10 ความน่าเสียดายถ้าไม่ได้ฝึกเจริญสติ

10 ความน่าเสียดายสำหรับผู้ไม่ฝึกฝน วิปัสสนา (อย่างสม่ำเสมอ) โดย พศิน อินทรวงค์


วิปัสสนา คือวาระแห่งชาติ :

1. ผู้ไม่เคยฝึกวิปัสสนาจะไม่มีวันเห็นชีวิตตามความเป็นจริง เพราะระบบชีวิตตามความเป็นจริงหรือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนประกอบของชีวิตทั้งห้าส่วนนี้ ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากการอ่าน การฟัง และไม่สามารถนึกคิดเอาเองได้ จําเป็นต้องฝึกสติ โดยผ่านกระบวนการวิปัสสนาซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงคิดค้นขึ้นเพื่อให้มนุษย์ได้มีโอกาสรู้ความจริงเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง
ยิ้ม
2. ผู้ไม่เคยฝึกวิปัสสนาจะมีจิตที่เหมาะสมกับการเติบโตของความทุกข์เป็นปกติ คือไม่สามารถปล่อยวางอะไรได้ง่าย ๆ แม้ปล่อยวางได้แล้ว แต่ความคิดปรุงแต่งก็จะวนเวียนเข้ามาเรื่อย ๆ ชั่วชีวิต ขอให้สังเกตชีวิตของตนเองอย่างเป็นกลางว่ามีความทุกข์มากกว่าความสุขจริงหรือไม่ ในแต่ละวันมีความขุ่นมัวหรือความเบิกบานใจมากกว่ากัน มีความฟุ้งซ่านหรือสงบนิ่งมากกว่ากัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่สติอ่อนกําลัง ไม่เท่าทันความคิดนี่คือธรรมชาติของจิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝน ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญกับความทุกข์อันเกิดจากความคิดของตนเองอยู่ตลอดเวลา
ยิ้ม
3. ผู้ไม่เคยฝึกวิปัสสนาย่อมไม่รู้จักสภาพชีวิตตามความเป็นจริงว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เมื่อไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรจึงได้แต่นึกเอาคิดเอาว่าชีวิตเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความรู้ว่าชีวิตคืออะไรคือจุดเริ่มต้นที่จะทําอะไร ๆ ในชีวิตให้ถูกต้อง เมื่อไม่รู้จักสภาพชีวิตตามความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างในชีวิตย่อมมีแต่ความผิดพลาดไปทั้งหมด คือผิดก็คิดว่าถูก รวมความว่า “เป็นผู้ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้” และ “เป็นผู้ไม่รู้แต่ดันคิดว่าตนเองรู้แล้ว” เป็นความไม่รู้แบบซ้ําซ้อน อันเกิดจากการที่ปลงใจเชื่อตนเองแบบไม่เฉลียวใจ ไม่ศึกษา เปรียบเหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด เม็ดที่เหลือก็ไม่มีวันถูกต้องไปได้
ยิ้ม
4. ผู้ไม่เคยฝึกวิปัสสนาแม้ตั้งเป้าหมายใด ๆ ในชีวิตก็เป็นเพียงเป้าหมายแบบสมมุติบัญญัติ เป็นเป้าหมายที่อาจรู้สึกว่าถูกต้องในวันนี้ อาจเห็นว่าเป็นสิ่งดีงามเสียมากมายในวันนี้ แต่สิ่งเดียวกันนี้อาจกลายเป็นสิ่งไร้สาระในวันหน้า จากที่ชอบกลายเป็นไม่ชอบ จากที่เคยเทิดทูนบูชากลายเป็นรู้สึกจืดชืดชินชา เป้าหมายชีวิตของคนที่ไม่รู้จักชีวิตตามความเป็นจริงจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามวันเวลา ตามวัย ตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป้าหมายที่มั่นคงชัดเจนที่ใช้ได้ชั่วชีวิต เนื่องจากเป็นการตั้งเป้าหมายจากสิ่งที่ตนสมมุติขึ้นมาเองแต่แรก เมื่อสมมุติเปลี่ยนเป้าหมายย่อมเปลี่ยน ถึงวันหนึ่งแม้ลาโลกไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการเกิดเป็นมนุษย์คืออะไร
ยิ้ม
5. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมชาติของจิตเหมือนน้ําที่ไหลลงสู่ที่ต่ํา จิตใจที่ไม่ได้รับการฝึกฝนจะเป็นจิตใจที่มีความชั่วมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติ หากไม่ต้องการให้จิตไหลลงต่ํา จิตก็จําเป็นต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเป็นระบบ เราเรียนคณิตศาสตร์อย่างเป็นระบบ เรียนธุรกิจอย่างเป็นระบบ เราเรียนภาษาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุดเรากลับปล่อยให้ตนเองเรียนรู้ไปตามยถากรรม สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลทั่วไป
ยิ้ม
