หลายคนคงเคยรื่นรมย์ชมนภาและมวลหมู่เมฆา ความงดงามอันวิจิตรที่ธรรมชาติสรรสร้าง ภาพอันงดงามอาจทำให้เรานึกถึงบางสิ่งบางอย่างเหมือนกับครั้งที่ฉันได้มาเยือน “สุโขทัย” ในช่วงวัสสานฤดู ท้องฟ้าที่กล่นเกลื่อนด้วยเมฆแบบแอลโตคิวมูลัส(altocumulus) เป็นเสมือนฉากหลังที่ทำให้ภาพผืนหญ้าสีเขียวและซากปรักหักพังของโบราณสถานที่เด่นตระการเบื้องหน้างดงามยิ่งนัก ถึงแม้บางคราท้องฟ้าจะประดับด้วยเมฆฝนแต่ฟ้าหลังฝนมักทำให้รู้สึกสดชื่นเสมอ รอยยิ้มและความมีน้ำใจของคนสุโขทัยที่ได้สัมผัสช่างอบอุ่นเหมือนแสงแดดยามเช้าสมดังคำ “ดินแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข” เมื่อฉันได้ทัศนา “สุโขทัย” ผ่านมวลหมู่เมฆและท้องนภา ทำให้นึกย้อนอดีตของราชอาณาจักร “สุโขทัย” ที่สามารถสอดผสานถ่ายทอดผ่านช่วงเวลาแห่งวันและหมู่เมฆาบนท้องฟ้าได้อย่างลงตัว
“รุ่งอรุณแห่งความสุข รุ่งโรจน์ดุจดวงสุรีย์ศรี
ผันผ่านเวลาหลายขวบปี ถึงคราที่ดับแสงสุริยา"
"รุ่งอรุณแห่งความสุข"
ภาพโบราณสถานเขตเมืองเก่าของสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ทำให้เกิดจินตภาพของราชธานีสุโขทัยในอดีตที่รุ่งเรืองดินแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข คงเป็นดั่งเมืองแห่งความฝันเป็นนครแห่งความสุขดุจดั่งแสงแรกแห่งวัน วิถีชีวิตยามเช้าของชาวสุโขทัยที่สุขสงบ ตลาดเช้าที่เริ่มมีชีวิตตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่พ้นขอบฟ้าสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าวของแผ่นดินนี้
แสงทองที่พ้นขอบฟ้าและลอดผ่านหมู่เมฆในแต่ละวัน เปรียบประหนึ่งการก่อกำเนิดดินแดงรุ่งอรุณแห่งความสุข “สุโขทัย” ปฐมราชธานีของราชอาณาจักรไทย ที่กำเนิดขึ้นอย่างเรียบง่ายจากการพัฒนาของหมู่บ้านเล็กๆ ที่เติบโตขึ้นเป็นเมืองกระจายตัวอยู่ตามแนวลุ่มน้ำยมและน่าน หากเปรียบกับปัจจุบันคงไม่ต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นดั่งสายโลหิตหล่อเลี้ยงผู้คนตลอดแนวลำน้ำ การคมนาคมและการค้าต่างๆ ในสมัยนั้น ได้ขยายตัวมากขึ้น เมืองต่างๆ ที่อยู่ตามลุ่มน้ำยมและน่านที่เป็นเส้นทางผ่านการค้าระหว่างรัฐต่างๆ เริ่มรวมตัวกันมากขึ้น กลายเป็นแว่นแคว้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่ออิทธิพลของขอมในดินแดนแถบนี้เริ่มเสื่อมลง โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นพ่อเมือง ทำให้สุโขทัยเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเชื่อกันว่าศูนย์อำนาจการปกครองที่สุโขทัยตั้งอยู่บริเวณใกล้วัดพระพายหลวงเมืองเก่าสุโขทัย และที่ศรีสัชนาลัยอยู่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
ต่อมาไม่นาน"ขอม สบาดโขลญลำพง" ได้เข้ายึดเมืองทำให้สุโขทัยตกอยู่ใต้อิทธิพลของขอม ปรากฎร่องรอยอารยธรรมขอมที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นภาพสลักนางอัปสรที่อ่อนช้อยงดงามบริเวณซุ้มประตูวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง รวมถึงพระปรางค์ ๓ องค์วัดพระพายหลวง และพระปรางค์วัดศรีสวายในเขตเมืองเก่า
