JJNY : ภูเก็ตไชนาทาวน์ ไทยสร้าง จีนเช่า ไร้เงานักท่องเที่ยว

กระทู้คำถาม
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย


"ไชนาทาวน์" ใกล้หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ไม่คึกคักเหมือนเก่า โรงแรมราคาถูก ลูกค้าแทบไม่เหลือ ท่ามกลางข่าวลบในโลกโซเชียลของจีน ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวภูเก็ตชี้ ปิดอ่าวมาหยาต่อและจำกัดนักท่องเที่ยวสิมิลัน ยิ่งทำให้สถานการณ์ทัวร์จีนภูเก็ตฟื้นยาก

ห้างสรรพสินค้าจังซีลอนใกล้หาดป่าตองในบ่ายวันศุกร์ต้นเดือนตุลาคม เงียบเหงา สินค้าไทยยอดนิยมในหมู่ชาวจีน เช่น สาหร่ายอบกรอบ และทุเรียนแปรรูป เรียงรายอยู่เต็ม ไร้ร่องรอยสัมผัสของนักท่องเที่ยวชาวจีน

ถัดจากห้างไปเพียงไม่ถึง 200 เมตร ป้ายนีออนขนาดค่อนข้างใหญ่ ประกาศพื้นที่ว่าคือ "ไชนาทาวน์" กลุ่มอาคารพาณิชย์ราว 20 คูหาตั้งเรียงราย พร้อมป้ายบอกกิจการเป็นภาษาจีนมากกว่าภาษาไทย ผู้คนที่เดินไปมามีจำนวนไม่มากนัก ส่วนพนักงานให้บริการในร้านค้าดูหน้าตาแล้ว น่าเป็นคนจีนมากกว่าคนไทย คนในพื้นที่บอกว่า "ไชนาทาวน์" ที่นี่ แตกต่างจากเยาวราชในกรุงเทพฯ ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่มากและมีมาเนิ่นาน ไชนาทาวน์ภูเก็ตเพิ่งเกิดตามการ "บูม" หรือความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนในภูเก็ต โดยเป็นแหล่งที่พักราคาถูก มีบริการที่มุ่งนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลัก

ร้านอาหารหม้อไฟสไตล์จีนที่เพิ่งเปิดไม่นาน เมนูอาหารมีภาษาแมนดารินอยู่บรรทัดแรก ตามด้วยภาษาไทยและรัสเซีย บ่งบอกถึงกลุ่มเป้าหมายของย่านนี้เป็นอย่างดี แต่มาวันนี้ แม้พระอาทิตย์ลับฟ้า ซึ่งควรเป็นสัญญาณความคึกคักของธุรกิจ ทว่า โต๊ะอาหารยังว่างมากมายรอลูกค้ามาเยือน

ไทยสร้าง จีนเช่า

ในย่านนี้ ตึกแถวหลายห้องมีด้านล่างเป็นร้านสะดวกซื้อ เต็มไปด้วยป้ายภาษาจีน บางแห่งทำหน้าที่เป็นประตูทางเข้าของโรงแรมราคาย่อมเยาที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ

บีบีซีไทย ได้รับอนุญาตให้เข้าไปสำรวจ อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ที่แปลงเป็นโรงแรมขนาดมากกว่า 10 ห้อง ห้อมล้อมด้วยร้านอาหาร และมีทางเดินถึงหาดป่าตองได้สะดวก

"วันนี้ มีลูกค้าแค่ห้องเดียวเท่านั้น และเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เหตุเรือล่มเมื่อก.ค. แล้ว วันหนึ่งมีแค่ 1-2 ห้อง บางวันไม่มีแขกเลย" หญิงชาวจีนที่ขอใช้นามแฝง ว่า เสี่ยว เหมย เล่าด้วยภาษาอังกฤษที่เธอพอใช้สื่อสารได้

