เล่าได้เล่าดี ตอนการเปิดร้านกิ๊ปช๊อปในอเมริกาของฉัน ตอนที่ 3

เล่าได้เล่าดี ตอนการเปิดร้านกิ๊ปช๊อปในอเมริกาของฉัน ตอนที่ 1 https://ppantip.com/topic/37968927

เล่าได้เล่าดี ตอนการเปิดร้านกิ๊ปช๊อปในอเมริกาของฉัน ตอนที่ 2 https://ppantip.com/topic/37974865

ก่อนที่เราจะไปขายของ เราต้องรู้ก่อนว่า เราจะขายอะไร อย่างพี่คนไทย (ต่อไปนี้จะเรียกแกว่า พี่เหรียญ) เขาจะขายพวกเหรียญสะสม ที่เขาเริ่มสะสมของมาจาก การเข้าไป Bid เหรียญ และแบ้งค์ต่างๆของประเทศอเมริกา จากเว็บไซด์ใหม่ แบรนด์นิว (ในตอนนั้น) ที่ชื่อว่า eBay เป็นเว็บไซด์ ที่กำลังนิยมฮิตฮ๊อท ในหมู่นักสะสม ของต่างๆ ที่จะเข้าไปประมูลของกันทางออนไลน์

eBay Inc.  เป็น  บริษัท American multinational e-commerce มีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่  San Jose, California  มีคอนเซ็ปการทำงานว่า เขาจะเป็นตัวกลาง ระหว่าง ลูกค้า กับลูกค้า consumer-to-consumer และ ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ลูกค้า business-to-consumer ที่ซื้อขายกันทางเวปไซด์ บนโลกออนไลน์ eBay เปิดตัวขึ้นในปี 1995 และเป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จ ในการเป็นผู้นำ ในการทำธุรกิจบนเว็บไซด์  dot-com bubble ในยุคบุกเบิก  eBay  เป็นที่นิยม และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ด้วยการขยายกิจการ ไปยังประเทศต่างๆ ถึง 30 ประเทศ ในปี 2011 ซึ่งตอนนั้น พี่เหรียญ ก็ใช้บริการ ซื้อขายของที่ eBay อยู่ก่อนแล้ว และค่อยแนะนำให้ฉัน รู้จักกับการซื้อขาย ออนไลน์

ตอนแรกพี่เหรียญแก ก็สะสมเหรียญเฉยๆแหละ แต่แกมีความคิดว่า ถ้าแกขายด้วย แกน่าจะมีโอกาสเจอกับเหรียญหายาก ที่มีมูลค่าแพงๆ หรือเหรียญหายากที่แกอยากจะเก็บไว้สะสมเองก็ได้ ดังนั้นพี่เหรียญแกก็สั่งซื้อเหรียญสะสม ในแบบเหมายกลัง มาจากพวกพ่อค้าใน eBay นี่แหละ มันจะมาแบบยกลัง ประมาณว่า 100 เหรียญ ต่อลัง มันจะมาแบบคละกันมา แบบตาดีได้ ตาร้ายเสีย ประมาณนี้ พี่แกก็เอาออกมาส่องดูทีละเหรียญๆ เปิดตำราค่อยๆศึกษาไปว่า มันคือเหรียญอะไร และราคามากน้อยเท่าไหร่  เหรียญส่วนมากก็จะคละกันไป และเป็นปีที่ไม่เก่า ไม่ใหม่นัก แต่ก็ยังขายได้ราคา อย่างเช่นเหรียญ ราคาหน้าเหรียญ 25 เซ็นต์ แต่เหรียญปี เก่าหน่อย หรือมีตำหนิ ที่หายากนิดนึง ราคาของเหรียญนั้นก็อาจจสูงถึง 1 ดอลล่า หรือ 1.25 ดอลล่า ตามแต่หนังสือคู่มือสะสมเหรียญจะระบุบอกราคาอย่างชัดเจน อาจจะมีต่อรองราคา สูงขึ้น หรือต่ำลง ก็ได้ ถ้าขายกันในตลาดนัด

