กรณีพระปิ่นเกล้า ทำไมหลายๆคนยังเข้าใจแนวว่ารัชกาลที่ 4 มี 2 พระองค์ ครับ

ทั้งๆที่พิจารณาแล้วยศศักดิ์หลายๆอย่างของท่านเรียกได้ว่าน้อยกว่าอย่างชัดเจนมากๆ

อย่างพระปรมาภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรรังสรรค์ มหันตวรเดโช ไชยมโหฬารคุณอดุลยเดช สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนารถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทรสูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทรบวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวรมหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตน ไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทโรดมกิจโกศล สัตปดลเศวตฉัตร สิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชย อุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เทียบกับรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม
จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ
อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จะเห็นได้ว่า ท่านค่อนข้างด้อยกว่าในหลายแง่เลยทั้ง

ร.4 ใช้ พระปรเมนทร หรือ ที่มาจาก บรม + อินทร
แต่พระปิ่นเกล้า ใช้ พระปวเรนทราเมศวร์ ทีมาจาก บวร+ราเมศวร (ชื่อพระราเมศวร มักใช้กับรัชทายาทในยุคอยุธยา)

ร.4 ใช้ นพปดลเศวตฉัตร หรือ ฉัตร 9 ชั้น
แต่พระปิ่นเกล้าใช้ สัตปดลเศวตฉัตร หรือ ฉัตร 7 ชั้น เทียบเท่า บรมราชินีนาถ, รัชทายาท, วังหน้า หรือ มากสุดก็ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ไม่ได้รับการบรมราชาภิเษก

บวกกับอีกหลายแห่งที่ทำตัวหนาไว้ที่สื่อถึงความเป็น บวร ที่ด้อยกว่า บรม ที่ชัดเจน
ยังไม่นับ การบวรราชาภิเษก ที่ตั้งโดยกษัตริย์ อีกที ขณะที่บรมราชาภิเษกนั้น พราหมณ์เป็นคนตั้ง

ผมว่าบทเรียนประวัติศาสตร์บ้านเราควรได้รับการสังคายนาให้เกิดความเข้าใจเชิงรายละเอียดอย่างถูกต้องหลายๆอย่างจริงๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
ถึงจะทรงได้รับอิสริยศักดิ์น้อยกว่า แต่สถานะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกยกย่องให้เป็น "กษัตริย์" หรือ "พระเจ้าอยู่หัว" อย่างชัดเจน พระองค์ทรงถูกเรียกขานว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" ได้รับพระราชโองการเสมอพระเจ้าแผ่นดิน  


ข้อนี้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในพระนิพนธ์ "ความทรงจำ" ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงฟังมาจากคำบอกเล่าขอเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้รับราชสมบัติด้วย ความว่า

        “วันหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้จะสวรรคต สมเด็จเจ้าพระยาฯ ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศฯ กราบทูลให้ทรงทราบว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า ถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ซึ่งตรัสเรียกว่า “ท่านฟากข้างโน้น” ด้วย เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ พระชะตาแรงนัก ตามตำราโหราศาสตร์ว่า ผู้มีชะตาเช่นนั้นจะต้องได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงรับราชสมบัติแต่พระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดบารมีของสมเด็จพระอนุชา แม้ถวายราชสมบัติด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ จะได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยอีกพระองค์หนึ่ง เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยกัน เช่นนั้นจึงจะพ้นอัปมงคล

        สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ไม่ขัดพระอัธยาศัย ออกจากวัดบวรนิเวศฯ ข้ามฟากไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ณ พระราชวังเดิม (ที่เป็นโรงเรียนนายเรืออยู่บัดนี้) ตัวท่านเองเวลานั้นอายุได้ ๑๘ ปีนั่งไปหน้าเก๋งเรือของบิดา เมื่อไปถึงพระราชวังเดิม เป็นเวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประทับอยู่ที่แพหน้าวัง เสด็จออกมารับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ที่แพลอย ตัวท่านอยู่ในเรือ ได้ยินสมเด็จเจ้าพระยาฯ เล่าถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ดังกล่าวมาจึงทราบเรื่อง ตามที่เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่า ก็สมกับประกาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงเชื่อได้ว่าเรื่องที่จริงเป็นอย่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯ เล่า”



พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ระบุตรงกันว่า

"จึงโปรดให้ตั้งการพระบวรราชาภิเษกในพระบวรราชวัง และพระราชทานพระบวรราชาภิเษก มีพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ มหันตวรเดโชไชย มโหฬารคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจักรพรรดิราช บวรนาถบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รับพระราชบวรราชโองการอย่างสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า"


แต่แม้จะทรงเป็น "พระเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระเจ้ากรุงสยาม" ก็ไม่ได้แปลว่าจะทรงมีเกียรติยศเสมอกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ในทางปฏิบัติทรงมีสถานะเป็น "พระเจ้าอยู่หัววังหน้า" ทรงเป็นอันดับสองและได้รับพระอิสริยยศลดหลั่นมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็น "พระเจ้าอยู่หัววังหลวง" อีกต่อหนึ่งครับ ไม่ได้ทรงมีพระราชอำนาจเทียบเท่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นพระประมุขอย่างแท้จริง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถ่อมพระองค์มาก ไม่ใคร่จะทรงทำการตีเสมอพระเชษฐาอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ไม่ได้ทรงสนพระทัยราชการงานเมืองเท่าไหร่นัก

ข้อนี้เป็นไปตามบทกลอนพระราชนิพนธ์คือ

     เราที่สองรองภูมินทร์นามปิ่นเกล้า
คิดบทเกลาไว้เป็นกลอนสุนทรสนอง
เป็นคติควรดำริห์ขอเชิญตรอง
ตามทำนองโบราณราชประเพณี



ทั้งนี้ก่อนรัชกาลที่ ๔ ไม่เคยมีการใช้คำว่า บรม กับ บวร ทั้งสองคำนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบัญญัติขึ้นเพื่อใช้กับพระองค์และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ครับ ทั้งนี้เพราะทรงปรารถนาจะให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มีอิสริยยศสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ดังที่ปรากฏใน "ตำนานวังน่า" พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

        "เป็นต้นว่า นามวังหน้าซึ่งเคยเรียกในราชการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" ให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "พระบวรราชวัง" พระราชพิธีอุปราชาภิเษกให้เรียกว่า "พระราชพิธีบวรราชาภิเษก" พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตร แบบเดิมว่า "พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" พระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า "สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" และขานคำรับสั่งกรมพระราชวังบวรฯเคยใช้ว่า "พระบัณฑูร" โปรดฯให้เปลี่ยนเป็น "พระบวรราชโองการ" ว่าโดยย่อ เติมคำ "บรม" เป็นฝ่ายวังหลวง และคำ "บวร" เป็นฝ่ายวังหน้าเป็นคู่กัน เกิดขึ้นในคราวนี้เป็นปฐม"

พระราชพิธีบวรราชาภิเษกก็เอาแบบอย่างพิธีบรมราชาภิเษกทางวังหลวงไปแก้ไขลดลงเป็นตำราพิธีบวรราชาภิเษก เช่น ไม่ตั้งพระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐ และทำพิธีในวังหน้า


เอกสารราชการทั้งของสยามและต่างประเทศจำนวนมากบ่งชี้ว่าพระบาทสมพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชสถานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงลงพระปรมาภิไธยในสนธิสัญญาที่ทำกับต่างประเทศในสถานะ “สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม” เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เช่น สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ออกพระนามบนตราพระราชลัญจกรว่า "สมเดจพระเจ้ากรุงสยามพระองคทีสอง" ในขณะที่บนพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีลายพระราชหัตถเลขาเขียนว่า "สมเดจพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ใหญ่" มีการออกพระนามทั้งสองพระองค์รวมกันว่า "พระเจ้ากรุงไทยทั้งสอง" และ "พระเจ้ากรุงสยามทั้งสอง"  



ในเอกสารราชการภาษาอังกฤษ รวมถึงพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด้จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ว่า His Majesty the Second King of Siam หรือ the Second King



พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ประธานาธิบดี แฟลงกิน เพียร์ช (Franklin Pierce) พ.ศ. ๒๓๙๙

ลายพระหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเซอร์ จอห์น บาวริ่ง พร้อมพระราชลัญจกร ทรงอาร์ม ระบุว่าพระองค์เป็น Second King of Siam (ที่มาภาพ : หนุ่มรัตนะ)




ลายพระหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ที่มาภาพ : หนุ่มรัตนะ)


บัตรพระนามาภิไธย (นามบัตร) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว



(ซ้าย) พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระสหาย ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า S.P. Pawarendrramesr, Second King of Siam (Somdet Pra Pawarendrramesr, Second King of Siam) มาจากสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรรังสรรค์ กษัตริย์องค์ที่สองแห่งสยาม ลายพระหัตถ์ของพระองค์มีความเรียบร้อยสวยงาม และบัตรพระนามาภิไธย (นามบัตร) ของพระองค์ (ที่ระลึกในพิธีเปิดพระบวรราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ๗ กรกฎาคม 2523. กรุงเทพฯ: กองทัพเรือ, ๒๕๒๓.)