ในห้องทำงานขนาดเล็ก ที่เสี่ยว เหมยใช้เป็นเคาน์เตอร์ต้อนรับแขก เธอชี้ให้เราดูคอมพิวเตอร์ที่กำลังเปิดโปรแกรมเอ็กเซลอยู่ ตารางบันทึกการเข้าพักดูโล่งว่าง เพราะไม่มีลูกค้า แต่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตารางเต็มไปด้วยแถบสี และชื่อแขก มีช่องว่างน้อยมาก

"ช่วงนี้ของปีก่อน เรามีลูกค้า 5-10 ห้องทุกวัน ยิ่งช่วงไฮซีซัน ห้องเต็มบ่อยมาก" เจ้าของโรงแรมสาว เล่า "ลูกค้าเราเป็นคนจีน จองผ่านเว็บไซต์ ซีทริป(Ctrip) เป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจเราดีมาก เคยได้ราคาห้องถึง 2,500 บาทในช่วงไฮซีซัน ทุกวันนี้ตั้งราคาห้อง คืนละ 500 บาท ก็แทบไม่มีลูกค้าอย่างที่เห็น" เสี่ยว เหมย กล่าว พร้อมชี้ไปที่ห้องขนาดเล็กแต่สะอาดสะอ้าน ที่เธอบอกว่าว่างเปล่าเกือบทุกชั้น

สัญญาเช่า 9 ปี

เสี่ยว เหมย บอกเราว่า เธออาศัยในประเทศไทยและทำธุรกิจโรงแรมแห่งนี้มาหลายปีแล้ว แต่เธอไม่ใช่เจ้าของโรงแรมตัวจริง เธอเช่าโรงแรมจากเจ้าของคนไทยมาทำ ในสัญญา 9 ปี

"ฉันต้องจ่ายเงินให้เจ้าของ เดือนละ 90,000 บาท และสามารถขายสัญญาช่วงให้คนอื่นได้ เชื่อไหมว่า ถ้าเป็นปีที่แล้ว ฉันขายต่อสัญญาโรงแรมนี้ให้ชาวจีนคนอื่นได้ถึง 2.5 ล้านบาทเลยทีเดียว" เสี่ยว เหมย อธิบาย

แต่ถ้าสถานการณ์ที่แทบไม่มีลูกค้าแบบนี้ เธอคิดว่าคงต้องยกเลิกสัญญา ซึ่งต้องจ่ายค่าผิดสัญญาให้เจ้าของคนไทย คิดเป็นค่าเช่า 3 เดือน หรือ 270,000 บาท "ถ้าไม่ทำแล้ว ฉันคิดว่าจะไปลองทำธุรกิจในเวียดนามดูบ้าง" เธอ ระบุ

โรงแรมในภูเก็ตที่เปิดเพื่อต้อนรับลูกค้าชาวจีนโดยเฉพาะมีอยู่หลายแห่ง เสี่ยว เหมย เปิดเผยว่า แค่ในพื้นที่นี้ มีโรงแรมแบบเธอไม่ต่ำกว่า 70 แห่ง แต่ละแห่งมีห้องพัก 10-20 ห้อง เจ้าของคนไทยของเธอยังปล่อยเช่าโรงแรมแถวนี้อีกเกือบ 10 แห่งด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่แค่เธอที่ประสบปัญหาไม่มีลูกค้าเข้าพัก เพราะโรงแรมเกือบทั้งหมดในพื้นที่ ก็เจอกับความบอบช้ำเดียวกัน

เข้าข่ายแย่งธุรกิจโรงแรมคนไทยหรือไม่?

