เกือบอัมพาต! เล่นโยคะหวังหายเมื่อย ซ้ำทำกายภาพไม่ดี เจอหมอนรองกระดูกแตก 3 ชิ้น

เกือบอัมพาต! เล่นโยคะหวังหายเมื่อย ซ้ำทำกายภาพไม่ดี เจอหมอนรองกระดูกแตก 3 ชิ้น
เผยแพร่: 24 ก.พ. 2562 15:42

อุทาหรณ์หนุ่มใหญ่เล่นโยคะ หวังหายปวดเมื่อยจากการเล่นเทนนิส แต่เล่นท่าหนักจนหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจนแตก ซ้ำเจอนักกายภาพให้บริหารกล้ามเนื้อ อาการไม่ดีขึ้น ทำเอ็มอาร์ไอพบแตกเพื่มเป็น 3 ชิ้น เสี่ยงต่ออัมพาต จึงต้องผ่าตัดในที่สุด

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ในโซเชียลมีเดียมีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ซึ่งเป็นคนไข้ชายที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดหมอนรองกระดูก บอกเล่าเรื่องราวที่ตนเกือบจะเป็นอัมพาตตลอดชีวิต จากการเล่นโยคะเพียงเพื่อให้ตนเองหายปวดเมื่อยจากการออกกำลังกาย เพื่อเป็นวิทยาทาน ระบุว่า เมื่อ 3 ปีก่อน ตนมีสุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยจะเล่นเทนนิสเป็นหลัก สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 2-4 ชั่วโมง ทำให้ร่างกายปวดเมื่อย จึงมีคนแนะนำให้เล่นโยคะ ในปีแรกได้เรียนโยคะสัปดาห์ละครั้งเพื่อเรียนรู้ท่าต่างๆ กระทั่งในปีที่ 2 เริ่มเล่นโยคะเองทุกวัน ในตอนเช้าและเย็นจนเป็นนิสัย เมื่อเกิดความสบายก็เริ่มเล่นท่าหนักขึ้น เริ่มเน้นไปที่ขาและหลังเป็นหลัก ท่าที่รุนแรงที่สุดคือ การนั่งเอาฝ่าเท้าประกบกันและก้มไปข้างหน้าจนหน้าอกติดฝ่าเท้าทั้ง 2 โดยใช้กำลังแขนช่วยดึงขอบเตียง

ผ่านไป 2 เดือน พบว่ามีอาการหมอนรองกระดูกที่หลังกดทับเส้นประสาท ความรู้สึกเหมือนมีน้ำไหลที่ขาขวา แต่หันไปไม่เจอ หรือบางครั้งเหมือนมีแมลงไต่ตามน่องแต่หันไปไม่มีแมลงสักตัว แต่ด้วยความหลงผิดในการฝึกโยคะและทำต่อไป กระทั่งขาเริ่มมีอาการชา แสบร้อนทั้งน่อง ร้าวไปถึงหลังเท้า แต่เพราะเข้าใจว่ากล้ามเนื้ออักเสบ ก็ยังเล่นเทนนิสทุกสัปดาห์ ผ่านไป 2-3 เดือน คิดว่าอาการไม่ดีขึ้น แม้จะทานยาแก้อักเสบ จึงพบแพทย์ที่โรงพยาบาล และทำเอ็มอาร์ไอทันที พบว่าหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทที่หลัง ชาลงขาขวา

แม้แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัด แต่ด้วยความสับสน มวลกล้ามเนื้อยังดี ต้องคอยสังเกตความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตัวเองตลอดเวลา และ คอยกายภาพกล้ามเนื้อหลังและกระดูก จึงเลือกที่จะยืดกล้ามเนื้อหลังเป็นบางท่า และโหนบาร์เพื่อให้หมอนรองกลับเข้าที่ รวมทั้งอาศัยแพทย์ทางเลือก เช่น จัดกระดูก ฝังเข็ม อยู่หลายเดือน อาการก็ดีขึ้น เหลือแค่ชาปลายเท้าที่สร้างความรำคาญ แม้คิดที่จะผ่าที่หลังอีกถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะกลัวต่างๆ นานา จึงทนรำคาญ ใช้การยืดของโยคะและนอนราบเพื่อบรรเทาความปวด

อย่างไรก็ตาม เมื่อนอนราบมากก็จะปวด บ่า คอ และไหล จึงใช้วิธีติดยือคอและบ่าด้วยวิธีแบบโยคะ โดยการกดคางและใช้มือทั้งสองข้างช่วยยกกดมาข้างหน้า การเอียงหัวและใช้มือข้างใดข้างหนึ่งช่วยกด และเอียงคางหามุมเพื่อยืดกล้ามเนื้อบ่านั้น บางมุมไม่ได้ยืดบ่า แต่แรงไปกระทำกับหมอนรองกระดูกคอเต็มๆ ซึ่งตนยอมรับว่าเป็นวิธีที่ผิด เนื่องจากกล้ามเนื้อคอ บ่า นั้น เล็กกว่ากล้ามเนื้อแขน แต่ด้วยความที่เคยชินและสบายกับท่าโยคะ จึงทำให้ลืมนึกถึงอันตราย

