จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุทธยา วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี
แสดงเหตุการณ์ในมโหสถชาดก ตอนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีทรงยกกองทัพตีกรุงมิถิลา
เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาว่าเป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศในสงครามยุทธหัตถี มีชื่อเดิมว่าพลายภูเขาทอง ได้ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาไชยานุภาพ (พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่าเป็นแค่ ‘พญา’) หลังจากสมเด็จพระนเรศทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา จึงพระราชทานชื่อให้ว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา”
หลังจากนี้ก็ไม่เรื่องราวของเจ้าพระยาปราบหงสาในพงศาวดารอีก แต่กลับไปปรากฏในบันทึกการเดินทางของ ฌาคส์ เดอ คูทร์ (Jacques de Coutre) พ่อค้าอัญมณีชาวเฟลมิชที่เดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาพร้อมกับคณะราชทูตจากโปรตุเกสในช่วง ค.ศ. ๑๕๙๕ - ๑๕๙๖ (พ.ศ. ๒๑๓๘ - ๒๑๓๙) รัชกาลสมเด็จพระนเรศ
บันทึกชิ้นนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นที่มีการบันทึกเรื่องราวกรุงศรีอยุทธยาในรัชกาลสมเด็จพระนเรศโดยบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง (eyewitness) จึงมีคุณค่าในฐานะ “หลักฐานชั้นต้น” ชิ้นสำคัญ
ฌาคส์ เดอ คูทร์ ได้บันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจไว้หลายประการ ทั้งสภาพแวดล้อมในกรุงศรีอยุทธยา พระจริยวัตรของสมเด็จพระนเรศ บางเรื่องก็มีความพิสดารแปลกประหลาดและดูเหนือจริง หนึ่งในนั้นคือเรื่องพิธีศพของช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศที่ทรงในสงครามยุทธหัตถี ซึ่งก็คือเจ้าพระยาปราบหงสา ได้ล้มลงหนึ่งปีหลังจากสงคราม ทำให้สมเด็จพระนเรศทรงเสียพระทัยอย่างนัก และทรงจัดพิธีศพรวมถึงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างยิ่งใหญ่
เนื้อหามีดังต่อไปนี้
“หนึ่งปีหลังจากสงครามครั้งนั้น (สงครามยุทธหัตถี-ผู้เขียน) ช้างที่พระองค์ทรงเมื่อทรงได้รับชัยชนะนั้นล้มลง ในวันที่สัตว์ตัวนั้นตายพระองค์ทรงโทมนัสอย่างหนัก ตรัสว่าบิดาของพระองค์สิ้นแล้ว พระองค์มีพระราชโองการให้บรรดาไพร่ฟ้าและชนชั้นนำในพระราชอาณาจักรไปถวายสักการะช้างนั้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้นำช้างนั้นออกไปนอกเมืองสู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ พวกเขาได้วางซากนั้นไว้หน้าวัด [ที่ชื่อ] Arros ซึ่งมีรูปเคารพชื่อเดียวกัน รูปเคารพทั้งหมดภายในวัดมีขนาดเท่าคนจริงและทำด้วยสัมฤทธิ์ ล้วนปิดด้วยแผ่นทองขนาดหนาเท่าเหรียญสี่เรียล ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมักเสด็จไปสักการะเป็นประจำ
