สาวไส้ พฤติกรรม "โตมาแบบไหน ถึงได้สะตอเข้าเส้น"

ยอมรับเสียเถอะว่าเราอยู่ปะปนกับคนหลายประเภท บ้างก็มาแบบแรงๆตรงๆ แต่โคตรจริงใจ บ้างก็ใสๆท่าทางพิษภัยไม่มี แค่นั่นล่ะ งูพิษ หรือไม่ก็ต่อหน้าพูดอีกอย่างลับหลังพูดอีกอย่าง แตกต่างกันไป สังคมทุกวันนี้มันอยู่ยากนะว่าม่ะ ยิ่งถ้าคุณต้องติดต่อกับคนมากหน้าหลายตาด้วยแล้ว ต้องทำใจรับมือ ฝึกเคี่ยวเล็บไว้เลย เลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะต้องเจอ บางทีเราแยกแยะไม่ได้ทุกคนหรอกว่าใครมาไม้ไหนกันแน่ ถูกไหม...
น่าคิดเหมือนกันนะว่า พฤติกรรมที่ควบคุมไม่ได้ของมนุษย์เรา มันต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ที่หล่อหลอมให้มีพฤติกรรมแบบนั้นมีความคิดที่จัดอยู่ในประเภทพวกปากอย่างใจอย่างแบบนี้ พฤติกรรมหรือคำพูดที่ไม่สอดคล้องกับความคิด เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครรู้บ้าง ลองมาวิเคราะห์คนพวกนี้ให้ถึงแก่นแกนสมอง ว่าเอาตรรกะที่ไหนมาคิด ถึงได้โตกันมาแบบนี้
คุณหมอธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง, คณะแพทย์ศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำนิยามของอาการ ยิ้ม หรือ Confabulation ที่ว่านี้ คือ กระบวนการของความผิดปกติทางด้านความจำ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจนเกิดความเคยชินและกลายเป็นนิสัยโดยลบล้างความจำตนเองได้เป็นส่วนๆ โดยเฉพาะส่วนที่ได้เคยกระทำ, เคยพูดไว้แล้ว, และสามารถยิ้มปฏิเสธสิ้นเชิงในทุกกรณี
...ในกรณีเช่นนั้น, ก็จะมีการลบความทรงจำเป็นช่วง ๆ และจะมีการสร้างรูปแบบความทรงจำแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนขึ้นมา...อาจจะเป็นจินตนาการหรือจินตภาพที่คิดว่าเคยทำหรือเคยพูดอะไรมาก่อน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ในชีวิตของคนคนนั้น... น่ากลัวตรงที่ว่าเจ้าตัวเชื่ออย่างจริงใจว่าไม่เคยพูดไม่เคยทำอย่างนั้นจริง ๆ เสียด้วย*
พฤติกรรมแบบนี้เป็นการสร้างโลกเสมือนจริง ให้สมองเกิดภาพมโน หากทำซ้ำๆ เรื่อยๆ สมองจะจดจำ ทำให้กลายเป็นคนใหม่ แยกไม่ออกแบบไหนโลกความจริง หรือแบบไหนโลกสมมุติ รุนแรงอาจถึงขั้น หลุดโลกได้เลยก็มีให้เห็นอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์
ในเมื่อคนยิ้ม อยู่รอบตัวเรา จะสังเกตได้อย่างไรว่า เพื่อนร่วมงานคุณ กำลังตีสองหน้ากับเราอยู่หรือเปล่า ลักษณะง่ายๆ คือ
1. พูดจาดี,ตั้งใจทำงานเฉพาะเวลาอยู่ต่อหน้าเจ้านาย
2. ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานยิ้มแย้มพูดคุยดี แต่คล้อยหลังกลับพูดถึงในทางลบ
3. งานไหนที่ทำแล้วได้หน้า หรือเจ้านายเป็นแม่งาน มักจะรีบอาสา
4. ชอบเรียกร้องความสนใจ พูดเอาดีเข้าตัว
5. มักพูดหรือมีพฤติกรรมออกนอกหน้า เวอร์วังอลังการ แต่ทำไม่ได้จริง
นักวิทยาศาสตร์แห่ง University College London ประเทศอังกฤษ เคยทำการศึกษาถึงพฤติกรรมโกหกยิ้ม ว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสมองอย่างไร  ด้วยวิธีง่ายๆ โดยให้เหล่าอาสาสมัคร เล่นเกม คือ เอาโถใบหนึ่งใส่เหรียญให้เต็ม แล้วให้คนหนึ่งพยายามสื่อสารและบอกเพื่อนร่วมทีมของเขาว่าในโถมีเหรียญอยู่กี่เหรียญ ซึ่งรางวัลที่ได้นั้นก็จะแตกต่างกันออกไป หากร่วมมือกันก็จะได้รางวัลที่ดีกว่า แต่ในบางครั้ง ถ้าคนหนึ่งเลือกที่จะโกหกเพื่อนเพื่อที่ตนจะได้รางวัลใหญ่ไปครอบครองคนเดียว