นิทานก่อนนอน
เรื่อง แค้นของนางนกไส้ (ภาคแยกของเรื่อง สิ้นแผ่นดิน ไม่สิ้นแค้น)
เมื่อภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เกิดความแตกร้าว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปเพื่อทำให้ภิกษุเหล่านั้นสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาท และตรัสเล่าเรื่องนางนกไส้ กับพญาช้าง ดังนั้นสมควรนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้าง เจริญวัยแล้วมีร่างกายใหญ่น่าเลื่อมใส เป็นจ่าโขลงมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่ในหิมวันตประเทศ.
ครั้งนั้น นางนกไส้ตัวหนึ่งตกฟองไข่ไว้ในที่ทางผ่านของพวกช้าง ลูกนกทั้งหลายทำลายฟองไข่ที่แก่ ๆ ออกมา เมื่อลูกนกเหล่านั้นปีกยังไม่งอกไม่สามารถจะบินได้เลย พระมหาสัตว์มีช้างแปดหมื่นห้อมล้อม เที่ยวหาอาหารไปถึงดินแดนแถบนั้น.
นางนกไส้เห็นดังนั้น เกิดความกังวลใจว่า พระยาช้างนี้จะเหยียบย่ำลูกน้อยของเราตาย เอาเถอะ เราจะขอการอารักขาโดยธรรมจากพระยาช้างนั้น เพื่อจะป้องกันลูกน้อยทั้งหลายของเรา ครั้นคิดแล้ว นางนกนั้นจึงประคองปีกทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน แล้วยืนอยู่ข้างหน้าพระยาช้างนั้น กล่าวว่า
ข้าพเจ้าขอไหว้พระยาช้างผู้มีกำลังเสื่อมเมื่อมีอายุได้ ๖๐ ปี ผู้อยู่ในป่า เป็นเจ้าโขลง เพรียบพร้อมด้วยบริวารยศนั้น ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้าผู้มีกำลังอ่อนอยู่เลย.
พระมหาสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนนางนกไส้ เจ้าอย่าได้กังวลใจไปเลย เราจะรักษาบุตรน้อย ๆ ของเจ้าเอง แล้วจึงยืนคร่อมอยู่เบื้องบนลูกนกทั้งหลาย เมื่อช้างแปดหมื่นเชือกผ่านไปแล้วจึงเรียกนางนกไส้มากล่าวว่า ดูก่อนนางนกไส้ มีช้างเชือกหนึ่งซึ่งปกติเที่ยวไปผู้เดียว จะมาข้างหลังพวกเรา ช้างนั้นจะไม่กระทำตามคำของเรา เมื่อช้างนั้นมาถึง เจ้าพึงอ้อนวอนช้างนั้น เพื่อป้องกันภัยแก่ลูกน้อยทั้งหลายของเจ้าเถิด กล่าวดังนี้แล้วก็หลีกไป.
ฝ่ายนางนกไส้นั้นเห็นช้างเชือกหนึ่ง ก็กระทำการต้อนรับช้างนั้น เอาปีกทั้งสองกระทำอัญชลี แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอไหว้พระยาช้างผู้เที่ยวไปผู้เดียว ผู้อยู่ในป่า เที่ยวหาอาหารกินตามเชิงเขา ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้า ซึ่งยังมีกำลังอ่อนแออยู่เลย
พระยาช้างนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงกล่าวว่า แน่ะนางนกไส้ เจ้าวางลูกน้อยขวางทางเดินของเรา เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้าเสีย เจ้ามีกำลังน้อยจะทำอะไรเราได้ เราจะขยี้นกไส้อย่างเจ้าตั้งแสนตัวให้ละเอียดด้วยเท้าข้างซ้ายของเรานี่แหละ
ครั้นช้างนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เหยียบย่ำลูกน้อยของนางนกไส้นั้นให้แหลกละเอียดคาเท้า แล้วถ่ายน้ำมูตรลงบนซากของลูกนกไส้นั้น ร้องบันลือเสียงลั่นป่า แล้วก็หลีกไป.
