ราชาสิบสองนักษัตร ศึกรวมสุโขทัย - บทที่ ๕๘ สองราชาผู้สาบสูญ

.
                                                  

บทที่ ๕๘ สองราชาผู้สาบสูญ

เสียงยุงและแมลงตัวเล็ก ตีปีกเบาๆ
บางตัวบินมาเกาะเกี่ยวอยู่บนเนื้อตัวเจ้าทิพ แต่มิมีตัวใดจะได้แทะกัด เพียงสัมผัสผิวกายดุจสหายทักทายกัน

ดึกสงัดภายในวิหารทะนานทอง ยามนี้เงียบจนคล้ายได้ยินเสียงสายลมเลื่อนไหล และเสียงเปลวไฟดวงน้อยขยับตัวอยู่บนปลายไส้ตะเกียง

ตั้งแต่เริ่มต้นที่เดินมายังชั้นวางหนังสือ เจ้าทิพก็พบเห็นแล้วว่าในช่องที่ ๕ และช่องที่ ๖ มีบันทึกจัดวางอยู่
นั่นคือบันทึกของเขมราชา และวายุราชา ผู้หายสาบสูญไปในการออกตามหาองค์ตุมพะทะนานทอง

อาสวักพราหมณ์ผู้ดูแลวิหารทะนานทองย่อมมิอาจเปิดอ่านข้อความในบันทึกและมิอาจเผยให้ผู้ใดรู้ว่าได้รับบันทึกใดเข้ามาจัดเก็บไว้... นั่นทำให้ความลึกลับของสองราชานักษัตรลำดับที่ ๕ และ ๖ อยู่ในเงามืดแห่งปริศนา

เจ้าทิพรู้จากวราว่าวายุราชามีหนังสือบันทึกกลับมา... อย่างน้อยก็หนึ่งฉบับ แต่สำหรับเขมราชา ไม่มีผู้ใดจะได้รับรู้เลย

บนแผ่นไม้ในช่องหนังสือที่ ๕ สลักอักษรว่า

“เขมราชา แห่งบันทายสมอ
ราชานักษัตรองค์ที่ ๕
พุทธศักราช ๑๘๙๐-๑๙๐๒”

ใต้แผ่นไม้มีแผ่นใบลานราว ๕๐ แผ่นร้อยยึดติดกันด้วยเส้นเชือกที่ฟั่นเห็นเกลียวด้าย บันทึกของเขมราชากลับเป็นอักษรที่จารลงใบลาน ข้อความข้างในกล่าวว่า...

“ปีกุน พุทธศักราช ๑๙๐๒
ตัวข้า เขมราชา แห่งบันทายสมอ ได้ออกเดินทางตามหาองค์ตุมพะทะนานทองไปยังดินแดนต่างๆ ได้เห็นความรุ่งโรจน์และความวิบัติ เห็นความต่ำทราม เห็นน้ำใจอันสูงส่งของผู้คน และเห็นความเปลี่ยนแปรในสิ่งเหล่านั้น ทุกสิ่งในโลกใบนี้ช่างอ่อนแอและเปราะบางหาได้มีสิ่งใดจักจีรังไม่

ข้าได้สืบค้นเรื่องเก่าของพระมหาเถรศรีศรัทธาและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับพระองค์จนพอจะสันนิษฐานเรื่องราวได้หลายส่วน ข้าคาดว่าวัชรพราหมณ์คงได้ผูกซ่อนองค์ตุมพะทะนานทองไว้บนขื่อคาที่วิหารวัดพระพายหลวง หาได้นำติดตัวหลบหนีออกจากสุโขทัย บางทีอาจสั่งให้ลูกศิษย์เป็นคนนำไปซ่อนไว้ อาจด้วยมิต้องการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ติดตัวเป็นภาระหรือเพราะคิดว่าสักวันคงได้กลับมายังกรุงสุโขทัยเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป หลังจากนั้นได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ยังเมืองกัมพูชาธิบดี