พวกเขาตั้งปะรำใหญ่ทำด้วยผ้าแพรดามัสกัสสีน้ำเงินคลุมร่างช้าง และผ่าเปิดช่องท้องของสัตว์ตัวนั้น หลังจากพวกเขานำเครื่องในของมันออกหมดแล้ว พวกเขาจึงดองมันด้วยยาขี้ผึ้งหอมระเหย วางดอกไม้และดอกกุหลาบจำนวนมากบนร่างของสัตว์นั้น พวกเขาใส่เสาทองคำเข้าไปในตัวมันเพื่อดันให้ช่องท้องเปิดอยู่ แล้วพระสงฆ์ ๔ รูป ซึ่งเป็นนักบวชของพวกเขา นั่งลงในช่องท้องนั้น นักบวชเหล่านี้นุ่งห่มด้วยผ้าเหลืองและถือลูกประคำไว้ในมือของพวกเขา ซึ่งพวกเขาเรียกว่า gantra และมีเทียนไขจำนวนมากถูกจุดไว้ล้อมรอบพวกเขา เมื่อถึงเวลา [ภิกษุ] บางรูปจะเข้ามา [ผลัดปลี่ยน] ส่วนรูปอื่นจะออกไป
หลังจากนี้ พวกเขาสร้างอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดมหึมาล้อมรอบสัตว์นั้น ซึ่งถูกปิดทองและทาสีทั้งหมด มีบันได ๕ ขั้นลงมาถึงพื้นดิน และถูกล้อมด้วยราชวัตรทั้งหมด พวกเขาใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมดไม่ถึงหนึ่งวันครึ่ง กลิ่นเหม็นเน่าของช้างนั้นยังคมสูดดมได้แม้จะอยู่ห่างไกลมากกว่าครึ่งเลกัว (legua ประมาณ ๒.๕ – ๓ กิโลเมตร)
ถัดมา ชนชั้นนำและผู้ดีมีตระกูลทั้งหมดได้มาสักการะมันในอาคารหรือในวัดซึ่งมีเทียนจำนวนมากถูกจุดไว้โดยรอบ วางไว้บนราชวัตร และทุกคนสักการะมันสัตว์นั้นโดยการคุกเข่า เรื่องป่าเถื่อนนี้ดำเนินไปถึง ๘ วัน ระหว่างนั้นมีการเต้นระบำอย่างต่อเนื่อง และมีการการบรรเลงมโหรีที่เหมือนดนตรีจากนรกให้ได้ยินทั้งวันทั้งคืน ประกอบด้วย เครื่องเขย่า กลอง ฆ้อง และเครื่องดนตรีที่คล้ายแทมบูริน ยังมีชายจำนวนมากแต่งกายเป็นเสือและอสูรและม้าขาว ทั้งหมดทำจากกระดาษ ม้าและนกไม้ถูกทาสีเหลือง สิ่งปลูกสร้างรูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศที่มีพระสงฆ์นั่งอยู่หนึ่งรูปต่อหนึ่งหลังนั้นมีขนาดใหญ่เท่าม้า
รอบช้างนั้น พวกเขาวางหม้อทาสีจำนวนมากบรรจุไว้ด้วยอาหารที่จัดเป็นชุด และบนฝาของหม้อถูกทาสีและคลุมไว้ พวกคนป่าเถื่อนกล่าวว่าสิ่งนี้ทำเพื่อให้สัตว์ตัวนี้มีอาหารเพียงพอที่จะกินในชาติภพหน้าของมัน
เมื่อสิ้นสุดวันที่ ๘ บรรดาพระสงฆ์ได้นำไม้ใหญ่น้อยมาวางปกคลุมช้างนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จมา และทรงพระดำเนินรอบช้างนั้นสามรอบ แล้วทรงพระราชทานเพลิงที่เชิงตะกอน หลังจากซากของช้างนั้นถูกเผา พระองค์จึงมีพระราชโองการให้เก็บรวมรวบขี้เถ้าและบรรจุใส่โกศทองคำ แล้วพวกเขาจึงนำโกศนั้นไปไว้ในที่เดียวกับพระบรมอัฐิของพระราชบิดาพระราชมารดา และบรรพบุรุษของพระองค์
หลังจากโกศถูกนำไปเก็บรักษาแล้ว บุรุษ ๒ นายซึ่งเป็นผู้ดูแลหรือควาญช้างนั้นได้มาเข้าเฝ้า พวกเขากราบทูลว่า ในเมื่อช้างผู้เป็นเจ้านายของพวกเขาตายไปแล้ว พวกเขาจึงประสงค์ที่จะตามรับใช้สัตว์ตัวนั้นในชาติภพหน้าของมัน หลังจากทรงขอบคุณพวกเขาอย่างล้นเหลือสำหรับการกระทำของพวกเขา พระองค์ทรงชักพระแสงดาบที่ทรงคาดไว้ที่บั้นพระองค์ แล้วมีพระราชโองการให้ตัดร่างของพวกเขาเป็นสองท่อนและให้ทำการฌาปณกิจด้วยเกียรติยศอย่างสูง”