ศิริพงษ์ อันติมานนท์ ทนายความและที่ปรึกษาด้านการทำธุรกิจในภูเก็ต อธิบายกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า กรณีคนจีนทำสัญญาเช่าโรงแรมคนไทยมาทำต่อ ในแง่การทำสัญญานั้นไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากมองว่า มาแย่งธุรกิจคนไทยทำหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบ คือ

1) คนจีนรายนั้นจดทะเบียนบริษัทเพื่อทำธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งชาวต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ส่วนการที่เจ้าของคนไทยทำสัญญาเก็บค่าเช่าคนจีนนั้น ถือเป็นข้อตกลงในสัญญาของทั้งสองฝ่าย

2) การที่เสี่ยว เหมย บอกว่า สามารถขายต่อสัญญาให้คนอื่นมาทำโรงแรมต่อได้นั้น เป็นกระบวนการทางกฎหมาย เรียกว่า "การเช่าช่วง" คือ การที่ผู้เช่าเอาทรัพย์สินที่ตนเช่ามาจากผู้ให้เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าต่อ (จากคำบรรยายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยเช่าทรัพย์ โดยสำเรียง เมฆเกรียงไกร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

3) เจ้าของโรงแรมคนไทย ได้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมเรียบร้อยหรือไม่ แต่ส่วนนี้มีช่องว่างทางกฎหมายว่า แม้จะยังไม่มีใบอนุญาตฯ แต่หากยื่นต่อที่ว่าการอำเภอในท้องที่ เพื่อให้มีสถานะว่า "กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตฯ" จะสามารถดำเนินกิจการโรงแรมต่อไปได้

นายอำเภอไม่คุ้น

สมปราชญ์ ปราบสงคราม นายอำเภอกะทู้ ที่มีพื้นที่ดูแลครอบคลุมถึงหาดป่าตอง และละแวกนี้ด้วย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ชื่อไชนาทาวน์นั้น ใครจะเรียกก็ได้ แต่มองว่าตั้งชื่อนี้ เพื่อให้จำง่าย และบอกกล่าวในหมู่ชาวจีนด้วยกัน

"ผมไม่เคยเห็นย่านนี้กับตาตัวเองนะ แต่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะ" สมปราชญ์ กล่าวทางโทรศัพท์

นายอำเภอสมปราชญ์ อ้างอิงถึง มติประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อกลางเดือน ส.ค. พร้อมยอมรับว่า ในพื้นที่ดูแลของอำเภอกะทู้เอง มีหลายโรงแรมที่มีสถานะ อยู่ระหว่างการดำเนินการขอใบอนุญาต แต่ยืนกรานว่า หากพ้นเส้นตายปี 2564 ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย สำหรับโรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตต่อไป

สังคมออนไลน์จีน รายงานข่าวด้านลบถึงไทยต่อเนื่อง

เสี่ยว เหมย เปิดโซเชียลมีเดียจีน เว่ยป๋อ (Weibo) ให้บีบีซีไทยดู เมื่อค้นหาคำว่า "ไทย" ก็พบหัวข้อมากมาย ที่เธอแปลให้ฟังมีทั้ง ไทยทำร้ายนักท่องเที่ยวจีน, อย่ามาประเทศไทย, ระวัง ไทยอันตราย ฯลฯ

เธอเปิดหน้าหนึ่งของสำนักข่าวออนไลน์จีน ที่เผยแพร่วิดีโอฉีดยาฆ่ายุงลายในภูเก็ต พร้อมคำอธิบายว่า "มาไทยระวังยุงกัด เป็นไข้เลือดออก ตายแล้ว 69 คน" ซึ่งเสี่ยว เหมย เล่าว่า มีข่าวลักษณะนี้เกี่ยวกับไทย แทบจะทุกวัน คอมเม้นต์ของชาวจีนนั้น ก็รุนแรงมาก

ธิติ ตัณฑวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี เอ็กซ์เคอร์ชัน ผู้ให้บริการด้านท่องเที่ยวในภูเก็ต ไม่แปลกใจที่ชาวเน็ตจีน เริ่มบอยคอตไทย เพราะข่าวการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวจีน ข่าวในเชิงลบ มีกระแสและรายงานในสื่อจีนอย่างต่อเนื่อง