นางนกไส้จับอยู่ที่กิ่งไม้จึงกล่าวว่า แน่ะช้าง บัดนี้ เจ้าจงบันลือไปก่อน แต่เมื่อผ่านไป ๒-๓ วัน เจ้าจะได้เห็นการกระทำของเรา เจ้าย่อมไม่รู้ว่ากำลังสติปัญญายิ่งใหญ่กว่ากำลังกายมากมายนัก เพราะกำลังกายของคนพาลย่อมมีไว้เพื่อฆ่าคนอื่นเท่านั้น แน่ะพระยาช้าง ผู้ใดฆ่าลูกน้อย ๆ ของเราซึ่งมีกำลังอ่อนแอ เราจักทำความพินาศให้แก่มันผู้นั้น. พระยาช้าง เจ้าจงคอยดูไปเถิด เราจะให้เจ้ารู้จักกำลังความรู้นั้น
นางนกไส้นั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปอุปัฏฐากกาตัวหนึ่งอยู่ ๒-๓ วัน
กานั้นเกิดความยินดี ถามว่า นางนกไส้ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก เราจะกระทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง ขอให้บอกมาเถิด เรายินดีกระทำให้แก่ท่าน
นางนกไส้ ได้เล่าเรื่องที่ช้างเหยียบลูกของตนให้กาทราบ แล้วกล่าวว่า นาย เรื่องที่ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านนั้นมิได้ยากเย็นดอก เพียงหวังให้ท่านเอาจะงอยปากจิกนัยน์ตาทั้งสองข้าง ของช้างที่ปกติเที่ยวไปผู้เดียวเชือกหนึ่งให้แตกท่านั้น
นางกา รับคำว่า ได้สิ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นอันว่า เราจะกระทำตามที่ท่านขอ
นางนกไส้ฟังดังนั้นกล่าวขอบคุณอยู่พักหนึ่ง จากนั้นเข้าไปอุปัฏฐากแมลงวันหัวเขียวตัวหนึ่งอีก
แมลงวันหัวเขียวก็ถามว่า นางนกไส้ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก เราจะทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง ขอให้ท่านบอกมาเถิด
นางนกไส้จึงเล่าเรื่องที่ช้างเหยียบลูกของตน พร้อมทั้งเรื่องที่ตนวิงวอนขอความช่วยเหลือจากกา จากนั้นจึงกล่าวว่า นาย เมื่อนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างที่ปกติเที่ยวไปผู้เดียว แตกไปเพราะกาแล้ว ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านหยอดไข่ขังลงในนัยน์ตาทั้งสองข้างนั้น
แมลงวันหัวเขียวนั้นรับคำว่า ได้
นางนกไส้เมื่อฟังว่าแมลงวันหัวเขียวรับปากช่วยเหลือ ก็ดำเนินแผนขั้นต่อไปโดยเข้าไปอุปัฏฐากกบตัวหนึ่ง
กบนั้นถามว่า นางนกไส้ ท่านมีอุปการะแก่เราเช่นนี้ เราสามารถทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง ท่านจงบอกมาเถิด เรายินดีทำให้แก่ท่าน
นางนกไส้ได้เล่าเรื่องที่ลูกตนถูกช้างพาลเหยียบตาย พร้อมทั้งเล่าแผนในการแก้แค้นช้างนั้นแก่กบฟังทั้งหมด จากนั้นกล่าวว่า เมื่อช้างเชือกนั้นตาบอดแล้ว เที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ท่านพึงเกาะอยู่ที่ยอดเขาแล้วส่งเสียงร้อง เมื่อช้างนั้นเดินขึ้นไปถึงยอดเขา พึงลงมาส่งเสียงร้องอยู่ที่เหว ข้าพเจ้าหวังให้ท่านกระทำเพียงเท่านี้
กบนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงรับคำว่า ได้
ต่อมาวันหนึ่งกาได้โอกาส จึงเอาจะงอยปากจิกทำลายตาทั้งสองข้างของช้างแตก จากนั้นแมลงวันจึงหยดไข่ขังลงไปที่นัยน์ตา ช้างนั้นถูกตัวหนอนทั้งหลายชอนไชอยู่ ได้รับทุกข์ทรมานอยากจะดื่มน้ำเป็นกำลัง จึงเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม. ในกาลนั้น กบจึงเกาะอยู่บนยอดเขาส่งเสียงร้อง ช้างคิดว่า น้ำดื่มจักมี ณ ที่นี้ จึงขึ้นไปยังภูเขา.
