ข่าว ดี้ดี 4.0 จาก manager ถอดรหัส“ยิ่งลักษณ์” สาวแขมร์ นั่งแท่นทั่นประธานท่าเรือซัวเถา

กระทู้สนทนา

จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคง “เคลื่อนไหว” และสร้าง “ประเด็นทางการเมือง” อย่างต่อเนื่อง สำหรับ “สองพี่น้องชินวัตร” ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่หลบหนีคดีเป็น “สัมภเวสี” อยู่ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจที่สุดนอกเหนือจากการปะทะคารมกับ “ลุงป้อม” จนเกิดวาทกรรมเด็ด “กระบวนการยุติธรรมแบบป้อมๆ” และ “ไอ้ทักษิณ-ไม่ใช่น้องผม” แล้ว เห็นจะเป็นกรณีที่ตกเป็นข่าวครึกโครมเรื่อง “ยิ่งลักษณ์”ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธาน และผู้แทนโดยชอบธรรมของ บริษัท ซัวเถา อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัลส์ จำกัด (Shantou International Container Terminal) หรือ เอสไอซีที บริษัทบริหารท่าเรือในเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน

นี่คือการเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่ไม่ธรรมดา และเป็นการเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญทางการเมืองอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับจีน”

ยิ่งลักษณ์คืออดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้จำคุก 5 ปีฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจำนำข้าว ทำไมรัฐบาลจีนของ “ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง” ถึงปล่อยให้ดีลนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ก็มีความสัมพันธ์อันแนบแน่น กับคสช. จนถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลทหารทิ้งอเมริกาไปซบจีนอีกต่างหาก

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ เว็บไซต์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานข่าวครึกโครมไปทั่วโลกว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตรใช้พาสปอร์ต “กัมพูชา” เป็นหลักฐานประกอบการขอจดทะเบียนเป็นกรรมการแต่เพียงผู้เดียวของ บริษัทพีทีคอร์ปอเรชั่น ในฮ่องกง ซึ่งร้อนแรงไม่แพ้กันเพราะที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เคยออกหนังสือเดินทางให้

รัฐบาล “สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน” นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาไปยินยอมพร้อมใจให้ “ยิ่งลักษณ์” ถือสัญชาติกัมพูชา กลายเป็น “สาวแขมร์” ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมหน่วยงานของไทยถึงไม่ได้รู้เหนือรู้ใต้อะไร หรือรู้แต่ไม่สนใจอะไร
แน่นอนว่า ทั้งสองกรณีคือการตบหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่รุนแรง และกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลคสช.อย่างหนัก เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลกัมพูชาไม่เห็นรัฐบาล คสช.อยู่ในสายตาถึงได้ปล่อยให้สองนักโทษหนีคดีกระทำการใดๆ โดย “ไม่แคร์” ความรู้สึกของมิตรประเทศ

ผ่าปมร้อนดีลลับแห่ง “ซัวเถา”
ถ้าติดตามความเคลื่อนไหวของสองพี่น้องชินวัตรในห้วงเวลานี้ จะเห็นว่า พวกเขาเริ่มต้น “ปฏิบัติการทางจิตวิทยา” ด้วยการเดินทางไปที่ “ซัวเถา” มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้อง ฝั่งพ่อ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศแถบเอเชีย พร้อมรายงานข่าวว่า ได้รับการต้อนรับจากพี่น้องคนจีนอย่างคับคั่ง ซึ่งสองพี่น้องชินวัตรเคยเดินทางมาสักการะสุสานบรรพบุรุษและเยี่ยมญาติพี่น้องฝั่งทางพ่อในช่วงเทศกาลตรุษจีนและปีใหม่เสมอๆ ก่อนที่จะตกเป็นข่าวในเว็บไซต์ ไค่ซินโกลบอล (caixinglobal )ในอีก 2 วันถัดมาคือวันที่ 8 มกราคมว่า เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบริษัทเอสไอซีที

และเมื่อย้อนไปค้นข้อมูล เว็บไซต์เดอะเปเปอร์ของจีนให้รายละเอียดว่า บริษัทเอสไอซีทีมีการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของบริษัท จากเดิมคือนายหลิน ต้าฉี เป็นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 ธ.ค.2561

