[ถ้าจะมีในเวอร์ชั่นไทยนะ] ส่องรายการ War On Waste รายการจากออสเตรเลียที่ชวนตระหนักปัญหาขยะที่อยากให้มีในไทย


© ABC TV



คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



สวัสดีค่ะทุกคน
เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูรายการโทรทัศน์จากต่างประเทศ เราไปเจอรายการๆหนึ่งที่น่าสนใจอยากเล่าสู่กันฟังและเราคิดว่าน่าจะมาทำเวอร์ชั่นไทยได้
รายการที่ว่าคือ War On Waste (ชื่อรายการภาษาไทย: สงครามขยะ) รายการสารคดีจากออสเตรเลียที่พูดถึงปัญหาขยะในบ้านเขา ซึ่งบ้านเราได้ออกอากาศรายการนี้ทางทรูเอ็กซ์พลอร์ซายด้วย ทีนี้มาดูรูปแบบรายการนี้และเหตุผลว่าทำไมถึงอยากให้เอามาทำในเวอร์ชั่นไทย และถ้าไทยจะทำรายการนี้ต้องทำการบ้านอย่างไรให้รายการนี้ประสบความสำเร็จ


ข้อมูลของรายการนี้
- รายการ War On Waste หรือชื่อเต็มคือรายการ War on Waste with Craig Reucassel ออกอากาศทางช่อง ABC TV (สถานีโทรทัศน์แห่งชาติของออสเตรเลีย) ออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2560 โดยออกอากาศแบบซีซั่น ซีซั่นละ 3 ตอน ซึ่งตอนนี้ทำมา 2 ซีซั่นแล้ว นี่เพิ่งออกอากาศจบไปเมื่อเดือนที่แล้ว และเตรียมทำซีซั่นใหม่ในปีหน้าด้วย
- รายการนี้ได้รูปแบบจากรายการ Hugh's War on Waste ทางช่อง BBC ในยูเคในปี 2558 แต่รายการนั้นนำเสนอแค่ซีซั่นเดียว
- รายการนี้ดำเนินรายการโดย เคร็ก โรยแคสเซล พิธีกรและนักแสดงตลกชื่อดังที่เป็นที่รู้จักจากซีรีส์ Chaser's War on Everything เป็นซีรีส์แนวตลกเสียดสี ด้วยสไตล์ที่เขามาจากสายตลกเสียดสี การดำเนินรายการนี้ก็ออกแนวเสียดสีตลกร้ายไปด้วย
- รูปแบบรายการคือการนำเสนอเรื่องราวปัญหาขยะในออสเตรเลียซึ่งมีปัญหาเรื่องขยะเป็นอันดับต้นๆในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยนำเสนอเรื่องราวพื้นๆอย่างขยะอาหาร ขยะเสื้อผ้า ซึ่งจะมีการต่อยอดเรื่องหนักกว่านี้ในซีซั่นต่อไปด้วย นอกจากนี้การพูดถึงปัญหาการจัดการขยะที่ดูเหมือนว่าจะก้าวหน้าแต่จริงๆแล้วยังต้องพัฒนาอีกเยอะ นอกจากนี้พิธีกรได้หาทางในการรณรงค์แบบแปลกๆ การไปให้คำแนะนำการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดการเพิ่มของขยะ ไปสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทแม้กระทั่งนักการเมืองในเรื่องการจัดการขยะ และการนำเสนอ เขาไม่ใช่นำเสนอแล้วจบไป เขาจะติดตามผลอย่างต่อเนื่องในซีซั่นต่อไป ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้รายการนี้ได้รับความนิยม และมีการทำซีซั่นอย่างต่อเนื่อง แม้จะน้อยตอนก็ตาม


ทีนี้มาดูตัวอย่างรูปแบบรายการกันให้เห็นภาพ โดยใช้คลิปย่อยของทางช่องมาให้ได้ชมกัน
มีตอนหนึ่งพูดถึงปัญหาแก้วกาแฟชนิดกระดาษแบบใช้แล้วทิ้งซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเข้าใจว่ามันสามารถเอาไปรีไซเคิลได้
แต่ความเป็นจริงไม่ได้เลย เพราะแก้วชนิดนี้มีพลาสติกเคลือบในแก้วเพื่อป้องกันการซึมซึ่งยากต่อการแยกเจ้าส่วนนี้และกระดาศออกจากกัน