เรื่องราวบางส่วน เช่น พระสงฆ์สวดมนต์ในท้องช้างหรือการสังหารควาญช้างอาจจะดูพิสดารเกินจริงอยู่บ้าง แต่ถ้าพิจารณาจากใจความหลักก็ใกล้เคียงกับพิธีศพสมัยโบราณที่ต้องไปประกอบพิธีนอกเมือง มีการปลูกเมรุ มีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ๔ รูป และมีการละเล่นมหรสพประกอบในพิธี เหมือนกับพิธีศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ทั้งนี้ในสังคมของภูมิภาคอุษาคเนย์มีความผูกพันใกล้ชิดกับช้างที่เป็นพาหนะหลักมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยเฉพาะกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยกย่องสัตว์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองประดับพระบารมี จึงย่อมต้องมีการสมโภชยกย่องยกขึ้นระวางให้มีบรรดาศักดิ์เจ้าพระยา พระยา เสมอขุนนางผู้ใหญ่
เมรุของพระเถระพม่าชั้นผู้ใหญ่ในคริสตศตวรรษที่ ๒๐
เมรุของช้างเผือกอาจจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน
ในสมัยโบราณ หากช้างสำคัญเช่นช้างเผือกล้มจะมีการจัดพิธีศพเป็นเกียรติยศอย่างสูง ส. พลายน้อย ได้เขียนถึงพิธีศพของช้างเผือกพม่าในรัชกาลพระเจ้าโบดอพะยา (ဘိုးတော်ဘုရား) หรือพระเจ้าปดุงไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องพม่ารามัญ” ความว่า
“มีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อช้างเผือกในแผ่นดินพระเจ้าโบดอพญาล้ม มีคนพม่าแห่กันไปกราบไหว้ ร้องไห้อาลัยรัก ธรรมเนียมการเผาศพช้างเผือกของพม่า...เล่ากันว่า เขาจะเอาช้างเผือกใส่หีบใหญ่ แล้วยกขึ้นรถทรง มีขบวนแห่แหนกันไปจากในเมือง ไปเผากันนอกเมือง ที่สำหรับเผา ก็สร้างอย่างเมรุหลวง มีพิธีรีตองทางศาสนา เหมือนพิธีเผาศพข้าราชการผู้ใหญ่ เมื่อเผาเสร็จแล้ว ก็เก็บเอากระดูกมาพรมด้วยเครื่องหอม แล้วก็แห่กันมาบรรจุไว้ในเจดีย์ เมื่อรักและนับถือกันขั้นนี้ จึงมีประเพณีการไหว้เจดีย์ช้างตามมา”
อ่านแล้วก็มีความใกล้เคียงกับพิธีศพของเจ้าพญาปราบหงสาในบันทึกอยู่หลายส่วน เป็นไปได้ว่าเดิมในสมัยสมเด็จพระนเรศอาจจะมีรูปแบบพิธีศพช้างสำคัญที่ใกล้เคียงกับพม่า
ภาพกลุ่มช้างตระกูลต่างๆ จับกลุ่มรวมฝูงกัน จิตรกรรมฝาผนังวัดพระเชตุพนฯ, กรุงเทพฯ
(ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในสยาม” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ)
พิธีศพของช้างสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุทธยา (เข้าใจว่าเป็นสมัยอยุทธยาตอนปลาย) เท่าที่ค้นพบมีบันทึกไว้ว่า จะเอาศพช้างลอยน้ำ มีปะรำผ้าขาวคลุม ลงเรือแห่ไปถ่วงน้ำที่ปากคลองตะเคียน มีเรือข้าราชการเป็นกระบวนแห่ ๑๐ คู่ เรือดั้งนำ ๓ คู่ เรือคู่เคียงศพคู่หนึ่ง มีเครื่องสูงพร้อมสำรับหนึ่ง มีกลองชนะแดง ๒๐ คู่ สังข์ ๑ คู่ แตรงอน ๔ คู่ แตรลำโพง ๔ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ มีธงประจำทุกลำ
ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังรูปแบบพิธีใกล้เคียงกับสมัยกรุงศรีอยุทธยา ปรากฏรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ข่าวพระวิมลรัตนกิริณี ช้างเผือกสำคัญในรัชกาลที่ ๔ ล้ม ความว่า
“ครั้นวัน ๒ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าพนักงานกรม ๔ ตำรวจได้ชักลากตะเฆ่รองศพ ออกประตูวิเสศไชยศรี ไปลงท่าริมตพานเซี่ยว มีคู่แห่นา ๑๐๐ หลัง ๕๐ กลองชนะ ๔๐ จ่าปี่จ่ากลอง แตรสังข ๒๒ เครื่องสูงสำหรับหนึ่ง ๒๐ บังสูริยพัดโบก กรดกำมลอ แลกระบวนธงมังกรตามธรรมเนียม ชักศพพระวิมลรัตนกิริณีลงเรือขนานมีเพดาน มีราชวัตรแลมีเรือดั้ง ตั้งกลองชนะแตรสังข คู่ ๑ เรือแห่ ๒๐ แห่ศพไปฝังปากลัดโพ แขวงเมืองเขื่อนขันธตาม ธรรมเนียมแต่ก่อนมา”
สำหรับเจ้าพญาปราบหงสาซึ่งเป็นช้างต้นสำคัญได้ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยา มีความชอบในราชการสงคราม และถ้าเชื่อว่าเป็นช้างทรงที่ช่วยให้สมเด็จพระนเรศทรงได้รับชัยชนะในการกระทำยุทธหัตถีซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดตามที่พงศาวดารระบุ การได้รับเกียรติยศจัดพิธีศพอย่างใหญ่โตตามที่ ฌาคส์ เดอ คูทร์ บันทึกไว้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดแผกไปจากบริบทของสังคมในสมัยโบราณเลย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบันทึกนี้จะเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ควรจะมีความน่าเชื่อถือสูง แต่ก็มีเนื้อหาบางส่วนที่ดูพิสดารอยู่ การศึกษาวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้ (รวมถึงหลักฐานใดๆ ก็ตาม) จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ควรตัดความเป็นไปได้ที่ว่าตัวผู้บันทึกอาจเสริมแต่งเนื้อหาด้วยจุดประสงค์ต่างๆ ได้ หรืออาจจะมีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่คลาดเคลื่อนได้ครับ
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
- “ข่าวพระวิมลกิริณีล้ม” (๑๘๘๘, ๑๐ พฤษภาคม) เล่ม ๕ ตอนที่ ๒. หน้า ๒๓-๒๔.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง ลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) สมุดไทยเล่มที่ ๓๐ มัดที่ ๒ ตู้ ๑๑๑ ชั้น ๑/๑
- พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม. สืบค้นเมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒. จาก The British Library ชื่อเว็บไซต์:
http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx…
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). ๒๕๕๘
- ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องพม่ารามัญ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, ๒๕๔๔.
- Peter Borschberg (ed.). The Memoirs and Memorials of Jacques de Coutre: Security, Trade and Society in 16th- and 17th-century Southeast Asia. Trans. Roopanjali Roy . Singapore: NUS Press, 2013.