มีเรื่องเล่าอยู่ว่า วันหนึ่ง ในขณะที่พี่เหรียญ กำลังขายของอยู่นั้น มีเด็กคนหนึ่ง เดินมาที่บู้ท แล้ว ถามพี่เหรียญว่า ทำไมเหรียญ 25 เซ็นต์ ถึงขาย 1.25 ดอลล่า พี่เหรียญตอบว่า เพราะมันเป็นเหรียญหายากหน่ะสิ ถึงได้ขายราคานี้ เด็กคนนั้นจึงยื่น เหรียญ 25 เซ็นต์ของตนเอง ให้พี่เหรียญดู แล้วถามว่า “เหรียญ 25 เซ็นต์ของฉัน ขายได้เท่าไหร่” พี่เหรียญแกก็เอามาดู แล้วตอบว่า “25 เซ็นต์” เด็กน้อยไม่เข้าใจ ยืนเกาหัวแป๊บๆ แล้วก็จากไป ตามประสาเด็กน้อย ที่ไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ใหญ่ ถึงชอบทำเรื่องง่ายๆ (เหรียญ ราคา 25 เซ็นต์ เก่าๆดำๆ) ให้มันเป็นเรื่องยาก (แต่ขายในราคา 1.25 ดอลล่า) และ แล้วทำไม เหรียญใหม่เอี่ยม ของเขา ถึงขายไม่ได้ราคาเลย

อีกทั้งพี่เหรียญแกยังเข้าเว็บไซด์ของ The United States Mint หรือหน่วยงานที่ผลิตเงินเหรียญของอเมริกา เพื่อเข้าไปดูว่า เขาจะออกจำหน่ายเหรียญรุ่นใหม่ วันไหน เวลาไหน มีจำนวนเท่าไหร่ ถ้ารุ่นนั้นมีจำนวนน้อย ก็ซื้อเอามาเก็บไว้เก็งกำไร ก็จะสามารถเอามาขายต่อได้ในราคาที่สูงกว่า จากราคาจำหน่ายเดิม เหรียญใหม่ที่ซื้อมาจากโรงงาน แบบใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานเลย เขาเรียกกันว่า Uncirculation ถ้าอยู่ในหีบห่อเดิมมาจากโรงงาน จะขายได้ในราคาที่ดีมาก

The United States Mint หน่วยงานนี้จะไม่ผลิตเงินกระดาษ หรือแบ้งค์ หรือ Paper Money การผลิตเงินแบ้งค์จะเป็นของ Bureau of Engraving and Printing  โรงงานผลิตเงินเหรียญ ที่เรียกกันว่า The Mint เปิดทำการครั้งแรก ในเมือง Philadelphia ในปี 1792 เหรียญที่ผลิตจากโรงงานนี้ จะมีสัญลักษณ์ P บนเหรียญ ในปัจจุบันจะมีโรงงานเพิ่มขึ้นอีกสามที่คือ Denver จะมีสัญลักษณ์ D บนเหรียญที่โรงงานนี้ผลิต และโรงงานที่ San Francisco จะมีสัญลักษณ์ S ส่วนที่ West Point นั้นจะไม่มีสัญลักษณ์บนเหรียญ

ก็ไม่ใช่แต่ว่าพี่เหรียญจะหาซื้อเหรียญมาจากออนไลน์อย่างเดียว พี่แก ก็ไปตะเวนหาตาม อีเว้นท์ที่มีชื่อว่า Coins Show ที่จัดกันในเมืองที่เราอยู่ และแกยังลงทุนขับรถ ซอกแซกไปดูเหรียญตามงานต่างเมืองเชียวนะ ฉันเคยตามแก ไปงานอีเว้นท์ด้วยหล่ะ แต่ละคนจะหอบถุงใส่เหรียญ ของตัวเองมา พร้อมด้วยหนังสือคู่มือเหรียญหายาก แล้วก็เอามาให้คนในงานส่องดู หรือไปยืดคอมองดู ตามบู้ทนั้น บู้ทนี้ ประมาณว่าเหมือนนักเลงพระ ในเมืองไทย

ช่วงแรกๆที่ฉันไปอเมริกา ฉันบอกเลยว่า ความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่ไม่เอาไหนมากๆ ฉันได้รู้จักกับคอมพิวเตอร์ตอนฉันอยู่ ม. 4 คอมพิเตอร์ในตอนนั้น เป็นอะไรที่ยากมาก เนื่องจากเราต้องรู้จัก ศัพท์คำสั่ง เป็นภาษาคอมพิวเตอร์ พิมพ์ลงไป บนจอสีเขียวๆ และมีแผ่นดิสต์ ที่ใหญ่เท่าจานข้าว ซึ่งอีวิชานี้ มันยากมาก สำหรับฉันจริงๆและขอบอกอย่างไม่อายว่า ฉันตกวิชาคอมพิวเตอร์ แต่พอย้ายมาอยู่ที่อเมริกา ฉันโชคดี ที่ฉันมีรูมเมท ที่มีเรียนทางด้าน Computer Enginering ทำให้ความห่วยแตกของฉันในด้านคอมพิวเตอร์ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนั้นการติดต่อ กลับมาหาพ่อแม่ พี่น้องที่เมืองไทย เป็นอะไรที่ทำได้ยากมาก และการได้รับข่าวสารจากเมืองไทย เป็นอะไรที่ยากกว่า แต่เมื่อฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับ World Wide Web (www.) ทำให้การติดต่อสื่อสารกลับมาที่เมืองไทยเป็นอะไร ได้ง่ายขึ้น และนั่นคือเป็นที่มาของการหา ข้าวของมาขายที่ตลาดนัดนั่นเอง