เครกเลยใช้การรณรงค์แบบแปลกไปหน่อยคือเอาพวกแก้วกาแฟใส่เต็มรถรางที่เมลเบิร์น และเดินรถแบบนั้นตลอดสาย เพื่อให้คนในเมืองตระหนักว่าปัญหาแก้วกาแฟชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยตามขนาดมัน ซึ่งมันดูแปลกๆหน่อยที่คนเขาจะขึ้นรถราง แต่ต้องขึ้นขบวนถัดไป เพราะขึ้นขบวนนี้ไม่ได้ เพราะมีแต่เจ้าแก้วกาแฟไปหมด

© ABC TV


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



นอกจากนี้เขาได้รณรงค์ให้ร้านกาแฟท้องถิ่นสนับสนุนให้ลูกค้านำแก้วกาแฟชนิดใช้ได้หลายครั้งมาเองเพื่อส่วนลด และช่วยลดจำนวนขยะแก้วกาแฟใช้แล้วทิ้งด้วย ผลปรากฏว่าโครงการเล็กๆของเขาเริ่มได้ผล คนในเมืองค่อยๆเปลี่ยนพฤติกรรมซื้อกาแฟกลับบ้านด้วยการนำแก้วกาแฟของเขาเองแทนการใช้แก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้ง แต่อย่างไรก็ตามมีร้านกาแฟชั้นนำปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ซึ่งเขาให้ผู้ชมรายการเรียกร้องร้านดังกล่าวให้เปลี่ยนใจมาร่วมโครงการด้วย

และมีตอนต่อมาในการตามผล มีนักประดิษฐ์คนหนึ่งหาวิธีแยกพลาสติกเคลือบออกจากแก้วกาแฟกระดาษได้แล้ว โดยใช้สารเคมีบางอย่างช่วยในการแยก แต่นั่นเป็นแค่การวิจัยเบื้องต้น ยังไม่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ในตอนนี้



อีกกรณีที่น่าสนใจคือขยะเสื้อผ้าที่ผลจากกระแสแฟชั่นด่วนจากร้านเสื้อผ้าประเภทแฟชั่นด่วนที่มีสาขามากมายในออสเตรเลีย โดยเขาได้เอาสไตลิสต์มาให้คำแนะนำหญิงสาวกลุ่มหนึ่งที่ชอบซื้อเสื้อผ้าจำนวนมากๆแต่ไม่ค่อยใช้ เปลี่ยนพฤติกรรมชะลอการซื้อ และลองค้นตู้หาเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่มีอยู่มาแต่งมิกซ์แอนด์แมชต์เพื่อให้พวกเขาสามารถแต่งได้ไม่ซ้ำแบบโดยไม่ต้องไปซื้อมาเพิ่ม และที่น่าตกใจคือ สาวๆในกลุ่มนี้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่พร้อมจะทิ้ง ป้ายราคายังไม่แกะซะด้วยซ้ำ และไม่ใช่แค่นั้น สไตลิสต์แนะนำให้แลกเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วกับหมู่เพื่อนๆเพื่อให้พวกเขาหาเสื้อผ้าที่ใช่มาใช้ต่อ เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์การแต่งกายจากของที่มีอยู่ได้หลากหลาย และประหยัดเงินของพวกเขาแล้ว

จากภาพ เป็นการรณรงค์ของเครกที่เอากองเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในใจกลางเมืองเพื่อให้คนในเมืองตระหนักปัญหานี้ โดยเสื้อผ้ากองนี้ที่เห็นคือการทิ้งของคนทั้งประเทศทุกๆ 10 นาที นอกจากนี้ให้คนที่ผ่านมาผ่านไปมาดูเสื้อผ้าที่ใช่ไปใส่เองเพื่อลดจำนวนขยะด้วย