กบเมื่อเห็นว่าแผนดำเนินไปตามขั้นตอนทุกอย่าง จึงลงมาเกาะอยู่ที่เหวส่งเสียงร้อง. ช้างคิดว่า น้ำดื่มคงมีในที่นี้ จึงบ่ายหน้าไปทางเหว ได้ลื่นพลัดตกลงไปที่เชิงเขาสิ้นชีวิตลง
นางนกไส้รู้ว่าช้างนั้นตายแล้ว จึงร่าเริงดีใจว่าเราเห็นหลังปัจจามิตรแล้ว จึงเดินไป ๆ มา ๆ บนร่างของช้างนั้น เปล่งเสียงอันดังลั่นต่อซากศพของช้างนั้นว่า พระยาช้าง เจ้าเห็นเรามีกำลังน้อย จึงได้คุกคามเยียบย่ำทำลายลูกน้อยของเรา วันนี้เจ้าได้เห็นแล้วมิใช่หรือว่า แม้เราตัวน้อย ก็ยังสามารถฆ่าเจ้าได้ เมื่อนางนกไส้กล่าวพอสาแก่ใจแล้ว ก็บินหลีกไป
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเวร ไม่ควรทำกับใคร ๆ สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ ร่วมกันแล้ว ทำช้างผู้มีกำลังมหาศาล ให้ถึงความสิ้นชีวิตได้ แล้วตรัสอภิสัมพุทธคาถาว่า
ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ กาและแมลงวันหัวเขียว สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ได้ร่วมใจกันฆ่าช้างเสียได้ ท่านทั้งหลายจงเห็นคติแห่งเวรของคนผู้มีเวรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายอย่าพึงกระทำเวรกับใคร ๆ แม้ผู้ไม่เป็นที่รักใคร่เลย
จบเรื่อง แค้นของนางนกไส้
ประเด็นน่าสนใจ
๑ นกไส้ กา กบ และแมลงวันหัวเขียว เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กน้อยกระจ้อยร่อย แต่เมื่อทั้งหมดรวมพลังกัน และแม้ว่าอาจมิใช่การสามัคคีกันโดยตรง แต่ทั้งหมดรู้หน้าที่ที่ต้องทำ ทำตามความสามารถความถนัดของตน ก็บันดาลให้พระยาช้างตัวใหญ่ผู้มีกำลังมหาศาลถึงความสิ้นชีวิตลงได้ ความสามัคคีจึงเป็นพลังที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ได้
๒ หากล่าวถึงเรื่องกำลัง กำลังกายถือเป็นกำลังชั้นต่ำสุด กำลังความรู้สูงกว่ากำลังกาย กำลังความคิดสูงกว่ากำลังความรู้ กำลังความดีสูงกว่ากำลังความคิด กำลังบุญสูงกว่ากำลังความดี แต่กำลังแห่งวิบากครอบงำกำลังทั้งหมดได้ หากสามารถมีกำลังทั้งหมดได้นั่นเป็นการดี แต่หากไม่สามารถ อย่างน้อยควรมีกำลังความดี และกำลังบุญ ส่วนกำลังแห่งวิบากเป็นกำลังของวัฏฏสงสาร จะตัดกำลังของวัฏฏะต้องเข้าพระนิพพาน จะข้ามพ้นวัฏฏะเข้าพระนิพพานตามแต่เห็นสมควรเถิด
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนไตร
นิทานก่อนนอน เรื่อง แค้นของนางนกไส้
เรื่อง แค้นของนางนกไส้ (ภาคแยกของเรื่อง สิ้นแผ่นดิน ไม่สิ้นแค้น)
เมื่อภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เกิดความแตกร้าว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปเพื่อทำให้ภิกษุเหล่านั้นสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ครั้งนั้น พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาท และตรัสเล่าเรื่องนางนกไส้ กับพญาช้าง ดังนั้นสมควรนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดช้าง เจริญวัยแล้วมีร่างกายใหญ่น่าเลื่อมใส เป็นจ่าโขลงมีช้างแปดหมื่นเป็นบริวาร อยู่ในหิมวันตประเทศ.
