กินเหล้ามีประโยชน์ทำยังไง? เลิกได้จริงเหรอ?

กินเหล้ามีประโยชน์ทำยังไง? เลิกได้จริงเหรอ?

เหล้าขมทั้งขวด กินแล้วขมขื่น
รู้จักกินชา คอก็หวานชื่นใจได้
ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ มีปัญญา ขมก็หวานได้

อธิบายความหมาย

เรารู้จักกินเหล้าไหม? ทำไมเราไม่กินเหล้าแบบกินชา ใครบอกว่ากินชามีที่ไหน เขาบอกว่าจิบชาไม่ใช่เหรอ? เวลาเขากินชาก็ต้องใช้วิธีการจิบชา ถ้าเรารู้จักใช้ "จิบ" เราก็จะสบายขึ้นมา ก็เพราะว่าเราโง่ ยกเอาๆ เราจึงถูกเหล้าครอบงำ
ถ้าเราเข้าใจ เรากินเหล้าแบบจิบชา เราก็สุขสบาย

กินเหล้าระดับไหน

ระดับชั้น ภูมิของการกินเหล้า แต่ละขั้นมีความแตกต่างกัน กินเหล้าจากขั้นต่ำไปยังขั้นสูงก่อเกิดประโยชน์ อานิสงส์ ดังนี้

๑. กินอย่างถูกเหล้ากิน คือ กินอย่างเมามันส์ หัวราน้ำ แฮงค์ขำที่ นอนข้างถนน มีเรื่อง ทำให้เดือดร้อนทั้งตนเอง หรือผู้อื่นได้

๒. เราดื่มเหล้า คือ รู้จักดื่มเหล้าอย่างพอดี

๓. เราดื่มเหล้า รู้จักเอาเหล้ามาใช้ประโยชน์ คือ ดื่มเหล้าให้เป็นยารักษาโรค หรือใช้เหล้ามาผสมทำเป็นยาสมุนไพร เช่น เหล้าดองยาดื่ม หรือดองยานวดประคบ

๔. รู้จักเอาเหล้ามาสร้างเป็นปัญญา คือ นำเหล้ามาสอนให้คนเกิดปัญญา เป็นอุทธาหรณ์ ให้เกิดสติสัมปชัญญะเตือนใจทั้งตนเองและผู้อื่น

๕. กินเหล้าเหมือนไม่ได้กิน โทษจึงไม่มี มีแต่ประโยชน์ เพราะว่าเรามีปัญญากิน เขาเรียกว่า กินอย่างมีปัญญา "รู้เท่าทันจึงจะไม่ถูกเหล้าครอบงำ ถ้าเหตุการณ์นั้นมา เราจะไม่ถูกครอบงำ" คือ นำเหล้านี้มาช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น

ทำไมเลิกเหล้าไม่ได้สักที

ยกตัวอย่าง นายดำชอบกินเหล้า แต่ว่าเขาตั้งใจจะงดดื่มเหล้า วันหนึ่งมีเพื่อนเดินทางมาจากต่างจังหวัด เลยแวะมาเยี่ยม แล้วนายดำชวนดื่มเหล้าด้วยกัน

นายดำจึงอ้างเหตุสารพัดเพื่อที่จะไปกินเหล้าด้วยกัน เพราะว่าข้างในมีอัตตาอยู่ พอมีเหตุมารวมตัวกันอีก จึงหาเหตุผลมาอ้างเพื่อจะมีเหตุเพียงพอที่จะไปกินเหล้า

แต่ทุกอย่างที่เรามีนั้นเหล้ามันเป็นเจ้านายของเรา เขาสั่งให้เราทำอะไรเราก็ทำหมด สั่งให้เรากินเหล้าเราก็กิน สั่งให้เราไปด่าเขา เราก็ไปด่าเขา ฯลฯ