สามารถอ่านบทความนี้และบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ "เพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์" ของผมนะครับ
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2105568429506616
พิธีศพเจ้าพระยาปราบหงสา ในหลักฐานต่างประเทศ
จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุทธยา วัดปราสาท จังหวัดนนทบุรี
แสดงเหตุการณ์ในมโหสถชาดก ตอนพระเจ้าจุลนีพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีทรงยกกองทัพตีกรุงมิถิลา
เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาว่าเป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศในสงครามยุทธหัตถี มีชื่อเดิมว่าพลายภูเขาทอง ได้ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาไชยานุภาพ (พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ที่ชำระในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่าเป็นแค่ ‘พญา’) หลังจากสมเด็จพระนเรศทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา จึงพระราชทานชื่อให้ว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา”
หลังจากนี้ก็ไม่เรื่องราวของเจ้าพระยาปราบหงสาในพงศาวดารอีก แต่กลับไปปรากฏในบันทึกการเดินทางของ ฌาคส์ เดอ คูทร์ (Jacques de Coutre) พ่อค้าอัญมณีชาวเฟลมิชที่เดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยาพร้อมกับคณะราชทูตจากโปรตุเกสในช่วง ค.ศ. ๑๕๙๕ - ๑๕๙๖ (พ.ศ. ๒๑๓๘ - ๒๑๓๙) รัชกาลสมเด็จพระนเรศ
บันทึกชิ้นนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานเพียงไม่กี่ชิ้นที่มีการบันทึกเรื่องราวกรุงศรีอยุทธยาในรัชกาลสมเด็จพระนเรศโดยบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง (eyewitness) จึงมีคุณค่าในฐานะ “หลักฐานชั้นต้น” ชิ้นสำคัญ
ฌาคส์ เดอ คูทร์ ได้บันทึกเรื่องราวที่น่าสนใจไว้หลายประการ ทั้งสภาพแวดล้อมในกรุงศรีอยุทธยา พระจริยวัตรของสมเด็จพระนเรศ บางเรื่องก็มีความพิสดารแปลกประหลาดและดูเหนือจริง หนึ่งในนั้นคือเรื่องพิธีศพของช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศที่ทรงในสงครามยุทธหัตถี ซึ่งก็คือเจ้าพระยาปราบหงสา ได้ล้มลงหนึ่งปีหลังจากสงคราม ทำให้สมเด็จพระนเรศทรงเสียพระทัยอย่างนัก และทรงจัดพิธีศพรวมถึงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างยิ่งใหญ่
เนื้อหามีดังต่อไปนี้
“หนึ่งปีหลังจากสงครามครั้งนั้น (สงครามยุทธหัตถี-ผู้เขียน) ช้างที่พระองค์ทรงเมื่อทรงได้รับชัยชนะนั้นล้มลง ในวันที่สัตว์ตัวนั้นตายพระองค์ทรงโทมนัสอย่างหนัก ตรัสว่าบิดาของพระองค์สิ้นแล้ว พระองค์มีพระราชโองการให้บรรดาไพร่ฟ้าและชนชั้นนำในพระราชอาณาจักรไปถวายสักการะช้างนั้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้นำช้างนั้นออกไปนอกเมืองสู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ พวกเขาได้วางซากนั้นไว้หน้าวัด [ที่ชื่อ] Arros ซึ่งมีรูปเคารพชื่อเดียวกัน รูปเคารพทั้งหมดภายในวัดมีขนาดเท่าคนจริงและทำด้วยสัมฤทธิ์ ล้วนปิดด้วยแผ่นทองขนาดหนาเท่าเหรียญสี่เรียล ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมักเสด็จไปสักการะเป็นประจำ