ครั้งนั้น นางนกไส้ตัวหนึ่งตกฟองไข่ไว้ในที่ทางผ่านของพวกช้าง ลูกนกทั้งหลายทำลายฟองไข่ที่แก่ ๆ ออกมา เมื่อลูกนกเหล่านั้นปีกยังไม่งอกไม่สามารถจะบินได้เลย พระมหาสัตว์มีช้างแปดหมื่นห้อมล้อม เที่ยวหาอาหารไปถึงดินแดนแถบนั้น.
นางนกไส้เห็นดังนั้น เกิดความกังวลใจว่า พระยาช้างนี้จะเหยียบย่ำลูกน้อยของเราตาย เอาเถอะ เราจะขอการอารักขาโดยธรรมจากพระยาช้างนั้น เพื่อจะป้องกันลูกน้อยทั้งหลายของเรา ครั้นคิดแล้ว นางนกนั้นจึงประคองปีกทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน แล้วยืนอยู่ข้างหน้าพระยาช้างนั้น กล่าวว่า
ข้าพเจ้าขอไหว้พระยาช้างผู้มีกำลังเสื่อมเมื่อมีอายุได้ ๖๐ ปี ผู้อยู่ในป่า เป็นเจ้าโขลง เพรียบพร้อมด้วยบริวารยศนั้น ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้าผู้มีกำลังอ่อนอยู่เลย.
พระมหาสัตว์กล่าวว่า ดูก่อนนางนกไส้ เจ้าอย่าได้กังวลใจไปเลย เราจะรักษาบุตรน้อย ๆ ของเจ้าเอง แล้วจึงยืนคร่อมอยู่เบื้องบนลูกนกทั้งหลาย เมื่อช้างแปดหมื่นเชือกผ่านไปแล้วจึงเรียกนางนกไส้มากล่าวว่า ดูก่อนนางนกไส้ มีช้างเชือกหนึ่งซึ่งปกติเที่ยวไปผู้เดียว จะมาข้างหลังพวกเรา ช้างนั้นจะไม่กระทำตามคำของเรา เมื่อช้างนั้นมาถึง เจ้าพึงอ้อนวอนช้างนั้น เพื่อป้องกันภัยแก่ลูกน้อยทั้งหลายของเจ้าเถิด กล่าวดังนี้แล้วก็หลีกไป.
ฝ่ายนางนกไส้นั้นเห็นช้างเชือกหนึ่ง ก็กระทำการต้อนรับช้างนั้น เอาปีกทั้งสองกระทำอัญชลี แล้วกล่าวว่า ข้าพเจ้าขอไหว้พระยาช้างผู้เที่ยวไปผู้เดียว ผู้อยู่ในป่า เที่ยวหาอาหารกินตามเชิงเขา ข้าพเจ้าขอทำอัญชลีท่านด้วยปีกทั้งสอง ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อย ๆ ของข้าพเจ้า ซึ่งยังมีกำลังอ่อนแออยู่เลย
พระยาช้างนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงกล่าวว่า แน่ะนางนกไส้ เจ้าวางลูกน้อยขวางทางเดินของเรา เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้าเสีย เจ้ามีกำลังน้อยจะทำอะไรเราได้ เราจะขยี้นกไส้อย่างเจ้าตั้งแสนตัวให้ละเอียดด้วยเท้าข้างซ้ายของเรานี่แหละ
ครั้นช้างนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เหยียบย่ำลูกน้อยของนางนกไส้นั้นให้แหลกละเอียดคาเท้า แล้วถ่ายน้ำมูตรลงบนซากของลูกนกไส้นั้น ร้องบันลือเสียงลั่นป่า แล้วก็หลีกไป.