สมมติว่าสิ่งนั้นครอบงำความคิดเราไม่ได้ เราก็ไม่ต้องไปกินเหล้ากับเพื่อน

เหตุผลของเราที่ไปดื่ม เพราะเพื่อนชวนกิน เพื่อนมาจากต่างจังหวัด

เพราะว่าเราให้เขาปรุงแต่งขึ้นมาได้ จึงตัดสินใจไปกินเหล้ากับเพื่อน แต่ถ้าเหตุการณ์ตรงนี้ปรุงแต่งขึ้นมาไม่ขึ้น

"เรารู้ทันว่ามันมาปรุงแต่ง ที่จริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่เห็นว่าสำคัญตรงไหนเลย" เราก็ไม่ถูกเหล้าครอบงำ

สิ่งที่ทำให้เราไม่ถูกครอบงำ ก็คือ เรารู้ เข้าใจ ประจักษ์ซึ้งในภาวะ ถ้าเราประจักษ์ในภาวะเราจึงจะไม่ถูกครอบงำ

สมมติว่าเหล้าครอบงำเรา เราก็ต้องมาคิดแล้วว่า จะทำยังไงไม่ให้เหล้ามาครอบงำเรา? และไม่ให้เหล้ามาครอบงำเราได้นั้น เพราะว่าเราประจักษ์ เรารู้แล้วว่าดื่มเหล้าเดี๋ยวอะไรจะตามมา

แต่ถ้าเรารู้แล้วว่า การเมาเหล้าเป็นอย่างไร? แต่เรามักจะแพ้เหตุผลที่มาปรุงแต่งให้เรา? แล้วยังมาสั่งในสมองของเราให้กินเหล้า?

ทำไมเราถึงแพ้เหล้า ก็เพราะว่าเราขาดตบะ (ขาดการทนต่อการยั่วยุอย่างยิ่งยวด) ความมุ่งมั่นเรายังไม่ถึง หยวนก็ได้ เราก็เสร็จตัวหยวน คำว่า "ไม่เป็นไร แค่นี้เอง เดี๋ยวเราก็คุมได้" เราไปกินสักแก้วสองแก้วเดี๋ยวเราก็ไม่เอาแล้ว แต่ที่ไหนได้ ยาวไปเลย ติดเบ็ดแล้ว

เหล้าลากเบ็ด เราก็ทนไม่ได้ เราก็ต้องไป เขาเรียกว่า "ปลาติดเบ็ด"

ถ้าเราไม่เข้าใจถึงตรงนี้แล้วเราจะแก้ยังไง เราแก้ไม่ได้ หลายคนชอบพูดว่า "รู้ทั้งรู้ แต่ก็แก้ไม่ได้"

เพราะเราไม่เข้าใจการทำงานของ "ภาวะ" ไม่รู้ว่าความคิดอยากกินเหล้ามาได้ยังไง?

เหตุก็เพราะว่าเราเคย "สะสมมา" เป็นเพราะ "กรรมสันดาน" เหตุนี้เป็นเพราะเราสะสมมาทั้งนั้น

ถ้าเราไม่สะสมมา แล้วเราจะรู้ว่าอย่างนี้คือเหล้าไหมล่ะ?

เราก็ไม่รู้ว่า นี่คือเหล้า น้ำเหล้านี้เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปดื่ม เราก็ไม่เอาแล้ว

แต่เพราะว่าอดีตเราเคยดื่มเหล้ามา แล้วเคยสะสมไว้ เรียกว่าเป็นกรรมสันดาน

แล้วความอหังการขึ้นมาหน่อย "เดี๋ยวนี้ฉันรู้แล้ว ฉันคุมได้" นี่แหละเดี๋ยวก็หนักกว่าเก่า

นายดำตั้งใจปวารณาช่วงเข้าพรรษาไม่กินเหล้า แล้วทำได้ สอบผ่าน

แต่เดี๋ยวออกพรรษาก็จะหนักกว่าเก่า

เราคิดอย่างดีว่า ออกพรรษาแล้วจะไม่ดื่มเหล้าแล้ว เลิกเหล้า หรือไม่ดื่มเหล้าอย่างเมามายอีก

