"สัปดาห์ที่ ๖" อธิบายเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุและผล

"สัปดาห์ที่ ๖" อธิบายการเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุและผล

    พระพุทธองค์ประทับใต้ต้นมุจจลินท์ หรือต้นควงไม้จิก เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นมหาโพธิ์ ห่างไป ๑.๗ กิโลเมตร

    ในพุทธประวัติกล่าวว่า  ครั้งนั้นได้เกิดพายุฝนตกลงมาตลอดทั้ง ๗ วัน  ๗ คืน พญานาคนามว่า “มุจจลินท์” จึงขึ้นจากบาดาลมาขนดล้อมรอบพระวรกายพระพุทธเจ้าถึง ๗ รอบ  และแผ่พังพานใหญ่เพื่อปกป้องพระองค์จากพายุฝนและสัตว์ร้าย

    ใน พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต แล้วพระพุทธเจ้าทรงเปล่งคำอุทานว่า

    "ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมได้สดับแล้ว  ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามเป็นจริงอย่างไร,  ความไม่เบียดเบียนคือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย  และความปราศจากกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ด้วยประการทั้งปวง  เป็นสุขในโลก,  ความนำอัสมิมานะ  คือถือว่าตัวตนให้หมดได้  เป็นสุขอย่างยิ่ง."

    พระพุทธเจ้าพิจารณาความสงัด แม้กระทั่งว่าฝนตก ก็ถือว่ามีความสงัดอยู่ เพราะฝนตกจะมาเกี่ยวข้องหรือครอบงำจิตใจของพระพุทธเจ้าให้ละความเพียรไม่ได้ ความสงัดไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียง แต่เสียงนั้นเข้าไปเกี่ยวจิตของพระพุทธเจ้าไม่ได้ นี่แหละความสงัด

    ยกตัวอย่างเช่น เราไปอยู่ท่ามกลางผับ เสียงเพลงดังมากเลย แต่จิตของเราสงัดได้ ข้างนอกเกี่ยวเราไม่ได้ นี่แหละความสงัด ถ้าเราแปลความสงัดผิด เราก็หลงทาง ต้องไปแสวงหาที่อยู่ป่าช้า หรือที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อย่างนี้ก็ไม่ได้ เราต้องฝึกสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกี่ยวใจเรา เมื่อสิ่งแวดล้อมเกี่ยวใจเราไม่ได้ ฉะนั้น เราจะอยู่ที่ไหนก็ได้ก็เกิดความสงัด

    จนกระทั่งเมื่ออากาศปลอดโปร่งดีแล้ว พญานาคมุจจลินท์จึงคลายขนดนาคออก แล้วจำแลงตนแปลงกายเป็นชายหนุ่มเข้ามาถวายอัญชลีกราบพระพุทธเจ้า

    ในเหตุการณ์เช่นนี้ คำว่าพญานาคมุจจลินท์มานั่งปรกพระพุทธเจ้าตลอดทั้ง ๗ วัน เป็นปริศนาธรรมก็คือ จิตของพระพุทธเจ้ามาปรกพระพุทธเจ้า เพราะจิตของพระพุทธเจ้าเห็นสิ่งนี้ดี จิตของพระพุทธเจ้าจึงทำดีต่อไป

    ซึ่งขณะนั้นฝนตกตลอดเลย และจิตของพระพุทธเจ้ารู้ว่าฝนนี้ดี ตกมาแล้วเราชื่นช่ำ ฝนตกก็เหมือนไม่ตก

    ฉะนั้น จิตของพระพุทธเจ้ามีเป็นปรกขึ้นมา ฉะนั้น พระพุทธเจ้านั่งเสวยสุขอยู่ตรงนั้น แม้ฝนจะตกตลอด ๗ วันก็ยังไม่เป็นไร นี่แหละ จิตของพระพุทธเจ้าเปรียบเสมือนเป็นพญานาค มาปรกคุ้มครองพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงไม่มีจิตที่จะเบื่อหน่าย คลายจากการเสวยวิมุตติสุข ณ ตรงนั้น เพราะพระพุทธเจ้ากำลังเสวยวิมุตติสุขกับสิ่งที่ตนเองตรัสรู้ธรรมนั้น ดื่มด่ำกับธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้น การดื่มด่ำก็เปรียบเสมือนกับฝน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่สำเนียกตรงนี้พระพุทธเจ้าก็ต้องลุกจากที่นั่งสมาธิ ณ ตรงนั้น ก็ต้องวุ่นวายใจ แม้ว่าฝนตกพระพุทธเจ้าก็ยังมีปิติสุข ณ ตรงนั้น

    เหมือนกับบางท่าน ฝนรั่ว ก็นั่งนอนดูเม็ดฝนที่ตกจากหลังคาได้ จิตใจไม่กระวนกระวาย


ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่