10 หนังไซไฟทุนต่ำชั้นดี (Low Budget Sci-Fi) แห่งศตวรรษที่ 21


'โลว์บัดเจ็ทไซไฟ' เป็นหนังที่นำเสนอเเง่มุมทางวิทยาศาสตร์ วิทยาการ หรือเทคโนโลยี โดยอิงเเนวคิดและทฤษฎีที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง หรือบางเรื่องก็ถูกปรุงแต่งจากจินตนาการที่อ้างอิงกับแนวคิดที่ยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ได้ในโลกยุคปัจจุบัน แต่ที่สำคัญในลิสต์นี้เป็น 'หนังโลว์บัดเจ็ท' ที่ส่วนใหญ่ถูกรังสรรค์จากทุนสร้างเพียง 5-10 ล้านเหรียญ หรือบางเรื่องก็ต่ำกว่านั้นมากอย่าง Primer ที่ใช้ทุนสร้างเเค่ 7,000 เหรียญ!!

ส่วนหนังที่อยากจะเชียร์เพิ่มเติมนอกจากสิบเรื่องในลิสต์ อาทิเช่น Coherence (2013), Attack the Block (2011), Cypher (2002), Extracted (2012), Project Almanac (2015), Autómata (2014)
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.

10. The Signal (2014)

หนังไซไฟกระแสตอบรับดีเยี่ยมจากเทศกาลหนังซันแดนซ์ ซึ่งมาในส่วนผสมของ The Blair Witch Project, District 9 และ Dark City กับรูปแบบการถ่ายทำของหนังอินดี้ที่หลายซีนใช้กล้องแทนสายตาคนดูเพื่อขับความกดดัน สั่นผวา ขณะที่เนื้อหายังพูดถึงการมาเยือนของกลุ่มคนนอกโลกที่โยงใยกับการทดลองปริศนา นับเป็นส่วนผสมที่น่าสนใจและหนังก็ทำออกมาได้น่าติดตาม แม้การปูเรื่องในช่วงต้นอาจจะดูยืดยาดไปบ้างก็ตาม โดยปมเรื่องพูดถึงสามเพื่อนพ้องที่ออกเดินทางเพื่อค้นหาสัญญาณที่ได้รับจากแฮกเกอร์รายหนึ่ง ก่อนหนังจะโฟกัสไปยังสถานที่ลับที่พวกเขาถูกจับตัวมาเพื่อทำการทดลองบางอย่าง ควบคู่กับความจริงทั้งหมดที่ค่อยๆถูกเปิดออกอย่างแยบคาย








9. Monsters (2010)

หนังไซไฟที่เซ็ทธีมของโลกยุคโพสต์อะพอคคาลิปส์ติคได้อย่างสมจริงด้วยทุนสร้างเพียง 5 แสนเหรียญ โดยวางปมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตแปลกประหลาดที่ได้รุกรานและแพร่กระจายเชื้อไปกว่าครึ่งโลก ซึ่งมีสหรัฐและเม็กซิโกที่เป็นผู้นำในการหาทางรับมือกับเชื้อดังกล่าว ก่อนจะโฟกัสไปยัง 'เอนดรูว์' นักข่าวหนุ่มที่ได้รับมอบหมายให้พา 'ซาเเมนธา' ลูกสาวของหัวหน้ากลับไปสหรัฐอย่างปลอดภัย โดยจะใช้ปมสัตว์ประหลาดที่ในเรื่องปรากฏให้เห็นเพียง 4-5 ครั้ง ถูกอธิบายรายละเอียดผ่านข่าวโทรทัศน์และคำบอกเล่าตัวละคร เป็นส่วนเสริมในการสร้างสถานการณ์เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์พระนางตลอดการเดินทางฝ่าเขตแดนต้องห้ามที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพังและการจู่โจมจากสิ่งมีชีวิตสุดอันตราย








8. ARQ (2016)

หนึ่งในเน็ตฟลิกซ์ออริจนอลมูฟวี่ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพอย่างแท้จริง กับหนังไซไฟทุนต่ำที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านหนึ่งโลเคชั่น โดยวางปมให้ 'เรนต็อน' ตัวเอกที่ตื่นขึ้นมาพร้อมกับกลุ่มโจรที่กำลังบุกรุกบ้านของตน ซึ่งตัวบทผสมผสานไอเดียลูปเวลาเพื่อสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าทึ่ง และการวนลูปใหม่ในแต่ละครั้งจะมีรายละเอียดและลูกเล่นในการเล่าเรื่องที่ต่างกันออกไป ขณะเดียวกันตัวละครทั้งสองฝั่งจะมีพัฒนาการทางความคิดอยู่ตลอดเวลา เพราะด้วยเงื่อนไขเกี่ยวกับความทรงจำที่ไม่สูญหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของลูปใหม่ๆ ทั้งนี้ปมแท้จริงของเรื่องคือการไขความลับการสร้างลูปเวลาโดยเครื่องอาร์คที่นำไปสู่จุดหักเหสำคัญในท้ายเรื่อง