ของที่ระลึกที่ฉันนำติดตัวมาจากเมืองไทย มีอยู่ไม่มากนัก หลังจากที่ให้คนนั้น คนนี้ไปแล้ว ก็เหลือไม่เท่าไหร่ เมื่อนำไปขายที่ตลาดได้ แค่สองสามครั้ง ของก็หมดลง ดังนั้น ฉันจึงต้องหาทางว่า นอกจากของที่มีอยู่นี้ฉันจะขายอะไรได้บ้าง ในเมื่อพี่เหรียญมาแชร์ ที่ขายของ ทำให้ฉันได้เรียนรู้การซื้อขาย แลกเปลี่ยนเหรียญไปด้วย อีกทั้งการซื้อขายของ eBay ที่บางทีฉันก็ซื้อข้าวของจุกจิก การฝีมือ ของที่ระลึก ที่ไม่จำเป็นว่าเป็นของจากเมืองไทย แต่คิดว่าเออมันน่าเอามาขายต่อได้ ฉันก็ไปประมูลในเว็บไซด์ แล้วเอาของมาขายที่ตลาดนัด ทำให้บู้ทของฉัน มีของขาย แบบจิปาถะ แบบมั่วๆ แบบโชว์ห่วย แบบขายไปเรื่อย อะไรแบบนั้น

อีกทั้งในเมืองที่ฉันอยู่นั้น เป็นเมืองมหาวิทยาลัย แน่นอนว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา บางคนมาเรียนเทอมนึง ปีนึง ก็ย้ายโรงเรียนไป หรือบางคนมาอยู่หอ ของมหาวิทยาลัย มีสัญญากับทางหอพักของมหาวิทยาลัย เทอมนึง พอหมดเทอม ก็ย้ายออกไปอยู่อพาร์ทเม้นต์ ที่ถูกกว่า เรียกกันง่ายๆว่า เด็กนักเรียนที่นี่ย้ายบ้าน ย้ายหอพัก กันเป็นว่าเล่น อย่างนั้นแหละ เมื่อมีการย้ายบ่อยๆ ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรียนตกแต่งบ้าน ที่ขนติดตัวไปไม่ได้ หรือไม่เข้ากับที่อยู่ใหม่ เขาก็ทิ้งกัน ทั้งๆที่ผ่านการใช้งานมาไม่เท่าไหร่ อย่างโซฟา สภาพดี โคมไฟสภาพดี กรอบรูป เครื่องครัวต่างๆ ก็เอามาทิ้งไว้ ตามสองข้างทางถนน หรือที่ถังขยะใหญ่ๆที่เรียกว่า Dumpster ซึ่งขยะสภาพดีนี่แหละ ที่ฉันกับรูมเมท พาพี่ใหญ่ รถแวนสีขาวของเรา ไปตะเวนไปตามหาพัก อพาร์ทเม้นต์ หรือแม้แต่ Dumpster ในเขตแคมปัส ที่เห็นว่าใครทิ้งอะไร ก็ตามขนขึ้นรถ แล้วนำมาขายที่ตลาดนัด ของแบบนี้เขาเรียกว่า Junk for Sale ได้กำไร 100 %

เมื่อรู้ว่าของที่เราจะขายคืออะไรแล้ว เราก็ต้องหาที่ขายกัน ตอนนั้นเราไปขายที่ Flea Market ที่ประจำของเราอยู่ได้ ประมาณหกเจ็ดเดือน เราสามคนไปกันทุกวันเสาร์อาทิตย์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยุ่กับการขายของ การเดินดูของที่ร้านอื่นๆ และการคุยกับคนขายของ คนขายของที่ฉันเจอในตลาดนัดแห่งนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคนพื้นเมือง บ้านช่องที่พักอาศัยอยู่แถวๆนั้นแหละ ว่างๆเสาร์อาทิตย์ เขาก็เอาของมาขายกัน เอามาแลกเปลี่ยนกัน คนขายที่นั่นทุกคนใจดี ยิ่งเห็นเราสามคนเป็นคนเอเชีย ตัวเล็กๆ เขาคิดว่าเป็นเด็กมัธยม เขาก็ยิ่งเอ็นดู พอเราไปขายนานๆเข้า ก็กลายเป็นเพื่อน เป็นคนรู้จักกัน

