ทำไม? เดี๋ยวนี้มองใกล้ไม่เห็น

สายตายาวตามวัย...ในผู้สูงอายุ

“สายตายาวตามวัย”เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป แต่จะเกิดเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้สายตามากน้อยแค่ไหนนั่นเอง



เมื่ออายุมากขึ้นดวงตาจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น รูม่านตามีขนาดเล็กลง ปริมาณของน้ำตาลดลง และการเกิดปัญหาสายตายาวตามวัย ซึ่งสายตายาวตามวัยเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงของดวงตาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากเลนส์แก้วตามีความยืดหยุ่นน้อยลง ดังนั้น สายตายาวตามวัยจึงไม่ใช่โรคและในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ โดยจะเกิดขึ้นกับทุกคนไม่ว่าจะมีค่าสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาปกติมาก่อนอายุ 40 ก็ตาม วิธีสังเกตภาวะสายตายาวตามวัยง่ายๆ คือ จากเดิมที่เคยอ่าน เขียนหนังสือที่ระยะห่างจากตา 1 ฟุตแล้วชัด แต่ตอนนี้กลับไม่ชัด ต้องใช้วิธีเลื่อนหนังสือออก หรือบางคนอาจต้องหรี่ตาให้เล็กลง เพื่อช่วยให้อ่านหนังสือชัดขึ้น มองใกล้ไม่ชัด บางคนอาจจะมีอาการแสบตา เคืองตา ปวดตา ปวดศีรษะก็ได้ เนื่องจากเมื่อมองไม่เห็นก็จะพยายามเพ่งมากขึ้น จึงทำให้มีอาการต่างๆ ดังกล่าว



เนื่องจากภาวะสายตายาวตามวัยไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถปกป้องดวงตาและการมองเห็นของเราได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ครับ

1. ตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อตรวจดูความสามารถในการมองเห็นหรือ มีความผิดปกติอะไร
เกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่
2. เลือกแว่นตาที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งจะช่วยในการมองเห็นหมั่นทดสอบสายตาเป็นประจำเพื่อดูว่าแว่นตาที่ใช้อยู่มีความเหมาะสมหรือไม่
3. หมั่นสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา เช่น ตาข้างใดข้างหนึ่งมองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด
ตามัว เห็นจุดดำ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะที่รุนแรงได้ หากพบความผิดปกติ
ควรรีบไปพบแพทย์
4. ป้องกันดวงตาจากแสงอาทิตย์หรือรังสีอัลตร้าไวโอเลต ด้วยการใส่แว่นตากันแดด เวลาที่ต้องอยู่กลางแจ้ง หรือต้องสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน
5. ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผักใบเขียวและผลไม้ที่มีสีอ่อน เช่น ผักโขม ผักคะน้า แครอท
แคนตาลูป ซึ่งช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อชั้นในของลูกตาได้
6. การใช้สายตาในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือ ควรเปิดไฟและใช้ไฟที่เหมาะสม เพราะจะช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น ช่วยให้ตาไม่ต้องเพ่งมากจนเกินไป

ปัญหาสายตายาวตามวัยเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด การสังเกตตัวเองเมื่อถึงเวลาที่สายตาเปลี่ยนแปลง และรีบแก้ไขทันที ด้วยการใส่แว่นตา หรือการทำเลสิก (LASIK)ก็จะช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ และไม่เป็นอุปสรรคในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา

** ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการผิดปกติทางสายตาไม่ว่าจะเป็นในช่วงอายุใด ควรไปพบจักษุแพทย์เสมอ เพราะอาการทางสายตาอาจเป็นที่มาของหลายๆ โรค การพบจักษุแพทย์จะทำให้วินิจฉัยสาเหตุได้แม่นยำและได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่