ก่อนหน้าผ่าตัด 4 เดือน เริ่มมีอาการชาปลาบนิ้วกลางและนิ้วนางมือซ้าย คิดว่าหายเองได้โดยไม่รู้ว่าหมอนรองกระดูก (เนื้อเยื่อที่ข้างในมีของเหลวคล้ายเจล ติดกับกระดูกสันหลังแต่ละชิ้น) C6-C7 แตกเรียบร้อยแล้ว อาการยังมีต่อเนื่อง ภายใน 2 เดือนกล้ามเนื้อหลังแขนซ้ายปวดอย่างรุนแรง ตามมาด้วยก่อนปีใหม่ นอนตกหมอน ปวดร้าวบ่าไหล่ซ้ายอย่างมาก จนขับรถไม่ได้ พยายามอัลตราซาวน์ก็ไม่ดีขึ้น ผ่านไป 1 สัปดาห์ ไปหาหมอฝังเข็ม แม้อาการปวดบ่าดีขึ้น แต่มีอาการชาปลายนิ้วมือซ้าย จึงส่งไปทำกายภาพกับอีกแผนก

ทีแรก นักกายภาพแจ้งว่า หมอนรองกระดูก C7-C8 เอียง ไม่อยู่ในแนวเส้นตรง จึงแนะนำให้ทำกายภาพโดยใช้นิ้วชี้กดสวนไปทางซ้ายที่ C8 และนอนราบ กดจิกคางเพื่อบริหารกล้ามเนื้อคอ เพื่อบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อให้กล้ามเนื้อดึงกระดูกเข้าที่ และยังใช้เครื่องดึงคอตามแนวราบ แต่อาการไม่ดีขึ้น นักกายภาพยายามดึงคอ จนมีอาการปวดมากที่กรามข้างซ้าย ฟันกรามด้านซ้ายร้าว กระทั่งอาการกลับทรุดลงหนัก มือข้างขวากลับมีอาการชา มือทั้ง 2 ข้างมีอาการชาแล้ว และเห็นว่านักกายภาพรายนี้ใช้การคาดเดาอย่างสุ่มเสี่ยง

ต่อมาได้ไปรักษาที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยได้ตรวจกระดูกหลายวิธี ผลออกมาพบว่าอาการหนัก เมื่อทำเอ็มอาร์ไอพบว่าหมอนรองที่คอแตก 3 ชิ้น มีขนาดใหญ่มาก ทับไขกระดูกสันหลังเกินครึ่ง เนื่องจากก่อนหน้านี้หมอนรองที่คอแตกมานานแล้ว ยิ่งทำกายภาพตามที่นักกายภาพชายแนะนำทำให้หมอนรองที่คอแตกเพิ่มอีก 2 อัน วิเคราะห์ว่าอาการหนักมากต้องผ่าตัดภายในสัปดาห์หน้า โดยไม่มีวิธีอื่น หากปล่อยไว้จะเป็นอัมพาต

วันที่ 9 ก.พ. คนไข้ได้พบกับ รศ.นพ.วรวรรธน์ ลิ้มทองกุล แพทย์ด้านศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์โรคกระดูกสันหลัง ซึ่งได้อธิบายว่าการผ่าตัดมีอยู่ 2 แบบ แต่แบบที่ตอบโจทย์มากที่สุด คือแบบผ่าเข้าด้านหน้า เพราะแผลเล็ก ฟื้นตัวไว พร้อมกับแนะนำให้เปลี่ยนหมอน 2 อัน โดยนัดผ่าตัดเร็วที่สุด คือวันที่ 15 ก.พ. อย่างไรก็ตาม ก่อนผ่าตัด อาการทรุดหนักลงอย่างรวดเร็ว เพราะมีอาการชามือทั้งสองข้าง ตามมาด้วย หน้าขาทั้งสองข้างที่มีกล้ามเนื้อใหญ่เริ่มชา และ กระตุก กล้ามเนื้อท้องตึงเกร็ง เริ่มก้าวขาออกยาก

ต่อมามีอาการหน้าขาทั้งสองชาขึ้น น่องเริ่มไม่รู้สึก ก้าวขาสั้น เดินเอนไปเอนมา การทรงตัวเริ่มทรุด มีอาการเวียนหัวมากขึ้น โลกหมุน และเดินได้น้อยลง ต้องหยุดพักเพียงแค่ไม่กี่สิบเมตร และก่อนผ่าตัดมีอาการหน้าท้องเกร็งตัวมากขึ้น หน้าขาตึงขึ้นมากกว่าเดิมจนก้าวไม่ออก ความกังวลเพิ่มมากขึ้น สับสน และกลัวที่สุด คือ อัมพาต กระทั่งพยาบาลมาปลุกตั้งแต่เวลา 05.30 น. เพื่อเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 3 ชั่วโมง หลังผ่าตัดมีอาการโล่งมากขึ้นตามแขนและขา มีอาการเกร็งตามก้นและแผ่นหลัง จากการนอนหงายท่าเดียวหลายสิบชั่วโมง มือขายังชาอยู่ มีการตึงที่หลังคอ ปวดเกร็งสะบัก

สองวันต่อมา แพทย์อนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้ ยังมีอาการชาที่มือทั้งสอง เกร็งหน้าท้องและขาทั้งสองข้าง รวมถึงยังเวียนหัวมาก เนื่องจากประสาทถูกกดทับยาวนาน หลังผ่าตัด 3 วัน ได้เรียกหมอนวดที่บ้านนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อ รู้สึกดีขึ้นตามลำดับและหวังว่าจะกลับมาได้เต็มร้อยเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ได้ทิ้งท้ายด้วยว่า ให้ใช้กระดูกอย่างถูกต้องและรักษาสุขภาพกระดูกให้อยู่ยาวนานที่สุด และแสดงความเป็นห่วงเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือและไอแพดตั้งแต่อายุน้อย ให้ดูแลสุขภาพด้วย

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000019184
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10216066974246225
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่