เที่ยวภาคกลาง เยือนบ้านฮอลันดา เที่ยวบ้านญี่ปุ่น ชื่นชมศิลปาชีพ เมืองอยุธยา ในกิจกรรม‘นุ่งโจงห่มสไบ’ กับ PANTIP และ ททท


จากวันแรกเที่ยวลพบุรี
https://ppantip.com/topic/38170016
วันที่สองเที่ยวอ่างทอง
https://ppantip.com/topic/38170161


เช้าวันที่สามหลังจากทานมื้อเช้าที่โรงแรมเรียบร้อย พวกเราก็เช็คเอ้าท์ออกกจากโรงแรมเพื่อเดินทางกันต่อไปยัง บ้านฮอลันดา หรือ หมู่บ้านของชาววิลันดา (ชาวฮอลันดา) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2177 หรือ ปี ค.ศ. 1634 โดยตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ ตำบลสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบันได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดาขึ้นในบริเวณที่เป็นบ้านฮอลันดาเดิม เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยและประเทศเนเธอร์แลนด์

ในวาระเฉลิมฉลอง 400 ปี ความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์และเจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเยือนที่ตั้งของบ้านฮอลันดาซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นและขุดแต่งส่วนที่เหลืออยู่ของสถานีการค้าวีโอซี สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อการก่อตั้งศูนย์ข้อมูลและจัดแสดงนิทรรศการ เป็นอนุสรณ์แสดงสัมพันธภาพอันยั่งยืนระหว่างสองประเทศ

ที่ตั้ง ในซอยคานเรือ ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา
เปิดทำการ 09.00น.-17.00น.
ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร
ค่าเข้า50บาท
เบอร์โทรติดต่อ035-235200


เดินทางกันต่อไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่น
ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน เริ่มมาจากชุมชนเล็กๆของพ่อค้าเรือสำเภาชาวญี่ปุ่น
ภายในหมู่บ้านสันนิษฐานว่า มีชาวญี่ปุ่นอยู่3กลุ่มด้วยกันคือพ่อค้า นักรบ และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ต่อมาได้รับพระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน รอบนอกเกาะเมืองเหมือนชาติอื่นๆ โดยตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับชาวโปรตุเกส สมัยนั้นมีหัวหน้าปกครองในกลุ่มตนเองคือ นางามาซาะ ยามาดา เป็นผู้มีอำนาจ และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าทรงธรรมจนได้รับแต่งตั้งเป็น ออกญาเสนาภิมุข และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาไม่นานหมู่บ้านญี่ปุ่นก็ถูกเผาทำลาย ในปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมไทย-ญี่ปุ่น โดยมีนักวิชาการของทั้ง2ฝ่าย ร่วมมือกัน


ท้าวทองกีบม้า มีชื่อตัวว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (Marie Guimar พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 - พ.ศ. 2265) เป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำของหวาน เป็นต้นตำรับขนมตระกูลทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
ท้าวทองกีบม้า เป็นลูกครึ่งโปรตุเกส ญี่ปุ่น

ที่ตั้ง ตำบลเกาะเรียน อำเภอ
พระนครศรีอยุธยา
เปิดเข้าชม 08.00-17.00น.
ค่าเข้าชม50บาท

หลังจากนั้น เราเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารครัวแตน ร้านอาหารไทยเก่าแก่ อยู่ในบริเวณ ตลาดน้ำอโยธยา&ปางช้าง
ที่ตั้ง ซอยหมู่บ้านช้าง ตำบลพระนครศรีอยุธยา
ร้านเปิดทุกวัน ตั้งแต่09.00น.-18.30น.
เบอร์โทรร้าน 038-811677


อิ่มท้องแล้วก็เที่ยวกันต่อ ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

ที่นี่ถ้ามาเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ให้นำชมพร้อมฟังข้อมูลได้อย่างละเอียดด้วยครับ และครั้งนี้เจ้าหน้าทีพาพวกเราชมหอนิทรรศการซึ่งมีทั้งหมด 6 ห้องดังนี้ครับ