วัชรพราหมณ์ไม่เคยมีความคิดจะนำองค์ตุมพะทะนานทองขึ้นถวายเจ้านครแห่งใดนอกจากเมืองสุโขทัย จนบั้นปลายชีวิตจึงได้มาปลอมตัวหลบซ่อนอยู่ในสำนักศึกษาที่เมืองละโว้ ในวาระสุดท้ายของชีวิตได้ฝากฝังความลับเรื่องที่ซ่อนขององค์ตุมพะทะนานทองไว้กับอาจารย์พราหมณ์ท่านหนึ่งที่ตนไว้วางใจ สั่งให้ส่งมอบแด่เชื้อพระวงศ์ของพระร่วงหรือพระศรีนาวนำถมที่มาศึกษายังสำนักวิชาแห่งละโว้ อาจารย์พราหมณ์คงเห็นพระศรีศรัทธาทรงกอปรด้วยพระสติปัญญาและพระปรีชาสามารถจึงวางใจถวายเรื่องราวหรืออาจเป็นสิ่งของอันระบุตำแหน่งขององค์ตุมพะทะนานทอง

เมื่อทรงสำเร็จวิชา พระศรีศรัทธาและพระไชยศิริทรงชวนกันเสด็จไปเมืองไตรตรึงษ์ซึ่งเล่าลือกันว่ามีพระราชธิดาผู้ทรงพระสิริโฉมงดงามนัก พระศรีศรัทธาทรงลักลอบเข้าวังในไปผูกสมัครรักใคร่กับพระราชธิดา ต่อมาเมืองสองแควมีข้าศึกยกทัพมารุกรานทำให้พระศรีศรัทธาต้องรีบเสด็จกลับเมืองพร้อมพระสหาย ท้าวอีจานผู้นำทัพข้าศึกขี่ช้างพลายตัวใหญ่มหึมาตกน้ำมันมีอานุภาพจนมิมีผู้ใดจะต่อสู้ได้ ขุนศึกเมืองสองแควต่างพ่ายแพ้ถึงแก่ชีวิต

เมื่อพระศรีศรัทธาเสด็จกลับถึงเมืองทรงอาสาเข้าต่อสู้แล้วเลือกช้างพัง (ช้างเพศเมีย) เชือกหนึ่งเป็นช้างศึกของพระองค์ ทรงขี่ช้างนำทัพเข้าเผชิญหน้ากับท้าวอีจาน ช้างพลายของท้าวอีจานกำลังตกมันครั้นได้กลิ่นของช้างเพศเมียก็โผนส่ายเข้าหายากจะบังคับควบคุม จังหวะที่ช้างพลายชูงวงยกส่ายสะบัดขึ้นชี้ฟ้าพระศรีศรัทธาทรงพุ่งหอกสั้นปักเข้าปากช้างพลายแล้วจับจังหวะฟันท้าวอีจานจนตกคอช้าง ตีทัพข้าศึกแตกพ่ายย่อยยับไป

พระศรีศรัทธาทรงชนช้างชนะท้าวอีจานเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๗๔ ขณะพระชันษา ๑๗ ปี ชื่อเสียงปรากฏเลื่องลืออีกทั้งมีพระลักษณะองอาจสง่างามจึงเป็นที่หมายปองของหญิงสาวทั่วไป รวมถึงพระสนมรูปงามที่เป็นคนโปรดของพระยาคำแหงพระรามพระบิดาของพระองค์ แต่พระศรีศรัทธามิได้สนพระทัย ทรงปรารถแต่พระราชธิดาเมืองไตรตรึงษ์ หลังจากนั้นพระศรีศรัทธาและพระสหายจึงเสด็จต่อไปยังเมืองสุโขทัยและลอบนำองค์ตุมพะทะนานทองออกมาจากวัดพระพายหลวง ข้าได้ยินมาว่าทรงลอบเข้าไปในพระวิหารวัดพระพายหลวงยามค่ำคืนพร้อมเชือกขดใหญ่

ครั้นเสด็จกลับมาถึงเมืองสองแคว ทรงถูกกุมตัวด้วยข้อกล่าวหาจากพระสนมที่ทรงแค้นเคืองพระองค์ มีหนังสือฉบับหนึ่งที่ทรงเขียนถ้อยคำรักถึงหญิงสาวเป็นหลักฐาน และมีพยานเท็จปรักปรำว่าทรงเข้ามาล่วงเกินพระสนม ทรงฝากองค์ตุมพะทะนานทองไว้กับพระสหายรัก

