บนผลประโยชน์ของชาติ ไฮสปีด 3 สนามบิน ต้องไปต่อ ไม่ใช่พอแค่นี้

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะมีอนาคตอย่างไร คนที่สนใจก็ต้องลุ้นกันอย่างใจจดใจจ่อ

แต่ไม่ว่าเอกชนรายใดจะเข้ามาทำโครงการนี้ ก็ต้องแบกภาระความเสี่ยงหนักหนาสาหัสแน่นอน แม้บีทีเอสจะ มีทีท่าชิลล์ ๆ ออกตัวว่าพร้อม แต่เชื่อเถอะว่า ยังไงก็หนักใจ

เพราะเมื่อดูจากข้อเสนอของเอกชนทั้งสองฝ่าย จะเห็นชัดว่า ต้องแบกต้นทุนที่สาหัส ด้วยเงื่อนไขของรัฐที่จะให้วงเงินอุดหนุนไม่เกินกรอบ 119,425 ล้านบาท ซึ่งทางซีพีขอไปที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบที่รัฐให้ได้ 2,198 ล้านบาท (โดยซีพีต้องกู้ธนาคารเองอีก 107,317 ล้านบาท)

ส่วนบีทีเอสขอที่ตัวเลข 169,934 ล้านบาท สูงกว่าที่รัฐให้ได้ ไปมากถึง 50,509 ล้านบาท และสูงกว่าที่ซีพีขอสนับสนุนจากรัฐ 52,707 ล้านบาท (โดยฝ่ายบีทีเอสต้องกู้ธนาคารเองอีก 54,610 ล้านบาท)


จากตัวเลขที่เอกชนเสนอให้รัฐช่วยแบกรับ บอกได้ถึงศักยภาพในการกู้เงินลงทุนของเอกชนแต่ละราย

ฝ่ายซีพีเสนอตัวเลขที่ทำให้รัฐสามารถประหยัดงบได้สองพันกว่าล้านบาท ยอมกู้เองอีกแสนกว่าล้านบาท ไม่ใช่วงเงินน้อย ๆ เลย

ส่วนบีทีเอสเสนอเกินกรอบสูงมากถึงห้าหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งการเสนอของบสนับสนุน ด้วยวงเงินที่สูงเกินกรอบมากเช่นนี้ ย่อมต้องรู้อยู่แล้วว่า โอกาสในการได้รับสิทธิ์ทำโครงการย่อมน้อย แต่ถ้าจับพลัดจับผลูได้ขึ้นมา นั่นก็หมายความว่า รัฐอาจต้องยอมเปลี่ยนเงื่อนไข เพิ่มภาระของรัฐ ขยายกรอบวงเงินสนับสนุนให้ตามที่บีทีเอสร้องขอ เพราะการที่ขอให้รัฐอุดหนุนด้วยตัวเลขที่สูงมากเช่นนั้น ก็เพราะสามารถกู้เองได้น้อย

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐเรียกฝ่ายซีพีมาเจรจาต่อรองก่อน โดยขั้นตอนนี้ดำเนินการควบคู่ไปกับการเปิดซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษที่ไม่มีผลกับการพิจารณา

และด้วยการนำเรื่องข้อเสนอซองที่ 4 มาดำเนินการพร้อมกับขั้นตอนเจรจาต่อรอง จึงทำให้เกิดความสับสนว่าซีพีแอบซุกข้อเสนอในซองที่ 4 ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นคนละส่วนกัน ซองที่ 4 ก็ส่วนซองที่ 4 และขั้นตอนการเจรจาก็ส่วนขั้นตอนเจรจา ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติที่อยู่ในเงื่อนไขอยู่แล้ว
แต่ถ้าดูเงื่อนไขของฝ่ายซีพีเท่าที่ทราบตามที่สื่อได้เปิดเผยออกมา จะพบว่าไม่มีข้อไหนที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น ยังประหยัดงบได้สองพันกว่าล้านบาทเหมือนเดิม เพียงแต่ขอเครดิตในฐานะที่เป็นรัฐ เพื่อเปิดทางให้กระบวนการกู้ยืมกับสถาบันการเงินง่ายขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง เพื่อลดภาระความเสี่ยง และโอกาสคืนทุนที่สั้นลง เป็นต้น เพียงแต่ตัวแทนฝ่ายรัฐไม่ต้องการรับผิดชอบผลที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า จึงพยายามปฏิเสธ และในที่สุดก็ปัดตกทุกข้อเสนอ

