#EthiopiaDiary Part 3.1 โบสถ์สลักหินในฮอว์เซ็น (Hawzen)

DAY 6


13 พฤศจิกายน 2018

เล่าเรื่องด้วย 40 ภาพ: Abuna Yemata Guh โบสถ์ที่เข้าถึงยากที่สุดในโลก

1.

วันนี้ต้องถอดวิญญาณภริยาท่านผู้ว่าแล้วทรงลูกสาวกำนันเพราะต้องกลายร่างเป็นชะนีน้อยหอยสังข์ปีนเขาเข้าชมโบสถ์ที่ว่ากันว่าสวยประหารคือเข้าถึงยากและอันตรายที่สุดในไตรภูมิ ตัวโบสถ์อยู่ในเทือกเขาเจรัลต้า (Gheralta) ห่างจากเมืองฮอว์เซ็นประมาณ 5 กิโลเมตร

จากรูปให้มองที่แท่งซ้ายสุดที่สูงเด่นเป็นสง่าและมีแท่งที่สองและสามเตี้ยๆเสมอกัน แล้วแท่งที่สี่ก็โผล่ขึ้นมาแข่งกับแท่งแรก โดยรวมแล้วดูเหมือนสัญลักษณ์ I love you ตัวโบสถ์ตั้งอยู่ที่ขอบของแท่งที่สี่หันหน้าเข้าและอยู่ในระนาบเดียวกับส่วนสูงสุดของแท่งที่สาม นั่นละค่ะจุดหมายปลายทาง

2.

ช่วงแรกเป็นทางลาดเอียงเหมือนทางเลื่อนตามห้างโลตัสฉะนั้นจึงยังสามารถเดินสองขาแบบปุถุชนคนธรรมดาได้ ระหว่างทางมีคุณลุงมานั่งผึ่งแดดให้เห็นเป็นอัศจรรย์

3.

ก่อนเข้าสู่ช่วงที่สองจะมีกระทาชายนายหนึ่งเก็บเงินค่าเยี่ยมชม ราคาค่างวดตกที่ 150 หน่วยซึ่งเท่ากับค่าเข้าชมทุกโบสถ์ในภูมิภาคทิเกรย์

4.

ช่วงที่สองทางเดินเริ่มชันขึ้นแต่ยังพอทรงตัวได้ค่าที่ลักษณะทางยังเป็นนาขั้นบันไดเหมือนมีคนมาแผ้วถางไว้ เอ๊ะ! หรือมันคือปาฏิหาริย์

5.

ช่วงนี้ยังพอมีแรงกำซาบวิวทิวทัศน์เบื้องล่าง สวยสง่าสมคำร่ำลือ

6.

ตอนปลายของช่วงที่สองเริ่มชันขึ้นอย่างมีนัยยะ คุณไกด์เอาเป้ใส่กล้องไปสะพายส่วนไฮไลก็หิ้วกล้องให้ ทั้งสองนางปีนขึ้นปีนลงมาเป็นร้อยครั้งจนชำนิชำนาญอุปรมาเหมือนมีฮีโมโกลบินคนละชนิด นางถึงไม่หอบเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย

ตรงรอยต่อระหว่างช่วงที่สองกับสามมีบริการเสริมจากเอธิโอเปียนที่สร้างบ้านแปงเมืองอยู่บริเวณนั้น โดยพวกนางจะช่วยเคลียร์ต้นทางและชี้ทางสว่างให้

7.

นักบวชประจำโบสถ์มานั่งรอที่จุดเริ่มช่วงที่สาม ท่านดูชิลมาก

8.

นี่คือทางที่เราต้องปีนขึ้นไป สวยๆ ตอนท้ายของช่วงที่สามต้องเดินบนทางแคบๆไต่สันเขาเหมือนนักยิมนาสติกจากยูเครนกำลังเล่นคานทรงตัว

9.

เอาหละ ช่วงที่สี่เป็นช่วงที่น่ากลัวที่สุดคือเป็นหน้าผาสูงชันแบบ 90 องศา ถามไกด์ว่าเคยมีใครตายไหมคะ? นางบอกว่าไม่มี (หรือนางโกหก)

10.

จุดนี้จะมี full service ของคณะเอธิโอเปียน 5 คนที่คอยช่วยเราตอนช่วงที่สาม โดยนางขอค่าแรงคนละ 200 หน่วย วิธีการก็คือจะมีหนึ่งคนคอยกำกับจังหวะ คนที่สองปีนนำขึ้นไปก่อนคอยปัดกวาดเช็ดตรงส่วนเว้าของผาหินไม่ให้ลื่น คนที่สามคอยช่วยเราจากด้านบน คนที่สี่คอยดันเราจากด้านล่าง ส่วนคนที่ห้าไม่รู้มีหน้าที่อะไร ตอนนั้นตัดสินใจไม่ยาก ได้ฟีลเหมือนคุณเด่นจันทร์ยัดเงินให้ยามตอนพยายามจะเปิดประตูห้องเรยา

11.