พระศรีศรัทธาทรงถูกคุมขังไต่สวนอยู่นานนับปีด้วยมีผู้คอยยุยงมิให้พ้นผิด หนังสือที่ใช้กล่าวหาให้ร้ายนั้น พระศรีศรัทธาทรงยืนยันว่าคือจดหมายที่ทรงเขียนถึงพระราชธิดานครไตรตรึงษ์ ต่อมาพนักงานเมืองสืบเรื่องราวไปยังนครดังกล่าวจึงรู้ข่าวว่าพระเจ้าไตรตรึงษ์ได้พระราชทานพระราชธิดาให้อภิเษกสมรสกับพระไชยศิริพระสหาย และพาเสด็จไปยังเมืองสุพรรณภูมิแล้ว นำมาซึ่งความเจ็บช้ำเสียพระทัยให้กับพระศรีศรัทธาและซ้ำร้ายทรงไม่มีข้อแก้ต่างในจดหมายรักดังกล่าว

เมื่อเมืองสองแควถูกข้าศึกรุกรานอีกครั้ง พระศรีศรัทธาทรงได้รับการปล่อยพระองค์จากที่คุมขังให้มาช่วยราชการสงคราม ทรงนำทัพชนะข้าศึกต่างๆ กาลต่อมาทรงเป็นขุนศึกคนสำคัญของอาณาจักรสุโขทัยกระทำศึกได้ชัยชนะติดต่อกันมากมาย จนพระยาเลอไทพระเจ้ากรุงสุโขทัยพระราชทานองค์หญิงพระองค์หนึ่งในราชวงศ์พระร่วงให้อภิเษกสมรส และมีพระธิดาต่อมา ๒ พระองค์

ในปีพุทธศักราช ๑๘๘๓ พระยาเลอไททรงพระประชวรหนัก พระยาคำฟูกษัตริย์แห่งล้านนาทรงถือโอกาสเปิดศึกใหญ่และเป็นศึกครั้งแรกระหว่างสองอาณาจักร ทรงแบ่งทัพเป็นสองสาย ให้ขุนจังยกทัพใหญ่ลงมาตีเมืองตากด้านทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัย ส่วนพระองค์ทรงยกทัพรอเข้าตีอยู่ที่เมืองแพร่ทางด้านทิศเหนือ พระยาคำแหงพระรามและพระศรีศรัทธาทรงนำทัพเมืองสองแควเข้ารับศึกที่เมืองตาก เมื่อขุนจังท้าชนช้างกับพระยาคำแหงพระรามที่ทรงชราภาพ พระศรีศรัทธาจึงทรงอาสาเข้าต่อสู้และทรงชนช้างชนะขุนจังจนทัพล้านนาพ่ายแพ้ย่อยยับไป ทำให้ทัพของพระยาคำฟูต้องถอยจากเมืองแพร่ไปด้วย

หลังเสร็จศึกใหญ่ไม่นาน พระยาเลอไทเสด็จสวรรคตในปีรุ่งขึ้น พุทธศักราช ๑๘๘๔ (จากหลักฐานในศิลาจารึกวัดมหาธาตุ พุทธศักราช ๑๙๓๕ หลักที่ ๘ ข. ค้นพบเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ – แต่บางทฤษฎีว่าเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช ๑๘๖๖) ราชวงศ์พระร่วงอ่อนแอ เมืองสุโขทัยจึงได้แก่ราชวงศ์ศรีนาวนำถม พระยางั่วนำถมซึ่งเป็นพระราชนัดดา (หลาน) ของพ่อขุนผาเมืองเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๕ ของแผ่นดินสุโขทัย