พวกเขาตั้งปะรำใหญ่ทำด้วยผ้าแพรดามัสกัสสีน้ำเงินคลุมร่างช้าง และผ่าเปิดช่องท้องของสัตว์ตัวนั้น หลังจากพวกเขานำเครื่องในของมันออกหมดแล้ว พวกเขาจึงดองมันด้วยยาขี้ผึ้งหอมระเหย วางดอกไม้และดอกกุหลาบจำนวนมากบนร่างของสัตว์นั้น พวกเขาใส่เสาทองคำเข้าไปในตัวมันเพื่อดันให้ช่องท้องเปิดอยู่ แล้วพระสงฆ์ ๔ รูป ซึ่งเป็นนักบวชของพวกเขา นั่งลงในช่องท้องนั้น นักบวชเหล่านี้นุ่งห่มด้วยผ้าเหลืองและถือลูกประคำไว้ในมือของพวกเขา ซึ่งพวกเขาเรียกว่า gantra และมีเทียนไขจำนวนมากถูกจุดไว้ล้อมรอบพวกเขา เมื่อถึงเวลา [ภิกษุ] บางรูปจะเข้ามา [ผลัดปลี่ยน] ส่วนรูปอื่นจะออกไป
หลังจากนี้ พวกเขาสร้างอาคารไม้ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดมหึมาล้อมรอบสัตว์นั้น ซึ่งถูกปิดทองและทาสีทั้งหมด มีบันได ๕ ขั้นลงมาถึงพื้นดิน และถูกล้อมด้วยราชวัตรทั้งหมด พวกเขาใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมดไม่ถึงหนึ่งวันครึ่ง กลิ่นเหม็นเน่าของช้างนั้นยังคมสูดดมได้แม้จะอยู่ห่างไกลมากกว่าครึ่งเลกัว (legua ประมาณ ๒.๕ – ๓ กิโลเมตร)
ถัดมา ชนชั้นนำและผู้ดีมีตระกูลทั้งหมดได้มาสักการะมันในอาคารหรือในวัดซึ่งมีเทียนจำนวนมากถูกจุดไว้โดยรอบ วางไว้บนราชวัตร และทุกคนสักการะมันสัตว์นั้นโดยการคุกเข่า เรื่องป่าเถื่อนนี้ดำเนินไปถึง ๘ วัน ระหว่างนั้นมีการเต้นระบำอย่างต่อเนื่อง และมีการการบรรเลงมโหรีที่เหมือนดนตรีจากนรกให้ได้ยินทั้งวันทั้งคืน ประกอบด้วย เครื่องเขย่า กลอง ฆ้อง และเครื่องดนตรีที่คล้ายแทมบูริน ยังมีชายจำนวนมากแต่งกายเป็นเสือและอสูรและม้าขาว ทั้งหมดทำจากกระดาษ ม้าและนกไม้ถูกทาสีเหลือง สิ่งปลูกสร้างรูปร่างคล้ายนกกระจอกเทศที่มีพระสงฆ์นั่งอยู่หนึ่งรูปต่อหนึ่งหลังนั้นมีขนาดใหญ่เท่าม้า
รอบช้างนั้น พวกเขาวางหม้อทาสีจำนวนมากบรรจุไว้ด้วยอาหารที่จัดเป็นชุด และบนฝาของหม้อถูกทาสีและคลุมไว้ พวกคนป่าเถื่อนกล่าวว่าสิ่งนี้ทำเพื่อให้สัตว์ตัวนี้มีอาหารเพียงพอที่จะกินในชาติภพหน้าของมัน
เมื่อสิ้นสุดวันที่ ๘ บรรดาพระสงฆ์ได้นำไม้ใหญ่น้อยมาวางปกคลุมช้างนั้น พระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จมา และทรงพระดำเนินรอบช้างนั้นสามรอบ แล้วทรงพระราชทานเพลิงที่เชิงตะกอน หลังจากซากของช้างนั้นถูกเผา พระองค์จึงมีพระราชโองการให้เก็บรวมรวบขี้เถ้าและบรรจุใส่โกศทองคำ แล้วพวกเขาจึงนำโกศนั้นไปไว้ในที่เดียวกับพระบรมอัฐิของพระราชบิดาพระราชมารดา และบรรพบุรุษของพระองค์
หลังจากโกศถูกนำไปเก็บรักษาแล้ว บุรุษ ๒ นายซึ่งเป็นผู้ดูแลหรือควาญช้างนั้นได้มาเข้าเฝ้า พวกเขากราบทูลว่า ในเมื่อช้างผู้เป็นเจ้านายของพวกเขาตายไปแล้ว พวกเขาจึงประสงค์ที่จะตามรับใช้สัตว์ตัวนั้นในชาติภพหน้าของมัน หลังจากทรงขอบคุณพวกเขาอย่างล้นเหลือสำหรับการกระทำของพวกเขา พระองค์ทรงชักพระแสงดาบที่ทรงคาดไว้ที่บั้นพระองค์ แล้วมีพระราชโองการให้ตัดร่างของพวกเขาเป็นสองท่อนและให้ทำการฌาปณกิจด้วยเกียรติยศอย่างสูง”