อุ๊บส์! คุณพระปีนขึ้นไปเร็วมาก คงสะสมพลังวัตรมานานเนิ่น ท่านอายุ 64 ปีแต่ปีนขึ้นปีนลงทุกวันทั้งยามตะวันขึ้นและยามวิกาล

12.

ช่วงที่ห้าไม่น่ากลัวเหมือนช่วงที่สี่ ถึงแม้ทางจะชันแต่ยังใช้สี่ระยางค์ป่ายปีนได้

13.

แวะพักถ่ายรูปตรงช่วงที่ห้า

14.

คุณพระเดินตัวปลิว

15.

และแล้วก็ผ่านช่วงที่ห้ามานั่งอยู่บนเขาแท่งที่สามจากรูปแรก คุณพระนั่งชมวิวทิวทัศน์อย่างสบายใจ

16.

เห็นส่วนเว้าไหมคะ นั่นคือทางเดินเข้าโบสถ์ ด้านหนึ่งเป็นหินด้านหนึ่งเป็นเหว เขาว่าสูงประมาณ 200 เมตร แต่ตอนเดินหันหน้าเข้าหินตลอด

17.

ตรงเขาแท่งที่สามทางด้านหลังมีสุสานเห็นกระโหลกมนุษย์ตั้งเป็นประธานดูสวยงาม

18.

มุมจากยอดแท่งที่สาม

19.

ด้านหลังแท่งที่สามถูกคว้านเอาเนื้อในออกแล้วใส่ประตูลงกลอน ไม่ได้ถามว่าเป็นห้องอะไรเพราะตอนนั้นกำลังทำอสุภะกรรมฐานอยู่

20.

ตรงแท่งที่สามส่วนที่หันหน้าเข้าทางเดินโบสถ์มีห้องคว้านลึกเข้าไปเป็นที่ประกอบพิธีศีลจุ่ม รูปนี้ถ่ายจากหน้าต่างหิน

21.

ลานหย่อนใจหน้าห้องทำพิธีศีลจุ่ม

22.

ช่วงสุดท้ายคือเดินตามทางกว้างประมาณ 2 ฟุตริมผาไปยังตัวโบสถ์ ทางเดินยาวประมาณ 10 เมตร เราเดินแบบปูคือหันหน้าเข้าผาหินเอาขาซ้ายก้าวไปก่อนและตามด้วยขาขวาเหมือนเพลงปูนาขาเกของคัทรียา มารศรี ตอนแรกนึกว่าจะน่ากลัวเอาเข้าจริงช่วงนี้ธรรมดามาก เอธิโอเปียนที่ขึ้นมาด้วยเดินเหมือนเดินรันเวย์แฟชั่นระดับโลก

23.

ถึงแล้ว ไชโย ใช้เวลาเดินขึ้นมาถึงบริเวณที่พักรับรองแขกประมาณ 90 นาที คุณไกด์และไฮไลก้มลงจูบประตู เป็นถาพที่น่าประทับใจยิ่ง

24.

ภายในโบสถ์กว้างขวางมาก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มไปหมด สวยที่สุด ควาค่าแก่มาเยี่ยมชม

25.

คุณพระนั่งพักบนเก้าอี้ไม้

26.

คุณพระเปิดไบเบิ้ลให้ดู ตัวหนังสือเป็นอักขระกี๊ซ (Ge’ez) เป็นอักขระโบราณที่วิวัฒนาการเป็นอักขระอัมฮาริคในปัจจุบัน

27.

รูป Twelve Apostles เรานับได้เก้า อีกสามคนอยู่ตรงคาน

28.

รูปพระแม่มารีและจีซัส

29.

คนที่ขี่ม้าคืออะบูนาเยมาต้าเกอะ (Abuna Yemata Guh) คนที่สร้างโบสถ์แห่งนี้ในสมัยอักสัมคือก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 10 (แต่ไม่รู้อายุที่แท้จริง) ตำแหน่งอะบูนาคือตำแหน่งพระสังฆราชของ Ethiopian Tawahedo Orthodox Church (เดี๋ยวเขียนเล่าให้อ่านวันอื่น วันนี้เหนื่อยมาก)

30.

