พรบ ยา เพื่อใคร

กระทู้คำถาม
สวัสดีค่ะ นี้เป็นกระทู้แรก หากผิดพลาดอย่างไรขออภัย ณ ที่นี้นะคะ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนดิฉันเป็นเภสัชกร ซึ่งปัจจุบันออกมาทำธุรกิจส่วนตัวแล้วเพราะเอือมระอากับผักชีที่โรยหน้าและภาพลักษณ์ลวงโลก
วิชาชีพเภสัชกรเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติและได้บุญ แต่มันคืองานที่ปิดทองหลังพระ ดิฉันไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิชาชีพนี้สมัยก่อนดีมากจริงๆ สามารถทำงานได้หลากหลาย ได้แก่เภสัชกรโรงพยาบาล เภสัชกรโรงงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์  ผู้แทนยา เภสัชกรขึ้นทะเบียนยา เปิดกิจการร้านขายยา เป็นอาจารย์ หรือทำงานในหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับด้านสาธารณสุข เป็นต้น โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะติดภาพลักษณ์ของการนั่งอยู่หลังช่องจ่ายยาแล้วนั่งอธิบายการทานยาตามสติ๊กเกอร์หน้าซองและภาพเหล่านั้นก็เป็นที่จดจำของผู้ป่วย
และเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดกระแสคัดค้าน พรบ ยา ฉบับใหม่ั้จะให้แพทย์และพยาบาลสามารถจ่ายยาได้เองเพราะมีความรู้ด้านยาเหมือนกัน จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่า พรบ ยา ฉบับนี้ เพื่อใคร ??
หากจะเกริ่นถึงที่มาก็แยกได้หลากหลายประเด็น บ้างบอกว่าเพราะเภสัชนั้นแขวนป้ายใบประกอบกันเยอะ แต่หลายกระแสก็บอกว่าเอื้อต่อนายทุนใหญ่ที่เปิด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่วนตัวขอแยกเป็นประเด็น หากจะย้อนไปประมาณ 5-6 ปีก่อน ธุรกิจยาข้ามชาติในลักษณะโมเดิร์นเทรด ที่เป็นการประสานสินค้าระหว่าง healthcare กับ consumer care ได้เริ่มต้นการทำร้านยาคุณภาพนั่นหมายถึงการสร้างภาพลักษณ์ว่าร้านยาควรมีเภสัชกรประจำการตลอดเวลาที่ร้านเปิด ซึ่งหากมองผิวเผินคนทั่วไปคิดว่าดี ภาพลักษณ์เภสัชจะดีขึ้น แต่นั่นคือดาบสองคมเพราะนักศึกษาเภสัชทุกคนไม่ได้เกิดจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย  บางคนมีฝันที่อยากเปิดร้านยาเพื่อเป็นเจ้าของกิจการ แต่เมื่อจุดเริ่มต้นคือการทำร้านยาคุณภาพสำหรับร้านยาเปิดใหม่ กับภาวะแข่งขันด้านราคาของร้านยาเก่าจากละแวกโดยรอบ หลายคนจึงต้องช่างใจและเลือกที่จะทำงานที่มีรายได้แน่นอนและไม่ต้องลงทุนมาก แต่ในขณะที่ร้านยาเดิมกลับให้โอกาสปรับตัวถึง 8 ปี ณ ยุคนั้น ซึ่งร้านที่ตั้งมานานเหล่านั้นมีกำไรคืนทุนแล้ว หากต้องการให้แฟร์และอยากเพิ่มร้านยาโดยเภสัชกรจริงทำไมไม่ให้ทำการปรับตัวพร้อมๆกัน เพราะข้อตกลงนี้ จะทำให้ร้านยาเปิดใหม่เกิดน้อยลง แต่ร้านยารุ่นเก่าก็ยังคงเป็นอย่างเดิมเพราะร้านยารุ่นเก่าน้อยมากที่เจ้าของจะเป็นเภสัชกร หรือหลายคนที่ค่อนข้างมีแรงฮึดก็เปิดร้านขึ้นมา แต่พอถึงทางตันที่ไปต่อยากก็จะต้องเซ้งกิจการ ดังที่เป็นโพสต์ประกาศเซ้งร้านกันอย่างมากมายในช่วงปรับตัว ณ จุดนี้ คุณคิดว่า อนาคตของเภสัชกรจบใหม่กับร้านขายยาจะเป็นอย่างไร---1
