(Review) The Favourite รักสามเส้า การเมืองในราชสำนัก และนังตัวแสบของ ยอร์กอส ลันธิมอส

ยอร์กอส ลันธิมอส นี่มันเป็นคนทำหนังอะไรก็ออกมาตลกขำขื่นจริงๆ ขนาดว่าเรื่องรักสามเส้าของสาวชาววังที่ถ้าอยู่ในมือผู้กำกับคนอื่นมันคงกลายเป็นหนังดราม่าร้าวรานตลอดทั้งเรื่อง แต่นี่มันคือหนังเฮี้ยนของนังเด็กรับใช้ตกบ่อโคลนผู้หวังจะเป็นเลดี้สูงสง่าในวัง

ศตวรรษที่ 17 สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญหน้าสงครามกับฝรั่งเศส ที่ลากยาวเกี่ยวพันมาตั้งแต่สมัยรบกับสเปน ทางออกของสงครามนี้มีอยู่สองทางคือ สหราชอาณาจักร -ที่กำลังจะคว้าชัยได้อยู่ร่อมร่อแต่ต้องอาศัยเงินทุนจำนวนมากในการสงคราม- บุกกระหน่ำตีฝรั่งเศสซ้ำเพื่อปิดศึกซึ่งก็ไม่รู้จะปิดได้จริงไหม หรือไม่ก็ยอมทำสัญญาสันติภาพ แต่ก็จะกลัวจะเสียพันธมิตรและอำนาจในมือ ควีนแอนน์ผู้ป่วยด้วยโรคเก๊าต์แถมไม่รู้เรื่องการบ้านการเมืองสักนิด และให้ ซาราห์ เชอร์ชิลล์ (ในเวลาต่อมาคือย่ายายสักฝ่ายของ วินสตัน เชอชิลล์ คนนั้นแหละจ้ะ) ดัสเชสส์แห่งมาร์ลบะระคอยว่าราชการให้แทน ซึ่งตัวซาราห์หนุนให้เกิดสงครามเต็มที่เพื่อ "ประกาศความเกรียงไกรของสหราชอาณาจักร" พร้อมๆ กันนั้น อบิเกล ญาติสาวจากบ้านนอกคอกนาคลุกโคลนก็เข้ามาอยู่ในวัง พร้อมชิงตำแหน่ง 'คนโปรด' ของควีนแอนน์


มันเป็นหนังยาวเรื่องแรกที่ลันธิมอสไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเขียนบทเลย หนังมันจึงมีลักษณะเฮี้ยนน้อยกว่าหนังเรื่องก่อนๆ ของเขามาก แต่มันเต็มไปด้วยความขำขื่นที่ทั้งมาจากการกำกับ การเขียนบทและการแสดง มันคงออกมาฝืดกว่านี้มากๆ ถ้าไดอะล็อกมันไม่ถูกเขียนมาให้คมขนาดนี้ ("พวกชาวบ้านเขาถ่ายทิ้งกันตรงโคลนนั้นนั่นแหละ แล้วเรียกกันว่าการวิจารณ์ทางการเมือง")

ภายใต้รักสามเส้าที่เดิมพันตำแหน่งสูงในวังของหญิงสามคน นังเด็กอบิเกลงัดเหลี่ยมทางการเมืองเพื่อให้ตัวเองมีชีวิตรอดและไม่ถูกส่งไปเป็นขายตัวให้ทหารติดโรคซิฟิลิส ขณะที่ซาร่าห์ก็พยายามทำให้ควีนแอนน์ทรงโปรดเธอเหมือนเดิม ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดสุดขีด เพราะฝ่ายค้านยืนยันให้สหราชอาณาจักรถอนกำลังและสงบศึก ขณะที่ฝั่งรัฐ -ผู้รู้สึกว่านี่เราก็ใกล้จะชนะแล้วเนี่ย- ยืนกรานจะพุ่งรบต่อ แม้ต้องแลกกับการเก็บภาษีจากประชาชนอีกสองเท่า ดังนั้น ออกไปจากนอกวังมันคือความโกลาหลและความเดือดดาลของประชาชนธรรมดาที่แทบไม่เคยโผล่ใบหน้าเข้ามาในหนัง พวกเขาถ่ายรดสิ่งปฏิกูลลงโคลน คนอย่างอบิเกลล้มคว่ำลงไปในนั้นแล้วเดินเข้าวังมาอย่างเก้ๆ กังๆ เพื่อจะเห็นว่างานอดิเรกของที่นี่คือการดูเป็ดและกุ้งวิ่งแข่ง สำหรับเราแล้ว สถานะของอบิเกลกับซาราห์ก็เทียบเคียงกันกับการเมืองที่ระส่ำระสายในวังนั่นเอง


