ย้ำไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการดื่ม ‘เหล้า-เบียร์’ วันละกระป๋อง ยังเสี่ยงตาย-ทุพพลภาพ

ย้ำไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการดื่ม ‘เหล้า-เบียร์’ วันละกระป๋อง ยังเสี่ยงตาย-ทุพพลภาพ
Fri, 2018-09-07 13:02    -- hfocus

ตีแผ่งานวิจัย ไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการดื่มแอลกอฮอล์ ย้ำแค่เบียร์ 1 กระป๋องต่อวัน ยังเสี่ยงตายทุพพลภาพ ก่อสารพัดโรค มะเร็ง-วัณโรค-หัวใจ ด้านเครือข่ายจวกธุรกิจน้ำเมา หยุดสร้างวาทกรรมลวงโลก ปล่อยข้อมูลตามสื่อโซเชียล สร้างความเข้าใจผิดสังคม ขณะที่ “อดีตเซียนเหล้า” เปิดใจ ดื่มทุกวันเพราะเชื่อผิดๆ สุดท้ายร่างกายเสื่อมทรุดปางตาย


เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา “ดื่มในระดับที่ปลอดภัย...มีจริงหรือ” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมกับศูนย์ศึกษาปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยงานวิจัยเรื่องภาระโรคจากการดื่มสุรา ปี 1990-2016 ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับโลก Lancet ทีมวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 195 ประเทศ ถือเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงของแอลกอฮอล์ที่ใช้ข้อมูลเยอะที่สุดที่เคยมีมา พบว่า ในปี 2016 สุราถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพลำดับ 7 ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและทุพพลภาพ และในปี 2016 ประชากรโลกเสียชีวิตจากสุราถึง 2.8 ล้านคน

โดยงานวิจัยเตือนว่า การดื่มสุราเพียงเล็กน้อยแม้อาจลดความเสี่ยงของโรคหัวใจชนิดเส้นเลือดอุดตัน แต่จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคกว่า 200 โรค ทั้งกลุ่มโรคมะเร็ง (ตับ เต้านม ช่องปาก หลอดอาหาร กล่องเสียง ลำไส้ใหญ่) วัณโรค เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายจากความดันโลหิตสูง เป็นต้น

“ผลวิจัยจากทั่วโลกชิ้นนี้ ยืนยันชัดว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยในการดื่ม ไม่ว่าจะดื่มปริมาณเท่าใดก็ส่งผลต่อสุขภาพ เสี่ยงต่อการเสียชีวิต เช่น ดื่มสุราในปริมาณ 1 ดริ้ง (10 กรัม) เทียบเท่าเบียร์ 1 กระป๋อง หรือไวน์ 1 แก้วต่อวัน จะเพิ่มการตาย 4 คนในประชากร 1 แสนคน แม้อาจลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดหัวใจอุดตันได้เพียงน้อยนิด แต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในเพศชายที่เสี่ยงกว่าเพศหญิง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ โรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก ฯลฯ” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวและว่า ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ การไม่ดื่มเลยจะดีที่สุด และในวันที่ 21-22 พ.ย.นี้จะมีการจัดเวทีประชุมวิชาการสุราแห่งชาติ ในโอกาสครบรอบ 10 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะมีการรวบรวมงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาตีแผ่ในงานด้วย

