...หมอลำกับการเมือง..../วชรน

กระทู้คำถาม
ไม่ว่าท่านจะคิดอย่างไรกับการแสดงและดนตรีจากภาคอีสานชนิดนี้ก็ตาม    แต่ก็คงยากที่จะปฏิเสธว่าดนตรีประเภทนี้ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย   การพยายามปรับตัวเข้ากับสังคมยุคใหม่ของหมอลำเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง    ทั้งๆ ที่การเริ่มต้นมีเพียงแคนกับหมอลำโดยใช้พื้นหรือลานบ้านเป็นเวทีหรือที่เรียกในยุคนั้นว่าหมอลำพื้น    หรือจะย้อนลงไปให้ลึกกว่านั้น  หมอลำพื้นถือกำเนิดง่ายๆ คือมาจากการ “นั่งล้อมวง” เล่านิทานสู่กันฟัง    ต่อมาก็เพิ่มแคนเป็นเสียงประกอบ  พอสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยว “นักเล่านิทาน” กับ “หมอแคน” ก็ออกตระเวณเล่านิทานตามหมู่บ้านนั้นหมู่บ้านนี้จนได้รับความนิยมและยึดถือเป็นอาชีพตราบปัจจุบัน



เสน่ห์ของหมอลำมีหลายอย่าง เช่นว่าท่วงทำนองและจังหวะของดนตรี   ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “เนื้อหา”   เนื้อหาของหมอลำสมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นการบอกเล่าเก้าสิบ  โดยนำตำนานพื้นบ้าน(เช่นสังข์สินไชย  ขูลูนางอั๊ว  ท้าวกำกาดำ  เรื่องราวพญานาค)  พุทธประวัติ และสอดแทรกธรรมะลงไป   ในทางอ้อมถือว่าเป็นการสืบทอดเรื่องราวตำนาน  พุทธประวัติในเชิง “มุขะปาฐะ” จากรุ่นสู่รุ่น   สมัยผมเป็นเด็กก็เคยไปฝึกร้องหมอลำบ้างนิดๆ หน่อยๆ และยังจำเนื้อที่ร้องได้บางส่วนทุกวันนี้(แต่แววไม่ให้  เลยอดที่จะได้เป็นพระเอกหมอลำกับเขาอิ อิ)   ทำนองการร้องหมอลำมีหลายซึ่งเขาเรียกว่า”ทาง”  ลำภูไท  ลำเต้ย ลำขอนแก่น  ลำอุบลฯ



การร้องรำสมัยก่อนต้องเรียกว่าใช้ “ฝีมือ” ล้วนๆ  คนที่เป็นหมอลำต้องมีไหวพริบดี  รู้รอบ ทั้งทางธรรมและทางโลก   คนที่เป็นหมอลำส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานด้านการบวชเรียนมาก่อน   เวลาเจ้าภาพจ้างไปแสดง   บางทีก็ต้อง “ร้อง” และ “ลำ” ตามคำขอ   สมัยนี้ก็เรียกว่า “แร็พ” กันสดๆ โดยไม่ได้ตระเตรียมล่วงหน้า   ยิ่งถ้าทางเจ้าภาพจ้างไปแสดงคู่กับหมอลำฝ่ายหญิงซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเขาเรียกว่า “ลำแก้กัน”   ฝ่ายหนึ่งถามฝ่ายหนึ่งตอบ....ผลัดเวียนกันไปตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง!!  บางทีแก้ไม่ได้ก็กระโดดเวทีหนีเอาหน้าด้านๆ ก็มี  ทางอีสานเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “หมอลำโตนฮ้าน”    คนฟังเองก็มีส่วนร่วมโดยการตะโกนแซวกันไปมาจากข้างล่างเวทีซึ่งรู้จักดีในหมู่คนอีสานคือ “สอย”   ตรงนี้ถือว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ทีเดียว   ใครจะ “สอย” แซวใครก็ได้  เด็กสอยแซวผู้ใหญ่   แซวผู้ใหญ่บ้านเจ็บๆ คันๆ   สอยแซวครู  เช่น  สอยๆ สาวนักเรียน see ครูประจำชั้น...คั่นบ่เฮ็ดจั่งสั่นก่ะบ่อได้คะแนนเด้อ...(ฟังทางนี้ๆ...สาวนักเรียนนอนกับครูประจำชั้น  ถ้าไม่ทำเช่นนั้นครูก็จะไม่ให้คะแนน)  เรียกได้ว่าการแสดงหมอลำสมัยก่อนและปัจจุบัน  เหมือนการเปิดเวทีให้สอยกันเจ็บๆ คันๆ ....แสดงเสร็จก็กลับบ้านใครบ้านมัน



ต่อมาเมื่อมีการเรียกเก็บภาษีสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งกระทบต่อวิถีชีวิตคนชนบท   เวทีหมอลำเริ่มกลายเป็นกระบอกเสียงของชาวบ้านได้ดี   ทั้งรับฟังเรื่องราวทุกข์ยากแร่นแค้นแล้วมาแต่งเป็นกลอนลำบอกเล่าสู่กันฟังจากหมู่บ้านสู่หมู่บ้าน  ตำบลสู่ตำบล อำเภอ แล้วขยับขยายขึ้นไปเรื่อยๆ  ในช่วงนี้เนื้อหาของกลอนลำเริ่มมี “การเมือง” เข้ามาสอดแทรกขึ้นเรื่อยๆ ....สุดท้ายหมอลำก็ตั้งตัวเป็นผู้นำด้านการเมือง   กลายเป็น “กบฏผีบุญ”  ที่ต้องการจะปลดแอกจากสยาม

  

กบฏผีบุญ  มีจากภาคอีสานมากที่สุดตามประวัติศาสตร์  ตั้งแต่สมัยพระเพทราชาอยุธยานู่นเลยทีเดียว  เรื่อยลงมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน   และที่น่าทึ่งก็คือเคยมีหัวหน้ากบฏเป็น “หมอลำ” และใช้เวทีหมอลำในการปลุกระดมคนเกือบทั่วอีสานมาแล้วหลายท่านคือ  กบฏผีบุญหมอลำน้อยชาดา(ทำการกบฏปี 2479)   กบฏผีบุญหมอลำโสภา พลตรี (2483)  กบฏผีบุญหมอลำศิลา  วงศ์สิน (2502)   นอกนั้นก็มีกบฏที่เรียกว่า “กบฏชาวนา” อีกเป็นจำนวนมาก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่