นางนกไส้จับอยู่ที่กิ่งไม้จึงกล่าวว่า แน่ะช้าง บัดนี้ เจ้าจงบันลือไปก่อน แต่เมื่อผ่านไป ๒-๓ วัน เจ้าจะได้เห็นการกระทำของเรา เจ้าย่อมไม่รู้ว่ากำลังสติปัญญายิ่งใหญ่กว่ากำลังกายมากมายนัก เพราะกำลังกายของคนพาลย่อมมีไว้เพื่อฆ่าคนอื่นเท่านั้น แน่ะพระยาช้าง ผู้ใดฆ่าลูกน้อย ๆ ของเราซึ่งมีกำลังอ่อนแอ เราจักทำความพินาศให้แก่มันผู้นั้น. พระยาช้าง เจ้าจงคอยดูไปเถิด เราจะให้เจ้ารู้จักกำลังความรู้นั้น
นางนกไส้นั้นครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปอุปัฏฐากกาตัวหนึ่งอยู่ ๒-๓ วัน
กานั้นเกิดความยินดี ถามว่า นางนกไส้ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก เราจะกระทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง ขอให้บอกมาเถิด เรายินดีกระทำให้แก่ท่าน
นางนกไส้ ได้เล่าเรื่องที่ช้างเหยียบลูกของตนให้กาทราบ แล้วกล่าวว่า นาย เรื่องที่ข้าพเจ้าขอวิงวอนท่านนั้นมิได้ยากเย็นดอก เพียงหวังให้ท่านเอาจะงอยปากจิกนัยน์ตาทั้งสองข้าง ของช้างที่ปกติเที่ยวไปผู้เดียวเชือกหนึ่งให้แตกท่านั้น
นางกา รับคำว่า ได้สิ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นอันว่า เราจะกระทำตามที่ท่านขอ
นางนกไส้ฟังดังนั้นกล่าวขอบคุณอยู่พักหนึ่ง จากนั้นเข้าไปอุปัฏฐากแมลงวันหัวเขียวตัวหนึ่งอีก
แมลงวันหัวเขียวก็ถามว่า นางนกไส้ ท่านเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก เราจะทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง ขอให้ท่านบอกมาเถิด
นางนกไส้จึงเล่าเรื่องที่ช้างเหยียบลูกของตน พร้อมทั้งเรื่องที่ตนวิงวอนขอความช่วยเหลือจากกา จากนั้นจึงกล่าวว่า นาย เมื่อนัยน์ตาทั้งสองข้างของช้างที่ปกติเที่ยวไปผู้เดียว แตกไปเพราะกาแล้ว ข้าพเจ้าปรารถนาให้ท่านหยอดไข่ขังลงในนัยน์ตาทั้งสองข้างนั้น
แมลงวันหัวเขียวนั้นรับคำว่า ได้
นางนกไส้เมื่อฟังว่าแมลงวันหัวเขียวรับปากช่วยเหลือ ก็ดำเนินแผนขั้นต่อไปโดยเข้าไปอุปัฏฐากกบตัวหนึ่ง
กบนั้นถามว่า นางนกไส้ ท่านมีอุปการะแก่เราเช่นนี้ เราสามารถทำอะไรให้แก่ท่านได้บ้าง ท่านจงบอกมาเถิด เรายินดีทำให้แก่ท่าน
นางนกไส้ได้เล่าเรื่องที่ลูกตนถูกช้างพาลเหยียบตาย พร้อมทั้งเล่าแผนในการแก้แค้นช้างนั้นแก่กบฟังทั้งหมด จากนั้นกล่าวว่า เมื่อช้างเชือกนั้นตาบอดแล้ว เที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม ท่านพึงเกาะอยู่ที่ยอดเขาแล้วส่งเสียงร้อง เมื่อช้างนั้นเดินขึ้นไปถึงยอดเขา พึงลงมาส่งเสียงร้องอยู่ที่เหว ข้าพเจ้าหวังให้ท่านกระทำเพียงเท่านี้
กบนั้นได้ฟังคำของนางนกไส้นั้นแล้ว จึงรับคำว่า ได้
ต่อมาวันหนึ่งกาได้โอกาส จึงเอาจะงอยปากจิกทำลายตาทั้งสองข้างของช้างแตก จากนั้นแมลงวันจึงหยดไข่ขังลงไปที่นัยน์ตา ช้างนั้นถูกตัวหนอนทั้งหลายชอนไชอยู่ ได้รับทุกข์ทรมานอยากจะดื่มน้ำเป็นกำลัง จึงเที่ยวแสวงหาน้ำดื่ม. ในกาลนั้น กบจึงเกาะอยู่บนยอดเขาส่งเสียงร้อง ช้างคิดว่า น้ำดื่มจักมี ณ ที่นี้ จึงขึ้นไปยังภูเขา.