6. ผู้ที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนาย่อมมีสติในระดับต่ํา มีสติอยู่ในระดับสัตว์โลก สติมีอยู่ 3 ระดับ คือ สติระลึกรู้ สติเห็นความคิด และมหาสติมหาปัญญา สติระดับแรกจะมีอยู่ในมนุษย์ทุกคน แม้ในสัตว์บางชนิดก็มีสติเช่นนี้อยู่ในบางครั้ง แต่สติสองระดับหลังจะมีอยู่ในผู้ที่ฝึกวิปัสสนาเท่านั้น สติระดับแรกอาจใช้ทํามาหากินได้ ใช้สร้างความสุขแบบโลก ๆ ได้ แต่ใช้ดับทุกข์ไม่ได้ ใช้ในการศึกษาความจริงของตนเองไม่ได้ ใช้ในการดับกิเลสก็ไม่ได้ แม้ผู้ใดมีกําลังสติเพียงระดับแรก ชีวิตนี้ก็มีอันต้องพบกับความสุขความทุกข์สลับกันไปมา และจะพลาดหนทางแห่งการเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติไปโดยสิ้นเชิง
ยิ้ม
7. จิตที่ไม่เคยฝึกวิปัสสนาย่อมมีการปรุงแต่งสูงอยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อมีชีวิตอยู่ก็ปรุงแต่งเป็นความทุกข์ เป็นความท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง เบื่อ ซึม เซ็ง ต่อเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตก็ปรุงแต่งต่อไปเพื่อสร้างภพภูมิใหม่ เป็นจิตที่มีโอกาสสูงที่จะนึกคิดในเรื่องอกุศล หรือมีความขุ่นมัวในวินาทีสุดท้าย พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์ที่ตายไปแล้วและได้เกิดมาเป็นคนอีกจะเหลือเพียงเศษดินปลายเล็บจากดินทั้งหมดในมหาปฐพี หมายความว่า คนส่วนใหญ่เมื่อตายไปแล้ว ก็มีอบายภูมิเป็นที่ไป พูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนในชาตินี้ก็ไปตกนรกต่อ และบุคคลผู้นั้นก็จะพบกับความทุกข์เจ็บปวดชนิดที่ไม่สามารถจินตนาการได้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพราะเขาไม่มีกําลังสติในการควบคุมจิตสุดท้ายได้เท่านั้นเอง
ยิ้ม
8. ปกติแล้วมนุษย์จะมีกิเลสทุกชนิดอยู่ในตนเอง ถ้ามีเหตุปัจจัยไปก่อกวน กิเลสก็จะฟุ้งกระจายออกมา เกิดเป็นความคิด คําพูด และการกระทําที่เป็นอกุศล วิปัสสนานั้นไม่ได้ช่วยป้องกันกิเลสฟุ้งกระจายเท่านั้น แต่ยังสามารถสะสางกิเลสออกจากใจเป็นการถาวรได้ด้วย เราเรียกผู้ที่สามารถสํารอกกิเลสออกจากตนเองว่า พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
ยิ้ม
9. เมื่อฝึกวิปัสสนาถึงระดับหนึ่ง จิตจะได้รับความสุขในรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นความสุขแบบละเอียด เรียกว่าสุขจากสมาธิ และสุขจากวิมุตติซึ่งเป็นความสุขชั้นสูงที่มีไว้เฉพาะผู้ฝึกจิตเท่านั้น ปกติคนเราจะได้รับความรู้อยู่เพียงระดับกามสุข คือมีโอกาสเข้าถึงแค่ความสุขชั้นตื้นอันเกิดจากสัมผัสรับรู้ต่าง ๆ แม้มนุษย์ผู้ใดสัมผัสเพียงความสุขระดับกามสุข มนุษย์ผู้นั้นก็เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
ยิ้ม
10. วิปัสสนาทําให้คนไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ทําให้คนพ้นไปจากกองทุกข์ทั้งปวง แท้จริงแล้ววิปัสสนาคือวิถีชีวิตในอุดมคติที่พระพุทธเจ้าทรงต้องการให้มนุษย์ทุกคนนําไปปฏิบัติ เพื่อสร้างสังคมของพระโสดาบันให้เกิดขึ้นในโลก สังคมของพระโสดาบันนี้เป็นสังคมของผู้มีกิเลสน้อย เป็นสังคมแห่งสันติภาพ เป็นสังคมของคนเอาการเอางาน แต่ไม่เอาชนะคะคาน เป็นสังคมแห่งความเมตตาอารี ชาวพุทธทั้งหลายจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะทําการศึกษาวิชาวิปัสสนาอย่างจริงจังให้เข้าใจ ให้รู้จริง ให้ขึ้นใจ เพื่อจะนําไปปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ปฏิบัติในการยืน เดิน นั่ง นอน รู้คิด รู้หยุดความคิด รู้เท่าทันความคิด รู้จักอยู่เหนือความคิดอันนําไปสู่การอยู่เหนืออัตตาตัวตน เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จะได้สร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่น ต่อเมื่อลมหายใจสุดท้ายก็มีโอกาสได้พบสุคติภูมิเป็นที่หมาย มีโอกาสไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด แม้ไม่สนใจวิปัสสนาเลย โอกาสเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ก็ยากยิ่ง โอกาสสู่สุคติภูมิก็ยากยิ่ง โอกาสยุติการเวียนว่ายก็เป็นไปไม่ได้ ต้องมีชีวิตสุข ๆ ทุกข์ ๆ แบบโลก ๆ เช่นนี้ไปชั่วอนันตกาล
ยิ้ม

ป.ล. ทุกวันนี้สังคมเสื่อมทรามลงไปมาก ถึงเวลาแล้วหรือยังที่วิปัสสนากรรมฐานจะกลายเป็นวาระแห่งชาติสําหรับประชาชนชาวไทย
ที่มา : นิตยสาร Secret  ฉบับที่ 197

ผู้เขียน : พศิน อินทรวงศ์
ยิ้ม
https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/112960.html

ปล.เจริญสติ=เจริญวิปัสสนา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่