ลำดับต่อมาจำนวนเภสัชกรจบใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อันเนื่องจากการเปิดคณะเภสัชในหลายมหาวิทยาลัย แต่สวนทางกับจำนวนบุคคลากรอาจารย์ที่มีอย่างจำกัด และยังมีเรื่องการปรับหลักสูตรจากการเรียน 5 ปีเป็น 6 ปี โดยที่เนื้อหาเรียนหลักไม่ต่างเดิมแต่เพิ่มเติมคือการออกฟิลด์ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้เพราะคุณภาพของบุคลากรวิชาชีพนี้จะลดลง ในขณะที่เด็กจบใหม่จะต้องพบค่าเสียโอกาสการทำงานไป 1 ปี เพื่อฝึกงาน แทนที่จะได้เรียนรู้ถึงความหลากหลายของอาชีพที่เภสัชสามารถทำได้--2
ลำดับที่ 3 มูลค่าของวิชาชีพ และค่าใช้จ่ายสำหรับอบรมสัมมนาเก็บหน่วยกิต  ใบประกอบวิชาชีพจะมีมูลค่าเมื่อทำงาน รพ. โรงงาน ขึ้นทะเบียนยา หรือร้านยาเท่านั้น หากทำงานกลุ่มวิชาชีพอื่นของเภสัช คุณจะไม่ได้รับผลตอบแทนแต่มันคือสำนึกและความภูมิใจของคุณที่จะไม่ขายบทบาทของคุณให้แก่ใคร แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทางเภสัชสมาคมควรหาวิธีสนับสนุนเรื่องค่าตอบแทนค่าวิชาชีพด้วย ซึ่งรายได้นี้มาจากไหน มันคือประเด็นที่ทางสมาคมควรนำมาพิเคราะห์และหารือ --3
ประเด็นที่ 4 ทำไมร้านขายยาจึงเปิดขึ้นอย่างมากมาย เพราะยาเป็นปัจจัย 4 ไม่มีใครหลีกเลี่ยงหรือเลือกช่วงเวลาเจ็บป่วยได้ ดังนั้นร้านขายยาจึงถือเป็นเป็นที่พึ่งพิงในยามฉุกเฉิน ดังนั้นร้านขายยาจึงเปิดจำนวนมากในชุมชน ระดับตึกเว้นตึก หนาแน่นราวกับร้านสะดวกซื้อเพราะรายได้ดี และด้วยเหตุนี้เองการต้องการเข้ามาลงทุนทางด้านธุรกิจร้านยาจึงมีการแข่งขันและพยายามเข้ามาในวงการนี้ และรวมถึงที่มาของการใช้ยาไปในทางที่ผิด จึงทำให้เกิดการผลักดันในการแก้ไข พรบ ยา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนบางกลุ่ม โดยให้เจ้าของวิชาชีพเป็นแพะ --4
ประเด็นที่ 5 ร้านขายยาจำนวนมากที่เกิดขึ้นเป็นที่มาของการดื้อยาหรือใช้ยาไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากจ่ายยาเกินความจำเป็นจากบุคคลที่ไม่ใช่เภสัช แต่ในความเป็นจริงภาวะการดื้อยาที่เกิดจำนวนมากน่าจะมาจากการจ่ายยาของแพทย์ในโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน เช่นเริ่มต้นเป็นหวัดเพียงแค่นำมูกไหล ไอ จาม เชื่อว่าหากเข้า รพ เอกชน และใช้สิทธิประกัน หรือจ่ายสด ยาที่ได้รับขั้นต่ำคือ Augmentin แต่ถ้าใช้สิทธิ ประกันสังคมหรือบัตรทอง อาจจะได้แค่ para และ cetirizine อย่างละ 10 เม็ด และกลับบ้านไป จึงเป็นที่มาว่าจริงหรือว่าร้านยาเป็นต้นเหตุของการดื้อยาและใช้ยาไม่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่จึงขอแสดงความเห็นซัก 2 ข้อว่าทำไมร้านยายังจำเป็นคือ
    5.1 หากคุณเจ็บป่วยเล็กน้อย ร้านยาใกล้บ้านนั้นย่อมจำเป็นหากคุณไม่สะดวกที่จะเดินทางไปไกลหรือสถานพยาบาลที่คุณรับสิทธิ์นั้นไกลบ้าน
    5.2 บางครั้งอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยแค่ยาสามัญประจำบ้านก็เพียงพอ แต่หากไป รพ จากค่ายาราคาไม่ถึง 100 บาท คุณอาจจะต้องเจอค่าแพทย์ 300-
    800 บาท หรือพาราแผงละ 100 บาทในโรงพยาบาล แต่ 10 บาทในร้านขายยา  --5
ประเด็นที่ 6 เภสัชแขวนป้ายเท่านั้นที่สภาเภสัชควรควบคุมหรือมีมากกว่านั้น ดิฉันพอจะนึกออกซัก 2 ประเด็นคือ
    6.1 ร้านขายยาก็เพียงแค่จ่ายยาให้กับคนในชุมชนที่มีวงแคบอย่างจำกัด แต่หากผู้ป่วยจำนวนหลายพันคนได้รับยาไม่มีคุณภาพจากโรงพยาบาลหล่ะ ใครจะรับผิดชอบ เภสัชในโรงพยาบาลมีการคัดเลือกยาเข้า รพ อย่างไร