กบเมื่อเห็นว่าแผนดำเนินไปตามขั้นตอนทุกอย่าง จึงลงมาเกาะอยู่ที่เหวส่งเสียงร้อง. ช้างคิดว่า น้ำดื่มคงมีในที่นี้ จึงบ่ายหน้าไปทางเหว ได้ลื่นพลัดตกลงไปที่เชิงเขาสิ้นชีวิตลง
นางนกไส้รู้ว่าช้างนั้นตายแล้ว จึงร่าเริงดีใจว่าเราเห็นหลังปัจจามิตรแล้ว จึงเดินไป ๆ มา ๆ บนร่างของช้างนั้น เปล่งเสียงอันดังลั่นต่อซากศพของช้างนั้นว่า พระยาช้าง เจ้าเห็นเรามีกำลังน้อย จึงได้คุกคามเยียบย่ำทำลายลูกน้อยของเรา วันนี้เจ้าได้เห็นแล้วมิใช่หรือว่า แม้เราตัวน้อย ก็ยังสามารถฆ่าเจ้าได้ เมื่อนางนกไส้กล่าวพอสาแก่ใจแล้ว ก็บินหลีกไป
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าเวร ไม่ควรทำกับใคร ๆ สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ ร่วมกันแล้ว ทำช้างผู้มีกำลังมหาศาล ให้ถึงความสิ้นชีวิตได้ แล้วตรัสอภิสัมพุทธคาถาว่า
ท่านจงดูกา นางนกไส้ กบ กาและแมลงวันหัวเขียว สัตว์ทั้ง ๔ เหล่านี้ได้ร่วมใจกันฆ่าช้างเสียได้ ท่านทั้งหลายจงเห็นคติแห่งเวรของคนผู้มีเวรทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายอย่าพึงกระทำเวรกับใคร ๆ แม้ผู้ไม่เป็นที่รักใคร่เลย
จบเรื่อง แค้นของนางนกไส้
ประเด็นน่าสนใจ
๑ นกไส้ กา กบ และแมลงวันหัวเขียว เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กน้อยกระจ้อยร่อย แต่เมื่อทั้งหมดรวมพลังกัน และแม้ว่าอาจมิใช่การสามัคคีกันโดยตรง แต่ทั้งหมดรู้หน้าที่ที่ต้องทำ ทำตามความสามารถความถนัดของตน ก็บันดาลให้พระยาช้างตัวใหญ่ผู้มีกำลังมหาศาลถึงความสิ้นชีวิตลงได้ ความสามัคคีจึงเป็นพลังที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จอันน่าอัศจรรย์ได้
๒ หากล่าวถึงเรื่องกำลัง กำลังกายถือเป็นกำลังชั้นต่ำสุด กำลังความรู้สูงกว่ากำลังกาย กำลังความคิดสูงกว่ากำลังความรู้ กำลังความดีสูงกว่ากำลังความคิด กำลังบุญสูงกว่ากำลังความดี แต่กำลังแห่งวิบากครอบงำกำลังทั้งหมดได้ หากสามารถมีกำลังทั้งหมดได้นั่นเป็นการดี แต่หากไม่สามารถ อย่างน้อยควรมีกำลังความดี และกำลังบุญ ส่วนกำลังแห่งวิบากเป็นกำลังของวัฏฏสงสาร จะตัดกำลังของวัฏฏะต้องเข้าพระนิพพาน จะข้ามพ้นวัฏฏะเข้าพระนิพพานตามแต่เห็นสมควรเถิด
พบกันใหม่โอกาสหน้า
ราตรีสวัสดิ์พระรัตนไตร