เมื่อได้พูดคุยรู้จักกับคนขายของที่นั่นแล้ว ทำให้ฉันได้รู้ว่า เขามีตลาดนัดอีกที่หนึ่ง เป็นตลาดนัด อยู่ในเขตอุทยานไม่ไกลจากตลาดนัดแห่งนี้มาก แต่ตลาดนัดแห่งนั้น เขาจัดเดือนละหนึ่งครั้ง และมีผู้ขายเดินทางมาขายของที่นี่กันมากมายจากทั่วสารทิศ และส่วนใหญ่ของที่ขายจะเป็นของสะสมที่หายาก หรือไม่ก็เป็นงานศิลปะ ทำมือ ที่เด็ดๆ เซียนๆ หรือไม่ของขายก็ต้องเป็นของเกรดเอ และแน่นอนเมื่อ ของขายอัพเกรด ขึ้นมาอีกหน่อย ก็แปลว่า คนซื้อ ก็ต้องเป็นคนที่มีตังค์มากหน่อย คนที่นั่นเขาเรียกตลาดนัดนั้นว่า Trad Day at the Park และแน่นอนตลาดนัดครั้งหน้า ก็ย่อมจะมีพวกฉันไปขายของในที่นั่นแน่นอน

กรุณาติดตามตอนต่อไปนะคะ

ตัวอย่างเหรียญเก่าในช่วงปี 1800 คุณตาของคุณสามี ยกให้เหลน (ลูกสาวของเรา) ในวันที่เขาเกิดค่ะ

สมุดสะสม เหรียญ 1 เซ็นต์ ในช่วงปี 1900 ของคุณตา ของคุณสามี ที่ยกให้เหลน ในวันเกิดเช่นกัน ก็มีหลายเหรียญ ที่ยังหาไม่เจอ

สมุดสะสมเหรียญ 25 เซ็นต์ State Quarter Edition เป็นรุ่นที่เขาผลิตเหรียญ 25 เซ็นต์ ด้านหลังเป็นรูปของรัฐต่างๆ ทั้งหมด 50 รัฐ จะทำการผลิต ปีละห้าเหรียญ และใช้เวลาผลิตจนครบ 50 รัฐ จากปี 1999 - 2008  

สมุดเล่มนี้ฉันเป็คนเริ่มสะสมก่อน แล้วพ่อของฉันเป็นคนตามเก็บจนได้ครบทุกเหรียญ แล้วเอาเก็บไว้ใส่กรอบ เอามาให้ฉันเก็บไว้ ก่อนที่เขาจะย้ายกลับเมืองไทยไป

หน่วยงานผลิตเงินเหรียญ The Mint ที่เมือง ฟิลาเดลเฟีย

เขาเปิดให้เข้าชมการผลิตเหรียญเงินด้วยค่ะ

เหรียญเงินที่ยังไม่ได้ปั๊มรูปลงไป

แผ่นเงิน ที่ยังไม่ได้กดออกมาเป็นเหรียญ

ชุดสะสมที่ระลึก ที่ทางหน่วยงานผลิตเหรียญ เขาทำจำหน่ายในจำนวนจำกัด ในแต่ละปี สามารถซื้อเก็บไว้เกร็งกำไรได้

เหรียญที่ระลึก ประธานาธิบดี คนที่ 45 Donal Trump เป็นเหรียญ Silver Dollar เพิ่งจะผลิตและออกจำหน่ายได้ไม่นาน คุณทวดเอามาให้เหลนอีกแล้วค่ะ

พี่ใหญ่ รถแวนคู่ใจของฉัน

รูปสุดท้ายภูมิใจนำเสนอ โคมไฟ ที่ฉันกับรูมเมท Dumpster Dive ออกมาจากถังขยะ เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ฉันไปเห็นคนกำลังเขามาทิ้งที่ถังขยะ ฉันเลย เตร็ดเตร่อยู่แถวนั้น พอเขาไปฉันก็รีบ วิ่งไปเอาออกมาจากถังขยะทันที โคมไฟอันนี้ ฉันรักมาก หวงมาก ไม่ให้ใคร และก็ไม่ขายใครด้วยค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่