สิ่งที่ชอบมากๆ คือ มันทำให้ยุคพีเรียดของอังกฤษ -ที่ถ้าอยู่ในหนังหลายๆ เรื่องคงทั้งสง่าทั้งสวยงาม- กลายเป็นตลกหน้าตาย ฉากเต้นรำที่เลอะเทอะมากๆ ไม่รู้มันคิดท่าเต้นแบบนั้นได้ยังไง หรือเปิดตัวชายหนุ่มชุดขาว ขี่ม้าแบบเจ้าชายในนิทาน แต่ฉากต่อมากลับเล่นเป็นหมาป่าฟัดผู้หญิง มันเหมือนเปิดเปลือยความไร้แก่นสารของชนชั้นสูงและเกมการเมืองของการเป็นคนสนิทในวัง หนังใช้เลนส์ฟิชอายกับแสงจัดจ้าที่แทบที่จะขับให้วังดูยิ่งใหญ่ ดันรู้สึกเหมือนอ้างว้างมากกว่า

ควีนแอนน์เลี้ยงกระต่าย 17 ตัวไว้ในวัง แทนลูกๆ ของเธอที่ตาย ทั้งที่ตายโดยยังเป็นก้อนเลือดหรือเกิดมาได้ไม่กี่วันก็ตาย (ลูกของเธอที่อายุยืนที่สุด อยู่ได้เพียง 11 ปีเท่านั้น) ด้านหนึ่งกระต่ายเหล่านี้ได้กลายเป็นตัวแทนบาดแผลของการสูญเสียลูก ขณะเดียวกันก็ตอกย้ำถึงความรู้สึกที่ไม่อาจเป็นแม่หรือสถานะการเป็นควีนที่บกพร่องของเธอ ฉากที่กล้องจับไปยังใบหน้าเฉยเมยของควีนกับแววตาบาดลึกของอบิเกล ซ้อนทับด้วยภาพกระต่ายทั้ง 17 ตัวดูเหมือนจะเป็นการย้ำว่า การช่วงชิงสถานะคนโปรดในเกมนี้ได้กลายมาเป็นแผลฉกรรจ์อีกแผล ไม่เพียงแต่ของควีนแอนน์ แต่ของอบิเกลและซาร่าห์ด้วย

นักแสดงนี่ไม่รู้ผู้กำกับบรีฟกันยังไงอะ แต่แสดงได้ดีแบบน่าก้มลงกราบมากๆ โอลิเวีย โคลแมน เป็นควีนแอนน์ที่ทั้งน่าหงุดหงิด น่ารำคาญและตลกเป็นบ้า พอๆ กับ ราเชล ไวส์ซกับเอ็มมา สโตนที่กวนมากๆ แต่ที่น่าสนใจคือ พอมันเป็นหนังที่ว่าด้วยผู้หญิงเนี่ย ตัวละครชายมันจะไม่ค่อยเด่น แต่ส่วนตัวกลับรู้สึกว่านิโคลัส โฮลต์กลับโคตรดีเลยในหนังเรื่องนี้ ไม่ถึงกับแพรวพราวแต่รู้สึกว่ามันเล่นได้กวนตีนทันกันกับฝ่ายหญิงน่ะ

ฝากเพจหนังด้วยค่ะ : ) https://www.facebook.com/llkhimll/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่