7. Chronicle (2012)

การถ่ายทำแบบฟาวด์ฟุตเทจที่มองผ่านกล้องวิดีโอ สร้างภาพสั่นไหว ขับอารมณ์ดิบๆ มีการพลิกแพลงมุมกล้องตามสถานการณ์ เรียกว่าเป็นการยกระดับและสร้างความต่างให้กับหนังเรื่องนี้ ภายใต้พล็อตอันเรียบง่ายแบบหนังไฮสคูลที่จะพาคนดูไปสำรวจตัวละคร 'แอนดรูว์' หนุ่มลูสเซอร์ขี้อาย พูดน้อย และมักเป็นเป้าในการกลั่นแกล้งจากเพื่อนที่เกเร อีกทั้งมักถูกพ่อขี้เมาของตัวเองทุบตีทำร้ายร่างกายอยู่เป็นประจำ นั่นอาจเป็นที่มาของลักษณะนิสัยชอบเก็บตัวและไม่สู้คน กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนที่เขาได้รับพลังแปลกประหลาดที่จะทำให้คนดูได้เห็นอีกด้านหนึ่งของตัวละครนี้








6. Europa Report (2013)

หนังไซไฟอวกาศที่ถูกใส่รายละเอียดได้อย่างสมจริงด้วยทุนสร้างไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ ทั้งงานโปรดัคชั่น และตัวบทที่อิงแนวคิด ทฤษฎีที่ถูกตีกรอบในทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการถ่ายทำแบบฟาวด์ฟุตเทจก็ช่วยขับความดิบตามสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนังพูดถึงภารกิจสำคัญในการส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์ยูโรป้าที่เป็นบริวารของดาวพฤหัส โดยจะเปิดปมด้วยการสูญเสียลูกเรือคนสำคัญในยาน และย้อนไปเล่า 19 เดือนก่อนหน้านี้ เพื่อให้คนดูทำความรู้จักและผูกสัมพันธ์กับเหล่าตัวละคร ก่อนนำไปสู่ช่วงเวลาสำคัญในการลงไปสำรวจลักษณะกายภาพ สภาพพื้นผิวของดาวที่พวกเขาต้องเผชิญกับอันตรายจากสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ในความมืด








5. Time Lapse (2014)

ไซไฟทุนต่ำที่ใช้แนวคิดไทม์ พาราด็อกซ์ มาผูกเป็นปมของเรื่อง ซึ่งว่าด้วยเพื่อนร่วมห้องสามคนที่บังเอิญพบสิ่งประดิษฐ์อันน่าพิศวงจากบ้านตรงข้าม โดยสิ่งนั้นเป็นลักษณะกล้องที่สามารถทำนายอนาคตของสิ่งที่ถูกถ่ายในอีก 24 ชม. ออกมาเป็นภาพโพลารอยด์ ซึ่งหนังได้ต่อยอดเนื้อหาในโทนของหนังทริลเลอร์ที่เต็มไปด้วยความวิตก หวาดระแวงและใคร่รู้ถึงความจริงที่รออยู่เบื้องหน้า เมื่อพวกเขาพยายามใช้ประโยชน์จากการล่วงรู้อนาคตในการสร้างเงิน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ถูกเซ็ทความเชื่อว่าหากไม่ปฏิบัติตามคำทำนายในภาพ สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าจะเป็นความตายที่กลายเป็นกฎและเงื่อนไขของการเดินเรื่องอย่างเลี่ยงไม่ได้








4. Another Earth (2011)

ช่วงไล่เลี่ยกัน Upside Down เป็นหนังที่ว่าด้วยทฤษฎีเอกภพคู่ขนาน เนื้อหามุ่งเน้นความสัมพันธ์พระนาง โดดเด่นด้วยองค์ประกอบแฟนตาซีและมีงานภาพที่สวยงาม ทว่ากลับไร้ซึ่งแก่นของความเป็นไซไฟ การหยิบเอกภพคู่ขนานมาตั้งคำถามและต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ เฉกเช่นหนังทุนต่ำอย่าง Another Earth ที่เล่าถึง 'โรด้า' สาวที่มีความฝันจะไปยังโลกคู่ขนาน ขณะเดียวกันเธอก็มีปมบาดแผลในใจที่ไม่อาจก้าวผ่านได้ เมื่อเธอเป็นสาเหตุที่ทำให้ภรรยาและลูกของ 'เบอร์โรก์ห' ต้องเสียชีวิต ซึ่งหนังจะโฟกัสไปยังการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่ค่อยๆชำระและเยียวยาบาดแผลซึ่งกันและกัน ภายใต้ฉากหลังที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการต่างพยายามพิสูจน์การมีอยู่ของผู้คนบนโลกคู่ขนานที่มีองค์ประกอบเสมือนโลก








