ปางศิวะนาฏราช (nataraja)

ปางศิวะนาฏราช (nataraja)

    ในตำนานเล่าว่า พ่อศิวะชักชวนพ่อวิษณุนารายณ์ลงมาเมืองมนุษย์เพื่อกำราบเหล่าฤๅษี นักพรต ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คนช่วยกันประกอบพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นเพื่อเป็นการเสริมพลังอำนาจของตนให้แข็งแกร่ง จนไม่มีนักพรตหรือฤาษีตนใดจะมีฤทธิ์เทียบเท่า กระทั่งริอ่านกำเริบไปบังอาจสู้รบกับพวกเทวดา โดยสำคัญตัวผิดว่าเป็นผู้ไม่มีวันตาย จึงทำให้จักรวาลปั่นป่วนไม่เป็นสุขดังเช่นเคยมีมา พ่อศิวะและพ่อวิษณุนารายณ์จึงต้องแก้สถานการณ์นี้ โดยพ่อศิวะเป็นแปลงร่างเป็นพราหมณ์สามี ส่วนพ่อวิษณุนารายณ์แปลงร่างเป็นพราหมณี ภรรยา ของพ่อศิวะ เมื่อเหล่าฤๅษีเห็นพราหมณีเข้าก็เกิดมีความรักใคร่อยากได้สาวงามมาเป็นภรรยาตนก็พากันเกี้ยวพาราสี โดยไม่สนใจว่าพราหมณีนี้มีสามีแล้ว

    แต่เหล่าฤๅษีทั้งหลายก็ไม่สามารถจะพิชิตใจนางให้มาเป็นภรรยาตนได้ ฤๅษีก็พากันสาปแช่งทั้งคู่สามีและภรรยาต่างๆ นาๆ แต่ก็สาปแช่งไม่เป็นผล

    พวกฤๅษีจึงร่ายมนต์เป็นเสือหมายจะขย้ำพราหมณ์รูปงามนั้น แต่เสือก็สู้ฤทธิ์ไม่ได้ พราหมณ์หนุ่มจึงจับเสือทุ่มกับพื้นจนขาดใจตายและถลกหนังเสือมาห่ม

    ฤๅษีจึงจึงเสกพญาคตัวใหญ่มุ่งทำร้ายพราหมณ์หนุ่มนั้น พราหมณ์หนุ่มจึงคล้าพญาคนั้นมาเป็นสร้อยพระศอ (คอ) และต่อมาฤๅษีจึงส่งยักษ์มุยลกะ (อสูรมูลาคินี)  อสูรที่ดุร้ายมากมาปราบ แต่พอต่อกรสู้รบอสูรเสียท่า จึงถูกทุ่มลงกับพื้นและใช้เท้าเหยียบ และพ่อศิวะก็ทรงเต้นรำไปด้วยกระบวนท่าต่างๆ ที่สวยสดงดงามมาก กลายมาเป็นรากฐานของนาฏศิลป์จนถึงปัจจุบัน
    เหล่าฤๅษีทั้งหลายคิดว่า สิ่งที่พวกตนไม่สามารถทำร้าย น่าจะเป็นพ่อศิวะเทพแปลงร่างมาแน่ จึงได้ยอมและถวายตัวกล่าวสรรเสริญพ่อศิวะ พ่อวิษณุนารายณ์

    หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปทรงมีเทวบัญชาให้พระเคณศผู้มีสติปัญญาหลักแหลมสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่าย จดจำท่าร่ายรำแล้วเอามาสั่งสอนมนุษย์ ที่เรียกว่า “นาฏยัม” อันกลายมาเป็นแม่บทแห่งนาฏศิลป์ของชาวภารตะและมวลมนุษย์ปฏิบัติสืบต่อมา (บ้านอุณมิลิต, ออนไลน์)

    ความหมายของศิวะนาฏราชหรือ “ลีลาพระศิวะ” จึงเป็นลีลาแห่งวิถีธรรมนั้น ในการขับเคลื่อนวัฏฏสังสารวัตร

    พ่อศิวะนั้น มีชื่อว่า "ชีวา" ซึ่งคนไทยเราออกสำเนียงภาษา สันสกฤต หรือฮินดู ไม่ชัด จึงออกสำเนียงเป็น ศิวะ ดังปัจจุบัน พ่อศิวะก็คือ ชีวิตนั้นเอง ไม่ว่าจะเป็นคน ธรรมชาติ มายาแห่งธรรมต่างๆ นั่นเป็นวิถีแห่งธรรมดำเนินไปตามธรรมทั้งสิ้น

    ในการดำเนินไปของชีวิตจะเป็นจังหวะ ภาวะแห่งธรรม ซึ่งนี่เป็นลีลาของธรรม ซึ่งออกมาเป็นรูปธรรมให้เราเห็นได้ชัดเจน คือ "ท่าเริงระบำ"

    ถ้าพ่อศิวะร่ายรำในท่าจังหวะร้อนแรงที่สุด เมื่อถึงตอนนั้นโลกจะหมุนอย่างรวดเร็วและทุกสิ่งทุกอย่างก็จะถูกทำลายในที่สุด

    ท่วงท่าการร่ายรำของพระศิวะถูกถ่ายทอดมาเป็นนาฏยศาสตร์ ประกอบด้วยท่ารำ หรือ กรณะ ๑๐๘ ท่า ผู้บันทึกท่ารำต่างๆเพื่อถ่ายทอดแก่โลกเป็นพระฤาษีตนหนึ่ง ชื่อ “พระภรตมุนี” จึงนับถือเอาพ่อแก่ หรือเศียรพระฤาษี เป็นครูต้นของผู้ศึกษานาฏยศาสตร์ โดยมีต้นเค้าจากการที่พระศิวะเสด็จมาแสดงท่าร่ายรำที่เมืองจิทรัมพรัม (จิ-ทาม-พะ-รัม) บริเวณใต้มัทราส ในปัจจุบันก็มีการสร้างรูปศิวะในท่าเริงระบำ โดยแกะเป็นรูปจำหลักที่เสาศิลาใน โคปุระ ด้านตะวันออกทางเข้ามหาวิหาร ซึ่งท่าศิวะเริงระบำที่ปรากฏนี้นับว่าเป็นแบบแผนของการร่ายรำของชมพูทวีป ที่ถ่ายทอดสู่ภูมิภาคต่างๆแถบสุวรรณภูมิ รวมถึงการร่ายรำนาฏกรรมของไทยเราก็เชื่อถือว่าสืบมาจากท่าร่ายรำของพระศิวะเป็นเจ้า จึงนับถือและบูชาในฐานะบรมครูด้านนาฏยศาสตร์ด้วย (จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)


เครดิตภาพ http://www.ch3thailand.com/news/scoop/12680

ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกมา

อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่