บริษัท SICTนั้น ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 ด้วยทุนจดทะเบียนสูงถึง 88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,800 ล้านบาทโดยแรกเริ่มเป็นการร่วมทุนระหว่าง ฮัทชิสัน พอร์ท โฮลดิงส์ (Hutchison Port Holdings / HPH) 70% และบริษัท ไชน่า เมอร์แชนต์ส พอร์ต ดิเวลอปเมนต์ ซ่านโถว (China Merchants Port Development Shantou) ซึ่งถือหุ้น 30%

ต่อมาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บริษัท HPH ได้แจ้งความจำนงว่าจะขายหุ้นทั้งหมด 70% ในบริษัท SICT เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยให้ท่าเรือซัวเถามีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และได้เปลี่ยนมือมาเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ไชน่า เมอร์แชนต์ส พอร์ต ดิเวลอปเมนต์ (เซินเจิ้น) (China Merchants Port Development Shenzhen) จำกัด และคณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์สินเมืองซ่านโถว โดยแบ่งการถือหุ้นเป็น 60% และ 40% ตามลำดับ

ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท โฮลดิงส์นั้น เป็นนายลี กา-ชิง มหาเศรษฐีของฮ่องกง และเส้นทางของดีลครั้งนี้ ก็น่าจะเกิดขึ้นจากสายพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ ชินวัตรและลี กา-ชิงนั่นเอง

ทั้งนี้ ท่าเรือซัวเถาเป็น 1 ใน 25 ท่าเรือหลักของจีน และเป็น 1 ใน 5 ศูนย์กลางท่าเรือสำคัญของมณฑลกวางตุ้ง ประกอบด้วยท่าเรือ 7 แห่งและมีโกดังขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 50 ล้านตัน และ 1.3 ล้านทีอียู (หน่วยนับสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต เท่ากับ 1 ทีอียู) คิดเป็นร้อยละ 55 และ 99 ของศักยภาพท่าเรือ 3 แห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง

ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งในท่าเรือไม่กี่แห่งนอกศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และทะเลปั๋วไห่ ที่มีปริมาณการรองรับสินค้าเกิน 1 ล้านทีอียูด้วย

เว็บไซต์ caixinglobal รายงานด้วยว่า นับตั้งแต่เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบทำให้กำไรในกิจการของบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต กรุ๊ป ไตรมาสที่ 3 ของปี 61 ลดลงไป 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรอยู่ที่ 239.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 30.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 977 ล้านบาท) และนั่นอาจเป็นไปได้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ “ดีลลับแห่งซัวเถา”

ยิ่งลักษณ์เอาเงินมาจากไหน?
นี่คือคำถามสำคัญประการแรก

และได้รับคำตอบในเวลาต่อมาจาก “วิม รุ่งวัฒนจินดา” อดีตเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า บริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเรือขนส่งสินค้า มีความคุ้นเคยกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และได้เชิญนายกยิ่งลักษณ์ฯ ไปดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดเพราะเชื่อในศักยภาพเรื่องการบริหารจัดการและความรู้ด้านการตลาด

“วิม” บอกเสียงดังๆ ด้วยว่า “มิได้มีการนำเงินหรือทรัพย์สินใดๆ เข้าไปลงทุนในกิจการดังกล่าว แต่อย่างใด เนื่องจากทรัพย์สินและเงินทองที่หามาได้โดยสุจริต ของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ได้ถูกทางการไทยยึด และ อายัดไปหมดแล้ว การรับตำแหน่งดังกล่าว ก็เพื่อหาธุรกิจ และงานทำตามปกติ”

อย่างไรก็ดี แม้ “วิม” จะอธิบายไว้อย่างนั้น แต่ก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าเป็นเพียงแค่การรับเชิญไปบริหาร มิได้นำเงินไปลงทุนตามที่กล่าวอ้างเอาไว้ หรือในอีกทางหนึ่งก็อาจมีความเป็นไปได้ว่า เป็นการออกมาให้ข้อมูลหลังถูกรัฐบาลกลางจีนกดดันอย่างหนักเพราะไม่เคยรับรู้ดีลดังกล่าวมาก่อน

คำถามสำคัญประการที่สองคือ ยิ่งลักษณ์เข้าไปเกี่ยวกับกับดีลนี้ในเส้นทางไหน และทำไมรัฐบาลของประธานาธิบดีสี จิน ผิงถึงปล่อยให้ดำเนินการได้? เพราะการทำธุรกิจการค้าของจีนนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลางหรือท้องถิ่น

