แนวคิดทำหมันช้างป่า คิดเห็นกันอย่างไรบ้าง?




หนูนาฟาดเฉลิมชัย ทำหมันช้างป่า คิดดีแล้วหรือยัง?

กัญจนา ศิลปอาชา ตกใจ เฉลิมชัย ศรีอ่อน จะทำหมันช้างป่า ม.ค. 68 ถามคิดดีแล้วหรือ ถามหมอช้างหรือผู้รู้เรื่องสัตว์ป่าแล้วหรือยัง ยาที่ใช้มีผลข้างเคียงไหม ผลระยะยาวเป็นอย่างไร ชี้ต้องหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และยึดหลักรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน เพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ลดจำนวนสัตว์ป่า

วันนี้ (29 ธ.ค.) จากกรณีที่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาช้างป่าอย่างยั่งยืน เพื่อมาตรการเยียวยาความเสียหาย ให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า โดยมีแนวคิดหยุดยั้งอัตราการเกิดใหม่ของช้างป่า เพื่อให้ธรรมชาติกับมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดแผนดำเนินการทดลองและขยายผลการใช้วัคซีนกับช้างป่า ตามโครงการทดลองให้วัคซีนคุมกำเนิดแก่ช้างป่าในพื้นที่ภาคตะวันออก ในช่วงเดือน ม.ค.2568 ซึ่งหากได้ผลเป็นที่น่าพอใจจะขยายผลการดำเนินการใช้วัคซีนในช้างป่ากลุ่มอื่น ๆ และพื้นที่เป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป

ปรากฎว่า เฟซบุ๊ก NuNa Silpa-archa



ของ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โพสต์ข้อความระบุว่า "ความเห็นส่วนตัวของดิฉันต่อนโยบายทำหมันช้างป่าของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1. ภารกิจหลักของกระทรวงนี้คือรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งนั่นรวมถึงสัตว์ป่าด้วย ให้อยู่ดำรงเผ่าพันธุ์ได้อย่าง ปกติสุข เยี่ยงสมบัติชาติ

2. ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ก็แน่นอนว่าเป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงนี้ที่ต้องหาทางแก้ไข ซึ่งได้มีการประชุมหาทางแก้ไขมาตลอดเวลาด้วยหลากหลายวิธี (ก่อนรัฐมนตรีท่านปัจจุบัน…)

3. หนึ่งในมาตรการหลักที่ได้ทำมาแล้ว และต้องทำอย่างต่อเนื่องก็คือสร้างแหล่งอาหาร นํ้า ในป่าให้กับช้างและสัตว์ป่า

4. พยายามปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบตามแนวกันชนขอบป่า เพื่อว่า เมื่อช้างออกมา แล้วเจอพืชอาหารที่เขาไม่ชอบ ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ออกมา

5. มีทีมเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครในพื้นที่ คอยผลักดันช้างป่าให้กลับเข้าสู่เขตอุทยาน และมีการแจ้งเตือนประชาชน มีกล้องดักจับความเคลื่อนไหว ซึ่งการผลักดันช้างป่า ต้องใช้วิธีการที่ละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก จนโขลงแตกกระเจิง เสี่ยงต่อการมีลูกช้างป่าพลัดหลง เพราะลูกเล็กวิ่งตามโขลงไม่ทัน อันนี้โดรนดักจับความร้อนช่วยได้มาก เพื่อความปลอดภัยทั้งคนและช้าง รัฐต้องสนับสนุนทั้งเรื่องคนและอุปกรณ์

6. ดิฉันคิดว่าวิธีการแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างในแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทและสภาพแวดล้อม

7. อย่างที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นตัวอย่างที่น่าชม เพราะสามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนสามารถดูวิถีชีวิตของช้างป่าสัตว์ป่าได้ในระยะไกล โดยไม่ไปรบกวนสัตว์ ซึ่งถ้าสามารถทำแบบนี้ได้ในที่ต่างๆ ก็จะดีมาก แต่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม

8. เมื่อทราบแนวความคิดของเจ้ากระทรวงที่จะทำหมันช้างป่า ดิฉันค่อนข้างตกใจ เพราะอยู่ๆ ก็มีเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วจะทำทันทีในเดือนมกราคม 68 นี้ จึงอยากทราบว่า มีการประชุมตกผลึกความคิดกันดีแค่ไหน ถามหมอช้าง ถามผู้รู้เรื่องสัตว์ป่ากันดีหรือยัง ยานี้ใช้ได้ผลที่ไหนมาบ้าง มีผลข้างเคียงอย่างไร ผลกระทบต่อช้างในระยะยาวคืออย่างไร จะยิงช้างตัวไหน เลือกอย่างไร ถ้าไปยิงโดนช้างเพศเมียที่เขาตั้งท้องอยู่จะทำยังไง ใครจะตามไปดูชีวิตเขาในป่า คำถามเหล่านี้มีคำตอบไหม ?

9. อีกทั้งการเอาช้างป่าไปขังคอกอ้างว่าเพื่อปรับพฤติกรรม อย่างที่ที่ทำกับพลายไข่นุ้ยที่พังงา ขอถามว่า กระบวนการปรับพฤติกรรมเริ่มหรือยัง ขังเขามาน่าจะ 2 ปีกว่าแล้วและยังจะทำอีกถึง 3 ที่ใช้งบประมาณ 27,000,000 บาท การที่ช้างถูกกักบริเวณเดินวนอยู่อย่างนั้น ไม่มีทางปรับพฤติกรรมได้มีแต่จะเพิ่มความเครียด ลองคิดดูถ้าตัวเราถูกกักบริเวณที่ใดที่หนึ่งทั้งชีวิต จะมีความสุขไหม ใจเขาใจเรา

หมดเวลาที่จะมาเถียงกันว่า ช้างบุกรุกพื้นที่คน หรือคนบุกรุกพื้นที่ป่าของช้าง แต่ต้องหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องมีบทบาทหลัก ซึ่งต้องฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และยึดบทบาทหน้าที่ของกระทรวงเป็นหลัก ซึ่งคือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน เพิ่มพื้นที่ป่า ไม่ใช่ลดจำนวนสัตว์ป่า ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว เขามีกระทรวงของเขาอยู่แล้ว

ดิฉันคงไม่บังอาจไปชี้แนะพวกท่านได้ แต่พวกท่านควรรู้หน้าที่ของตัวเอง"

ขอบคุณที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9670000124882
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่