    6.2 เภสัชกรในกระทรวงสาธารณสุขหล่ะ มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายยาที่มีคุณภาพอย่างไรหรือปล่อยให้เป็นภาระความรับผิดชอบของผู้บริโภคดังเช่นอาหารเสริมที่เป็นข่าวโด่งดัง
ประเด็นที่ 7 พรบ จัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 และราคากลางของยา ที่กำหนดโดยหน่วยงานรัฐนั้นเอื้อประโยชน์แก่ใคร ช่วยรัฐประหยัดงบ และลดการทุจริตของผู้ทำงานได้จริงหรือไม่  --7
ประเด็นที่ 8 หากจำกันได้ที่พบว่า รพ ขาดทุนเป็นเหตุให้ เกิดโครงการก้าวคนละก้าว มาวิ่งหายอดเงินบริจาค จึงเป็นที่สงสัยว่าทำไม รพ จึงขาดทุน หากถามว่าธุรกิจยากับ รพ นั้นคืออะไร ก็ตอบได้ว่ามันคือน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ซึ่งปัจจุบันก็มีนโยบายงดรับเงินสนับสนุนจากบริษัทยาเพราะหน่วยงานตรวจสอบทุจริตของรัฐมองว่าหากไม่มีเงินสนับสนุนส่วนนี้ค่ายาจะถูกลง แต่ความจริงคือในประเด็นที่ 7 เรื่อง พรบ จัดซื้อจัดจ้างปี 2560 นั้นเอื้อประโยชน์ให้เพิ่มช่องทางทุจริต เพราะแทนที่เงินสนับสนุนจะได้เข้าสู่ รพ แต่อาจเข้ากระเป๋าของใครบางคนเนื่องจาก พรบ จัดซื้อจัดจ้างใหม่ นั้นปล่อยอำนาจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานมากขึ้นเกินไป --8
ประเด็นที่ 9 ช่วงนี้จะเห็นเภสัชกรหลายคนเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟสบุ๊คคัดค้าน พรบ ยา และมีการรวมกลุ่มภายในเพื่อจุดประเด็นคัดค้าน กล่าวคือทำไมกระแสจึงไม่เกิดเป็นวงกว้างและมีบุคลากรต่างสาขาวิชาชีพเห็นด้วย หลักง่ายๆ เพราะกลุ่มเภสัชมิได้มีอุดมการณ์และรวมเป็นหนึ่งเดียวในการปกป้องกลุ่มวิชาชีพอย่างแท้จริง อันเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพแพทย์ที่มีความแข็งแกร่งในการคุ้มครองและปกป้องคนในกลุ่มวิชาชีพตนอย่างเข้มแข็ง --9
ประเด็นที่ 10 ประเด็นสุดท้าย ช่วงนี้เป็นช่วงเลือกตั้งนายกสภาเภสัชกรรม ซึ่งให้สิทธิเลือกไม่เกิน 12 คน ดิฉันเลือกไปเพียง 3 คนเท่านั้น เพราะนโยบายหลายๆท่านมุ่งแต่โจมตีกวาดล้างคนวิชาชีพเดียวกัน ซึ่งการชูประเด็นเหล่านี้จะดูเหมือนคุณเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์ให้เภสัชกรเป็นผู้ทรงคุณธรรม แต่หากท่านผู้อ่านได้อ่านตั้งแต่ประเด็นที่ 1 เรื่อยๆลงมา จะพบว่าปัญหาหลักที่เป็นจุดก่อให้เกิดการทุจริตและเสื่อมต่อวิชาชีพนั้นมีหลายช่องทางเช่นกัน

จากการโพสต์ความคิดเห็นนี้ดิฉันมิได้บอกว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกต้อง แต่ดิฉันคิดว่าตอนนี้กลุ่มเภสัชกรของเราอ่อนแอเหลือเกิน ดิฉันจึงอยากให้มองว่าภาพรวมของเภสัชกรเรา ณ ปัจจุบัน เสื่อมถอยไปจากด้านใดบ้าง อย่ามองแค่ว่าเภสัชที่แขวนป้ายคือคนชั่วร้าย นายทุนคือผู้ทำลาย แต่อยากให้ร่วมมือกันมองทิศทางเพื่อสร้างความแข็งแกร่งดังของกลุ่มเภสัชเรา ว่าจะทำอย่างไรจึงจะแข็งแกร่งเช่นแพทยสภา ที่ยื่นมือมาช่วยทุกครั้งเมื่อสมาชิกของตนเกิดปัญหา และสร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา ว่าคุณคือกลุ่มวิชาชีพที่ทรงภูมิ มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม และคุณจะรู้ว่า พรบ ยา ที่แท้จริงนั้นเพื่อใคร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่