"เที่ยวลพบุรีให้ถึงลพบุรี" กับกิจกรรมนุ่งโจงห่มสไบเที่ยวไทยภาคกลาง

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณกิจกรรมนุ่งโจงห่มสไบเที่ยวไทยภาคกลางที่ให้โอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวในเส้นทางสายที่ 1 จ.ลพบุรีด้วยนะครับ
ลพบุรี
หลายคนอาจบอกว่าเมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ เมืองนี้ไม่มีอะไร หากแต่ลองดูดีๆแล้วเมืองนี้ยังมีเรื่องราวต่างๆซ่อนเร้นไว้ให้เราค้นหาอีกมาก
ลพบุรีไม่ใช่เพิ่งจะมาเริ่มก่อตั้งแค่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น หากแต่เมืองนี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว และก็มีมนุษย์อาศัยอยู่เรื่อยมา ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยดังที่ค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น
                - การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์พร้อมภาชนะดินเผา  ที่แหล่งโบราณคดีบ้านท่าแค  อายุระหว่าง 3,500-4,500  ปี
                - การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินใหม่  ที่บ้านโคกเจริญ  อายุระหว่าง 2,700-3,500  ปี
                - การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ยุคสำริด  ที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่  อายุระหว่าง 2,300 - 2,700 ปี
                - การขุดพบชุมชนโบราณในสมัยทวารวดี  ที่เมืองโบราณซับจำปา อ.ท่าหลวง  เมืองโบราณดงมะรุม อ.โคกสำโรง  เมืองใหม่ไพศาลี  ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 1,000 ปี
                - การพบหลักฐานที่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เช่น เหรียญทำด้วยเงิน มีลายดุนเป็นรูปสัญลักษณ์ต่างๆ ตามคตินิยมของที่ต.หลุมข้าว  อ.โคกสำโรง
เป็นต้น
ตุ๊กตาดินเผาสมัยทวาราวดีแสดงเป็นใบหน้ารูปบุคคลต่างๆ
หลังจากพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา อาณาจักรขอมได้ขยายอิทธิพลเข้ามายังบริเวณนี้ ทำให้ความสำคัญของอาณาจักรทวาราวดีลดลง อิทธิพลศิลปวัฒนธรรมของขอมได้แพร่เข้ามาในดินแดนประเทศไทยโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และเลยมาทางตะวันตกได้แก่ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี และในช่วงเวลาดังกล่าวละโว้เป็นศูนย์กลางที่สำคัญทางภาคกลางจึงได้รับอิทธิพลศิลปะขอม โดยนำมาผสมผสานรูปแบบให้เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง ได้แก่พระปรางค์สามยอด เป็นต้น
พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทขอมในศิลปะบายน สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเป็นศาสนสถานทางศาสนาพุทธในนิกายมหายานประจำเมืองละโว้หรือลพบุรีซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรขอม
โดยภายในปรางค์องค์กลางแต่เดิมประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ปรางค์ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปรางค์ด้านทิศเหนือประดิษฐานนางปรัชญาปารมิตา
จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรปในส่วนของประตูและหน้าต่าง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น
เพดานภายในปรางค์องค์กลาง ถูกดัดแปลงเมื่อครั้งสมัยอยุธยา โดยเป็นการวางผังดาวเพดานแบบศิลปะอยุธยา
ศาลพระกาฬ ศาลเจ้าพ่อพระกาฬ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลสูง

สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง แต่ก่อนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ศาลสูง" ทับหลัง ซึ่งทำด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยขอมเรืองอำนาจ วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณ พ.ศ. 2494 โดยสร้างทับบนรากฐานเดิมที่สร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในวิหารประดิษฐานพระนารายณ์ประทับยืน ซึ่งเดิมพระกร และพระเศียร หายไป แต่ต่อมามีผู้นำพระเศียร ของพระสมัยอู่ทอง และพระกรมาต่อ ตามตำนานกล่าวว่า ที่พระกรหายไปทั้งหมดเพราะ พระกาฬไปรับลูกระเบิด พระกรจึงขาดหายไปหมด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่