" ขันธ์ 5 - อุป มา และ ยถา ภูต ญาณ ทัส นะ "

ภิกษุทั้งหลาย !  คนทั่วไปกล่าวกันว่า “รูป” เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่แตกสลายได้ มีอยู่ในสิ่งนั้น ดังนั้น สิ่งนั้นจึงถูกเรียกว่า รูป.
สิ่งนั้นแตกสลายได้ เพราะอะไร ?
สิ่งนั้น แตกสลายได้เพราะความเย็นบ้าง, แตกสลายได้ เพราะความร้อนบ้าง,แตกสลายได้ เพราะความหิวบ้าง,
แตกสลายได้ เพราะความระหายบ้าง,แตกสลายได้ เพราะถูกต้องกับเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง , (ดังนี้เป็นต้น)

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะกิริยา ที่แตกสลายได้มีอยู่ในสิ่ง (เช่นนี้แล)ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่ารูป



ภิกษุทั้งหลาย ! แม่น้ำคงคานี้ไหลพาเอาฟองน้ำก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งมา,
บุรุษผู้มีจักษุดี เห็นฟองน้ำ ก้อนใหญ่ก้อนนั้น ก็พึงเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย
เมื่อบุรุษ ผู้นั้นเห็น อยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบ คายอยู่ ,
ก้อนฟองน้ำนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่าและปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป .

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในก้อนฟองน้ำนั้น จะพึงมีได้อย่างไร, อุปมานี้ฉันใด ;

ภิกษุทั้งหลาย ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ รูปชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่
จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม.
ภิกษุเห็นรูปนั้นย่อมเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย. เมื่อภิกษุนั้นเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่, รูปนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในรูปนั้นจะพึงมีได้อย่างไร.



ภิกษุทั้งหลาย ! คนทั่วไป กล่าวกันว่า "เวทนา" เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ?

ภิกษุ ทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่รู้สึกได้ มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่าเวทนา.
สิ่งนั้นย่อมรู้สึกได้ซึ่งอะไร?
สิ่งนั้น ย่อมรู้สึกได้ซึ่งความรู้สึกอันเป็นสุขบ้าง,
ย่อมรู้สึกได้ ซึ่งความรู้สึกอันเป็นทุกข์บ้าง,
และย่อมรู้สึกได้ ซึ่งความรู้สึกอันอทุกขมสุขบ้าง (ดังนี้เป็นต้น).

ภิกษุ ทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่รู้สึกได้ มีอยู่ ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่าเวทนา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อฝนเมล็ดหยาบ ตกในสรทสมัย (ท้ายฤดูฝน ), ต่อมน้ำ ย่อมเกิดขึ้นและแตกกระจายอยู่บนผิวน้ำ.
บุรุษผู้มีจักษุดี เห็นต่อมน้ำนั้น ก็เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย.
เมื่อบุรุษนั้น เห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่,
ต่อมน้ำนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในต่อมน้ำนั้นจะพึงมีได้อย่างไร, อุปมานี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย ! อุปไมยก็ฉันนั้น คือ เวทนา ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่
จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม;
ภิกษุรู้สึกในเวทนานั้นย่อมเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย. เมื่อภิกษุนั้นรู้สึกอยู่เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่, เวทนานั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในเวทนานั้นจะพึงมีได้อย่างไร.


ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือน เมื่อไม้สีไฟสองอันสีกัน ก็เกิดความร้อนและเกิดไฟ, เมื่อไม้สีไฟสองอันแยกกัน ความร้อนก็ดับไปสงบไป

ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น : เวทนาทั้งสามนี้ ซึ่งเกิดจากผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย อาศัยผัสสะแล้วย่อมเกิดขึ้น, ย่อมดับไปเพราะผัสสะดับ, ดังนี้แล.



ภิกษุทั้งหลาย ! คนทั่วไป กล่าวกันว่า “สัญญา” เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า?

ภิกษุทั้งหลาย !เพราะกิริยาที่จำได้หมายรู้ได้ มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้นจึงถูกเรียกว่า สัญญา.
สิ่งนั้นย่อมจำได้หมายรู้ได้ซึ่งอะไร ? สิ่งนั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม ซึ่งสีเขียวบ้าง,
ย่อมหมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเหลืองบ้าง,ย่อมหมายรู้ได้พร้อม ซึ่งสีแดงบ้าง, และย่อมหมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีขาวบ้าง (ดังนี้ เป็นต้น).