แม้แต่ “ไพศาล พืชมงคล” กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี( พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และเป็นผู้มีสายสัมพันธ์กับจีนก็ยังตั้งคำถามเช่นกันว่า “ชื่อท่าเรือซัวเถา แสดงว่า บริษัทนี้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลท้องถิ่นของจีน เพราะบริษัทเอกชนไม่มีสิทธิ์ใช้ชื่อเมืองนำหน้าชื่อบริษัทตามระบบของจีน การที่บุคคลต่างชาติ จะเป็นประธานบริษัทนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ โดยลําพังบริษัท! นัยยะสำคัญของเรื่องนี้จึงน่าคิดมากครับ ว่าอาจเป็นเรื่องส่งสัญญาณอะไรหรือไม่”

ทั้งนี้ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพ กรุงเทพ” ที่ว่ากันว่าเป็น “เพจลับ” ของ “คนในตระกูลชิน” รายงานข้อมูลว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าตระกูล ชินวัตรของยิ่งลักษณ์เป็นตระกูลการเมืองไทยที่ได้รับการสนับสนุนโดย CCP (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ) มิฉะนั้นสื่อของจีน จะไม่เป็นกระบอกเสียงอย่างเป็นทางการให้ ยิ่งลักษณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานของ Shantou International Container Terminal อย่างนี้ชัดมั๊ย ?”

และคุยโวโอ้อวดด้วยว่า “เมื่อรับตำแหน่งประธาน สิ่งที่ CEO ยิ่งลักษณ์ ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาคือมีการถอนตัวของท่าเรือจูไห่ที่มีรายได้เกือบ 2 พันล้านการถ่ายโอนส่วนหนึ่งของ Huizhou International Terminal ไปยัง Terminal Yantian Phase III การประเมินบทบาทของบริษัท SICT แม้ว่าจะมีผลกำไรชายฝั่ง 460 เมตรและท่าเทียบเรือ 30,000 ตัน แต่ไม่สามารถแข่งขันกับพื้นที่ท่าเรือ Guang'ao ต้องการคนเก่งเข้าไปแก้ไข !”

ขณะที่ นายชงจาเอียน ศาสตราจารย์ด้านนโยบายต่างประเทศของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวให้ความเห็นว่า รัฐบาลจีนระมัดระวังเรื่องการต้อนรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายทักษิณระหว่างการเยี่ยมญาติ เนื่องจากรัฐบาลจีนต้องการระมัดระวังเรื่องการสนับสนุนหรือเลือกข้างก่อนการเลือกตั้งของประเทศไทย และระวังการจุดชนวนการเมืองในประเทศไทย ซึ่งอาจกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนในประเทศไทย และประเทศอื่นในอาเซียน

นี่นับเป็นการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่ง

เพราะฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า ดีลซัวเถานั้น เป็นการดำเนินงานของรัฐบาลท้องถิ่น โดยที่รัฐบาลกลางจีนอาจไม่รับรู้มาก่อนก็เป็นได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีที่สื่อจีนมีการเสนอข่าวนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปกราบไหว้บรรพบุรุษที่เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ซึ่งคนจีนแชร์โพสต์และคอมเมนต์กันอย่างดุเดือด แต่วันต่อโพสต์ดังกล่าวหายหมด

สอดคล้องกับสิ่งที่เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานว่า ภาพถ่ายและวิดีโอการมาเยือนของทั้งคู่ถูกลบทิ้งเกลี้ยงตั้งแต่ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ 6มกราคม

ซู่ ลี่ปิง ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาเอเชีย-แปซิฟิก แห่งสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในกรุงปักกิ่ง บอกว่าจีนพยายามบริหารจัดการความสัมพันธ์กับทั้งคณะรัฐบาลทหารและสองพี่น้องตระกูลชินวัตร
“จีนต้องการแสดงให้พันธมิตรของพวกเขาเห็นว่าพวกเขาจะแสดงออกถึงทัศนคติที่เป็นมิตรกับอดีตผู้นำทั้งหลายตราบใดที่พวกเขาเป็นมิตรกับจีนในช่วงที่คนเหล่านั้นอยู่ในอำนาจ นี่อาจเป็นแรงจูงใจแก่คนที่อยู่ในตำแหน่งในปัจจุบันให้มีความกล้ามากขึ้นในการรักษาสถานะความเป็นมิตรกับจีนเอาไว้” ซู่กล่าว “อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ดูจะไม่เหมาะกับการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว เนื่องจากในมุมมองของรัฐบาลไทยในปัจจุบัน พวกเขายังเป็นผู้หลบหนี”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่