© ABC TV




หรืออีกกรณีที่น่าศึกษาคือขยะอาหาร โดยเล่นประเด็นง่ายๆอย่างกล้วย เป็นที่น่าตกใจที่กล้วยที่มีคุณภาพดี แต่ไม่ได้ขนาดที่ตลาดต้องการต้องกลายเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเขาได้เรียกร้องให้ฟาร์มและผู้ประกอบการซูเปอร์มาร์เกตทบทวนเรื่องนี้ และรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และช่วยเรียกร้องอีกแรงว่าขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตราบใดที่ยังกินได้ ก็ควรเอามาขายตามท้องตลาดเสีย แต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เหมือนเอาหูทวนลมซะมากกว่า


© ABC TV



© ABC TV


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ




เขาได้เอาคนดังในบ้านเขามาช่วยรณรงค์ว่ากล้วยจะใหญ่หรือเล็กไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะมันก็กินได้อยู่ดี เพื่อลดการเกิดขยะอาหาร

© ABC TV




หรืออีกกรณีให้ศึกษาจากรายการ เขาได้ไปทดลองเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไม่ใช่แค่การแยกขยะ แต่เขาจะแนะนำให้พวกเขาสำรวจของที่จะทิ้งว่ามันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ เพื่อชะลอการเพิ่มขยะโดยไม่จำเป็น ลดการบริโภคที่ไม่จำเป็น และให้พวกเขารู้จักคุณค่าของข้าวของ โดยทดลอง 1 เดือน ผลปรากฏว่าหลายบ้านสามารถลดจำนวนขยะในถัง จากที่ล้นถังต่อไม่กี่วัน กลายเป็นมีขยะน้อยนิดในหนึ่งเดือน ซึ่งพวกเขาสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมจัดการขยะให้กับเทศบาลได้เยอะ และลดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่จำเป็นด้วย

© ABC TV





หรืออีกกรณีที่น่าศึกษาคือขยะถุงพลาสติกที่ลามไปถึงแหล่งน้ำ ถ้าอย่างบ้านเรามีปัญหาปลาวาฬตายเพราะกินเจ้านี่ เขาได้ไปสำรวจอ่าวซิดนี่ย์ที่ฉากหน้าคือความสวยงามและหน้าตาของประเทศ แต่สำรวจลงไป กลับต้องช๊อค

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



เขาเล่นรณรงค์แบบแปลกๆด้วยการนำกองถุงพลาสติกเป็นลูกบอลยักษ์ไปถึงสภาให้นักการเมืองรับรู้ปัญหานี้ซะเลย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ





ทีนี้มาดูว่าเหตุผลที่รายการนี้ประสบความสำเร็จ
- แม้ว่ารายการนี้ได้รูปแบบมาจากรายการต้นฉบับของอังกฤษ แต่เวอร์ชั่นของออสเตรเลียเล่นประเด็นเรื่องง่ายๆในบ้านเขาเอง แต่สร้างผลกระทบอย่างหลายๆด้าน อย่างเรื่องกล้วย และการที่มีการติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องก็เป็นแรงจูงใจให้ผู้ชมลุ้นติดตามว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ และให้ผู้ชมช่วยเป็นเสียงเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลท้องถิ่นตามรัฐต่างๆ และรัฐบาลกลางทำอะไรซักอย่างก่อนที่จะเป็นปัญหาบานปลาย ตามช่องทางการติดต่อทางสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นให้รายการนี้สามารถไปต่อทำซีซั่นต่อไป

- พิธีกรก็เป็นหัวใจสำคัญเช่นกัน เพราะการที่เขามาสายตลกเสียงสีและดำเนินรายการทั้งผ่อนคลายและจริงจัง นี่ยังไม่รวมความหน้าด้านหน้าทนที่ออกเคมเปญรณรงค์แบบแปลกๆ แต่กระตุ้นให้คนในบ้านเขาลุกขึ้นมาร่วมทำสงครามขยะกับพิธีกรก็ช่วยให้รายการนี้น่าสนใจอย่างมาก ซึ่งเป็นอีกเหตุที่เราโฟกัสเวอร์ชั่นออสเตรเลียมานำเสนอนอกจากความสำเร็จ

