ไม้เท้า ยังดีกว่าลูกอกตัญญู (ริมฝั่งน้ำ)

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



ไม้เท้า ยังดีกว่าลูกอกตัญญู

[เครื่องเตือนให้มีความกตัญญู]

     พราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่ง   ถูกบุตร ๔ คน   คบคิดกับภรรยา  แล้วไล่ออกจากบ้าน   พราหมณ์ผู้นี้ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงให้เรียนคาถา แล้วก็ให้กล่าวคาถานั้น   เมื่อหมู่มหาชนประชุมกันที่สภาแล้ว    เมื่อพวกบุตรมาประชุมพร้อมแล้ว  ข้อความของคาถานั้นมีว่า

     “เราชื่นชมและปรารถนาความเจริญแห่งบุตรเหล่าใด  บุตรเหล่านั้นคบคิดกับภรรยา  รุมว่าเรา  ดังสุนัขรุมเห่าสุกร  เขาว่าพวกมันเป็นอสัตบุรุษลามก  ร้องเรียกเราว่า  พ่อ  พ่อ  พวกมันประดุจยักษ์แปลงเป็นบุตร   มาละทิ้งเราผู้ล่วงเข้าปัจฉิมวัยแล้ว   พวกมันกำจัดคนแก่ไม่มีสมบัติออกจากที่กิน ดังม้าแก่ที่เจ้าของปล่อยทิ้ง ฉะนั้น  บิดาของบุตรพาล  เป็นผู้เฒ่า  ต้องขอในเรือนผู้อื่น   ได้ยินว่า  ไม้เท้าของเรายังจะดีกว่า     พวกบุตรที่ไม่เชื่อฟัง  จะดีอะไร   เพราะไม้เท้า  ยังป้องกันโค หรือสุนัขดุได้   ในที่มืดยังใช้ยันไปข้างหน้าได้    ในที่ลึกยังใช้หยั่งดูได้   พลาดแล้วยังยั้งอยู่ได้ด้วยอานุภาพไม้เท้า”

     ซึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นได้กล่าวอย่างนั้นแล้ว  พวกบุตรก็ได้นำพราหมณ์มหาศาลนั้นไปยังเรือน ให้อาบน้ำแล้วให้นุ่งห่มผ้าคู่หนึ่ง ๆ ทุก ๆ  คนพราหมณ์มหาศาลนั้นถือผ้าคู่หนึ่ง  ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ   สนทนาปราศรัย  กับพระผู้มีพระภาคเจ้า    แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

     “ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าชื่อว่าเป็นพราหมณ์  ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับอาจารย์มาให้อาจารย์ ขอท่านพระโคดมผู้เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าจงรับส่วนของอาจารย์เถิด”

     พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับด้วยความอนุเคราะห์แล้ว   ครั้งนั้น พราหมณ์มหาศาลผู้นั้น ก็ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ  ตั้งแต่วันนั้น   เป็นต้นไป.

(ข้อความโดยสรุปจาก...พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มหาศาลสูตร)



[ประมวลจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์  บริหารวนเขตต์]

     สำหรับในเรื่องของพราหมณ์มหาศาลท่านนี้  ดังที่ปรากฏในพระสูตร   ก็เป็นเรื่องที่จะแสดงให้เห็นว่า ส่วนมากของบุคคลมักจะลืมคิดถึงวัยต้นในอดีตของตนเอง  เวลานี้บุตรธิดาอาจจะเป็นผู้ที่สมบรูณ์ด้วยลาภ ด้วยยศ ด้วยสรรเสริญ ด้วยสุข      สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาจากไหนมาจากใคร ไม่ว่าอยากได้อะไรใครเป็นผู้ให้  ใครเป็นผู้ทำให้บุตรธิดาสมความปรารถนา    ไม่ว่าจะเป็นก่อนที่จะได้ความรู้ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุขนั้น ถ้าในปฐมวัยมารดาบิดาไม่ได้เกื้อกูลไม่ได้อุปการะมา   สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้บุตรธิดาจะได้รับหรือไม่?  คำตอบ คือ ไม่ได้รับอย่างแน่นอน    แต่ส่วนมากก็มักจะลืมคิดถึงอดีตที่ตนเองได้ความสุข  ได้ทุกสิ่งทุกอย่างจากมารดาบิดา,      เวลาที่มารดาบิดาแก่ชราลง  บุตรธิดาคนใดบ้าง  ที่เคยทำให้ท่านได้รับความสุข   เหมือนอย่างเมื่อครั้งที่ตนเองเป็นเด็ก อยากจะได้อะไร ท่านหาให้    แล้วเวลาที่ท่านแก่ชราลง ท่านอยากได้อะไร  มีบุตรธิดาคนใดบ้างที่ได้ให้สิ่งนั้น  แก่มารดาบิดา    ให้ทุกอย่างเหมือนอย่างครั้งที่ในอดีตในปฐมวัย ที่มารดาบิดาเคยให้กับตนเอง

     เพราะฉะนั้น  ชีวิตของพราหมณ์มหาศาลท่านนี้  ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง   ซึ่งถ้าผู้ศึกษาพระธรรมไม่ผ่านเรื่องที่ควรจะเตือนให้ท่านมีความประพฤติอย่างไร เจริญกุศลอย่างไรกับมารดาบิดาผู้มีอุปการคุณ      พระธรรม  ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ท่านได้เจริญกุศล   คือ  การตอบแทนพระคุณ  แก่ผู้ที่เป็นมารดาบิดาให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ครับ.



https://www.dhammahome.com/webboard/topic/25283







แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่