พระยางั่วนำถมทรงครองราชย์เมื่อชราภาพแล้ว ทำให้สถานการณ์ภายในราชสำนักไม่มั่นคง เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีระหว่างสายราชวงศ์ศรีนาวนำถมและสายราชวงศ์พระร่วง สายราชวงศ์ศรีนาวนำถมบ้างสนับสนุนผู้สืบสายพระโลหิตของพระยางั่วนำถม บ้างสนับสนุนพระศรีศรัทธาซึ่งเป็นพระราชปนัดดา (เหลน) พระองค์หนึ่งของพ่อขุนผาเมือง ในขณะที่สายราชวงศ์พระร่วงต้องการยกพระยาลิไทซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระยาเลอไทขึ้นครองราชย์

ต่อมาพระศรีศรัทธาทรงนำไพร่พลลงมายังเมืองสุพรรณภูมิเพื่อทรงทวงคืนองค์ตุมพะทะนานทอง พระไชยศิริทรงขอเจรจาเป็นการส่วนพระองค์และทรงรื้อฟื้นสายสัมพันธ์

เท่าที่ข้าสืบทราบมาเรื่องนี้เกี่ยวพันกับพระกุมารที่ประสูติแต่พระราชธิดานครไตรตรึงษ์ซึ่งในเวลานั้นเจริญชันษาได้ราว ๑๐ ปีแล้ว ด้วยพระราชธิดาทรงตั้งพระนามของพระกุมารเป็นภาษาของชาวสุโขทัยว่า “พะงั่ว” ซึ่งแปลว่า “ลำดับที่ห้า” ตามพระดำริแต่กาลก่อนของพระศรีศรัทธาที่ทรงเคยปรารถว่าหากพระองค์มีพระโอรส จะเป็นลำดับรุ่นที่ห้านับจากพ่อขุนผาเมืองที่เป็นองค์ปฐม และจะทรงให้นามว่าพะงั่ว

ลางทีพระกุมารองค์นี้อาจเป็นพระโอรสของพระศรีศรัทธา ลางทีพระไชยศิริอาจมีความจำเป็นต้องรับสมอ้างเป็นพระบิดาให้กับพระกุมาร ลางทีพระราชธิดาอาจทรงขุ่นข้องเข้าพระทัยผิดเรื่องพระศรีศรัทธาทรงกระทำชู้สาวกับพระสนมของพระยาคำแหงพระราม

หรือลางทีพระกุมารคือพระโอรสของพระไชยศิริโดยแท้ และพระราชธิดาเพียงทรงนำคำปรารถของพระศรีศรัทธาเรื่องพระนามพะงั่วมาใช้ ด้วยพระเจ้าไตรตรึงษ์เองก็ทรงสืบสายเป็นลำดับที่สี่จากต้นราชวงศ์ของพระองค์ หากพระนางมีพระโอรส อาจถือเป็นลำดับที่ห้าโดยข้ามลำดับของพระนางที่เป็นอิสตรี

มิมีผู้ใดล่วงรู้ความจริงเรื่องพระชาติกำเนิดของพระโอรสแห่งเมืองสุพรรณภูมิผู้ได้รับพระนามตามภาษาท้องถิ่นของสุโขทัยและเชียงแสน คงมีเพียงพระราชธิดา พระไชยศิริและพระศรีศรัทธาเท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสัมพันธ์ของสองพระสหายที่กลับมาทรงรักใคร่ต่อกัน พระศรีศรัทธาซึ่งติดตามด้วยขุนทหารแห่งนครสองแควทรงเข้าไปประทับภายในตัวเมืองสุพรรณภูมิด้วยการต้อนรับอย่างดีเลิศของพระสหายจนเป็นที่เล่าลือไปถึงเมืองสุโขทัย และมีผู้นำไปบิดเบือนกราบทูลพระยางั่วนำถมว่าพระศรีศรัทธาเตรียมก่อกบฏ มีทัพพระเจ้าสุพรรณภูมิสนับสนุน

เมื่อพระศรีศรัทธาทรงทราบจึงรีบเสด็จกลับไปยังเมืองสุโขทัยเพื่อแก้ข้อกล่าวหา แต่ก็ทรงถูกจับกุมขณะเข้าเฝ้าพร้อมพระยาคำแหงพระรามพระบิดา พระองค์ทรงถูกสักไหล่ขวาตีตราประจานเป็นคนโทษ ทรงถูกจองจำอยู่นานกว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพระองค์ได้ เมื่อพ้นผิดออกมาไม่นานก็ทรงสูญเสียพระบิดาไปด้วยพระโรคจากสภาพคุกคุมขัง ทรงท้อแท้ทอดอาลัย ละทิ้งทุกสรรพสิ่ง เสด็จออกผนวชในปีพุทธศักราช ๑๘๘๙ เมื่อชันษาได้เพียง ๓๑ ปี