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่หมายรู้ได้พร้อมมีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่าสัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเดือนท้ายแห่งฤดูร้อนยังเหลืออยู่, ในเวลาเที่ยงวันพยับแดดย่อมไหวยิบยับ .
บุรุษผู้มีจักษุดี เห็นพยับแดดนั้น ก็เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย.
เมื่อบุคคลนั้นเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่, พยับแดดนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง ของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในพยับแดดนั้น จะพึงมีได้อย่างไร, อุปมานี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย ! อุปไมย ก็ฉันนั้นคือสัญญาชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่
จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม ;
ภิกษุสังเกตเห็นสัญญานั้นย่อมเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นสังเกตเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่, สัญญานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่าและปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในสัญญานั้นจะพึงมีได้อย่างไร.



ภิกษุทั้งหลาย ! คนทั่วไป กล่าวกันว่า “สังขารทั้งหลาย” เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะกิริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จรูป มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้นจึงถูกเรียกว่า สังขาร.  สิ่งนั้นย่อมปรุงแต่งอะไรให้เป็นของสำเร็จรูป ?
                    สิ่งนั้นย่อมปรุงแต่งรูป ให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นรูป,
                    ย่อมปรุงแต่งเวทนา ให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นเวทนา,
                    ย่อมปรุงแต่งสัญญา ให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นสัญญา,
                    ย่อมปรุงแต่งสังขาร ให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นสังขาร, และ
                    ย่อมปรุงแต่งวิญญาณ ให้สำเร็จรูปเพื่อความเป็นวิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะกิริยาที่ปรุงแต่งให้สำเร็จรูป มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่าสังขารทั้งหลาย.

ภิกษุ ทั้งหลาย ! บุรุษผู้หนึ่งมีความต้องการด้วยแก่นไม้ เสาะหาแก่นไม้เที่ยวหาแก่นไม้อยู่, เขาจึงถือเอาขวานอันคมเข้าไปสู่ป่า.
เขาเห็นต้นกล้วยต้นใหญ่ ในป่านั้น ลำต้นตรง ยังอ่อนอยู่ ยังไม่เกิดแกนไส้.
เขาตัดต้นกล้วยนั้นที่โคน แล้วตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบออก.
บุรุษนั้น เมื่อปอกกาบออกอยู่ ณ ที่นั้น ก็ไม่พบ แม้แต่กระพี้ (ของมัน) จักพบแก่นได้อย่างไร.
บุรุษผู้มีจักษุดี เห็นต้นกล้วยนั้นก็เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย.
เมื่อบุรุษนั้นเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่,ต้นกล้วยนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่าของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุทั้งหลาย ! ก็แก่นสารในต้นกล้วยนั้น จะพึงมีได้อย่างไร, อุปมานี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย ! อุปไมย ก็ฉันนั้น คือ สังขารทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่งมีอยู่
จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม;
ภิกษุสังเกตเห็นสังขารทั้งหลายเหล่านั้นย่อมเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย. เมื่อภิกษุนั้นสังเกตเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่, สังขารทั้งหลาย ย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุ ท. !  ก็แก่นสารในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น จะพึงมีได้อย่างไร.



ภิกษุทั้งหลาย ! คนทั่วไปกล่าวกันว่า “วิญญาณ” เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะกิริยาที่รู้แจ้งได้ มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้นจึงถูกเรียกว่าวิญญาณ.
สิ่งนั้นย่อมรู้แจ้งซึ่งอะไร ?
สิ่งนั้นย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความเปรี้ยวบ้าง, ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความขมบ้าง,ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความหวานบ้าง, ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความขื่นบ้าง, ย่อมรู้แจ้งซึ่งความความไม่ขื่นบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความเค็มบ้าง, ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง (ดังนี้เป็นต้น)

ภิกษุทั้งหลาย !  เพราะกิริยาที่รู้แจ้งได้ มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า วิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย ! นักแสดงกลก็ตาม ลูกมือของนักแสดงกลก็ตาม แสดงกลอยู่ที่ทางใหญ่สี่แยก.
บุรุษผู้มีจักษุดี เห็นกลนั้น ก็เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย. เมื่อบุรุษผู้นั้นเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่,
กลนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุท. ! ก็แก่นสาร ในกลนั้น จะพึงมีได้อย่างไร, อุปมานี้ฉันใด;

ภิกษุ ท. ! อุปไมย ก็ฉันนั้น คือ วิญญาณชนิดใดชนิดหนึ่ง มีอยู่
จะเป็นอดีตอนาคตหรือปัจจุบันก็ตาม เป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือที่ใกล้ก็ตาม;
ภิกษุสังเกตเห็น วิญญาณนั้น ย่อมเพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นสังเกตเห็นอยู่ เพ่งพินิจพิจารณาโดยแยบคายอยู่, วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างของเปล่า และปรากฏเป็นของหาแก่นสารมิได้ไป.

ภิกษุท. !  ก็แก่นสารในวิญญาณนั้นจะพึงมีได้อย่างไร.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่