ซึ่งถ้ามองกันให้ลึกจริง ๆ ต้องขอบคุณซีพีด้วยซ้ำไป ที่ยกเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นมา เพราะทำให้รู้ว่ากระบวนการดำเนินการทั้งมด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย การก่อสร้าง การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ฯลฯ มีปัญหาอะไรบ้าง เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ดังนั้น การนำปัญหา ที่ไม่ว่าเอกชนรายใดเข้ามาแบกรับภาระงานตรงนี้ ขึ้นมากองบนโต๊ะทั้งหมด จึงเป็นการเปิดโลกทัศน์อีกมิติหนึ่งให้ทุกฝ่ายได้รับรู้ร่วมกัน และเป็นกรณีศึกษาสำหรับโครงการอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา

จะอย่างไรเสีย ตอนนี้ก็เป็นที่รับรู้กันแล้วว่า ฝ่ายรัฐไม่ต้องการแบกรับภาระอะไรเพิ่มขึ้น มากไปกว่าการให้เงินสนับสนุนไม่เกินวงเงินที่ประกาศไว้ ก็ต้องรอลุ้นว่า ทางซีพีจะให้คำตอบอย่างไรในวันที่ 5 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ซึ่งซีพีน่าจะมีสองทางเลือก คือ ยอมไปต่อ แล้วดำเนินการขั้นตอนการเซ็นสัญญาต่อไป หรือจะเปลี่ยนใจ ตกลงยุติการเจรจาแค่นี้ดีกว่า เพราะถือว่าฉันเสนอให้เธอประหยัดตั้งสองพันกว่าล้านยังไม่พอใจ งั้นเธอก็ไปแบกรับภาระ ยอมจ่ายเพิ่มอีกห้าหมื่นกว่าล้านละกัน ฉันไปทำอย่างอื่นสบายใจกว่าเยอะ ไม่ต้องมานั่งเครียดไปอีก 50 ปี

ส่วนรัฐก็ไปเรียกบีทีเอสมาเจรจาต่อได้ แต่กรณีนี้ รัฐก็ต้องทำใจว่า โอกาสที่รัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มจากกรอบที่กำหนดไว้มีสูงมาก แม้จะมีข่าวออกมาว่า หากบีทีเอสยอมลดวงเงินเสนอขอ ลงสัก 10% ก็ตาม เพราะเมื่อคำนวณแล้ว ตัวเลขที่รัฐต้องอุดหนุนให้บีทีเอสจำนวน 152,940 ล้านบาท ก็ยังเกินกรอบวงเงินอุดหนุนที่รัฐตั้งไว้แต่แรกอยู่ดี

และหากว่ารัฐยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่ยอมจ่ายเกินกรอบวงเงินที่กำหนด ก็ต้องดูว่าฝ่ายบีทีเอสจะรับได้หรือไม่ ถ้ารับได้ ก็ไปต่อ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็มีโอกาสได้ก่อสร้าง แต่ถ้าบีทีเอสไม่รับ เพราะดูแล้วว่าไม่สามารถหาเงินกู้มาทำโครงการได้ ก็คงต้องถึงขั้นปิดการเจรจา พักโครงการไป รอเปิดประมูลใหม่ หรืออย่างไรก็ว่ากันไปอีกที

แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เรื่องนี้ทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย ย่อมไม่ใช่การควานหาผู้แพ้ ผู้ชนะ แต่การประนีประนอม เพื่อผ่าทางตัน มองผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักต่างหากคือสิ่งที่ทุกฝ่ายควรทำ ซึ่งเชื่อว่าจะมีทางออกที่น่าพอใจกับทุกฝ่าย

และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเอกชนรายใดที่จะได้เข้ามาทำโครงการนี้ เพื่อเป็นโครงการนำร่อง ให้ความมั่นใจกับการลงทุนในโครงการอื่น ๆ ของอีอีซีที่จะตามมา ก็ต้องถือว่าเป็นผู้เสียสละ ที่ยอมแบกรับต้นทุนความเสี่ยงที่สูงมาก ๆ เราทุกคนก็ควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่