จนกระทั่งพุทธศักราช ๑๗๗๘ พ่อขุนผาเมือง ราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ซึ่งครองเมืองราดอยู่จึงร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง เข้ายึดอำนาจคืน โดยพ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเข้ายึดเมืองสุโขทัยไว้ได้ ต่อมาพ่อขุนผาเมืองได้ทรงมอบเมืองสุโขทัยให้แก่พ่อขุนบางกลางหาวพร้อมทั้งพระนามที่กษัตริย์ขอมเคยแต่งตั้งพ่อขุนผาเมืองคือ “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พ่อขุนบางกลางหาว จึงได้ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองสุโขทัย มีพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้กลับไปครองเมืองราดดังเดิม และเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ไทยในชั้นเรียนก็เริ่มต้นราชอาณาจักรสุโขทัยนับแต่นั้นโดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งราชธานีสุโขทัย และยืนยาวต่อมารวม ๙ รัชสมัย
"รุ่งโรจน์ดุจดวงสุรีย์ศรี"
การมาเยือนสุโขทัยในช่วงวัสสานฤดูเช่นนี้ บางครั้งก็แสงแดดสาดส่องแรงกล้า บางครั้งฝนก็ตกพรำ หรือมีกลุ่มเมฆฝนครื้มเต็มฝากฟ้า ฟ้าหลังฝนที่สดใสในแต่ละวัน แสงแดดที่ส่องกระทบโบราณสถานต่าง ๆ ทั้งในเขตเมืองศรีสัชนาลัย และเขตเมืองเก่า ทำให้โบราณสถานฉายแสงทองราวกับจะบอกถึงความรุ่งเรืองของปฐมราชธานีในอดีต
เหล่ามวลหมู่เมฆซีร์รัส(cirrus)ที่พริ้วไหวดั่งลายเส้นภาพวาดปลายพู่กันสีขาวบนผืนเฟรมสีฟ้าขนาดใหญ่ ทำให้โบราณสถานที่เด่นตระหง่านงดงามยิ่งนัก หากเปรียบความสดใสของภาพท้องฟ้าและหมู่เมฆตรงหน้าคงเสมือนกับความรุ่งเรืองสูงสุดของสุโขทัยในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่บ้านเมืองสุโขทัยอยู่อย่างสงบ มีความร่วมเย็นเป็นสุขดังที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า มหาราชที่ทรงวางระเบียบปกครองบ้านเมือง ทั้งยังประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ กับทั้งทรงดูแลการเพิ่มผลผลิตของประชากร เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอาณาจักร จวบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต
"ผันผ่านเวลาหลายขวบปี"
แสงอาทิตย์ที่ฉายลงมาต้ององค์พระปฏิมาภายในโบราณสถาน ทำให้นักเดินทางอย่างเรา ๆ สัมผัสได้ถึงความสวยงามขององค์พระปฏิมาในเขตเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย พระพักตร์ที่สงบนิ่ง เยือกเย็น พระปางลีลาที่พริ้วไหวอ่อนช้อยงดงาม ราวกับว่าจีวรที่ทรงอยู่จะพริ้วไหวได้ โดยมีความเข้มแข็งขององค์พระปรางค์วัดพระศรีรัตน มหาธาตุเชลียงเป็นฉากหลังยิ่งทำให้พุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
หรือแม้กระทั่งความงดงามของพระพักตร์ สายพระเนตรที่สงบเย็น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดสมดังนาม พระอจนะ ภายในวัดศรีชุม ทำให้นึกถึงพระมหาธรรมราชาลิไทพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านพระพุทธศาสนาขณะที่พระองค์ดำรงพระราชอิสริยยศเป็นรัชทายาท ครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องไตรภูมิพระร่วง ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๘๘ ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีชิ้นแรกของไทย หนังสือเรื่องนี้พระองค์นิพนธ์เพื่อจะเทศนาแก่พระมารดา และสั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม ช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืน แสดงถึงพระปรีชาสามารถในความรอบรู้เรื่องพระพุทธศาสนาอย่างยอดเยี่ยม หากเปรียบกับสมัยปัจจุบันคงประหนึ่งวิทยานิพนธ์ที่ก้าวล้ำหน้าสมบูรณ์แบบ เพราะมีข้ออ้างอิงที่เป็นระบบโดยทรงค้นคว้ามาจากคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา ถึง ๓๔ เรื่อง จุดเด่นของไตรภูมิพระร่วงนอกจากจะให้เนื้อหาสาระทางพระพุทธศาสนา ปรัชญา ยังให้ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิศาสตร์ของโลกที่คนไทยรู้จักกันในสมัยนั้นถือการแบ่งทวีปทั้ง ๔ อันมี ชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป(บุรพวิเทหทวีป) อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป
ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงมุ่งมั่นให้ราชอาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตยิ่งใหญ่เทียบเท่าสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์เสด็จไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และกระทำกิจทางศาสนา ซึ่งขณะเดียวกันก็แสดงให้เมืองต่าง ๆ ที่พระองค์เสด็จไปเห็นว่า พระองค์มีแสนยานุภาพและมีพระราชอำนาจเต็มในกิจการต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ในช่วงการครองราชย์ของพระองค์บทบาทการเป็นนักรบของพระองค์ที่พยายามขยายพระราชอำนาจไปยังเมืองลุ่มแม่น้ำป่าสัก ทำให้กระทบกระทั่งกับกรุงศรีอยุธยาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองต่าง ๆ ในแถบนั้น
"ถึงคราที่ดับแสงสุริยา"
ท้องฟ้ายามพระอาทิตย์อัศดงและหมู่มวลเมฆคิวมูโลนิมบัส(Cumulonimbus) เมฆฝนฟ้าคะนองสีดำทมึนที่แผ่ครึ้มเป็นฉากหลังของโบราณสถานทำให้บรรยากาศยามเย็นจึงดูหม่นมัว ซึมเซา จิตประหวัดถึงวาระสุดท้ายของ “สุโขทัย” ก่อนสิ้นสุดความเป็นราชธานี จนปราสาทราชวัง วัดวาอารามได้ถูกทิ้งร้างในกาลต่อมา แต่อดีตแห่งการสูญสิ้นกรุงสุโขทัยมักไม่ค่อยมีใครพูดถึง บางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเหตุใดสุโขทัยถึงล่มสลาย พร่าเลือนเหมือนดั่งความมืดที่กำลังย่างกรายเข้ามาบดบังโบราณสถานต่าง ๆ
ย้อนไปในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ยกทัพมายึดเมืองสองแคว(พิษณุโลก) ไว้ได้ พระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยต้องถวายบรรณาการเพื่อขอเมืองคืน เป็นเหตุให้พระองค์ต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น และโปรดให้พระขนิษฐาของพระองค์คือพระมหาเทวี ปกครองเมืองสุโขทัยแทน ขณะที่พระองค์ทรงผนวชได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๒ พระราชโอรสของพระองค์ ใช้เมืองสองแควเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่ง ทำให้ศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักรสุโขทัย ต้องย้ายจากสุโขทัยไปพิษณุโลก เนื่องจากต้องการสกัดกั้นอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองสุโขทัยจึงค่อย ๆ ลดความสำคัญลง จนกระทั่งพุทธศักราช ๑๙๘๑ เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)เสด็จสวรรคต กรุงสุโขทัยและเมืองน้อยใหญ่ในขอบขัณฑสีมาของสุโขทัยทั้งหมดได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ส่งโอรสที่สมภพจาก พระชายาราชวงศ์สุโขทัยมาครองเมืองพิษณุโลก ในตำแหน่งพระราเมศวร อันเป็นตำแหน่ง พระมหาอุปราช ปกครองกลุ่มเมืองเหนือทั้งมวล โดยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา นับเป็นการสิ้นสุด “ราชอาณาจักรสุโขทัย” อย่างสิ้นเชิง
