... " นโยบายของพรรคการเมือง : สิ่งที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก "...
ที่มา :
https://mgronline.com/daily/detail/9620000021919
( ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 4 มี.ค. 2562 15:42 โดย: สามารถ มังสัง )
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ใส่ข้อความ" นโยบายของพรรคการเมือง : สิ่งที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก "
( ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 4 มี.ค. 2562 15:42 โดย: สามารถ มังสัง )
ในการบริหารองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือองค์กรใหญ่ มีปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบในการดำเนินการ 4 ประการคือ
1. คน หมายถึงบุคลากรในองค์กรทุกระดับ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนดไว้ โดยเริ่มตั้งแต่การรับนโยบายมาวางแผน และนำแผนไปปฏิบัติ
2. เงิน หมายถึงรายรับอันเกิดจากการประกอบกิจการ รวมถึงเงินได้อื่นใดที่องค์กรได้รับนอกเหนือจากเงินได้จากการประกอบการตามปกติ และรายจ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นในการดำเนินกิจการในแต่ละปีงบประมาณ
3. วัสดุอุปกรณ์ หมายถึงเครื่องมือ เครื่องใช้เท่าที่จำเป็นในการใช้งานเพื่อดำเนินการขององค์กร
4. การจัดการ หมายถึงวิธีการที่จะต้องนำมาใช้งานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ดังนั้น ใครก็ตามที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารองค์กรใด ก่อนที่จะจัดทำนโยบายบริหารองค์กรนั้น จะต้องศึกษาและเรียนรู้ศักยภาพขององค์กร ซึ่งตนจะเข้าไปบริหารในส่วนที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 ประการข้างต้นว่า องค์กรมีความพร้อมที่จะรองรับนโยบายในแต่ละด้านมากน้อยเพียงใด และถ้าพบว่าองค์กรไม่มีความพร้อมในด้านใด จะต้องเตรียมวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้นโยบายนั้นผ่านพ้นอุปสรรคและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ในวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ ประเทศไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เพื่อเข้าไปทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยในด้านนิติบัญญัติ และด้านบริหาร
ในการเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้มีพรรคการเมืองเกินกว่าครึ่งร้อยได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยที่ทุกพรรคโดยเฉพาะพรรคที่มีศักยภาพมากพอที่จะได้ ส.ส.จำนวนมากพอที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ต่างทุ่มเทในการปราศรัยหาเสียงด้วยการนำเสนอนโยบายอันเป็นจุดขายทางการเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประชานิยมรูปแบบต่างๆ แล้วแต่จะสรรหามานำเสนอเพื่อหวังให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเกิดความหวังและเทคะแนนให้ ดังที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในระบอบทักษิณในอดีตที่ผ่านมา
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในบรรดาพรรคที่เสนอนโยบายประชานิยมแบบสุดโต่ง โดยการจะให้โน่น ให้นี่แก่ประชาชน ซึ่งล้วนแล้วแต่การใช้เงินรายได้ของรัฐอันเกิดจากการเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมไปถึงการก่อหนี้ในส่วนที่งบประมาณขาดดุล โดยไม่มีพรรคใดลงลึกถึงรายละเอียดในการหารายได้เพิ่มว่ามาจากไหน และด้วยวิธีใด
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องติดตามศึกษา และเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองนั้นว่าสามารถนำไปเป็นแนวทางบริหารประเทศให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้หรือไม่ โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงทางด้านการเงินการคลังของประเทศ จนทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้นถึงขั้นต้องพึ่งไอเอ็มเอฟอีกครั้งหรือไม่ เพราะเท่าที่ได้ฟังการปราศรัยหาเสียงแล้ว ดูเหมือนว่าทุกพรรคมุ่งผลทางการเมืองมากกว่าที่จะคำนึงถึงความยุ่งยาก อันอาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการนำนโยบายรูปแบบนี้มาใช้
จริงอยู่ประเทศไทยมีแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยว และการส่งออกมากพอที่จะใช้จ่ายในการบริหารประเทศ แต่จากการใช้นโยบายประชานิยมแบบสุดโต่งในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความมั่นคงทางด้านการเงิน การคลัง ถ้ายังคงดำเนินนโยบายในรูปแบบนี้ต่อไป เพราะจะต้องไม่ลืมนโยบายในรูปแบบนี้นอกจากทำให้ประชาชนกลายเป็นเหยื่อแห่งความหวังจากรัฐ โดยไม่พยายามพึ่งตนเองแล้ว ยังมีส่วนทำให้เกิดม็อบแบมือขอขึ้นด้วย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ รายรับของประเทศส่วนหนึ่งรั่วไหลเข้าสู่กระเป๋านักการเมือง และข้าราชการประจำซึ่งรับใช้นักการเมืองผ่านทางโครงการประชานิยมรูปแบบต่างๆ จำนวนมหาศาลในแต่ละปี
ดังนั้น ถ้าปล่อยให้พรรคการเมืองนำนโยบายในรูปแบบนี้มาใช้ต่อไป ประเทศไทยคงหนีไม่พ้นการเป็นประเทศที่มีหนี้จนอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความมั่นคงทางด้านการเงิน การคลัง ดังเช่นที่หลายประเทศประสบมาแล้วจากการใช้นโยบายรูปแบบนี้
ทางเดียวที่จะป้องกันได้ จะต้องไม่เลือกพรรคที่มีนโยบายที่มุ่งใช้เงิน แต่ไม่มีวิธีการสร้างงาน สร้างเงินให้ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็พอที่จะช่วยประเทศให้พ้นจากภาวะเสี่ยงทางด้านการเงิน การคลังได้
จริงอยู่ ผู้มีรายได้น้อยจะต้องได้รับการดูแล และให้ความช่วยเหลือจากรัฐ แต่ควรจะช่วยโดยการให้การศึกษา เพื่อให้เขามีโอกาสในการทำงาน และหารายได้เลี้ยงตนเองมีอยู่ มีกินตามอัตภาพ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มิใช่ด้วยการให้พวกเราเป็นหนี้ในรูปแบบต่างๆ โดยหวังเพียงเพื่อเพิ่มกำลังซื้อเป็นแรงกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระหนี้ให้คนจน ดังที่เป็นมาแล้วในอดีต และกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้การช่วยเหลือคนในโครงการประชารัฐรูปแบบต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มุ่งหวังผลทางการเมืองทั้งสิ้น
นโยบายที่ใช้หาเสียงกันนั้นทำได้จริงหรือ ?..."นโยบายของพรรคการเมือง : สิ่งที่พูดง่าย แต่ทำได้ยาก"
ที่มา : https://mgronline.com/daily/detail/9620000021919
( ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่: 4 มี.ค. 2562 15:42 โดย: สามารถ มังสัง )
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้