่งประเทศไทยหรอกกำหนดไว้อย่างอนุรักษ์นิยมพอสมควรที่ 60 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่เพดานดังกล่าวของประเทศสหรัฐอเมริกาเลย 200% มานานแล้ว ในขณะที่มาเลเซียนั้นอยู่ที่ 70% เป็นต้น แต่การกำหนดเพดานดังกล่าวต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศในการหาเงินชำระคืนหนี้สาธารณะเหล่านั้นซึ่งมีไม่เท่ากัน สำหรับสหรัฐอเมริกาเองก็มีข้อจำกัดน้อยในการพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ออกมาเข้าสู่ระบบเพื่อใช้หนี้ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็นที่ต้องการและการพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์นั้นไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อง่ายเพราะระบบการเงินระหว่างประเทศต่างใช้เงินดอลลาร์เป็นเครื่องหนุนหลักทั้งสิ้น ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถก่อหนี้ได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลกนี้ แต่กระนั้นก็ตามในสหรัฐอเมริกาก็เกิดเหตุการณ์ซึ่งรัฐบาลปิดตัวลงชั่วคราวที่เรียกว่า Government shutdown อันเกิดจากรัฐบาลต้องการสร้างหนี้สาธารณะเพื่อนำมาใช้จ่ายเงินงบประมาณแต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP นั้นเกินกว่าที่กำหนดไว้เสียแล้ว จึงต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาและรัฐสภาไม่เห็นชอบทำให้งบประมาณแผ่นดินขาดช่วงและต้องปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐลงไปเป็นบางหน่วยงานและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างสูงทำให้ประชาชนรับรู้ได้ว่าการก่อหนี้สาธารณะนั้นอาจจะไม่ส่งผลดีเสมอไป
ผลการเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ แต่น่าจะเป็นรัฐบาลหลายพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีตัวแปรคือจำนวนสมาชิกวุฒิสภา 250 คนซึ่งสามารถลงคะแนนเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญนั้น ก็มีโอกาสอย่างยิ่งที่จะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยและรัฐบาลเสียงข้างน้อยเหล่านี้ พรรคการเมืองแทบทุกพรรคอาจจะได้สัญญาอะไรบางสิ่งบางอย่างซึ่งจะต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากและการที่จะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเพื่อทำประชานิยมหรือประชารัฐก็ตามก็อาจจะทำให้ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินนั้นไม่อาจผ่านการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรได้ยิ่งจะเป็นสิ่งที่เร่งเร้าให้รัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือรัฐบาลเสียงแตกหรือรัฐบาลผสมที่อาจจะเกิดขึ้นภายในหลังการเลือกตั้ง ขาดเสถียรภาพและยิ่งมีอายุสั้นลงไปอีก
เรื่องปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ไม่มีรัฐบาลใดจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนหรือมั่นคงหากปากท้องของประชาชนมีปัญหา ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยนั้นไม่ได้เกิดจากรัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว แต่เกิดจากการที่พ่อค้าแม่ค้าหรือเอกชนเองก็ไม่สามารถปรับตัวให้เข้าสู่โลกของเศรษฐกิจใหม่ซึ่งไปอยู่บนโลกออนไลน์หรือดิจิตอลที่มีมากขึ้นทุกวัน การที่พ่อค้าแม่ค้าริมถนนหรือประชาชนไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ได้ที่ทำให้รายได้ลดลงในขณะเดียวกันกลุ่มทุนซึ่งมีความรู้และความสามารถมากกว่า มีวิชาความรู้มากกว่า ก็อาจจะปรับตัวได้เร็วขึ้นในการก้าวสู่โลกธุรกิจออนไลน์หรือโลกดิจิตอลก็อาจจะเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดภาวะความเหลื่อมล้ำหรือเกิดรวยกระจุกจนกระจายในสังคมไทย อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต้องใช้เงินในการดำเนินการโครงการประชานิยมและต้องการให้ผ่าน พ.
..." เศรษฐกิจโลกขาลง ประชานิยม และรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง "...
ที่มา : https://mgronline.com/daily/detail/9620000023343
( ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 8 มี.ค. 2562 04:51 โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ )
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้