ลายพรรณพฤกษาบนคานโค้ง

31.

ภาพจิตรกรรมฝาผนังและที่วางไบเบิ้ล

32.

ผ้าม่านกั้นส่วนที่เป็น Sanctum Sanctorum เก็บ Ark of Covenant จำลอง ของจริงอยู่ที่อักสัม (ชาวคริสต์เอธิโอเปียเชื่ออย่างนั้น) เดี๋ยวค่อยเขียนเล่า

33.

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง

34.

วิวจากประตูโบสถ์ คือต้องคลานออกไปเพราะไม่กล้าเดิน ต้องนอนคว่ำถ่าย สูงมาก

35.

ข้างซ้ายเป็นผนังของห้องรับรองแขก ที่ตีนผนังมี stripe เล็กๆ นั่นคือทางเดินเข้าโบสถ์ ส่วนถัดจากทางเดินคือเหว

36.

มุมจากจุดเริ่มของทางเดินเข้าโบสถ์ ตรงนี้มีลานกว้างพอให้นั่งถ่ายรูปได้ หุบเหวเบื้องหน้าลึกมาก

37.

รูปมุมกว้างของภูมิประเทศเบื้องหน้าถ่ายจุดเดียวกับรูปที่ 36

38.

ผาหินช่วงที่สี่ ถ่ายมุมบน คือแบบเห็นแล้วถอดใจ แต่จะบอกว่าตอนลงง่ายกว่าตอนขึ้นเยอะ

39.

วิวระหว่างทางตอนเดินลง

40.

วิวระหว่างทางตอนเดินลง

.

ของแถม

รวมรูปนกในฮอว์เซ็น

นก, นกบวกนก, และนกบวกนกบวกนก




ตามติดชีวิตจุฑามาศ นกตัวเล็กสีเหลืองที่ยอมนิ่งให้เราถ่ายรูป (จุฑามาศคือชื่อแรกที่แว่บเข้ามาในซีรีบรัม)







หะแรกคิดว่าเป็นจุฑามาศแต่นางมีเลื่อมระยับคล้ายปีกแมลงทับที่หลัง ขอเรียกว่าแขไขดวงแล้วกัน

.

ป.ล. เดินทางมาถึง Part 3.1 ละ แต่เราฝากลิงค์ Parts ก่อนๆไม่เป็น ขอเวลาไปฝึกฝนแป๊บ หากสนใจลองหาอ่านกันดูนะเจ้าคะ

...

ภาคผนวก ก

ตอนขึ้นเขาชมโบสถ์ Abuna Yemata Guh ได้ตั้งจิตอธิษฐานว่าหากรอดมาได้จะแต่งสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ถวายทวยเทพ เนื่องจากโลกนี้มีเทพมากมายเราจึงเลือกพระรัตนตรัยและพระตรีมูรติเป็นตัวแทนเพราะคำเรียกเข้ากับฉันทลักษณ์มากที่สุด

จุดเทียนบูชาด้วย เกร๋ๆ


@สัททุลวิกกีฬิตฉันท์

น้อมกายจิตวจีชุลีพระทศพล ผู้มีพระภาคผล
ประภัสส์

อีกธรรมบทพุทธพจน์ประกาศอริยสัจ ซึ้งซาบตลอดอรรถ
กถา

พร้อมคุณสงฆ์บริษัทพิสุทธิ์คุณคณา เนื้อบุญพระศาสดา
พิไล

จุ่งวันทาอิศเรศชเยศกิรติไกร จอมเมรุมาศไท้
สถิต

สรวมชีพนบศิระนอบพระบาทวิษณุชิต มารขลาดขยาดฤท-
ธิรงค์

โอมโสฬสภูมิเทิดสหัสสบดีองค์ พรหมานุพรหมพงศ์
พิชาญ

แผ้วผลาญล่าอุปสรรคประหารประหัตพาล ภัยเภทบ่อยู่นาน
ประลัย

ให้ข้าผ่านปริเวทประสาทอุตมชัย แคล้วคลาดประกาศให้
อุกฤษฏ์

สรวมภพน้อมมนข้าประนามมหุธิฤทธิ์ ขอท่านภิเษกสิทธิ์
นิรันดร์

🙏❤️🙏

ป.ล.

1. สามบทแรกแต่งเมื่อไปเที่ยวแวร์ซายส์เมื่อเดือนสิงหาคมมที่ผ่านมา เป็นการเริ่มอาเศียรวาทกล่าวบูชาพระรัตนตรัยในคำประพันธ์ประเภทคำฉันท์ ตอนนั้นแต่งให้เป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14

To be continued
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่