1.หอศิลปาชีพ
หอนิทรรศการที่นำเสนอพระราชกรณียกิจ และพระเกียรติคุณสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ด้วยสืบสานพระราชปณิธานในการสร้างงาน สร้างอาชีพด้วยความตระหนักและห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร จึงทรงจัดหาอาชีพเสริมในพื้นที่ชนบททั้งใกล้และไกลให้มีโอกาสทำงานอยู่กับบ้าน เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว โดยไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ จนทำให้ประชาชนของพระองค์มีรายได้ และอาชีพเสริมจากภูมิปัญญาพื้นบ้านในด้านงานหัตถกรรมที่เป็นมรดกสืบทอดกันมาในแต่ละท้องถิ่น จนก่อให้เกิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และศูนย์ศิลปาชีพฯ ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

2.หอนวัตศิลป์
จัดแสดงผลิตภัณฑ์เชิงนวัตศิลป์ เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยการผสมผสานนวัตกรรมทางศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์กับทักษะฝีมือเชิงช่างชั้นสูงและภูมิปัญญาพื้นบ้าน รวมทั้งการใช้วัตถุดิบจากงานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิม และงานหัตถกรรมแบบพื้นบ้านมีการปรับปรุงผลงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและกระแสนิยม โดยผลงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงนี้ ศ.ศ.ป. ได์วางกรอบแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มนักออกแบบและชุมชนร่วมกับช่าง หรือครูช่างในชุมชนที่มีทักษะฝีมือโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ โดยมุ่งหวังให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีความทันสมัย สร้างแรงดึงดูดใจต่อผู้บริโภค และเพิ่มมูลค้าให้กับผลิตภัณฑ์เป็นการยกระดับมาตรฐานรูปแบบงานศิลปหัตถกรรมไทยไปสู่สากล

3.หอสุพรรณ-พัสตร์
ประกอบด้วย ส่วนจัดแสดงที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

ส่วนจัดแสดงเครื่องทองไทย แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 หมวด คือ เครื่องอุปโภค เครื่องประดับไทยประเพณี เครื่องบูชา ทองคำเปลว และเครื่องประดับร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังจัดแสดงงานทองสุโขทัย ทองเพชรบุรี งานถมทอง โดยกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง เพื่ออนุรักษ์งานทองโบราณและช่างทองโบราณไว้ให้คงอยู่สืบไป

นิทรรศการ "เครื่องเงิน-เครื่องทองและเครื่องแต่งกาย ในสมัยอยุธยา"

ความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาตลอดระยะเวลา 417 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 1893 จนถึงพ.ศ. 2310 มีราชวงศ์ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองถึง 5 ราชวงศ์และมีพระมหากษัตริย์ถึง 34 พระองค์ อิทธิพลของศิลปะจากประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่มีความสัมพันธ์กันในด้านการค้า การทูตและศาสนา ต่างล้วนมีบทบาทต่อรูปแบบและพัฒนาการของเครื่องเงิน-เครื่องทอง และเครื่องแต่งกายของชาวอยุธยาเป็นอย่างมาก

นิทรรศการนี้จัดขึ้นโดยอาศัยภาพจิตรกรรมประติมากรรมต่างๆ ทั้งที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง โดยนำมาเป็นต้นแบบในการกำหนดอายุและกำหนดรูปแบบของเครื่องเงิน-เครื่องทอง และเครื่องแต่งกายให้ใกล้เคียงกับข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้มากที่สุด ข้อสรุปที่ได้ในครั้งนี้จึงถือเป็นข้อมูลใหม่ล่าสุด และมีประโยชน์สำหรับการศึกษารูปแบบของเครื่องเงิน-เครื่องทอง และเครื่องแต่งกาย ในสมัยอยุธยา ณ ปัจจุบัน