-  การที่รายการนี้เล่นตรงจุด และตรงใจผู้ชม ทำให้รายการนี้กวาดรางวัลหลายสถาบัน รวมทั้งรางวัล AACTA Awards ซึงเป็นรางวัลใหญ่ด้านโทรทัศน์ในออสเตรเลียอีกด้วย โดยได้สาขารายการสารคดียอดเยี่ยม ซึ่งถ้าได้รางวัล Asian Television Awards ในปีนี้ด้วยจะช่วยการันตีความสำเร็จได้เลย



เพราะการที่รายการนี้เล่นปัญหาขยะในบ้านเขาได้ตรงจุดและมีการสร้างความเปลี่ยนแปลง นี่เป็นเหตุผลที่เราอยากให้มีรายการแบบนี้ในไทย เพราะหวังว่าจะช่วยจุดประกายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในบ้านเราเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะเอามาทำในไทย ทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จและช่วยจุดประกายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในไทยเหมือนที่ออสเตรเลีย

ทีนี้มาดูว่าถ้าจะทำเวอร์ชั่นไทย จะต้องทำยังไงให้เวอร์ชั่นไทยประสบความสำเร็จ

- สถานีโทรทัศน์ควรเป็นช่องสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส เพื่อให้เนื้อหาของรายการปราศจากการแทรกแซงของผู้ประกอบการ

- ต้องหาบุคคลที่มีเชื่อเสียงพอควรมาทำหน้าที่เป็นพิธีกร และเขาคนนั้นต้องสามารถจี้จุดในเรื่องปัญหาขยะในบ้านเรา และสไตล์ต้องหน้าสี่เหลี่ยมจัตุรัสหน่อยๆไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล และเป็นเสียงให้กับผู้ชมในช่วยผลักดันการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน เพราะหัวใจของรายการนี้คือสร้างความเปลี่ยนแปลงเหมือนของออสเตรเลีย และเขาต้องสามารถเป็นเป็นเสียงถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองได้ โดยไม่ถูกไล่พะเพิดไม่ก็ถูกปฏิเสธในการให้สัมภาษณ์ไปซะก่อน

- ต้องเล่นประเด็นที่เกิดขึ้นและเป็นที่สนใจในบ้านเรา อย่างขยะพลาสติกในแหล่งน้ำ การใช้ถุงผ้าว่ามันช่วยได้ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม การบริหารการจัดการขยะทั้งในระดับจุลภาพและมหภาค แก้วกาแฟและหลอด เป็นต้น และต้องเล่นประเด็นให้ถึงแก่นไปเลย โดยแรกเริ่มอาจจะเล่นประเด็นง่ายๆก่อน และถ้าได้ทำซีซั่นต่อไป เล่นปัญหาขยะอิเล็กทรอนิคส์ ปัญหาขยะจากต่างชาติที่ใช้ไทยเป็นที่ทิ้งก็ได้ หรือจะเล่นปัญหาพวกนี้ในซีซั่นแรกไปเลยก็ได้

- ต้องให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำสงครามขยะด้วยกัน และจี้จุดให้ประชาชนและผู้ใหญ่บ้านเมืองมาทำอะไรซะอย่างเพื่อแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน



และนี่คือเรื่องราวที่เรานำเสนอค่ะ ถ้ามีรายการไหนจากต่างประเทศน่าสนใจจะมาเล่าสู่กันฟังและมาช่วยวิเคราะห์ถ้าจะทำเวอร์ชั่นไทยนะคะ
ซึ่งเราจะหารายการทางเลือกนอกเหนือจากรายการประกวดร้องเพลงและรายการเกมโชว์ที่มีจนเกร่อเพื่อมาเล่าสู่กันฟังต่อไป ถ้าเราว่างนะคะ
ขอบคุณสำหรับการติดตามกระทู้นี้ค่ะ ถ้ามีข้อคิดเห็นอย่างไรมาเม้นกันได้ค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่