Cagiva Stella (คาจิว่า สเตลล่า) กระเทยจากอิตาลี

กระทู้สนทนา
Cagiva Stella




กระแสรถมอเตอร์ไซค์ในช่วงยุค 90 นอกเหนือไปจากรถจักรยานยนต์ทรงสปอร์ตขนาด 150cc ที่ได้รับความนิยมแล้ว ก็ยังมีรถจักรยานยนต์ทรงกระเทยที่ได้รับความนิยมควบคู่ไปกับรถทรงสปอร์ตเช่นกัน ซึ่งถ้ามองมูลค่าในด้านเม็ดเงินจากรถจักรยานยนต์ทรงกระเทยแล้ว อาจจะพูดได้ว่าน่าลิ้มลองยิ่งนัก ส่งผลทำให้ค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆ ส่งรถจักรยานยนต์ทรงกระเทยเข้าสู่ตลาด

Cagiva (คาจิว่า) ก็เปรียบดังผู้ที่อยากจะเข้ามาลิ้มลองแบ่งก้อนเงินจากตลาดรถทรงกระเทยเช่นกัน โดยทาง Cagiva เป็นรถสัญชาติอิตาลี่ โดยมี
บริษัท คาจิว่า มอเตอร์(เอเชีย-แปซิฟิก) เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

Cagiva ใช้วิศวกรไทยและอิตาลีในการออกแบบพัฒนารถจักรยานยนต์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพถนนและสภาพการขับขี่ของผู้ใช้ โดยการวิจัยพัฒนาในครั้งนี้มีศูนย์วิจัยชื่อว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์คาจิว่า หรือ C.R.C (Cagiva Reseach Center) ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐซานมาริโน (San Marino)

สำหรับงานวิจัยและพัฒนาทำให้ทาง Cagiva ได้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่มีชื่อรุ่นว่า Stella (สเตลล่า) ซึ่งมีขนาดความเครื่องยนต์อยู่ที่ 115 cc โดยมีกำหนดการวางจำหน่ายในประเทศไทยในวันที่ 9 กันยายน 2539




Stella 115 มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 2 จังหวะที่ทรงพลัง โดยได้รับการพัฒนาจากทีมวิจัย C.R.C ซึ่งมีปริมาตรกระบอกสูบ 115.88 CC ระบายความร้อนด้วยน้ำ สามารถทำแรงม้าสูงสุดได้ที่ 23.8 แรงม้า ที่รอบเครื่อง 10,000 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 1.66 กก-ม. ที่รอบเครื่อง 10,000 รอบ/นาที

ระบบไอดีแบบแคร๊งเคสรีดวาล์ว โดยทาง Cagiva ได้พัฒนาในการป้องกันประจุไอดีเข้าตรงห้องแครงตามทิศทางการหมุนของเพลาข้อเหวี่ยง พร้อมทั้งยังปรับทิศทางการไหลของไอดีให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องผสมกับรีดวาล์วที่มีการเปิดปิดที่แม่นยำ ซึ่งส่งผลให้เครื่องยนต์มีประสิทธิ์ภาพในทุกๆ รอบความเร็ว

กระบอกสูบเคลือบ (Nickel Silicon Carbide Coating) และลูกสูบแบบหัวเรียบ โดยทาง Cagiva ได้นำเทคโนโลยีจากสนามแข่งมาปรับใช้กับ Stella ซึ่งสำหรับความพิเศษของการเคลือบกระบอกสูบคือช่วยลดความฝืด มีน้ำหนักที่เบา และกระจายความร้อนได้ดีเยี่ยม ส่งผลทำให้ลดอัตราความเสี่ยงลูกสูบติด

ระบบควบคุมการคายไอเสีย C.T.S (Cagiva Torque System) โดยทาง Cagiva ได้นำระบบ C.T.S ควบคุมการคายไอเสียให้มีความสัมพันธ์กับรอบความเร็วเครื่องยนต์

ตัวถังแบบอันเดอร์โบน Stella เลือกใช้ตัวถังแบบอันเดอร์โบนที่มีขนาดใหญ่ สามารถทนต่อแรงบิดสูง พร้อมทั้งสวิงอาร์มทรงเหลี่ยมขนาดใหญ่ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ขับขี่

โช๊คอัพเดี่ยว Nitrogen Gas โช๊คอัพระบบใหม่ล่าสุดของรถจักรยานยนต์ที่ทำงานผสมผสานกับแก๊ส ซึ่งข้อดีของโช๊คอัพแบบแก๊สคือเพิ่มการรองรับแรงสั่นสะเทือนและให้ความนุ่มนวลในการขับขี่

ดิสก์เบรดหน้า-หลัง แบบลูกสูบคู่ โดย Stella ติดตั้งระบบเบรกแบบลูกสูบคู่หน้าหลัง เพิ่มความมั่นใจในการเบรก พร้อมทั้งจานเบรกหน้าที่มีขนาด 240 มม. และจานเบรกหลังขนาด 200 มม. อีกทั้งใช้ผ้าเบรกแบบพิเศษไร้สารแอสเบสตอล




ทั้งนี้ Stella ยังให้สิทธิ์พิเศษ ได้แก่ ตวรจสภาพฟรี 4 ครั้ง
• ครั้งที่ 1 ระยะ 1000 แรก
• ครั้งที่ 2 ระยะ 4000 กม
• ครั้งที่ 3 ระยะ 7000 กม
• ครั้งที่ 4 ระยะ 10000 กม