เรื่องราวบางส่วน เช่น พระสงฆ์สวดมนต์ในท้องช้างหรือการสังหารควาญช้างอาจจะดูพิสดารเกินจริงอยู่บ้าง แต่ถ้าพิจารณาจากใจความหลักก็ใกล้เคียงกับพิธีศพสมัยโบราณที่ต้องไปประกอบพิธีนอกเมือง มีการปลูกเมรุ มีพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม ๔ รูป และมีการละเล่นมหรสพประกอบในพิธี เหมือนกับพิธีศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ทั้งนี้ในสังคมของภูมิภาคอุษาคเนย์มีความผูกพันใกล้ชิดกับช้างที่เป็นพาหนะหลักมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยเฉพาะกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยกย่องสัตว์สำคัญคู่บ้านคู่เมืองประดับพระบารมี จึงย่อมต้องมีการสมโภชยกย่องยกขึ้นระวางให้มีบรรดาศักดิ์เจ้าพระยา พระยา เสมอขุนนางผู้ใหญ่
เมรุของพระเถระพม่าชั้นผู้ใหญ่ในคริสตศตวรรษที่ ๒๐
เมรุของช้างเผือกอาจจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน
ในสมัยโบราณ หากช้างสำคัญเช่นช้างเผือกล้มจะมีการจัดพิธีศพเป็นเกียรติยศอย่างสูง ส. พลายน้อย ได้เขียนถึงพิธีศพของช้างเผือกพม่าในรัชกาลพระเจ้าโบดอพะยา (ဘိုးတော်ဘုရား) หรือพระเจ้าปดุงไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องพม่ารามัญ” ความว่า
“มีเรื่องเล่าอีกว่า เมื่อช้างเผือกในแผ่นดินพระเจ้าโบดอพญาล้ม มีคนพม่าแห่กันไปกราบไหว้ ร้องไห้อาลัยรัก ธรรมเนียมการเผาศพช้างเผือกของพม่า...เล่ากันว่า เขาจะเอาช้างเผือกใส่หีบใหญ่ แล้วยกขึ้นรถทรง มีขบวนแห่แหนกันไปจากในเมือง ไปเผากันนอกเมือง ที่สำหรับเผา ก็สร้างอย่างเมรุหลวง มีพิธีรีตองทางศาสนา เหมือนพิธีเผาศพข้าราชการผู้ใหญ่ เมื่อเผาเสร็จแล้ว ก็เก็บเอากระดูกมาพรมด้วยเครื่องหอม แล้วก็แห่กันมาบรรจุไว้ในเจดีย์ เมื่อรักและนับถือกันขั้นนี้ จึงมีประเพณีการไหว้เจดีย์ช้างตามมา”
อ่านแล้วก็มีความใกล้เคียงกับพิธีศพของเจ้าพญาปราบหงสาในบันทึกอยู่หลายส่วน เป็นไปได้ว่าเดิมในสมัยสมเด็จพระนเรศอาจจะมีรูปแบบพิธีศพช้างสำคัญที่ใกล้เคียงกับพม่า
ภาพกลุ่มช้างตระกูลต่างๆ จับกลุ่มรวมฝูงกัน จิตรกรรมฝาผนังวัดพระเชตุพนฯ, กรุงเทพฯ
(ภาพจากหนังสือ “จิตรกรรมฝาผนังหนึ่งในสยาม” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เมืองโบราณ)
พิธีศพของช้างสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุทธยา (เข้าใจว่าเป็นสมัยอยุทธยาตอนปลาย) เท่าที่ค้นพบมีบันทึกไว้ว่า จะเอาศพช้างลอยน้ำ มีปะรำผ้าขาวคลุม ลงเรือแห่ไปถ่วงน้ำที่ปากคลองตะเคียน มีเรือข้าราชการเป็นกระบวนแห่ ๑๐ คู่ เรือดั้งนำ ๓ คู่ เรือคู่เคียงศพคู่หนึ่ง มีเครื่องสูงพร้อมสำรับหนึ่ง มีกลองชนะแดง ๒๐ คู่ สังข์ ๑ คู่ แตรงอน ๔ คู่ แตรลำโพง ๔ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ มีธงประจำทุกลำ
ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังรูปแบบพิธีใกล้เคียงกับสมัยกรุงศรีอยุทธยา ปรากฏรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ ข่าวพระวิมลรัตนกิริณี ช้างเผือกสำคัญในรัชกาลที่ ๔ ล้ม ความว่า