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า สุราเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตกว่า 22,000 คนต่อปี มีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คน อีกทั้งธุรกิจน้ำเมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ส่งเสริมการขาย หลบเลี่ยงกฎหมายได้แนบเนียน เพื่อผลประโยชน์ โดยสร้างความเชื่อผิดๆ ในทางสุขภาพและนโยบายสาธารณะ จึงอยากเรียกร้องให้หยุดสร้างวาทกรรมลวงโลก ดื่มอย่างรับผิดชอบหรือดื่มเล็กน้อยเป็นผลดีต่อสุขภาพ เพราะข้อเท็จจริง ไม่มีการดื่มแบบไหนที่ปลอดภัย หยุดทำให้คนเข้าใจผิด ด้วยการปล่อยบทความผลดีของการดื่มเหล้า ดื่มแล้วดีต่อหัวใจ ดื่มแล้วสุขภาพจิตดีขึ้น แล้วแชร์ตามเพจต่างๆ ต้องหยุดการกระทำ ที่ทำให้คนสับสนเข้าใจผิด แล้วหันมาปฏิบัติตามกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคม อย่าหาช่องโหว่ให้ตัวเองได้ผลประโยชน์โดยไม่สนผลกระทบ ที่สำคัญต้องค้าขายอย่างมีจริยธรรม

นายไพบูลย์ เนียมมณี แกนนำผู้ชายเลิกเหล้า กทม. กล่าวว่า ก่อนผันตัวเองมาเป็นแกนนำผู้ชายเลิกเหล้าได้ ก็เคยดื่มเหล้าหนักมาก่อน เริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนั้นทำงานในโรงกลึง ตกเย็นเลิกงานก็สังสรรค์ เพราะเชื่อมาตลอดว่าดื่มพอเป็นกระษัย ดื่มเหล้าแล้วทำให้กินข้าวอร่อย ทำให้นอนหลับสบาย กระทั่งดื่มทุกวันจนติด จากเหล้าแบน เปลี่ยนเป็นขวด เมื่อร่างกายเริ่มแย่ตรวจพบเป็นไตอักเสบ แม้ตอนนี้ตัดสินใจเลิกดื่มเหล้าเด็ดขาดได้ 7 เดือน แต่ต้องไปพบหมอเป็นระยะ ส่วนหนึ่งมาจากลูกสาวที่เป็นแรงบันดาลใจทำให้หยุดดื่ม อยากฝากเป็นอุทาหรณ์เตือนผู้ที่จะลองดื่มเหล้าว่า อย่าพยายามที่จะดื่ม อย่ามีครั้งแรก การอ้างดื่มนิดหน่อยไม่เป็นไร แต่คำนี้มันนำไปสู่การติดเหล้า สร้างปัญหาตามมา

ขณะที่ นายถาวร เบ็ญพาด อดีตผู้ที่เคยดื่มเหล้าจนติดและสามารถเลิกดื่มได้กล่าวว่า ดื่มเหล้ามานานกว่า 20 ปี ช่วงนั้นดื่มหนักดื่มทุกวัน จนกระทั่งเกิดอุบุติเหตุเมาแล้วขับ ช่วงรักษาตัวในโรงพยาบาล มีเพียงลูกที่คอยดูแล เพราะความสัมพันธ์กับภรรยาเริ่มจืดจาง และ 2 ปีที่ผ่านมา เกือบเอาชีวิตไม่รอด เพราะตรวจพบเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น ต้องทำบอลลูน ผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ซึ่งหมอระบุเกิดจากการสะสมการดื่มเหล้ามาเป็นเวลานาน ส่วนค่าใช้จ่ายหากไม่มีสิทธิประกันสังคม ต้องจ่ายเองกว่า 5 แสนบาท

“เคยเชื่อว่าดื่มพอประมาณ ดื่มนิดหน่อยให้เจริญอาหาร ไม่รู้คำพูดเหล่านี้มีที่มายังไง แต่แล้วก็หยุดไม่ได้ มันจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ อยากฝากถึงคนที่ดื่มอยู่ ให้กลับตัวเลิกดื่ม ส่วนคนที่กำลังจะดื่ม ขอให้คิดถึงผลที่ตามมาจากโรคต่างๆจะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต และในวันที่ต้องรักษาตัวมีแต่ครอบครัวลูกเมีย ส่วนเพื่อนฝูงแม้กระทั่งคนขายเหล้าร้านเหล้า เขาไม่มารับผิดชอบอะไรด้วย” นายถาวร กล่าว

https://www.hfocus.org/content/2018/09/16293
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่