เมืองสุโขทัยยังคงมีประชาชนอาศัยอยู่สืบมา จวบจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าที่เมืองแครง ในปีพุทธศักราช. ๒๑๒๗ พระองค์ได้โปรดให้กวาดต้อนคนจากหัวเมืองเหนือลงไปไว้เมืองอยุธยาทั้งหมด ทำให้สุโขทัยต้องกลายเป็นเมืองที่อ่อนกำลงลง เป็นผลให้บ้านเมืองปราสาทราชวังวัดวาอารามถูกทิ้งร้าง เหลือเพียงซากปรักหักพังไว้เป็นอนุสรณ์
ฉับพลันก็เกิดปรากฎการณ์ของรังสีครีพัสคิวลาร์และเงาเมฆ แถบแสงสีทองของดวงอาทิตย์ก่อนลับขอบฟ้าและเงาที่ทอทาบราวจะพุ่งขึ้นออกจากเมฆฝนเหนือวัดมหาธาตุ หรือท้องฟ้าพยายามจะสื่อกับเราว่าอดีตกาลแห่งราชอาณาจักรที่ล่มสลาย ที่แม้วันเวลาจะผ่านไปหลายร้อยปีแต่ความเป็นคนสุโขทัยยังคงงดงามและฝังรากลึก ไม่เสื่อมสลายตามกาลเวลาจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ความรักและความศรัทธาในความเป็นสุโขทัยยังคงกระจ่างชัดผ่านทางชาติพันธุ์ ภาษา การแต่งกาย ขนบธรรมเนียม ศิลปวัฒนธรรม
วิถีชีวิตที่ยังคงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาการได้เห็นพิธีกรรมสาบานต่อหน้าพระสงฆ์ และพระปฏิมาของชาวชุมชนวัดเชิงคีรีที่ทำให้คนเดินทางอย่างพวกเราถึงกับขนลุก ความศรัทธาในพระพุทธศาสนายังคงเปี่ยมล้นไม่ต่างจากบรรพชนในอดีต แววตาไร้เดียงสาของเด็กชายในชุมชนเชิงคีรี ที่ระยับไหวยามเล่าเรื่องของหมู่บ้านที่ผูกพันมาตั้งแต่เกิดด้วยสำเนียงสุโขทัยบ่งบอกถึงความความรัก ความผูกพัน ความศรัทธา และความภาคภูมิใจต่อความเป็นคนสุโขทัยได้อย่างชัดเจน วิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างอดีตและปัจจุบันงดงามเสมอในทุกพื้นที่ของเมืองสุโขทัย
"แม้ว่าดวงสุริยาจะลาลับ แต่จะกลับคืนมาเมื่อวันใหม่
เหมือนวิถีความเป็นสุโขทัย ยังก้าวไปเฉกเช่นแสงแห่งตะวัน"
[CR] เมฆาทัศไนย สุโขทัยทัศนา
“รุ่งอรุณแห่งความสุข รุ่งโรจน์ดุจดวงสุรีย์ศรี
ผันผ่านเวลาหลายขวบปี ถึงคราที่ดับแสงสุริยา"
"รุ่งอรุณแห่งความสุข"
ภาพโบราณสถานเขตเมืองเก่าของสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ทำให้เกิดจินตภาพของราชธานีสุโขทัยในอดีตที่รุ่งเรืองดินแดนรุ่งอรุณแห่งความสุข คงเป็นดั่งเมืองแห่งความฝันเป็นนครแห่งความสุขดุจดั่งแสงแรกแห่งวัน วิถีชีวิตยามเช้าของชาวสุโขทัยที่สุขสงบ ตลาดเช้าที่เริ่มมีชีวิตตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่พ้นขอบฟ้าสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ในน้ำมีปลาในนามีข้าวของแผ่นดินนี้