"นักท่องเที่ยวไม่ว่าคนไทย คนจีน ไปที่ไหนที่เขารู้สึกสบายใจ ต้อนรับเขา เขาก็อยากมา" เขา ระบุ

ธิติ เปิดเผยว่า ช่วงแรกที่คนจีนนิยมมาท่องเที่ยวในภูเก็ต ผู้ประกอบการบางราย พาทัวร์จีนไปซื้อของที่แพงเกินจีน หรือเข้าข่ายบังคับขาย รวมถึงถูกจำกัดให้อยู่แต่ในโรงแรมที่ห่างไกล ที่กินที่เที่ยวที่ทัวร์จัดไว้ให้เท่านั้น พอนานวันไป เกิดการบอกเล่าบอกต่อ สื่อจีนก็รายงานข่าว ทำให้คนจีนรู้เท่าทันผู้ประกอบการไทยใจไม่ซื่อ จนพวกเขารู้สึกโดนเอาเปรียบ

อ่าวมาหยาปิดต่อ - จำกัดคนเข้าสิมิลัน ท่องเที่ยวภูเก็ตยิ่งช้ำ

จากกรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเข้าหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ ไม่เกิน 3,325 คนต่อวัน นายธิติ มองว่าเคาน์เตอร์ทัวร์ตามถนนจะขายทัวร์ไม่ได้เลย เพราะตามเงื่อนไข ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ทำให้ขายทัวร์ล่วงหน้า 1-2 วันเหมือนเก่าไม่ได้ เอเจนซีจีนจะไม่อยากส่งนักท่องเที่ยวมา นักท่องเที่ยวจีนก็จะเลือกไปที่อื่นเลย

ธิติกล่าวอีกว่า มาตรการจำกัดนักท่องเที่ยว จะทำให้บริษัทนำเที่ยวได้โควตาพานักท่องเที่ยวไปหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ เหลือแค่ 60-80 คน แปลว่าบริษัทหนึ่งใช้เรือแค่ 1-2 ลำก็เพียงพอแล้ว เรือที่เหลืออยู่แทบไม่ต้องใช้กันเลย กลายเป็นภาระต่อผู้ประกอบการมากขึ้นอีก

"แล้วล่าสุด ที่จะปิดอ่าวมาหยาต่อแบบไม่มีกำหนด กลายเป็นให้คำตอบกับนักท่องเที่ยวที่จะมาไม่ได้ บริษัททัวร์ต่าง ๆ ขายโปรแกรมไม่ได้" ธิติ พูดถึงประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ลงวันที่ 1 ตุลาคม ที่ขยายระยะเวลาปิดอ่าวมาหยาต่อแบบไร้กำหนด จากเดิมที่ปิด 4 เดือน จาก 1 มิถุนายน - 30 กันยายน2561

กรีนพีชหนุนปิดอ่าวมาหยาต่อ

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับบีบีซีไทย สนับสนุนการปิดอ่าวมาหยาอย่างไม่มีกำหนดโดยมองว่า เป็นเรื่องที่ดีเพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญ ซึ่งการปิดอย่างไม่มีกำหนดนั้น จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมและจัดระเบียบการท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต

"ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะมีมาตรการแบบนี้ เพราะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในหลายประเทศทั่วโลก ก็ทำแบบนี้ เราไม่ควรเอาเงินเป็นตัวตั้ง ผลประโยชน์ระยะสั้น แต่ควรพิจารณาการสร้างคุณค่าและการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน" ธารา ระบุ เพราะหากสถานที่ท่องเที่ยวทรุดโทรม จะไม่มีใครอยากมาเที่ยวอีกต่อไป ส่วนกรณีการจำกัดโควตานักท่องเที่ยวสิมิลันนั้น เขายอมรับว่า เป็นอีกพัฒนาการที่ดีเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการกรีนพีชในไทย ชี้ว่า ก่อนจะออกมาตรการใดๆ ทางการควรหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจ ไม่เพียงแค่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว แต่รวมถึงชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่