เกิดอะไรผิดปกติกับระบบยุติธรรมในคดีนี้หรือครับ

คดีนี้ศาลจังหวัดสมุทรปราการตัดสินลงโทษผู้ต้องหา 3 คนๆ ละ 4 ปี ฐานลักลอบขนนอแรดอันเป็นสัตว์สงวนและใกล้สูญพันธุ์จากเอธิโอเปียเข้าไทย หนึ่งในจำเลยเป็นอดีตรองอัยการจังหวัด

พอตัดสินเสร็จ จำเลยขอประกันตัว ศาลก็ยอมให้ประกันโดยให้วางเงิน 4 แสนบาทต่อคน เพื่อรอการอุทธรณ์

ยอมรับว่าอึ้งกับการตัดสินครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องจำคุกซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่การให้ประกันตัวโดยวางเงินค้ำประกันเพียง 4 แสน ในขณะที่ราคาประเมินของนอแรดที่นำเข้าอยู่ที่เกือบ 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ จำเลย 2 คนได้พยายามหนีก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมตัวได้ ส่วนอีกคนเป็นข้าราชการในระบบยุติธรรม ซึ่งนอกจากสมคบคิดกับจำเลยอีก 2 คนแล้ว ยังพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศุลกากรอีกด้วย กรณีเช่นนี้สมควรได้รับโทษมากกว่าบุคคลทั่วไป เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้น่าที่จะให้จำเลยทั้งสามถูกคุมขังระหว่างดำเนินการอุทธรณ์ เพราะการปล่อยให้ประกันตัวออกไป ย่อมเปิดโอกาสให้หลบหนีหรือกระทำการอื่นๆ ที่ไปยุ่งเหยิงกับคดีได้

นอกเหนือจากนี้ หนึ่งในจำเลยที่เป็นผู้หญิงยังดูเหมือนเคยต้องดคีที่ทำให้ถูกส่งจำคุกโดยศาลอุดรธานีให้จำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท โดยโทษจำให้ลงอาญาไว้ 3 ปี แต่ศาลสมุทรปราการก็ไม่นับโทษนี้เข้าไปกับคดีนี้ด้วย

หมายเหตุ - ข้อเขียนนี้เป็นความเห็นส่วนตัวที่แสดงโดยสุจริตใจ มิได้มีเจตนาหมิ่นคำตัดสินของศาลแต่อย่างใด
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1850415

เนื้อหาของข่าวตามข้างล่างนี้ จากเวปของข่าวสด วันที่ 20 พ.ย. 2561

สั่งจำคุกอ่วม 2สาวไทย-รองอัยการ ลอบขนนอแรด 49 ล้าน เข้าไทย

ขนนอแรดเข้าไทย / ศาลจังหวัดสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก 4 ปี 2สาวพลเรือน-อดีตอัยการ สคช.สระบุรี ขนนอแรดเกือบ 50 โล จากเอธิโอเปีย ผิดนำเข้าของต้องห้ามเลี่ยงศุลกากร ผ่านสุวรรณภูมิ ปี 60 ยื่นประกันคนละ 2 แสน รอสู้คดีชั้นอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาคดีลักลอบขนนอแรด หมายเลขดำ อ.3682/2560 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางฐิติรัตน์ อาราอิ, น.ส.กานต์สินี อนุตรานุศาสตร์ และนายวรภาส หรือพ.ต.ต.วรภาส บุญศรี อดีตรองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัดสระบุรี เป็นจำเลยที่ 1-3

ในความผิดฐานร่วมกันพา หรือนำของต้องจำกัดหรือของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฯ, ร่วมกันนำเข้ามาในาชอาณาจักรซึ่งซสกสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันนำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร

โดยกรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 10 มี.ค.60 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำด่านตรวจอาคารผู้โดยสาร ตรวจค้นกระเป๋าต้องสงสัยพบนอแรด 21 นอ หนัก 49.4 กิโลกรัม มูลค่า 49,400,000 บาท เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่จำเลยทั้ง 3 อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

ซึ่งพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งให้อัยการจังหวัดสมุทรปราการสั่งคดี โดยอัยการสั่งฟ้องทั้ง 3 ตามความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.60

โดย “ศาลจังหวัดสมุทรปราการ” พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้ง 3 มีพฤติการณ์กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 7, พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 มาตรา 31, 68 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพา หรือนำของต้องจำกัด หรือของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 4 ปี โดยไม่รอการลงโทษ

ส่วนที่อัยการโจทก์ ขอให้นับโทษของ “นางฐิติรัตน์” จำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดง 3380/2560 ของศาลจังหวัดอุดรธานีนั้น เมื่อปรากฏความว่า ในคดีดังกล่าวศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาทนางฐิติรัตน์ไว้ โดยโทษจำคุกนั้นศาลรอการลงโทษไว้กำหนด 3 ปี ภายหลังที่จำเลยกระทำผิดคดีที่ฟ้องนี้ จึงไม่อาจนับโทษต่อ และไม่อาจบวกโทษคดีดังกล่าวกับคดีในวันนี้ได้ด้วย

อย่างไรก็ดี ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1-3 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์สู้คดี โดยศาลพิจารณาแล้วก็อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 3 ระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเกิดเหตุวันที่ 16 มี.ค.60 อัยการสูงสุดขณะนั้นได้ตั้ง “นายประณต ผ่องแผ้ว” ผู้ตรวจการอัยการ ขณะนั้นเป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งได้สอบข้อเท็จจริงเสร็จพร้อมส่งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดว่า พ.ต.ต.วรภาส มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะกระทำการผิดวินัย และสมควรตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย

โดยระหว่าง พ.ต.ต.วรภาส ก็ถูกย้ายมาเป็นอัยการประจำสำนักงานคดีแพ่งกรุงเทพใต้ 3 ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.60 ซึ่งภายหลังก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยและสั่งพักราชการ พ.ต.ต.วรภาสไว้ก่อนจนฟ้องคดีดังกล่าว

โดยหลังจากนี้มีคดีมีคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายคณะกรรมการอัยการ หรือก.อ.ที่ดูแลการลงโทษอัยการ จะขอคัดคำพิพากษาคดีที่ลงโทษอัยการดังกล่าว มาพิจารณาถึงบทลงโทษทางวินัยต่อไปหรือไม่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่