แสงทองที่พ้นขอบฟ้าและลอดผ่านหมู่เมฆในแต่ละวัน เปรียบประหนึ่งการก่อกำเนิดดินแดงรุ่งอรุณแห่งความสุข “สุโขทัย” ปฐมราชธานีของราชอาณาจักรไทย ที่กำเนิดขึ้นอย่างเรียบง่ายจากการพัฒนาของหมู่บ้านเล็กๆ ที่เติบโตขึ้นเป็นเมืองกระจายตัวอยู่ตามแนวลุ่มน้ำยมและน่าน หากเปรียบกับปัจจุบันคงไม่ต่างกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นดั่งสายโลหิตหล่อเลี้ยงผู้คนตลอดแนวลำน้ำ การคมนาคมและการค้าต่างๆ ในสมัยนั้น ได้ขยายตัวมากขึ้น เมืองต่างๆ ที่อยู่ตามลุ่มน้ำยมและน่านที่เป็นเส้นทางผ่านการค้าระหว่างรัฐต่างๆ เริ่มรวมตัวกันมากขึ้น กลายเป็นแว่นแคว้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่ออิทธิพลของขอมในดินแดนแถบนี้เริ่มเสื่อมลง โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถุมเป็นพ่อเมือง ทำให้สุโขทัยเป็นปึกแผ่นมากขึ้นเชื่อกันว่าศูนย์อำนาจการปกครองที่สุโขทัยตั้งอยู่บริเวณใกล้วัดพระพายหลวงเมืองเก่าสุโขทัย และที่ศรีสัชนาลัยอยู่บริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
ต่อมาไม่นาน"ขอม สบาดโขลญลำพง" ได้เข้ายึดเมืองทำให้สุโขทัยตกอยู่ใต้อิทธิพลของขอม ปรากฎร่องรอยอารยธรรมขอมที่ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นภาพสลักนางอัปสรที่อ่อนช้อยงดงามบริเวณซุ้มประตูวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง รวมถึงพระปรางค์ ๓ องค์วัดพระพายหลวง และพระปรางค์วัดศรีสวายในเขตเมืองเก่า
จนกระทั่งพุทธศักราช ๑๗๗๘ พ่อขุนผาเมือง ราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ซึ่งครองเมืองราดอยู่จึงร่วมกับพ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง เข้ายึดอำนาจคืน โดยพ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเข้ายึดเมืองสุโขทัยไว้ได้ ต่อมาพ่อขุนผาเมืองได้ทรงมอบเมืองสุโขทัยให้แก่พ่อขุนบางกลางหาวพร้อมทั้งพระนามที่กษัตริย์ขอมเคยแต่งตั้งพ่อขุนผาเมืองคือ “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พ่อขุนบางกลางหาว จึงได้ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองสุโขทัย มีพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้กลับไปครองเมืองราดดังเดิม และเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ไทยในชั้นเรียนก็เริ่มต้นราชอาณาจักรสุโขทัยนับแต่นั้นโดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงแห่งราชธานีสุโขทัย และยืนยาวต่อมารวม ๙ รัชสมัย
"รุ่งโรจน์ดุจดวงสุรีย์ศรี"
การมาเยือนสุโขทัยในช่วงวัสสานฤดูเช่นนี้ บางครั้งก็แสงแดดสาดส่องแรงกล้า บางครั้งฝนก็ตกพรำ หรือมีกลุ่มเมฆฝนครื้มเต็มฝากฟ้า ฟ้าหลังฝนที่สดใสในแต่ละวัน แสงแดดที่ส่องกระทบโบราณสถานต่าง ๆ ทั้งในเขตเมืองศรีสัชนาลัย และเขตเมืองเก่า ทำให้โบราณสถานฉายแสงทองราวกับจะบอกถึงความรุ่งเรืองของปฐมราชธานีในอดีต
เหล่ามวลหมู่เมฆซีร์รัส(cirrus)ที่พริ้วไหวดั่งลายเส้นภาพวาดปลายพู่กันสีขาวบนผืนเฟรมสีฟ้าขนาดใหญ่ ทำให้โบราณสถานที่เด่นตระหง่านงดงามยิ่งนัก หากเปรียบความสดใสของภาพท้องฟ้าและหมู่เมฆตรงหน้าคงเสมือนกับความรุ่งเรืองสูงสุดของสุโขทัยในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่บ้านเมืองสุโขทัยอยู่อย่างสงบ มีความร่วมเย็นเป็นสุขดังที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” การพาณิชย์เจริญก้าวหน้า มหาราชที่ทรงวางระเบียบปกครองบ้านเมือง ทั้งยังประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๒๖ กับทั้งทรงดูแลการเพิ่มผลผลิตของประชากร เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของอาณาจักร จวบจนกระทั่งเสด็จสวรรคต
