ตรวจสอบบุตรหลานตนเองได้

สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) คือ โรคขาดสมาธิในการจดจ่อตั้งใจทำสิ่งใดให้สำเร็จ ขี้ลืม ไม่ใส่ใจคำสั่ง อยู่ไม่นิ่ง ไม่ชอบอยู่กับที่ ไม่อดทน หุนหันพลันแล่น โดยผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 3-6 ปี โดยอาการจะแสดงออกอย่างชัดเจนและวินิจฉัยได้ในช่วงอายุ 6-12 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียน ต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เริ่มสื่อสารและเข้าสังคม


ด้านสถิติประเทศไทย จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 จำนวนกว่า 7,800 คน ในปี 2555 พบว่าความชุกของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ที่ 8.1% โดยพบมากที่สุดในเด็กระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงในอัตราส่วน 3:1

ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคสมาธิสั้น และแม้ว่าเด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมน่าสงสัยที่เข้าข่ายโรคสมาธิสั้น แต่อาจเป็นเพียงพัฒนาการตามช่วงวัยเท่านั้น ซึ่งเด็กที่มีพฤติกรรมตามวัย อย่างซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่เชื่อฟัง หากไม่ได้มีอาการตามเกณฑ์วินิจฉัยของโรคสมาธิสั้น แสดงว่าเด็กไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น อาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อโตขึ้นหรือเมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่อาการของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะยังคงอยู่ต่อไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ และเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างเหมาะสม

อาการของสมาธิสั้น

อาการของผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นอาจยังคงอยู่ตลอดจนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยรูปแบบอาการอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อยตามวัย และตามการรักษาดูแลที่ผู้ป่วยได้รับ หรืออาจยังมีบางอาการที่ยังคงอยู่และกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

การแสดงพฤติกรรมของโรคสมาธิสั้นมี 2 รูปแบบหลัก คือ การขาดสมาธิในการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใด และการอยู่ไม่นิ่งและมีความหุนหันพลันแล่น โดยเด็กอาจมีพฤติกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มักปรากฏพฤติกรรมทั้ง 2 รูปแบบรวมกัน โดยพฤติกรรมเหล่านั้นจะเป็นอุปสรรคที่ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน การเข้าสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

อาการที่พบในเด็กและวัยรุ่น
ด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ
ไม่ตั้งใจฟัง ไม่สนใจในขณะที่มีคนพูดด้วย
ไม่ทำอะไรไปตามขั้นตอน ชอบทำอะไรง่าย ๆ รวบรัด
ไม่ชอบทำอะไรเป็นเวลานาน ๆ มักเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
ไม่ชอบเรียนรู้เรื่องที่ต้องใช้เวลา เช่น การอ่านเรื่องยาว ๆ
มองข้ามเรื่องสำคัญ ไม่ใส่ใจรายละเอียด จนเกิดความผิดพลาดบ่อย ๆ
มักลืมอุปกรณ์เครื่องใช้หรือสิ่งของจำเป็น เช่น ลืมดินสอ ยางลบ ปากกา หนังสือ ตอนมาโรงเรียน
มักลืมสิ่งที่ต้องทำหรือที่ได้รับมอบหมาย เช่น ลืมทำการบ้าน ลืมการนัดหมาย
วอกแวกง่ายเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น หรือมีความคิดอื่นมากระตุ้นในขณะทำกิจกรรมใด ๆ อยู่
จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น เรียงลำดับสิ่งที่ควรทำไม่ได้
บริหารจัดการเวลาได้ไม่ดี ไม่สามารถทำงานเสร็จตามกำหนดการ
หลีกเลี่ยงและไม่ชอบงานที่ต้องใช้ความพยายามมาก ๆ อย่างการทำการบ้าน การเขียนรายงานหรือเรียงความ
มีปัญหากับการทำงานตามกำหนด หรือการเรียน การเล่น กิจกรรมอะไรก็ตามที่ต้องทำตามกฎระเบียบหรือกรอบคำสั่ง

ด้านการตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น
พูดมาก พูดไม่หยุด
นั่งนิ่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ
ว่องไว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
มีปัญหาเกี่ยวกับการรอ ไม่ชอบการรอคอย
ลุกออกจากที่นั่งบ่อย ๆ ในสถานการณ์ที่ควรนั่ง เช่น ขณะกำลังอยู่ในชั้นเรียน ขณะอยู่ที่ทำงาน
ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย จนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์
ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกได้เงียบ ๆ ตามลำพัง
พูดโต้ตอบสวนขึ้นมาในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดหรือถามไม่จบ ไม่รอให้ผู้อื่นพูดจบแล้วค่อยพูด
พูดแทรกหรือรบกวนในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดหรือทำกิจกรรมใด ๆ อยู่

อาการที่พบในผู้ใหญ่
ประมาทเลินเล่อ ขาดความใส่ใจในรายละเอียด
ขี้หลงขี้ลืม
ร้อนรน กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
รอามณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ใจร้อน ไม่มีความอดทน
ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ประมาท ขับรถเร็ว
ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ หรือจัดการได้ไม่ดี
ชอบพูดโพล่งออกมา ไม่ชอบการทนอยู่เงียบ ๆ
พูดแทรก ไม่รอให้ถึงจังหวะหรือลำดับของตนเอง
มักทำงานผิดพลาดอยู่เสมอ
มีปัญหาเรื่องการจัดการ การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา
มักเริ่มทำงานใหม่โดยที่ยังไม่ได้ทำงานเดิมให้สำเร็จลุล่วง

สาเหตุของสมาธิสั้น

ปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กำลังมีการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นเหตุให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นจากหลายปัจจัยเหล่านี้รวมกัน ได้แก่

พันธุกรรม ผลการค้นคว้าชี้ว่า ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักมีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่โรคสมาธิสั้นจะส่งต่อกันผ่านทางพันธุกรรม

โครงสร้างสมอง อาจเป็นโครงสร้างแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่ในครรภ์ หรือในช่วงที่เป็นเด็กเล็ก
จากการสแกนสมองคนทั่วไปเทียบกับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น พบว่าพื้นที่บางส่วนของสมองผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีขนาดเล็กกว่า และบางส่วนก็มีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งการขาดความสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคสมาธิสั้น

การตั้งครรภ์และการคลอด ผู้เป็นแม่อาจสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์ หรืออาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ และเต็มไปด้วยมลภาวะ จึงรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกายจนมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมไปถึงการคลอดก่อนกำหนด และการมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ

สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ ผู้ป่วยอาจได้รับสารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกายในขณะที่ยังเป็นเด็กเล็ก เช่น ได้รับสารตะกั่วเข้าไปในร่างกายเป็นปริมาณมาก

ส่วนความเชื่อที่ว่า การดูโทรทัศน์และการเล่นวิดีโอเกมจะทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นนั้น ยังไม่มีผลการค้นคว้าที่ยืนยันได้แน่ชัดในปัจจุบัน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างเด็กสมาธิสั้นกับวิดีโอเกมคือ การดูรายการโทรทัศน์บางอย่างหรือการเล่นเกมบางเกมจะตอบสนองต่อความต้องการของเด็กสมาธิสั้นที่ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อสนใจอยู่กับสิ่งใดนาน ๆ ทำอะไรฉาบฉวย ปุบปับ แล้วก็เลิกสนใจไป

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีการอธิบายเชิงสาเหตุ แต่การให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างพอดีทั้งด้านปริมาณและระยะเวลา ย่อมเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงดูเด็ก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่