คณิตศาสตร์ช่วยสร้างจักรวรรดิจีนอย่างไร

มาร์คัส ดู โซทอย
นักคณิตศาสตร์ ผู้ดำเนินรายการ Genius of the East ของบีบีซี
19 กุมภาพันธ์ 2019


Getty Images
หลังอารยธรรมกรีกเสื่อมสลายลง ความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ได้หยุดชะงักลงในโลกตะวันตก แล้วเจริญรุ่งเรืองในจีนแทน

ตั้งแต่การคำนวณเวลาไปจนถึงการเดินเรือในมหาสมุทร คณิตศาสตร์คือองค์ความรู้ที่มีความสำคัญยิ่งในการสร้างอารยธรรมโบราณของโลก

การเดินทางของคณิตศาสตร์เริ่มขึ้นในอาณาจักรโบราณของอียิปต์, เมโสโปเตเมีย และกรีซ แต่หลังจากอารยธรรมเหล่านี้เสื่อมสลายลง ความก้าวหน้าทางคณิตศาสตร์ก็ได้หยุดชะงักลงในดินแดนตะวันตก

ส่วนทางฝั่งตะวันออกนั้น คณิตศาสตร์กลับเจริญรุ่งเรืองแตะระดับสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน


ในยุคโบราณของจีน คณิตศาสตร์คือกุญแจสำคัญในการคำนวณการก่อสร้างกำแพงเมืองจีน ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่ยิ่งใหญ่ของโลกซึ่งกินระยะทางหลายหมื่นกิโลเมตร

นอกจากนี้ ตัวเลขยังมีความสำคัญยิ่งในการบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ภายในราชสำนักจีนด้วย

จัดสรร "ตารางรัก" ของจักรพรรดิ

ปฏิทิน และการเคลื่อนที่ของดวงดาวต่าง ๆ มีอิทธพลต่อการตัดสินใจทั้งหมดของจักรพรรดิจีน ไม่เว้นแม้แต่การวางแผนกิจกรรมที่จะทำทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งต้องเป็นไปตามฤกษ์ยามที่เหมาะสม


Getty Images
คณิตศาสตร์ถูกนำมาช่วยในการผลิตองค์รัชทายาทที่ดีที่สุดที่จะสืบทอดราชวงศ์จีน

ที่ปรึกษาในราชสำนักจีนโบราณได้คิดค้นระบบเพื่อให้แน่ใจว่าองค์จักรพรรดิจะสามารถ "เข้าหอ" กับเหล่านางสนมกำนัลจำนวนมากที่ถวายตัวรับใช้พระองค์ได้ครบทุกคน

ระบบที่ว่านี้มีพื้นฐานจากแนวคิดทางด้านคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า การก้าวหน้าเรขาคณิต หรือ ลำดับเรขาคณิต (geometric progression) โดยมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่าในช่วงเวลา 15 คืน จักรพรรดิจีนจะต้องหลับนอนกับสตรี 121 คน ประกอบไปด้วย:
◾พระจักรพรรดินี ซึ่งเป็นพระอัครมเหสี 1 คน
◾พระชายาเอก 3 คน
◾พระสนมเอก 9 คน
◾พระสนมขั้นที่ 3-5 จำนวน 27 คน
◾พระสนมขั้นที่ 6-8 (นางข้าหลวง-นางกำนัล) จำนวน 81 คน

สตรีแต่ละกลุ่มจะมีจำนวนเป็น 3 เท่าของกลุ่มก่อนหน้า เพื่อที่นักคณิตศาสตร์จะสามารถจัดตารางให้ พระจักรพรรดิสามารถเข้าหอกับเหล่าพระมเหสีนางสนมกำนัลได้ครบทุกคนภายในช่วงเวลา 15 คืน

ความแข็งแกร่งของราชวงศ์

Getty Images  
ตำนานจีนระบุว่า จักรพรรดิเหลือง ทรงขอให้หนึ่งในเทพเจ้าของพระองค์สร้างคณิตศาสตร์ขึ้นเมื่อ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล

การจัดตารางดังกล่าวนั้น ในคืนแรกจะสงวนไว้ให้พระจักรพรรดินี คืนต่อ ๆ ไปจะเป็นของพระชายาเอก 3 คน ตามด้วยพระสนมเอก 9 คน และพระสนมขั้นที่ 3-5 จำนวน 27 คน ซึ่งจะมีการเลือกให้เข้าถวายงานด้วยวิธีการหมุนเวียน คืนละ 9 คน

ส่วน 9 คืนสุดท้ายนั้น จะเป็นเวลาของพระสนมขั้นที่ 6-8 จำนวน 81 คน ที่เข้าถวายงานเป็นกลุ่มคืนละ 9 คน

ตารางนี้ช่วยให้องค์จักรพรรดิสามารถหลับนอนกับสตรีสูงศักดิ์ที่สุดในช่วงที่ใกล้กับวันพระจันทร์เต็มดวงได้มากที่สุด ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่พลังงานหยิน ซึ่งเป็นพลังของอิสตรีแตะระดับสูงสุด และเข้าคู่กับพลังหยางขององค์จักรพรรดินั่นเอง

การเป็นผู้ปกครองแผ่นดินนั้นจะต้องอาศัยความแข็งแกร่ง แต่เป้าหมายของกรณีนี้มีความชัดเจน นั่นคือการผลิตองค์รัชทายาทที่ดีที่สุดที่จะสืบทอดราชวงศ์ต่อไป

ความหลงใหลในศาสตร์ตัวเลข

จักรวรรดิจีนโบราณเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่ไพศาลและกำลังเติบโต โดยมีตัวบทกฎหมายที่เข้มงวด มีการเรียกเก็บภาษีอย่างแพร่หลาย ตลอดจนมีระบบชั่งตวงน้ำหนัก มาตรวัดต่าง ๆ และเงินตรา

นอกจากนี้ จีนยังมีการใช้ระบบเลขทศนิยมมานานราว 1,000 ปี ก่อนที่โลกตะวันตกจะเริ่มใช้ และมีการใช้สมการในแบบที่ไม่ปรากฏในโลกตะวันตกจนกระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 19


Getty Images
ชาวจีนโบราณชื่นชอบตารางลวดลายที่เป็นตัวเลข และเชื่อว่าตัวเลขส่งผลต่อจักรวาล

ตำนานจีนระบุว่า หวงตี้ หรือ จักรพรรดิเหลือง ทรงขอให้หนึ่งในเทพเจ้าของพระองค์สร้างคณิตศาสตร์ขึ้นเมื่อ 2,800 ปีก่อนคริสตกาล และเชื่อว่าตัวเลขส่งผลต่อจักรวาล

จนถึงทุกวันนี้ ชาวจีนยังเชื่อในอำนาจวิเศษของตัวเลข โดยเชื่อว่า เลขคี่ เป็นตัวแทนของบุรุษเพศ ส่วนเลขคู่ เป็นตัวแทนของสตรีเพศ เลข 4 คือตัวเลขอาถรรพ์ที่ต้องหลีกเลี่ยงทุกกรณี ส่วนเลข 8 เชื่อว่าจะนำโชคลาภมาให้

ชาวจีนโบราณชื่นชอบตารางที่เป็นตัวเลข และพัฒนาเกม "ซูโดกุ" ยุคแรกในแบบของตัวเองขึ้น

กระทั่ง คริสต์ศักราชที่ 6 มีการใช้ทฤษฎีบทเศษเหลือ (Remainder theorem) ของจีนในด้านดาราศาสตร์ เพื่อวัดการเคลื่อนที่ของดวงดาว และในปัจจุบันยังคงมีการใช้งานจริง เช่น การเข้ารหัสลับทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
BBC/NEWS/ไทย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่