"ผันผ่านเวลาหลายขวบปี"
แสงอาทิตย์ที่ฉายลงมาต้ององค์พระปฏิมาภายในโบราณสถาน ทำให้นักเดินทางอย่างเรา ๆ สัมผัสได้ถึงความสวยงามขององค์พระปฏิมาในเขตเมืองเก่าสุโขทัยและศรีสัชนาลัย พระพักตร์ที่สงบนิ่ง เยือกเย็น พระปางลีลาที่พริ้วไหวอ่อนช้อยงดงาม ราวกับว่าจีวรที่ทรงอยู่จะพริ้วไหวได้ โดยมีความเข้มแข็งขององค์พระปรางค์วัดพระศรีรัตน มหาธาตุเชลียงเป็นฉากหลังยิ่งทำให้พุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก
หรือแม้กระทั่งความงดงามของพระพักตร์ สายพระเนตรที่สงบเย็น ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดสมดังนาม พระอจนะ ภายในวัดศรีชุม ทำให้นึกถึงพระมหาธรรมราชาลิไทพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านพระพุทธศาสนาขณะที่พระองค์ดำรงพระราชอิสริยยศเป็นรัชทายาท ครองเมืองศรีสัชนาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่องไตรภูมิพระร่วง ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๘๘ ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีชิ้นแรกของไทย หนังสือเรื่องนี้พระองค์นิพนธ์เพื่อจะเทศนาแก่พระมารดา และสั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม ช่วยกันดำรงพระพุทธศาสนาไว้ให้ยั่งยืน แสดงถึงพระปรีชาสามารถในความรอบรู้เรื่องพระพุทธศาสนาอย่างยอดเยี่ยม หากเปรียบกับสมัยปัจจุบันคงประหนึ่งวิทยานิพนธ์ที่ก้าวล้ำหน้าสมบูรณ์แบบ เพราะมีข้ออ้างอิงที่เป็นระบบโดยทรงค้นคว้ามาจากคัมภีร์ต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา ถึง ๓๔ เรื่อง จุดเด่นของไตรภูมิพระร่วงนอกจากจะให้เนื้อหาสาระทางพระพุทธศาสนา ปรัชญา ยังให้ความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิศาสตร์ของโลกที่คนไทยรู้จักกันในสมัยนั้นถือการแบ่งทวีปทั้ง ๔ อันมี ชมพูทวีป ปุพพวิเทหทวีป(บุรพวิเทหทวีป) อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป
ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงมุ่งมั่นให้ราชอาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตยิ่งใหญ่เทียบเท่าสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระองค์เสด็จไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และกระทำกิจทางศาสนา ซึ่งขณะเดียวกันก็แสดงให้เมืองต่าง ๆ ที่พระองค์เสด็จไปเห็นว่า พระองค์มีแสนยานุภาพและมีพระราชอำนาจเต็มในกิจการต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ในช่วงการครองราชย์ของพระองค์บทบาทการเป็นนักรบของพระองค์ที่พยายามขยายพระราชอำนาจไปยังเมืองลุ่มแม่น้ำป่าสัก ทำให้กระทบกระทั่งกับกรุงศรีอยุธยาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองต่าง ๆ ในแถบนั้น
"ถึงคราที่ดับแสงสุริยา"
ท้องฟ้ายามพระอาทิตย์อัศดงและหมู่มวลเมฆคิวมูโลนิมบัส(Cumulonimbus) เมฆฝนฟ้าคะนองสีดำทมึนที่แผ่ครึ้มเป็นฉากหลังของโบราณสถานทำให้บรรยากาศยามเย็นจึงดูหม่นมัว ซึมเซา จิตประหวัดถึงวาระสุดท้ายของ “สุโขทัย” ก่อนสิ้นสุดความเป็นราชธานี จนปราสาทราชวัง วัดวาอารามได้ถูกทิ้งร้างในกาลต่อมา แต่อดีตแห่งการสูญสิ้นกรุงสุโขทัยมักไม่ค่อยมีใครพูดถึง บางคนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเหตุใดสุโขทัยถึงล่มสลาย พร่าเลือนเหมือนดั่งความมืดที่กำลังย่างกรายเข้ามาบดบังโบราณสถานต่าง ๆ