แต่ผู้รู้ก็จะบอกว่า "เดี๋ยวก็โดน"

เหตุก็เพราะว่า เขาไปเข้าใจผิด คิดว่า เข้าพรรษาเลิกเหล้าได้ เหตุการณ์เช่นนี้ ตรงนี้เราทำได้แล้ว แล้วตรงนั้นก็จะทำได้ (หมายความว่า สามารถงดเหล้าเข้าพรรษาได้ แล้วออกพรรษาก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน)

แต่ตรงนั้นได้เรายังไม่ได้ขจัดเหตุ เหตุตัวไหนที่ยังไม่ได้ขจัดก็คือ เหตุที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขา ที่เป็นจริตนิสัย ปลูกฝังมา ได้ฝังไว้

พอเพื่อนจากต่างจังหวัดมาเที่ยว ก็เหมือนกับ สิ่งนี้มันเป็นสีที่อยู่ใต้ก้นถัง พอมีอะไรไปกวนสีหน่อย สีมันก็จะขึ้นมาแล้ว พอสีมันขึ้นมาแล้ว ก็จะมาครอบงำ จะบอกกับใจตนเองว่า "แค่นิดหน่อยเอง ไม่เป็นไร แก้วสองแก้วก็ได้แล้ว"

แต่พอไปร่วมวงเหล้าแล้ว แต่ทำไมเลยแก้วสองแก้วแล้ว ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะว่าเราประมาท เพราะว่าเราเชื่อว่า เข้าพรรษาเราทำได้แล้ว

เราต้องระวัง!! สิ่งไหนที่เราทำได้สำเร็จ
สิ่งนั้นจะเป็นจุดอ่อนของเรา จริงๆ

เพราะว่าเราคิดว่าเราทำได้แล้ว เราก็อวดเก่ง อหังการ ไม่ระวัง ก็เสร็จ นี่แหละ ปลาตายน้ำตื้น

ยกตัวอย่าง เรามองเห็นคนจุดไฟ แล้วเราเห็นไฟไหม? ก็ย่อมเห็นไฟ แต่พอเขาเอาไฟออกหรือดับไฟ เกิดความว่างเปล่า ไม่มีไฟแล้ว แต่ในความคิดของเราก็มองเห็นไฟนั้นได้ ก็เพราะว่าสมองของเรายังมีไฟอยู่

นี่แหละ สันดานของเราเคยเอาไปฝังไว้ แต่ถ้าเราฝังลึกก็จะฝังเข้าสู่จิตใต้สำนึก พอเราบอกว่าไฟ เราก็จะรู้สึกได้เลย นี่แหละ "ภาวะ"

นี่แหละเราชักเห็นแล้วว่า ทำไมเราจึงถูกชักชวนไปกินเหล้าได้

แต่ถ้าเราเจริญภาวนา (ทำบ่อยๆ) เราก็จะเห็นถึงความสำคัญ อย่างนี้สำคัญมากต่อไปนี้เราจะไม่เอาแล้ว เราจะมาอวดเก่งว่า แก้วสองแก้วไม่ได้แล้ว ถ้าคิดอย่างนี้เราก็จะรอด คือ

เอาเหตุการณ์นั้นมาเป็นอุทธาหรณ์ มาคิดบ่อยๆ ภาวนาบ่อยๆ ให้ความสำคัญบ่อยๆ พอสิ่งนั้นจะมาครอบงำเรา เราก็จะบอกว่าเราไม่เชื่อมันแล้วว่า "แก้วสองแก้วก็ได้"

การภาวนา คือ นำมาคิดบ่อยๆ ทำบ่อยๆ จะทำให้เกิดตบะ ตบะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะป้องกัน ขัดขวาง ไม่ให้เราไปถูกครอบงำ สิ่งเหล่านี้ก็จะมาเตือนให้เราระวังตัวขึ้นมา ไม่ให้เราถูกครอบงำ