(ขวา) พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงเซอร์จอห์น เบาริง ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า S. Pin Klaw chau yu hua, Second King of Siam (Somdet Pra pin Klaw chau yu hua, Second King of Siam) สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์องค์ที่สองแห่งสยาม เป็นพระปรมาภิไธยอีกแบบหนึ่ง และทรงประทับตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ (The Kingd om and people of Siam, Sir John Bowring; with and introd. by David K. Wyatt. Kuala Lumpur; London: Oxford University Press, 1969)

ที่มาภาพ https://www.silpa-mag.com/history/article_7488


ประกาศว่าด้วยออกพระนามแลคำกราบทูลฯ คัดจากหมายรับสั่ง วันพุฒ เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ ปีเถาะสัปตศก ก็ยืนยันพระราชสถานะของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ว่าเป็น "พระเจ้าอยู่หัว" เสมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ อย่างชัดเจน

        "ขุนมหาสิทธิ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ให้หมายประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้รู้ทั่วกันทุกหมู่ทุกกรมทั้งฝ่ายน่าฝ่ายใน ผู้ที่จะต้องกราบทูลพระกรุณา ด้วยออกพระนามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลเจ้าต่างกรม ให้ถูกต้องตามที่ใช้สั้นแลยาว แลคำอื่นๆ คำที่จะต้องออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์ให้ได้ ในที่จะกราบทูลแลใช้ในหนังสือท้องตราก็ดี ในที่อื่นๆ ก็ดี ถ้าไม่ออกพระนามให้ชัดจะว่าแต่พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น ก็จะไม่รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ไหน ในที่บังคับเช่นนี้ให้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่าให้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า พระปิ่นเกล้า ให้ใส่เจ้าอยู่หัวเข้าด้วย ถ้าลดเจ้าอยู่หัวเสียไม่ใส่ก็ชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอกับเจ้าต่างกรมไปไม่ชอบ."


ประกาศให้ใช้ในคำว่า สมเด็จ ให้ถูกตามเกียรติยศ วัน ๓ ๕ฯ ๑๐ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก ศักราช ๑๒๑๔

        "ด้วยพระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสาลักษณ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ สั่งว่า เจ้าเปนกรมแลผู้ที่มิใช่เจ้า เปนขุนนางตำแหน่งใหญ่น้อยใดๆ เมื่อพระราชวงศานุวงศ์แลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนกรมฝ่ายน่าฝ่ายในจะกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ฤๅพูดจาออกชื่อออกพระนามประการใดๆ ก็ให้รู้พระราชบัญญัตินี้ไว้ คือว่าพระเจ้าอยู่หัววังหลวงวังน่าสองพระองค์ให้ออกพระนามว่า พระบาทสมเด็จ นำน่าก่อน อย่าให้ว่าสมเด็จเปล่า ถ้าเจ้าเปนกรมสมเด็จพระก็ให้ว่ากรมสมเด็จพระ อย่าให้ว่าสมเด็จเปล่า ถ้าเปนกรมพระก็ให้ว่ากรมพระ อย่าให้ว่าพระเปล่า เหมือนอย่างพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์บัดนี้ ถ้าจะออกพระนามก็ให้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

    "สิ่งซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเกือบจะทั้งนั้น ทั้งพระราชมณเฑียรสถานและเครื่องราชูปโภคทั้งปวง ตลอดจนตำแหน่งขุนนาง ยกตัวอย่างเช่นว่าจ่าตำรวจ ทรงตั้งขึ้นใหม่ในทำเนียบข้าราชการวังหลวง ก็โปรดฯให้ตั้งขึ้นใหม่ในทำเนียบข้าราชการวังหน้าด้วย ฉะนี้เป็นต้น ว่าโดยย่อ เครื่องเฉลิมพระเกียรติยศสำหรับวังหลวงมีอย่างไร ก็ทรงพระราชดำริให้มีขึ้นทางวังหน้าในครั้งนั้นโดยมาก"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่