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทั้งในด้านเทคโนโลยีในรถมอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงการบริการหลังการขาย ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่จะมาช่วงชิงพื้นที่ของตลาดรถกระเทยในประเทศไทย


------------

Cagiva Stella New 125R (เร็ว แรง กระชากใจ)




สำหรับ Stella 125R เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก Stella 115 ทั้งนี้ทาง Cagiva ได้วิจัยและพัฒนาโดย  C.R.C  เหมือนครั้งก่อน ทั้งนี้ได้มีความพิเศษกว่านั้นคือทาง Cagiva ได้จับมือกับ PDK ในการพัฒนา Stella 125R ด้วยเช่นกัน

Stella 125 มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 2 จังหวะที่ทรงพลัง มีปริมาตรกระบอกสูบ 123.45 CC ระบายความร้อนด้วยน้ำ สำหรับในส่วนของแรงม้าไม่ได้ระบุไว้ แต่คาดว่าคงจะเพิ่มจากเดิมที่มี 23.8 แรงม้า อย่างแน่นอน

ในส่วนของเครื่องยนต์นอกจากปริมาตรกระบอกสูบที่เพิ่มขึ้น ในส่วนอื่นๆของเครื่องยังคงใช้เทคโนโลยีเหมือนรุ่น 115 cc

ทั้งนี้สำหรับองค์ประกอบต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้แก่
- โช๊คหลังเดียวแบบแก๊ส ปรับได้ 5 ระดับ ซึ่งตัวโช๊คหลังเดียวแบบไนโตรเจนก๊าซ
- ถังน้ำมันแบบพิเศษแบบเดียวกับรถเก๋ง โดยเป็นถังน้ำมันจากวัสดุสังเคราะห์ หมดกังวลเรื่องสนิมอย่างแน่นอน
- ล้อแม็กกราไฟต์ สีดำด้าน ตามความนิยมของกระแสรถแม็กในช่วงนั้น

นอกจากนี้ยังมีไฮไลท์สำคัญ คืออุปกรณ์ชุดปรับแต่งพิเศษ

- คาร์บูเรเตอร์ มิคูนิ 26ss
- ปลายท่อรถแข่ง PDK Racing







ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่าง Stella 115 กับ Stella 125


-------

ในช่วงที่รถทรงกระเทยกำลังได้ความนิยม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมดอยู่กับค่ายรถญี่ปุ่นทั้ง 4 ค่าย Honda Yamaha Kawasaki และ Suzuki สำหรับค่าย Cagiva ถือได้ว่าเป็นการเดิมพันที่น่าชมเชย ในการมาทำตลาดรถทรงกระเทยในประเทศไทย

การเปิดตัวในปี 2539 ของทาง Stella 115 อาจล่าช้าไปเสียหน่อย แต่ในความล่าช้าที่เกิดขึ้น แอบแฝงไปด้วยรายละเอียดและความใส่ใจในการออกแบบและพัฒนา Stella

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารถทรงกระเทยเบอร์ 1 ในด้านความแรงคงหนีไม่พ้น Honda Dash ทั้งนี้สำหรับ Dash 125 Rs มีแรงม้าอยู่ที่ 22 แรงม้า ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ Stella 115 มีแรงม้าอยู่ที่ 23.8 แรงม้าเลยที่เดียว

Stella เป็นรถกระเทยรุ่นเดียวในประเทศไทยที่มีวาล์วแบบในรถ 150cc

ด้วยความเร็วแรงและงานออกแบบของ Stella ทำให้ทางค่าย Cagiva สามารถแจ้งเกิดรถรุ่นนี้ได้ แต่สำหรับความเร็วแรงและเทคโนโลยีที่มากับรถมันมีราคา ทำให้ Stella มีราคาแพงกว่ารถทรงกระเทยทั่วไป

แม้จะงัดบริการหลังการขายมาสู้กับค่ายญี่ปุ่นอย่างสุดฤทธิ์ ไม่ว่าจะเป็การตรวจเช็ดสภาพฟรี การประกันเครื่องที่ 15,000 กิโล หรือแม้แต่รับประกันราคาซื้อคืน แต่ศูนย์บริการและอะไหล่ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถมอเตอร์ไซค์ หากนึกย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ในยุคที่ชาวบ้านและร้านค้ายังไม่มีอินเตอร์เน็ต การสแหวงหาอะไหล่ยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลอย่างมากในการเลือกซื้อรถ

Cagiva Stella แม้ยอดขายไม่ได้ดิบดีหรือติดตลาดเหมือนกับรถทรงกระเทยจากค่ายญี่ปุ่น แต่ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าชื่อ Stella สามารถแจ้งเกิดในด้านความเร็วความแรงของรถทรงกระเทยได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นการซื้อขายได้อยู่เป็นอยู่เรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นตัวการันตีถึงคุณภาพของ Cagiva Stella ได้เป็นอย่างดี แม้เวลาจะล่วงเลยผ่านมา 22 ปีแล้วก็ตาม




-------------

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/groups/724093804294820

https://www.facebook.com/groups/2tspec

https://www.facebook.com/groups/960078604050837/

#Stella #Stella115 #Stella125 #Cagiva

ฝากเพจหน่อยครับ
https://www.facebook.com/ต้นรถเป็นอะไรอะ-451481885345798

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่