ยานนาซาพบน้ำบนดาวเคราะห์น้อย “เบนนู”

เผยแพร่: 11 ธ.ค. 2561 12:55  โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาพดาวเคราะห์น้อยเบนนูจากกล้อง PolyCam บนยานโอซิริส-เรกซ์ เมื่อ 2 ธ.ค.2018 ที่ระยะห่าง 24 ก.ม. (Credits: NASA/Goddard/University of Arizona)


นาซาเผยข้อมูลจากยานอวกาศ “โอซิริส-เรกซ์” พบน้ำบนดาวเคราะห์น้อย “เบนนู” ถูกกักเก็บอยู่ภายในโคลน เชื่อว่าน้ำที่พบนั้นน่าจะมาจากต้นกำเนิดของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ที่มีขนาดใหญ่กว่า

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจของยานโอซิริส-เรกซ์ (OSIRIS-REx: Origins, Spectral Interpretation, Resource Identification, Security-Regolith Explorer) ที่ไปถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าพบน้ำถูกกักอยู่ในโคลนที่ประกอบขึ้นมาเป็นดาวเคราะห์น้อยดวงนี้

ข้อมูลดังกล่าวได้รับระหว่างภารกิจในระยะเข้าประชิดเป้าหมาย ในช่วงเดือน ส.ค.-ถึงต้น ธ.ค.นี้ ที่ยานได้เดินทางไกลถึง 2.2 ล้านกิโลเมตร ออกจากโลกไปถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนูในระยะห่าง 19 กิโลเมตร เมื่อ 3 ธ.ค.2018 ที่ผ่านมา

ในระยะนี้เป็นโอกาสให้ทีมศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์จากพื้นโลกได้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ 3 เครื่องบนยานโอซิริส-เรกซ์ เพื่อสังเกตเชิงวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกสำหรับภารกิจของยานโอซิริส-เรกซ์ ซึ่งเป็นยานอวกาศลำแรกของนาซาที่มีเป้าหมายนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลก

ข้อมูลที่ได้จาก 2 เครื่องมือวัดสเปกตรัมบนยานอวกาศ คือ เตรื่องมือวัดสเปกครัมแสงที่ตามองเห็นและรังสีอินฟราเรดโอเวอร์ส์ (OVIRS) กับเครื่องมือวัดการปลดปล่อยความร้อนโอเตส (OTES) ซึ่งได้เผยร่องรอยของโมเลกุลที่มีองค์ประกอบจากการสร้างพันธะกันระหว่างอะตอมออกซิเจนและอะตอมไฮโดรเจนเป็น “ไฮดรอกซิล” (hydroxyls)

ทีมวิทยาศาสตร์คาดว่าหมู่ไฮดรอกซิลเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปบนดาวเคราะห์น้อย ในรูปของโคลนแร่อุ้มน้ำ ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงสสารแข็งของดาวเคราะห์น้อยเบนนูนั้นได้ทำอันตรกริยากับน้ำ โดยที่เบนนูเองนั้นเล็กเกินกว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่ของน้ำของเหลวได้ ดังนั้น การค้นพบนี้จึงชี้ว่าน้ำในรูปของเหลวนั้นปรากฏอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งบนดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่าที่เป็นต้นกำเนิดของเบนนู

“ร่องรอยของแร่ธาตุชุ่มน้ำที่มีอยู่ทั่วดาวเคราะห์น้อย ซึ่งยืนยันว่าเบนนูคือเศษซากในยุคแรกๆ ของการก่อกำเนิดระบบสุริยะนั้น คือการเก็บตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของภารกิจยานโอซิริส-เรกซ์ ที่มีเป้าหมายศึกษาองค์ประกอบสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายในยุคดึกดำบรรพ์” เอมี ไซมอน (Amy Simon) นักวิทยาศาสตร์แผนกเครื่องโอเวอรส์ จากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซา ในกรีนเบลท์ แมรีแลนด์ ระบุ

ไซมอนยังบอกด้วยว่า เมื่อยานอวกาศโอซิริส-เรกซ์ นำตัวอย่างสสารจากดาวเคราะห์น้อยกลับมาถึงโลกในปี 2023 เปรียบเหมือนนักวิทยาศาสตร์จะได้รับขุมทรัพย์ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการของระบบสุริยะของเรา




ภาพดาวเคราะห์น้อยเบนนูจากกล้อง PolyCam บนยานโอซิริส-เรกซ์ เมื่อเดือน พ.ย.2018 (Credits: NASA/Goddard/University of Arizona)





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่