พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว-พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำนานกษัตริย์คู่แห่งสยาม

สืบเนื่องจากข้าบดินทร์วันนี้มีการเอ่ยถึงพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะกษัตริย์คู่กับพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้มีบางคนเกิดความสงสัยว่า ตามประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องเช่นนี้ด้วยเหรอ บ้างก็อาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก บางส่วนยังนึกว่าชื่อ "ปิ่นเกล้า" ปัจจุบันนั้นมีที่มาจากพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.7 ด้วยซ้ำ

ส่วนตัวไม่แปลกใจนะที่หลายคนไม่รู้จักพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะแม้หนังสือเรียนไทยจะมีการระบุถึงพระองค์อยู่ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และไม่ใช่จุดเน้นในการสอน ความคุ้นเคยในการเรียนประวัติศาสตร์ไทยทั้งในส่วนของผู้สอนและผู้เรียน คือคุ้นกับการเรียงลำดับรัชกาลต่อรัชการมากกว่า พอเจอสมัยที่มี 2 กษัตริย์ในรัชกาลเดียวกันก็เลยงงๆ ได้ กรณีนี้ใกล้เคียงกับที่หลายคนไม่ทราบว่า สมัยสุโขทัยตอนปลายกับอยุธยาตอนต้นนั้นมีสมัยที่ซ้อนทับกันอยู่ ไม่ใช่จบสุโขทัยแล้วต่ออยุธยาเลย

กลับมาที่พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์จริงหรือไม่ ถ้าถือเอาตามหลักพฤตินัย ต้องถือว่าใช่ เพราะพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐาของพระปิ่นเกล้า เมื่อครั้งจะรับตำแหน่งเป็นกษัตริย์นั้นได้ระบุว่าให้ยกพระปิ่นเกล้าเป็นกษัตริย์เสมอกันด้วย

"ขออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระอนุชาธิบดีเจ้าฟ้ามงกุฎฯ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เถลิงถวัลยราชสมบัติ"

ข้างต้นเป็นคำกราบบังคมทูลเชิญเป็นกษัตริย์ ซึ่งเห็นได้ว่ามีการระบุถึง 2 พระองค์คือทั้ง เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (พระจอมเกล้า) และเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระปิ่นเกล้า) ดังนั้นตำแหน่งของพระปิ่นเกล้าจึงเป็นกษัตริย์ตามนิตินัย ไม่ใช่ตำแหน่งพระมหาอุปราชหรือตำแหน่งวังหน้าแต่อย่างไร

การมีกษัตริย์ 2 พระองค์ ยังเป็นที่รับรู้ของวิลาสและชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายทำสนธิสัญญาในขณะนั้น โดยระบุไว้ในจดหมายเหตุต่างๆ ว่าขณะนั้นสยามมีกษัตริย์ 2 พระองค์ โดยเรียก พระจอมเกล้าว่า The First King และพระปิ่นเกล้าว่า The Second King

ประเด็นคือทำไม ร.4 จึงต้องยกพระปิ่นเกล้าเป็นกษัตริย์คู่ด้วย

ถ้าเอาเหตุผลตามข้าบดินทร์ รวมถึงตาม ปวศ. กระแสหลักของไทย ก็จะให้เหตุว่า เพราะพระปิ่นเกล้ามีชะตาแรง จึงเห็นสมควรให้ยกเป็นกษัตริย์คู่ ตัวพระจอมเกล้าเองนั้น ได้บวชเป็นระยะเวลานานก่อนที่จะครองราชย์ ก็น่าจะมีความเชื่อถือในโหราศาสตร์ไม่มากก็น้อย

อย่างไรก็ตาม อีกเหตุผลที่น่าสนใจก็คือเรื่องการเมือง เนื่องจากพระจอมเกล้าทรงผนวชอยู่เป็นระยะเวลานาน พระจอมเกล้าเป็นพระอนุชาของ ร.3 ตามหลักสืบสันติวงศ์ควรได้ขึ้นต่อจาก ร.3 แต่ขุนนาง (นำโดยเจ้าพระยาพระคลังในข้าบดินทร์นั่นแหละ) พร้อมใจกันยกบัลลังก์ให้ ร.3 เพื่อความปลอดภัยและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ร.4 จึงไปบวชอยู่ตลอดระยะเวลาที่ ร.3 ครองราชย์ การบวชนานเช่นนี้ ทำให้เมื่อสึกออกมา ฐานอำนาจของ ร.4 จึงไม่มั่นคงนัก โดยเฉพาะอำนาจทางการทหาร ในขณะที่พระปิ่นเกล้านั้นมีเป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือโดยตรง มีอำนาจทางการทหารค่อนข้างมาก อีกทั้งตัวพระปิ่นเกล้าเองนั้น สนใจวิทยาการจากชาติยุโรปเป็นอย่างยิ่ง สามารถพูดจาภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้เป็นที่ยอมรับของชาติยุโรป สนธิสัญญาเบาว์ริ่งนั้น พระองค์ก็เป็นผู้มีบทบาทหลักในการเจรจา

ด้วยเหตุนี้ พระจอมเกล้าจึงยกให้พระอนุชาเป็นกษัตริย์เสมอกัน เป็นการเสริมสร้างอำนาจของกษัตริย์เอง และกันปัญหาแย่งชิงราชบัลลังก์ ตัวพระจอมเกล้าเองนั้นก็คงสนิทกับพระอนุชาองค์นี้อยู่ไม่น้อย

เป็นกษัตริย์ก็น่าจะมีอำนาจอยู่แล้ว จะเสริมความมั่นคงไปทำไม... ควรทราบว่ากษัริย์ก่อนสมัย ร.5 นั้น ถึงจะเป็นกษัตริย์แต่ก็ใช่ว่าจะมีอำนาจสมบูรณ์เสียทีเดียว ในหลายสมัยขุนนางต่างก็มีอำนาจไม่แพ้กัน และบางครั้งก็เป็นขุนนางที่มีอำนาจในการชี้นำการบริหารราชการแผ่นดินได้ (ถ้าใครดูพีเรียดบ่อย น่าจะคุ้นกับการคานอำนาจกันระหว่างขุนนางและกษัตริย์) ในสมัย ร.3-ร.4 นั้นมีขุนนางตระกูลหนึ่งที่มีอำนาจมาก ก็คือตระกูล "บุนนาค" โดยเฉพาะคุณชายช่วงที่เจริญในหน้าที่การงานขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การที่ ร.4 ให้พระปิ่นเกล้าเป็นกษัตริย์ด้วย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการคานอำนาจกับคุณชายช่วงนี่แหละ

แต่ที่หักเหลี่ยมกันสุดๆ จริงๆ น่าจะเป็น ร.5 กับคุณชายช่วง เป็นการเมืองในวังที่มีสีสันยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ไม่ค่อยมีพูดถึงกันเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม แม้พระจอมเกล้ากับพระปิ่นเกล้าจะเป็นกษัตริย์เสมอกัน แต่ในเชิงพฤตินัยอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น อำนาจส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพระจอมเกล้าเป็นหลัก นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ปวศ.ไทยไม่ค่อยกล่าวถึงพระองค์นัก ประกอบกับพระองค์เองสวรรคตก่อนพระจอมเกล้า หลายคนจึงไม่รับรู้ถึงความเป็นกษัตริย์ของพระองค์สักเท่าไหร่


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่