4.หอเกียรติยศ
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ น้อมนำพระราชดำรัสในด้านการอนุรักษ์ และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมของไทย โดยจัดทำหอเกียรติยศ หรือ Hall of Fame ขึ้น เพื่อเป็นสถานที่ในการยกย่องเชิดชูเกียรติ จัดแสดงผลงาน และเผยแพร่ข้อมูลของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่จัดแสดงผ่านนิทรรศการบ้านครูฯ จาก 9 สาขาช่าง อาทิ บ้านช่างเครื่องหิน บ้านช่างเครื่องโลหะ บ้านช่างเครื่องหนัง บ้านช่างเครื่องจักสาน บ้านช่างเครื่องไม้ บ้านช่างเครื่องกระดาษ บ้านช่างเครื่องรัก บ้านช่างเครื่องดิน และบ้านช่างเครื่องทอ (ผ้า) ภายในบ้านต่างๆ จำลองการจัดแสดงให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้เห็นวิถีชีวิต การทำงาน รวมทั้งผลงานชิ้นสำคัญของครูฯ ในหลากหลายชิ้นงาน โดยได้นำสื่อเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ประกอบการจัดแสดงเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และการมีส่วนร่วมของ ผู้เข้าชมนิทรรศการ เพื่อให้ผู้เข้าชมร่วมกันตามหา "ขุมทรัพย์หัตถศิลป์" ที่ซ่อนอยู่ภายในนิทรรศการ


5.หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศ
นิทรรศการ "หัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย"
กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นบางประเภทได้ค่อยๆ สูญหายไปจากวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมตามกาลเวลาและความต้องการใช้งานที่ลดลงไป งานเครื่องมุก เครื่องไม้ และเครื่องจักสานเป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์และวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์แห่งภูมิปัญญา จากทักษะและวัสดุเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อดำรงชีวิต สร้างขึ้นโดยความนิยมหรือขนบประเพณีและวัฒนธรรมของพื้นที่ บ่งชี้ถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนรวมไปถึงรูปแบบของผลงานและขั้นตอนการสร้างสรรค์ที่กำลังจะเลือนหายไป


6.นิทรรศการ โขน วัฒนธรรมร่วมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของวัฒนธรรมการแสดงโขนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ ประเทศไทย พม่า ลาวและกัมพูชา รวมทั้งจัดแสดงงานช่างหัตถศิลป์ด้านงานโขน อาทิ หัตถศิลป์หัวโขน การปักผ้าชุดโขน เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่ใช้ในการแสดงโขน และส่วนนิทรรศการหมุนเวียน จัดแสดงการนำแรงบันดาลใจจากงานโขนมาปรับใช้ในการทำเครื่องประดับและเครื่องใช้ต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในวิถีชีวิตปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสร้างค่านิยมการเรียนรู้งานหัตถศิลป์ให้เป็นวิถีชีวิตของคนไทย และสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ ให้เข้ากับวิถีชีวิตประจำวัน (Today Life’s Crafts)

ตั้งอยู่ที่ 59 หมู่ 4 ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร
จ.พระนครศรีอยุธยา 13290
โทรศัพท์ 0 3536 7054-9

หลังชมนิทรรศการและความสวยงามของผลิตภัณท์ฝีมือคนไทยกันจนเต็มอิ่มแล้วก็ได้เวลาเดินทางกลับกรุงเทพกันครับ แม้จะเป็นการท่องเที่ยวภาคกลาง จังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพ แต่ก็มีเรื่องราว สถานที่และกิจกรรมน่าสนใจมากมายให้ทุกคนได้ท่องเที่ยวกัน หากคุณมีเวลาว่างซัก 2-3 วันผมขอแนะนำให้ทุกคนลองมาเที่ยวกันดูนะครับ สุดท้ายคือผมขอขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเวปไซด์พันทิพที่ให้โอกาสผมและเพื่อนๆ ได้มาเที่ยวในกิจกรรมนุ่งโจงห่มสไบครั้งนี้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่