ประวัติย่อการล่าสัตว์ของมนุษย์


ย้อนรอยเส้นทางการล่าสัตว์ของมนุษย์: จากการล่าเพื่อยังชีพในธรรมชาติ เพื่อถ่ายรูป เลี้ยงไว้ล่าเล่น และการค้าขายสัตว์ป่า

“เราเป็นผู้บริโภคธรรมชาติมากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ” – ไมเคิล แพเทอร์นิที

กระดูกสันหลังของช้างแมมมอทขนยาวซึ่งพบตรงบริเวณที่แม่นํ้าออบและแม่นํ้าอีร์ติชไหลมาบรรจบกันดูเหมือนว่าถูกแทงด้วยอาวุธที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยมีร่องรอยของสะเก็ดหินอยู่ภายในกระดูกชิ้นหนึ่ง เป็นหลักฐานการล่าสัตว์แรกสุดที่แสดงว่าช้างถูกฆ่าด้วยนํ้ามือมนุษย์ ซึ่งสืบย้อนกลับไปถึงไซบีเรียเมื่อเกือบ 14,000 ปีก่อน

ทว่าการล่าสัตว์เป็นมากกว่าเครื่องตอบแทนเพื่อการยังชีพ เพราะเมื่อถึงยุคหนึ่งการล่าสัตว์กลายเป็นเครื่องแสดงสถานะในสังคมความเป็นชายและพลังอำนาจ  ภาพสลักของชาวอัสซีเรียเมื่อ 650 ปีก่อนคริสตกาล แสดงภาพสิงโตกำลังถูกปล่อยจากกรงเพื่อให้กษัตริย์ที่ทรงรถม้าฆ่า  ขณะที่ชาวมาไซฆ่าสิงโตในพิธีเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่มาช้านานแล้ว เป็นต้น

เมื่อมีอาวุธดีขึ้น การล่าสัตว์ยังวิวัฒน์เป็นกีฬาที่มีการแบ่งชนชั้นและบางครั้งเป็นตัวอย่างอันร้ายกาจของ ความสูญเปล่า ในบันทึกจากปี 1760 ของชไนเดอร์เคาน์ตี รัฐเพนซิลเวเนีย พรานสองคนยิงสัตว์ป่ามากกว่าหนึ่งพันตัว เมื่อล่วงเข้าสู่ปลายศตวรรษที่สิบแปด พรานนิรนามชาวอังกฤษเขียนหนังสือชื่อ คู่มือนักกีฬา หรือ ความเรียงเรื่องการยิงสัตว์ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการล่าสัตว์อย่างยุติธรรมและบรรยายถึง “กฎเกณฑ์สำหรับสุภาพบุรุษ” รวมถึงการจำกัดจำนวนสัตว์ที่ถูกฆ่า ในปี 1887 เทโอดอร์ (เท็ดดี) โรสเวลต์ ก่อตั้งชมรมบูนและคร็อกเกตต์ อันเป็นการรวมตัวของกลุ่มพรานผู้ทรงอิทธิพลชาวอเมริกัน และต่อมามีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งระบบอุทยานแห่งชาติของสหรัฐฯ
พรานจากรัฐเดลาแวร์ผู้นี้ซึ่งแวดล้อมไปด้วยซากสัตว์จากแอฟริกานับร้อยตัวเล่าว่า การล่าสัตว์เป็นสิ่งที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก “อยู่ในสายเลือดของผมครับ” เขาบอก “ผมอยากคิดว่าตัวเองเป็นนักอนุรักษ์และนักสะสม”
ต่อมาในปี 1934 ที่โรงแรมนอร์ฟอล์กในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา พรานชาวผิวขาวก่อตั้งสมาคมพรานอาชีพ แอฟริกาตะวันออกขึ้น สมาคมนี้ประกาศหลักเกณฑ์ เกียรติยศ และผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ รวมถึงการห้ามยิงสัตว์เพศเมียเกือบทุกชนิด  การยิงสัตว์ใกล้แหล่งนํ้าหรือใกล้ยานพาหนะ ขณะที่สมาชิกทำงานเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ล่าสัตว์ พวกเขากำจัดสัตว์จำนวนมากไปจากแอฟริกา ปัจจุบันเทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดดด้วยการใช้โดรน วิดีโอบันทึกการล่าสัตว์ และปืนไรเฟิลแรงสูงติดตั้งเครื่องวัดระยะด้วยแสงเลเซอร์

ขณะเดียวกัน “ภาพถ่ายกับซาก” (kill shot) ซึ่งเป็นภาพถ่ายของพรานคู่กับสัตว์ที่ล่าได้ปลุกเร้าความรู้สึกต่อต้านและรังเกียจในหมู่นักรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์และสาธารณชนทั่วไป ผู้คนโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อวอลเทอร์ พาล์เมอร์ ทันตแพทย์ชาวมินนีแอโพลิส ล่าและฆ่าเซซิล สิงโตชื่อดังในซิมบับเว เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2015 เรื่องอื้อฉาวทำนองเดียวกันเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ปี 2017 เมื่อซานดา ลูกเพศผู้ของเซซิลถูกยิงในการล่าเพื่อเป็นรางวัลอย่างถูกกฎหมาย

