" อา นา ปาน สติ บริ บูรณ์ ทำให้ สติ ปัฏ ฐาน ๔ บริ บูรณ์"

อานาปานสติบริบูรณ์ ทำให้สติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์


ภิกษุทั้งหลาย !
ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า
จึงทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ?

ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม

นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า
เธอนั้น... มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว

เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้า และลมหายใจออก
ว่าเป็นกายอย่างหนึ่งๆ ในบรรดากายทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้ทำ จิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่” หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวว่า การทำในใจเป็นอย่างดีถึงลมหายใจเข้า และลมหายใจออก
ว่าเป็นเวทนาอย่างหนึ่งๆ ในบรรดาเวทนาทั้งหลาย.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ
เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวว่าอานาปานสติ เป็นสิ่งที่มีได้
แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุ

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก"

ย่อมทำการฝึกฝนศึกษา
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”

ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว
เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา.

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.




ภิกษุทั้งหลาย !
อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล
ย่อมทำสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้.



ปฐมภิกขุสูตร มหาวาร. สํ. ๑๙ / ๔๒๔ / ๑๔๐๒-๑๐
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่