ขณะที่กระบวนการและเกมดำเนินไปเรื่อยๆ เหล่านักวิจัยก็จะใช้เครื่องสแกนสมอง fMRI เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสมองของคนแต่ละคน ขณะที่โกหกนั้น สมองในส่วนของ Amygdala จะเรืองแสงขึ้นบนเครื่องสแกน นั่นหมายถึงในสมองส่วนนี้ ราวกับเป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์ทั้งหมด มันจะค่อยๆเปล่งแสงในเครื่องสแกนเมื่อเราเกิดความรู้สึกที่ตึงเครียด เช่นเวลารู้ข่าวร้ายต่างๆ หรือเรื่องราวที่ประหลาดใจจนมากระทบความรู้สึก นั่นหมายถึง กำลังเล่าความเท็จเป็นครั้งแรกอยู่ หากแสงนั้นค่อยๆลดลงเรื่อยๆ ก็หมายถึง ความตึงเครียดเริ่มคลายไป สมองเริ่มชินกับความคิดโกหกยิ้มแล้ว หากกลับมาเล่นเกมนี้อีกครั้งแล้วไม่มีแสงใดๆ นั่นหมายถึง คนคนนั้นกลายเป็นคนโกหกปลิ้นปล้อนจนเคยชินไปเสียแล้ว**
ในเมื่อเราไม่สามารถย้ายแม่น้ำใหญ่ที่ขวางเส้นทางสู่ความสำเร็จได้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันหรือเดินผ่านสายน้ำเชี่ยวกราดให้ได้ ด้วยการปรับกระบวนการทางความคิดใหม่ จูนกลไกทางสมองเสียใหม่
มีข้อเขียนหนึ่งในเว็บไซต์ www.businessinsider.com  เขียนไว้น่าสนใจมาก เกี่ยวกับวิธีการรับมือคนที่มีพฤติกรรมแย่ๆ 10 Ways Smart People Handle Negative People ที่พอจะสรุปได้คือ
1. รู้เท่าทันการทำงานของสมองและจัดการกับอารมณ์ตัวเอง เพราะเราไม่อาจเปลี่ยนความคิดลบของคนบางคนได้ เราจงรับฟังด้วยสมอง กลั่นกรองถึงเหตุและผล
2. กำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ เมื่อทำตามข้อ 1. ได้แล้ว ก็อย่าไปพึ่งแสดงออกว่าเราไม่พอใจคนคนนั้นมากนัก เพียงแค่ทักทายพูดคุยธรรมดาแต่ไม่สนิทคลุกคลีด้วย เพราะยังไงซะ ก็เป็นเพื่อนร่วมออฟฟิศเดียวกัน
3. ฝึกสมองส่วนกระตุ้นความคิดบวกอยู่เสมอ หมั่นกระตุ้นการหลั่งของสารเคมีในสมองให้ออกมา โดยเฉพาะ Dopamine ที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยส่งสัญญาณภายในสมอง หรือสารคิดบวก ที่จะทำให้เรามีความสุขและพึงพอใจเมื่อต้องพบปะผู้คน
4. ไม่นำความคิดลบมาใส่ใจ ทำหูทวนลม บางครั้งเราอาจเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรับฟังความโกหกยิ้มของใครบางคนทั้งๆที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง ในเมื่อเรามีเกราะป้องกันดีพอแล้ว ก็ทำหูทวนลมเข้าหูซ้ายแล้วปล่อยออกหูขวาไปเป็นดีที่สุด
5. เลิกงานกลับบ้านนอน การพักผ่อนอย่างเพียงพอ อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ออกไปเที่ยวบ้าง จะช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่ง เป็นการชาร์จพลังสมอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ไปในตัว เอาไว้รับมือกับสถานการณ์แย่ๆไง
เรื่องความคิดของคน ห้ามไม่ได้จริงๆ แต่เราสามารถที่จะเลือกรับมันมาใส่ใจหรือปล่อยผ่านได้ หากคิดว่าพฤติกรรมหรือคำพูดนั้นๆ จะเป็นขยะสมอง และมันอาจเป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หมั่นฝึกกลไกทางสมองไว้รับมือกับนิสัยแย่ๆของเพื่อนร่วมงานไว้ก็ไม่เสียหลายนะ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ยังไงๆ เราเลือกเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะอยู่กับคนโกหก ปลิ้นปล้อน กระล่อน “ยิ้ม” ได้ อย่างสันติ ไม่ถูกมองว่าเป็นพวกลิ้นสองแฉกไปอีกคน .....
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่