ปี 2016 พรานชาวเยอรมัซึ่งยิงกวางดูดูไปแล้ว ฆ่าช้างเพศผู้อายุมาก เหล่าพรานให้เหตุผลว่าการฆ่าสัตว์เพศผู้อายุมากทำอันตรายชนิดพันธุ์นั้นๆ น้อยที่สุด แต่จอยซ์ พูเลอ นักชีววิทยา แย้งว่า “ช้างเพศผู้อายุมากมีบทบาทสำคัญที่สุดในโขลง”
ความที่ประชากรกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับธรรมชาติในชีวิตประจำวัน นับวันจะห่างเหินกันมากขึ้นเรื่อยๆ  ปัจจุบันเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติน้อยกว่าเป็นผู้บริโภคธรรมชาติ  ถ้าเรายังกินเนื้อสัตว์ สวมใส่และใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เราก็อาจเป็นพรานจำพวกหนึ่งเช่นกัน

ในชุมชนล่าสัตว์ ความคิดทำนองที่ว่าเราต้องได้ทุกสิ่งทุกอย่างดังใจหวังในเวลาอันสั้น เริ่มแสดงออกมา ในหลายรูปแบบที่ชวนวิตก เช่น เพื่อไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการล่าสัตว์เพื่อเป็นรางวัลในแอฟริกา พรานบางคนหันไปหาการล่าสัตว์ที่เลี้ยงมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ (canned hunting) อันเป็นการฆ่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้ในพื้นที่จำกัด การล่าสัตว์โดยวางเหยื่อล่อ การต้อนสัตว์ด้วยเฮลิคอปเตอร์ หรือการยิงเหยื่อจากด้านหลังรถแลนด์ครูสเซอร์ในแทนซาเนีย  มีรายงานว่าพรานชาวต่างชาติ ใช้ปืนเอเค – 47 ยิงสัตว์ รวมถึงเพศเมียที่กำลังตั้งท้อง เมื่อไม่นานมานี้ นักสังคมวิทยาเขียนบทความตีแผ่พรานรุ่นหลังๆ ที่ชอบแสดง “พฤติกรรมโอ้อวด” ด้วยการเผยแพร่ภาพการล่าสัตว์ของตนเองลงในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่ง บางครั้งโพสท่ายํ่ายีศักดิ์ศรีของสัตว์ที่เพิ่งถูกพรากชีวิตไป


ในแอฟริกาใต้ซึ่งมีสิงโตป่าประมาณ 2,000 ตัว การล่าสิงโตเลี้ยงเติบโตกลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีไร่หรือฟาร์มกว่า 200 แห่งเลี้ยงสัตว์วงศ์แมวขนาดใหญ่เหล่านี้ประมาณ 6,000 ตัว เพื่อให้ฆ่าได้อย่างง่ายๆ  เอียน มิคเลอร์ ผู้จัดซาฟารีและช่างภาพชาวแอฟริกาใต้ผู้สืบหาความจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสิงโตเลี้ยงให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง สิงโตเลือด (Blood Lions) ระบุว่า บางครั้งสิงโตถูกขังและขยายพันธุ์ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย  ลูกสิงโตถูกพรากจากแม่เพื่อส่งไปสวนสัตว์  เมื่อสิงโตเพศผู้เติบโตจนเต็มวัยหลายตัวถูกยิงและฆ่าแลกกับค่าธรรมเนียม “การล่าสัตว์” ที่ถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับการล่าสิงโตป่าในทริปมาตรฐาน 21 วัน (5,000 ถึง 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐและสูงกว่านั้น) ทั้งยังแทบรับประกันได้ว่าคุณล่าได้อย่างแน่นอน “น่าตกใจจริง ๆ ครับ พฤติกรรมนี้วิปลาสไปแล้ว” มิคเลอร์บอก
ฟาร์มสำหรับล่าสัตว์ในสหรัฐฯ มีชนิดพันธุ์จากภูมิภาคอื่นหลายสิบชนิด ตั้งแต่ม้าลายและจามรี ไปจนถึงโอริกซ์เขาดาบ ซึ่งสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว พรานฝึกหัดวัย 15 ปีมาฝึกภาคสนามที่ไร่เอฟทีดับเบิลยูในรัฐเทกซัสเมื่อปี 2016 ก่อนจะลงสนามล่าจริง
การล่าสัตว์ที่เลี้ยงมาเพื่อล่าโดยเฉพาะนี้ส่งผลกระทบเลวร้ายอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือขณะที่พรานได้ผืนหนังและหัวสัตว์ไปเชยชมอย่างมีความสุข  ทุกวันนี้กระดูกกลับเป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด โดยจะถูกส่งไปเอเชียเพื่อปรุงเป็นยาแผนโบราณหรือยาโป๊ว  ปี 2017 แอฟริกาใต้อนุญาตให้ส่งออกโครงกระดูกสิงโตมากถึง 800 โครงนักชีววิทยา กลุ่มนักอนุรักษ์ และนักรณรงค์ด้าน สิทธิสัตว์แสดงความวิตกว่า การที่แอฟริกาใต้อนุญาตให้ค้าและทำให้การค้าชิ้นส่วนสิงโตเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์หรือความต้องการกระดูกสิงโตมากขึ้น และอาจทำให้สิงโตในธรรมชาติที่เหลืออยู่ประมาณ 20,000 ตัวของแอฟริกาถูกฆ่ามากขึ้น

เรียบเรียงจาก “การล่าจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าได้จริงหรือ” เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ตุลาคม 2560
โดย ไมเคิล แพเทอร์นิที  ภาพถ่าย เดวิด แชนเซลเลอร์
NGTHAI
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่