ย้อนไปในรัชสมัยของพระเจ้าอู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ยกทัพมายึดเมืองสองแคว(พิษณุโลก) ไว้ได้ พระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัยต้องถวายบรรณาการเพื่อขอเมืองคืน เป็นเหตุให้พระองค์ต้องเสด็จไปประทับอยู่ที่นั่น และโปรดให้พระขนิษฐาของพระองค์คือพระมหาเทวี ปกครองเมืองสุโขทัยแทน ขณะที่พระองค์ทรงผนวชได้ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๒ พระราชโอรสของพระองค์ ใช้เมืองสองแควเป็นราชธานีอีกแห่งหนึ่ง ทำให้ศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักรสุโขทัย ต้องย้ายจากสุโขทัยไปพิษณุโลก เนื่องจากต้องการสกัดกั้นอำนาจของกรุงศรีอยุธยา เมืองสุโขทัยจึงค่อย ๆ ลดความสำคัญลง จนกระทั่งพุทธศักราช ๑๙๘๑ เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)เสด็จสวรรคต กรุงสุโขทัยและเมืองน้อยใหญ่ในขอบขัณฑสีมาของสุโขทัยทั้งหมดได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา เพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ส่งโอรสที่สมภพจาก พระชายาราชวงศ์สุโขทัยมาครองเมืองพิษณุโลก ในตำแหน่งพระราเมศวร อันเป็นตำแหน่ง พระมหาอุปราช ปกครองกลุ่มเมืองเหนือทั้งมวล โดยขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา นับเป็นการสิ้นสุด “ราชอาณาจักรสุโขทัย” อย่างสิ้นเชิง
เมืองสุโขทัยยังคงมีประชาชนอาศัยอยู่สืบมา จวบจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าที่เมืองแครง ในปีพุทธศักราช. ๒๑๒๗ พระองค์ได้โปรดให้กวาดต้อนคนจากหัวเมืองเหนือลงไปไว้เมืองอยุธยาทั้งหมด ทำให้สุโขทัยต้องกลายเป็นเมืองที่อ่อนกำลงลง เป็นผลให้บ้านเมืองปราสาทราชวังวัดวาอารามถูกทิ้งร้าง เหลือเพียงซากปรักหักพังไว้เป็นอนุสรณ์
ฉับพลันก็เกิดปรากฎการณ์ของรังสีครีพัสคิวลาร์และเงาเมฆ แถบแสงสีทองของดวงอาทิตย์ก่อนลับขอบฟ้าและเงาที่ทอทาบราวจะพุ่งขึ้นออกจากเมฆฝนเหนือวัดมหาธาตุ หรือท้องฟ้าพยายามจะสื่อกับเราว่าอดีตกาลแห่งราชอาณาจักรที่ล่มสลาย ที่แม้วันเวลาจะผ่านไปหลายร้อยปีแต่ความเป็นคนสุโขทัยยังคงงดงามและฝังรากลึก ไม่เสื่อมสลายตามกาลเวลาจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง ความรักและความศรัทธาในความเป็นสุโขทัยยังคงกระจ่างชัดผ่านทางชาติพันธุ์ ภาษา การแต่งกาย ขนบธรรมเนียม ศิลปวัฒนธรรม
วิถีชีวิตที่ยังคงศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาการได้เห็นพิธีกรรมสาบานต่อหน้าพระสงฆ์ และพระปฏิมาของชาวชุมชนวัดเชิงคีรีที่ทำให้คนเดินทางอย่างพวกเราถึงกับขนลุก ความศรัทธาในพระพุทธศาสนายังคงเปี่ยมล้นไม่ต่างจากบรรพชนในอดีต แววตาไร้เดียงสาของเด็กชายในชุมชนเชิงคีรี ที่ระยับไหวยามเล่าเรื่องของหมู่บ้านที่ผูกพันมาตั้งแต่เกิดด้วยสำเนียงสุโขทัยบ่งบอกถึงความความรัก ความผูกพัน ความศรัทธา และความภาคภูมิใจต่อความเป็นคนสุโขทัยได้อย่างชัดเจน วิถีชีวิตที่ผสมผสานระหว่างอดีตและปัจจุบันงดงามเสมอในทุกพื้นที่ของเมืองสุโขทัย
"แม้ว่าดวงสุริยาจะลาลับ แต่จะกลับคืนมาเมื่อวันใหม่
เหมือนวิถีความเป็นสุโขทัย ยังก้าวไปเฉกเช่นแสงแห่งตะวัน"