ถึงแม้ว่าเราจะถูกครอบงำ ถึงแม้ว่าเราจะทนไม่ได้แล้ว เราก็เบา ไม่ถลำลึก แต่นี่เราถลำทุกที ตื่นเช้ามาไม่ได้ แฮ้ง (Hang) เหล้า ทำงานไม่ได้ เหมือนกับคอมพิวเตอร์แฮ้ง ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องปิดคอมพิวเตอร์อย่างเดียว

และเหมือนกับอาการเก่าของเรา ก่อนเข้าพรรษาเหมือนกันเลย แล้วในระหว่างพรรษาเราก็ไม่ได้ทำอะไร รับรองได้เลยว่าออกพรรษาแล้วเราก็ไม่ได้ทำอะไรอยู่ดี

สิ่งที่เกิดก่อน ก็เกิดก่อนพรรษาอยู่แล้ว (ชอบเมาหัวราน้ำ) แสดงว่าในพรรษาเราเอาแต่เรียนรู้ เลียนแบบ ไม่ยอมเรียนให้กระจ่าง เลยไม่ประจักษ์

นี่แหละ คนไทยทั่วไปชอบเลียนแบบ แต่ไม่ชอบเรียนรู้

พอเข้าพรรษาทีหนึ่ง ก็พากันงดเหล้ากัน พอออกพรรษาก็กินกันวุ่นวายไปหมด

แล้วทำไมเข้าพรรษาเรางดเหล้าได้ ทำได้ เป็นเพราะอะไร?

ก็เพราะว่าตอนนั้นเรามีเงื่อนไข วินัย กติกา

ฉะนั้น เราทำได้เพราะเงื่อนไข วินัย กติกา ไม่ใช่ทำได้โดยธรรมชาติ แค่เรากลัวแค่ตรงนั้น พอพ้นแล้วก็เป็นอิสระ แล้วก็จบทุกราย

แต่ถ้าทำได้โดยหลักของธรรมชาติ เราจะทำด้วยเหตุที่เข้าใจประจักษ์ในเหตุผล ไม่ใช่ทำเพราะว่าเงื่อนไข สัญญา หรือวินัย

เราทำอะไรได้ ไม่ต้องมีเงื่อนไข
เพราะว่าถ้ามีเงื่อนไข เราทำได้แค่เงื่อนไข

แต่สิ่งที่ลึกกว่าเงื่อนไขก็คือเราทำด้วยความเข้าใจ ทำด้วยความประจักษ์ ถ้าเราประจักษ์เราก็ไม่อยากแตะเหล้า รู้แล้วต้องยอมรับความจริงว่า มีผลเสียอย่างไร?

แต่ที่เรารู้ก็จริง แต่เรายังไม่ได้ไปยอมรับ การที่เราไม่ยอมรับ และไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้น อย่างนี้เรียกว่า ยังไม่ได้ประจักษ์

พอเรากินเหล้ารอบนี้เราอ๊วกทีหนึ่ง เราเริ่มประจักษ์แล้ว คราวหน้าเราก็จะระมัดระวังยิ่งขึ้น นี่แหละเริ่มประจักษ์

พอเราเข้าใจแล้วจะต้องทำยังไง ก็คือต้องรับความจริง รับความจริงแล้วก็ต้องประจักษ์ ประจักษ์แล้วเราก็จะให้ความสำคัญ พอเราให้ความสำคัญเราจึงเกิดความไม่ประมาท ไม่มักง่าย พอเราไม่ประมาทนี่แหละทำให้เรารอด เพราะเราไม่อหังการ

ฉะนั้น เราจะแก้ไขปัญหาการกินเหล้าตรงนี้ เราจะต้องประจักษ์ รับความจริง นำอุทธาหรณ์มาภาวนาบ่อยๆ เราก็จะประจักษ์ในความประมาท

ถ้ามีเพื่อนมาบอกว่ากิน ๑ แก้ว แม้แต่ครึ่งแก้วเราก็ไม่เอา เราก็รอด

^_^ ..._/\_... ^_^
ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต









แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่