ปีรุ่งขึ้นพระยางั่วนำถมเสด็จสวรรคต เมืองสุโขทัยเข้าสู่กลียุค เกิดการต่อสู้ฆ่าฟันแย่งชิงอำนาจกัน สุดท้ายพระยาลิไททรงยกทัพจากเมืองศรีสัชนาลัยมาปราบปรามจนยุติ แล้วทรงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งอาณาจักรสุโขทัย ส่วนพระมหาเถรศรีศรัทธาทรงศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานแล้วเสด็จธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ทรงจาริกผ่านเมืองสุพรรณภูมิแล้วเสด็จล่องเรือจะไปเกาะลังกา ระหว่างทางเรืออับปางมาขึ้นฝั่งที่เมืองปตานี พระเจ้าปตานีทรงให้การช่วยเหลือบำรุง พระมหาเถรศรีศรัทธาจึงทรงสละวิชาการรบทิ้งไว้แก่ขุนพลเมืองปตานีแล้วเสด็จต่อไปยังกรุงลังกา

ข้าได้สืบค้นยังเมืองสุพรรณภูมิ มิพบเห็นว่าพระเจ้าไชยศิริจะได้นำองค์ตุมพะทะนานทองออกประดิษฐานบูชา ณ ที่แห่งใด เมืองสุพรรณภูมิยามนี้ยิ่งใหญ่มีอำนาจ พระเจ้าไชยศิริและพระมเหสีทรงมีขุนหลวงพะงั่วเป็นพระราชโอรสองค์โต มีพระราชธิดาองค์รองและพระโอรสองค์เล็กตามลำดับ ต่อมาทรงพระราชทานพระราชธิดาให้กับพระเจ้าอู่ทอง แล้วทรงสนับสนุนพระเจ้าอู่ทองพระชามาดา (ลูกเขย) ในการสร้างเมืองอโยธยาขึ้นเป็นใหญ่ เมืองนี้ทำเลดีมีแม่น้ำสามสายรายรอบ เป็นเมืองท่าเชื่อมหัวเมืองเหนือ ตะวันออกและตะวันตกสู่ปากอ่าวสุวรรณภูมิ จึงเจริญรุ่งเรือง

ต่อมาพระเจ้าไชยศิริทรงสละราชย์ให้ขุนหลวงพะงั่วขึ้นครองเมืองสุพรรณภูมิ อยู่ภายใต้พระราชอำนาจของพระเจ้าอู่ทอง ขุนหลวงพะงั่วทรงเชี่ยวชาญในการรบ นำทัพสุพรรณภูมิและอโยธยาเข้าตีเมืองพระนคร เมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรกัมพูชาธิบดี ใช้เวลา ๑ ปีจึงรบชนะ พระบรมลำพงศ์ราชาแห่งกัมพูชาธิบดีสิ้นพระชนม์ในครานั้น พระเจ้าอู่ทองทรงแต่งตั้งพระเจ้าบาสาตร์ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงกัมพูชาธิบดีต่อจากพระราชบิดาในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงอโยธยา ครองราชย์ได้เพียง ๓ ปีก็สิ้นพระชนม์

ในช่วงเวลา ๑๓ ปีที่ตัวข้าขึ้นเป็นราชาสิบสองนักษัตร ระหว่างปีพุทธศักราช ๑๘๙๐ ถึง ๑๙๐๒ ราชบัลลังก์กัมพูชาธิบดีมีกษัตริย์ผลัดเปลี่ยนขึ้นครองแผ่นดินถึง ๗ พระองค์ นับเป็นช่วงอ่อนแอที่สุดของอาณาจักรที่เคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรในลุ่มน้ำโขง กษัตริย์องค์ปัจจุบันคือพระศรีสุริโยวงศ์

(มีต่อ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่