“ครั้นวัน ๒ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าพนักงานกรม ๔ ตำรวจได้ชักลากตะเฆ่รองศพ ออกประตูวิเสศไชยศรี ไปลงท่าริมตพานเซี่ยว มีคู่แห่นา ๑๐๐ หลัง ๕๐ กลองชนะ ๔๐ จ่าปี่จ่ากลอง แตรสังข ๒๒ เครื่องสูงสำหรับหนึ่ง ๒๐ บังสูริยพัดโบก กรดกำมลอ แลกระบวนธงมังกรตามธรรมเนียม ชักศพพระวิมลรัตนกิริณีลงเรือขนานมีเพดาน มีราชวัตรแลมีเรือดั้ง ตั้งกลองชนะแตรสังข คู่ ๑ เรือแห่ ๒๐ แห่ศพไปฝังปากลัดโพ แขวงเมืองเขื่อนขันธตาม ธรรมเนียมแต่ก่อนมา”
สำหรับเจ้าพญาปราบหงสาซึ่งเป็นช้างต้นสำคัญได้ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยา มีความชอบในราชการสงคราม และถ้าเชื่อว่าเป็นช้างทรงที่ช่วยให้สมเด็จพระนเรศทรงได้รับชัยชนะในการกระทำยุทธหัตถีซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดตามที่พงศาวดารระบุ การได้รับเกียรติยศจัดพิธีศพอย่างใหญ่โตตามที่ ฌาคส์ เดอ คูทร์ บันทึกไว้จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดแผกไปจากบริบทของสังคมในสมัยโบราณเลย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบันทึกนี้จะเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ควรจะมีความน่าเชื่อถือสูง แต่ก็มีเนื้อหาบางส่วนที่ดูพิสดารอยู่ การศึกษาวิเคราะห์หลักฐานชิ้นนี้ (รวมถึงหลักฐานใดๆ ก็ตาม) จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยไม่ควรตัดความเป็นไปได้ที่ว่าตัวผู้บันทึกอาจเสริมแต่งเนื้อหาด้วยจุดประสงค์ต่างๆ ได้ หรืออาจจะมีความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่คลาดเคลื่อนได้ครับ
-----------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
- “ข่าวพระวิมลกิริณีล้ม” (๑๘๘๘, ๑๐ พฤษภาคม) เล่ม ๕ ตอนที่ ๒. หน้า ๒๓-๒๔.
- พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง ลำดับศักราชสมัยกรุงศรีอยุธยา (พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) สมุดไทยเล่มที่ ๓๐ มัดที่ ๒ ตู้ ๑๑๑ ชั้น ๑/๑
- พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม. สืบค้นเมื่อ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๒. จาก The British Library ชื่อเว็บไซต์: http://www.bl.uk/manuscripts/FullDisplay.aspx…
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). ๒๕๕๘
- ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องพม่ารามัญ. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์พิมพ์คำ, ๒๕๔๔.
- Peter Borschberg (ed.). The Memoirs and Memorials of Jacques de Coutre: Security, Trade and Society in 16th- and 17th-century Southeast Asia. Trans. Roopanjali Roy . Singapore: NUS Press, 2013.
สามารถอ่านบทความนี้และบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ "เพจวิพากษ์ประวัติศาสตร์" ของผมนะครับ https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/2105568429506616