3. Moon (2009)

ตัวหนังเซ็ทองค์ประกอบความเป็นไซไฟอวกาศอย่างสมจริงด้วยทุนสร้างเพียง 5 ล้านเหรียญ และอัดแน่นด้วยคุณภาพของบทจากการวางปมที่น่าเชื่อถือและเชื่อมโยงไปยังพล็อตทวิสต์ได้อย่างมีชั้นเชิง โดยเล่นประเด็นเกี่ยวกับการขาดแคลนทรัพยากรที่นำไปสู่การส่งมนุษย์ไปนอกโลกเพื่อแสวงหาแหล่งอารยธรรมใหม่ ก่อนโฟกัสไปยังชายคนหนึ่งที่ทำงานบนดวงจันทร์และกำลังจะได้กลับโลก โดยหนังจะถ่ายทอดอากัปกิริยา ความรู้สึกของตัวละครที่ต้องปฏิบัติและพบเจอสิ่งเดิมๆซ้ำไปซ้ำมาในแต่ละวัน ก่อนเผชิญจุดหักเหสำคัญในช่วงกลางเรื่องที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพจิตใจและบรรยากาศของหนังที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง








2. Upstream Color (2013)

หนังไซไฟเชิงปรัชญาที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนของเนื้อหาและวิธีการเล่าเรื่อง ทั้งยังสะท้อนแก่นของหลักวิทยาศาสตร์ในแง่มุมคุณธรรมและจริยธรรมในการประยุกต์ใช้ความรู้ โดยเกี่ยวพันกับตัวละครสำคัญอย่างชายเลี้ยงกล้วยไม้ที่เพาะพันธุ์หนอนที่เปรียบเสมือนปรสิตที่จะเข้าไปควบคุมจิตใจของคนที่กินมันเข้าไป ก่อนเชื่อมไปยังปมสำคัญที่ 'คริส' หญิงสาวที่โดนลักพาตัวและถูกหนอนปรสิตเข้าไปควบคุมจิตใจให้เธอยกทรัพย์สินทั้งหมดแก่ชายเลี้ยงกล้วยไม้ หลังจากนั้นเธอก็ถูกปล่อยกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติภายใต้ความทรงจำที่ถูกลบเลือน ก่อนจะได้รู้จักกับ 'เจฟ' ชายหนุ่มที่มีบางอย่างคล้ายคลึงกัน ขณะเดียวกันก็มีอีกเส้นเรื่องสำคัญของชายเลี้ยงหมู ที่หนังจะเล่าแบบ nonlinear โดยตัดสลับไปมาระหว่างสองเส้นเรื่องที่เต็มไปด้วยปมปริศนา แต่มีเหตุผลที่โยงใยกัน ก่อนท้ายที่สุดจะมาบรรจบกันได้อย่างงดงาม








1. Primer (2004)

คงเรียกได้ว่าเป็นหนังไซไฟขายไอเดียขนานแท้กับทุนสร้างเพียง 7,000 เหรียญ ที่มีเนื้อหาและกระบวนการความคิดที่ดูสมจริง ทั้งยังเพิ่มความซับซ้อนด้วยการเล่าแบบ nonlinear ที่เป็นความท้าทายของคนดูในการปะติดปะต่อไทม์ไลน์หนัง กับปมเรื่องที่กล่าวถึงสองวิศวกรที่ใช้โรงจอดรถของบ้านตัวเอง เพื่อทำการทดลองและสร้างสิ่งประดิษฐ์บางอย่าง โดยหนังจะใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อบอกเล่าการทดลองผิดถูกที่อิงด้วยหลักการและทฤษฏี ก่อนจะนำไปสู่การค้นพบสิ่งประดิษฐ์ที่มาพร้อมกลไกการย้อนเวลา และจะพาคนดูเผชิญเรื่องราวที่ซับซ้อนในลักษณะของไทม์ไลน์คู่ขนาน เมื่อตัวละครพยายามใช้ประโยชน์จากลูปเวลาในด้านธุรกิจอย่างการเก็งกำไรหุ้น
.
.
.
.
.
.
.

ทวิตเตอร์เพจ @Review_Me_ พูดคุยหนังทั่วไปเเละซีรีส์(โดยเฉพาะฝั่งเกาหลี)



ขออนุญาตฝากเพจนะครับ

https://www.facebook.com/Criticalme



เเละขออนุญาตฝากไอจีเพจด้วยนะครับ @review_me__
เป็นพื้นที่สำหรับรีวิวหนังสือนิยายต่างๆโดยเฉพาะแนวสืบสวน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่